top of page

การพัฒนาเมืองชายแดนไทย สู่โอกาสทางเศรษฐกิจจากจีน

อัปเดตเมื่อ 13 พ.ย. 2564





ณัฐธิดา เย็นบำรุง nuttida.e@gmail.com




1. บทนำ

ชายแดนของประเทศไทยมีลักษณะพิเศษ ไม่ใช่พื้นที่ที่เป็นเพียงปลายขอบที่ว่างเปล่า แต่เป็นพื้นที่ที่มีความเป็นเมือง มีพลวัตทางเศรษฐกิจ มีการค้าชายแดนที่มีมูลค่าสูง มีสังคมและวัฒนธรรมร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำเลที่ตั้งของเมืองชายแดนไทยยังสามารถเชื่อมโยงไปได้หลายประเทศ ทั้งจีนและอินเดีย และในทศวรรษ 2010 นี้ บริบทการต่างประเทศเปลี่ยนไป จีนเป็นประเทศมหาอำนาจ ที่สร้างยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative หรือ BRI ขยายเศรษฐกิจไปทั่วโลกรวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายโครงการของ BRI ในไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีส่วนใกล้ชิดกับเมืองชายแดนไทย ซึ่งสามารถเป็นโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจที่ช่วยให้เมืองชายแดนไทยเติบโต แต่ที่ผ่านมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประเมินรายได้ในจังหวัดต่างๆ พบว่า จังหวัดชายแดนกลับมีรายได้ต่อหัวน้อยกว่าจังหวัดที่ไม่ติดชายแดน ทั้งที่ปัจจัยทางภูมิศาสตร์เอื้อให้มีเศรษฐกิจที่ดี ในขณะที่เมืองชายฝั่งทะเลเป็นเมืองที่มีระดับรายได้มากกว่าเมืองที่ไม่มีชายฝั่งทะเล (พรชนก เทพขาม, 2562) สะท้อนได้ว่า การพัฒนาเมืองชายแดนของไทย ยังพัฒนาได้ไม่เต็มศักยภาพจากการมีภูมิศาสตร์ที่เชื่อมกับประเทศในภูมิภาคและมหาอำนาจอย่างจีน

บทความนี้จึงมีคำถามสำคัญที่ว่า เราจะพัฒนาเมืองชายแดนได้อย่างไร เพื่อให้เมืองชายแดนไทยเติบโตสมศักยภาพทางภูมิศาสตร์ ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากจีนที่กำลังแผ่อิทธิพลไปทั่วโลก และก้าวไปสู่เมืองเศรษฐกิจที่เชื่อมกับประเทศในภูมิภาค ในบทความจึงประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ส่วนแรก คือ การการทบทวนแนวคิดการพัฒนาเมืองชายแดนจากเมืองชายขอบสู่เมืองแห่งการเชื่อมต่อ และบทเรียนการพัฒนาเมืองชายแดนจากต่างประเทศ ส่วนที่ 2 การวิเคราะห์โอกาสทางเศรษฐกิจของเมืองชายแดนไทยกับจีน ท่ามกลางยุทธศาสตร์ BRI ที่ได้เข้ามารุกลงทุนในไทยและประเทศเพื่อนบ้านหลายโครงการ ส่วนที่ 3 ข้อเสนอแนะการพัฒนาเมืองชายแดนไทยสู่เมืองเศรษฐกิจแห่งภูมิภาค




2. เมืองชายแดน: การพัฒนาจากดินแดนชายขอบสู่เมืองแห่งการเชื่อมต่อ

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมืองเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด ดังนั้น ควรใช้เมืองเป็นบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ เศรษฐกิจในอนาคตไม่ได้อยู่ที่เศรษฐกิจชาติ (National Economy) แต่จะอยู่ที่เศรษฐกิจภาค (Regional Economy) กับเศรษฐกิจเมือง (City Economy) ให้เมืองหรือพื้นที่มีบทบาทความริเริ่มสร้างสรรค์ให้มากขึ้น (เอนก เหล่าธรรมทัศน์, 2559)

ที่ผ่านมาเมืองที่มีบทบาททางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับปัจจัยทางภูมิศาสตร์ (John S. Felkner, Robert M. Townsend, 2011) โดยเฉพาะเมืองชายฝั่งมักเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ในขณะที่เมืองชายแดนที่ติดแผ่นดินกับเพื่อนบ้าน กลับกลายเป็นเมืองที่ถูกมองเป็นพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ชายขอบ พื้นที่เป็นแนวป้องกันเรื่องความมั่นคง ทำให้พื้นที่ชายแดนในหลายประเทศไม่ได้รับการพัฒนามากนัก

แนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองชายแดน จากการทำวิจัยพื้นที่ชายแดนในยุโรปของสถาบันวิจัย LISER ได้สะท้อนแนวคิด การพัฒนาดินแดนชายขอบ (Marginal) สู่การเป็นเมืองแห่งการเชื่อมต่อ (Interface) คือ พื้นที่ชายแดนเดิมถูกมองเป็นพื้นที่ห่างไกล การพัฒนาส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่พื้นที่อยู่ตรงกลางมากกว่า (LISER, 2015) แต่โลกที่เปลี่ยนไปด้วยโลภาวิวัตน์ การเปิดเสรีระหว่างประเทศ มีการผ่อนคลายกฎระเบียบระหว่างประเทศ โลกเชื่อมกันมากขึ้น ยากที่จะพัฒนาเศรษฐกิจแบบตัวใครตัวมันได้ บริบทโลกี่เปลี่ยนไปเป็นโอกาสใหญ่ของเมืองชายแดน เช่น ในยุโรป การเกิดนโยบายวีซ่าเชงเก้น และการใช้เงินยูโรร่วมกัน ทำให้พื้นที่ชายแดนกลายเป็นพื้นที่สำคัญมากขึ้น (LISER, 2015)

แนวทางจะเปลี่ยนพื้นที่ชายขอบสู่การเป็นเมืองแห่งการเชื่อมต่อนั้น ผู้เขียนสะท้อนจากสถาบัน LISER ได้ 3 ประเด็นคือ

  • ต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ในการมองเมืองชายแดน ให้มองเมืองชายแดนเป็นเมืองที่มีจุดเด่น มีความได้เปรียบ แทนที่จะมองว่าเป็นจุดด้อย การมีพรมแดนติดกับประเทศอื่นต้องไม่ใช่อุปสรรคในการพัฒนา

  • การจะพัฒนาเมืองชายแดนได้ ต้องสร้างความร่วมมือระหว่างเมืองกับประเทศเพื่อนบ้าน ความร่วมมือจะช่วยให้เกิดพันธมิตรทางเศรษฐกิจ ช่วยเสริมการพัฒนาซึ่งกันและกัน แม้ลึกๆ ก็ยังแฝงไปด้วยการแข่งขันระหว่างกันก็ตาม แต่ก็ถือว่าผลประโยชน์ที่ WIN – WIN ร่วมของทั้งสองเมือง เช่น การสร้างความร่วมมือและการบูรณาการข้ามประเทศของสหภาพยุโรป หรือที่เรียกว่า Eurometropolis Lille–Kortrijk–Tournai (LKT) อันเป็นเขตมหานครที่ผนวกมหานครลีลของฝรั่งเศส เข้ากับเขตเวสต์ฟลานเดอร์และวัลลูนของเบลเยียม เมื่อรวมสามพื้นที่แล้วครอบคลุมเทศบาล 147 แห่ง เป็นเมืองระดับเมโทรโพลิส (Eurometropolis) แห่งแรกและแห่งใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป ความร่วมมือลักษณะนี้เป็นเสมือนการผนวกเมืองระหว่างประเทศให้เป็นพื้นที่เดียว เป็นกรอบการทำงานพัฒนาแบบใหม่ ที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งของรัฐชาติ ซึ่งการเป็นรัฐชาติที่มีเส้นแบ่งเขตแดนที่ชัดเจนที่ผ่านมา กระทบสังคม วัฒนธรรม ของพื้นที่ชายแดนอย่างมาก

  • เมืองชายแดนสามารถสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้เป็นเมืองระดับภูมิภาคที่ดึงดูดการลงทุน โดยเมืองชายแดนขนาดเล็กและขนาดกลางสามารถขายจุดเด่นของการเป็นเมืองที่เชื่อมต่อกับเมืองอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ เป็นตัวล่อและดึงดูดนักลงทุนและแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เองก็สนใจพื้นที่เมืองชายแดนอยู่แล้ว เพราะนำไปสู่การสร้างตลาดใหม่ๆ ได้



3. บทเรียนจากต่างประเทศ การพัฒนาเมืองชายแดนสู่เมืองเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

จากแนวคิดการพัฒนาดินแดนชายขอบสู่การเป็นเมืองแห่งการเชื่อมต่อ ผู้วิจัยได้ศึกษาเพิ่มเติมการพัฒนาเมืองชายแดนในต่างประเทศ ศึกษาให้ลึกในรายละเอียดให้เห็นกระบวนการของเมือง เพื่อเป็นบทเรียนที่เห็นภาพเป็นรูปธรรม โดยเลือกศึกษาการพัฒนาเมืองชายแดนรุ่ยลี่ มณฑลยูนนาน ที่มีบทบาทเชื่อมเศรษฐกิจกับประเทศทางตอนใต้ของจีน และการพัฒนาเมืองชายแดนแบบร่วมมือกันระหว่างเมืองซานดิเอโก้ สหรัฐอเมริกา และเมืองติฮัวนา ประเทศเม็กซิโก (San Diego- Tijuana)


ในกรณีศึกษาของเมืองรุ่ยลี่ รุ่ยลี่เป็นเมืองชายแดนที่ติดกับเมียนมา รุ่ยลี่มีความสัมพันธ์การค้ากับเมียนมาตั้งแต่ยุคเส้นทางสายไหมในอดีตแล้ว หลัง ค.ศ. 1980 จีนเริ่มเปิดประเทศมากขึ้น จีนและพม่ามีความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจชายแดน เปิดพื้นที่การค้าของสองประเทศ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี ฝั่งเมียนมาเปิดเมืองมูเซะ (Muse) ให้เป็นพื้นที่พิเศษ ใน ค.ศ. 1989 เคียงคู่กับ เมืองรุ่ยลี่ ที่ได้สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเจี่ยก้าว (Jiagao) ที่เริ่มใน ค.ศ. 1991 ทั้งสองเมืองนี้เป็นเขตปลอดภาษีศุลกากร สามารถนำเข้าส่งออกสินค้าได้เต็มที่ (Maung, 1994) ในยุค BRI รัฐบาลกลางได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมาก เนรมิตโครงการพัฒนาในมณฑลยูนนานกว่า 238 โครงการ ส่วนหนึ่งเพื่อส่งเสริมรุ่ยลี่ในฐานะประตูสู่ความร่วมมือกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Chen, X. M., & Stone, C. , 2013) นโยบายและกฎระเบียบต่างๆ ได้ถูกนำมาปฏิบัติในเมืองรุ่ยลี่ ให้เมืองนี้มีสิทธิพิเศษในด้านการเงิน ภาษี การลงทุน ได้รับการส่งเขตอุตสาหกรรมแห่งใหม่ เพื่อขยายตลาดสินค้าของจีนให้ยังเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การดำเนินโครงการพัฒนาเมืองรุ่ยลี่ ในยุค BRI เมืองรุ่ยลี่กลายเป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งใหม่ มีอุตสาหกรรมหน้าใหม่เข้ามาตั้งโรงงานในเมืองรุ่ยลี่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมแร่ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมจักรยานยนต์ไฟฟ้า กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้เป็นพลังใหม่ทางเศรษฐกิจของเมืองรุ่ยลี่ นอกจากนี้ รุ่ยลี่ยังพัฒนาตนเองให้เป็นศูนย์กลางการค้าหยกและอัญมณีขนาดใหญ่ของภูมิภาค การพัฒนาท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อยหลายชาติพันธ์ ทำให้เมืองรุ่ยลี่มีเศรษฐกิจในเมืองหลายด้าน (Song Tao, et al, 2020) อาจกล่าวได้ว่า ยุทธศาสตร์ BRI มาช่วยเสริมให้เมืองรุ่ยลี่สำคัญและเติบโตมากยิ่งขึ้น เมืองรุ่ยลี่เองก็มีการบริหารจัดการเมืองที่ใช้ประโยชน์จาก BRI ได้ดี จนรุ่ยลี่กลายเป็นเมืองสำคัญที่สุดของพรมแดนจีนและพม่า

ส่วนการพัฒนาเมืองชายแดนซานดิเอโก และเมืองติฮัวน่า สองเมืองชายแดนนี้มีเศรษฐกิจที่เชื่อมกันมาโดยตลอด เมืองซานดิเอโก้เป็นเมืองใหญ่ที่มีความเจริญเรื่องอุตสาหกรรมไฮเทค ในขณะที่เมืองติฮัวน่าเป็นเมืองที่ไม่เจริญนัก โครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่พร้อม มีแรงงานที่ราคาถูก ทั้งสองเมืองแม้จะมีความแตกต่างกันในเรื่องความเจริญของพื้นที่ แต่นั่นก็เป็นเหตุผลที่ทั้งสองเมืองมีการพึ่งพาทางเศรษฐกิจร่วมกัน มีคนเดินทางเข้าออกทั้งสองเมืองตลอด ทศวรรษที่ 1970 ทั้งสองเมืองจึงมีความร่วมมือกันพัฒนาเมืองชายแดนให้เป็นเมืองเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่ร่วมกัน สิ่งที่เป็นจุดเด่นของการพัฒนาเมืองชายแดนครั้งนี้คือ บทบาทขององค์กรระดับพื้นที่ทั้งสองเมือง ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่น หอการค้า กลุ่มองค์กรนักธุรกิจต่างๆ และองค์กรที่มีบทบาทมาก คือ องค์กรความร่วมมือระหว่างเมืองซานดิเอโก้และติฮัวนา ที่เรียกว่า Smart Border Coalition องค์กรกลางที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ประสานงานภาคส่วนต่างๆ ทั้งสองเมือง เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจชายแดน (Cota, 2017) ทั้งสองมีข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนร่วมกันหลายฉบับ โครงการรูปธรรมที่ประสบความสำเร็จมีหลายอย่าง แต่โครงการที่น่าสนใจคือ การสร้างอาคารผู้โดยสารจากซานดิเอโก้ หรือ Cross Border Xpress (CBX) ที่เชื่อมไปยังสนามบินติฮัวน่า โดยคนของซานดิเอโก้สามารถเช็คอินได้จากฝั่งของตนเอง และข้ามมาขึ้นเครื่องบินที่สนามบินติฮั่วน่า ทำให้สนามบินติฮัวน่ากลายเป็นสนามบินของทั้งสองเมือง มีเที่ยวบินเพิ่มขึ้น และอาคารผู้โดยสารที่ซานดิเอโก้กลายเป็นแหล่งอำนวยความสะดวกขนาดใหญ่ที่มีร้านค้าอาหารและที่จอดรถ ในอนาคตมีแผนสร้างรถไฟระหว่างเชื่อมสองเมือง (Cota, 2017)

ภาพที่ 1 Cross Border Xpress (CBX) หรือการใช้สนามบินร่วมกันของเมืองซานดิเอโก้ – ติฮัวน่า



ที่มา https://otaymesaparking.com/cbx-tijuana-airport-bridge-basics/


อันที่จริงรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาไม่ได้อำนวยความสะดวกในการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนมากนัก เนื่องจากมองปัญหาความมั่นคงเป็นหลัก รัฐบาลกลางอเมริกามักออกนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก หลายนโยบายของพื้นที่ถูกห้ามด้วยเหตุผลความมั่นคงและความปลอดภัยทางชายแดน (Herzog, 2014) แต่การพัฒนาเมืองของซานดิเอโกและติฮัวน่าสะท้อนให้เห็นถึงพลังขององค์กรระดับพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มภาคเอกชนทั้งสองประเทศ ที่มีความพยายามอย่างยิ่งในการทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจชายแดน ทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลกลางด้วยซ้ำ เมืองชายแดนระหว่างซานดิเอโก้ – ติฮัวน่าจึงเป็นภาพของการต่อสู้ระหว่างมุมมองด้านความมั่นคงของชาติ และพลังทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากตำแหน่งที่ตั้งของเมืองและพลังของการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์


หากวิเคราะห์ปัจจัยที่เอื้อให้ชายแดนเป็นเมืองเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่แนวทางการพัฒนาเมืองชายแดน จากกรณีของเมืองรุ่ยลี่ ประการแรก รัฐบาลจีนใช้ประโยชน์จากทำเลที่ตั้งของเมืองได้ดี เห็นโอกาสทางภูมิศาสตร์ของเมืองรุ่ยลี่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ รุ่ยลี่ไม่ได้เพียงแค่ใกล้กับเมืองชายแดนพม่า แต่รุ่ยลี่ยังสามารถเชื่อมเมืองขนาดใหญ่ในเมียนมา เช่นเมืองลาซู มัณฑะเลย์ และเมืองย่างกุ้งด้วย นอกจากนี้ยังสามารถเข้าถึงเมืองสำคัญต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้จากเมืองนี้ เช่น คุนหมิง ย่างกุ้ง แม่สอด กรุงเทพฯ ฮานอย และกัลกัตตา นั่นแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างเมืองขนาดใหญ่ทั้งในและนอกจีน ประการที่สอง รัฐบาลกลางมียุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายและทิศทางชัดเจน โดยเฉพาะการสร้างยุทธศาสตร์ BRI และกำหนดบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนให้แก่มณฑลต่างๆ ทำหน้าที่การเชื่อมเศรษฐกิจกับต่างประเทศ รวมถึงการทุ่มเทงบประมาณและโครงการจำนวนมากไปที่เมืองเป้าหมาย ประการที่สาม การมีอำนาจหรือระเบียบพิเศษที่เอื้อให้เกิดเศรษฐกิจเมือง รุ่ยลี่มีนโยบายด้านภาษี มีการยกเว้นภาษีท้องถิ่น 5 ปีแรกสำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งช่วยดึงดูดบริษัทหน้าใหม่ให้กับเข้ามาลงทุนให้เขตอุตสาหกรรมของเมือง นโยบายด้านการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเจี่ยก้าว คณะกรรมการบริหารเขตการค้าชายแดนเจี่ยเก้ามีอำนาจในการอนุมัติการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติได้ (สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครคุนหมิง, 2556) รวมไปถึงนโยบายด้านการเงิน รัฐบาลจีนยังตั้งให้ยูนนานเป็นพื้นที่ทดลองในการชำระเงินสกุลหยวนในการค้ากับต่างประเทศ (อุกฤษฏ์ ปัทมานนท์, 2560)เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมของการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองได้ ประการที่สี่ การสร้างจุดเด่นและเอกลักษณ์เมือง นอกเหนือจากเป็นเมืองอุตสาหกรรมแล้ว รุ่ยลี่ยังพัฒนาตนเองเป็น “เมืองแห่งอัญมณี” (Oriental Jewelry City) ของภูมิภาค เมืองที่เป็นศูนย์รวมวัตถุดิบ การแปรรูป การผสมผสาน และการค้าขายอัญมณี มีพ่อค้าหลายชาติเข้ามาซื้อและขายในเมืองแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นจีน เมียนมา ปากีสถาน อินเดีย เนปาล และประเทศอื่นๆ ทำให้รุ่ยลี่มีเศรษฐกิจของเมืองในหลายด้าน ไม่ได้พึ่งเพียงแค่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเท่านั้น

นอกจากนี้ หากวิเคราะห์เมืองรุ่ยลี่ร่วมกับเมืองซานดิเอโก้และเมืองติฮัวน่า แนวทางที่สำคัญมาก ประการที่ห้า คือ ความร่วมมือระหว่างเมืองกับต่างประเทศ โดยเฉพาะความร่วมมือแบบทวิภาคี เมืองต่อเมือง ยกระดับความร่วมมือสองฝ่ายให้กลายเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจร่วม (Cross-border economic cooperation zone) ซึ่งเป็นรูปธรรมที่ใช้พลังเมืองสองฝั่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนอย่างได้ผล ความร่วมมือระหว่างเมืองนี้สามารถขยายผลไปยังเมืองอื่นๆ ได้ด้วย ประการสุดท้าย เห็นได้จากการพัฒนาเมืองซานดิเอโก้ - ติฮัวน่า ตัวแสดงในพื้นที่ ทั้งในส่วนท้องถิ่นและภาคส่วนที่ไม่ใช่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในเมือง มีบทบาทสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความร่วมมือที่จะผลักดันโครงการต่างๆ ของเมืองชายแดนกับเมืองอื่นๆ ตามบริบทและทุนทรัพยากรที่โดดเด่นของเมืองได้อย่างมาก


4. เมืองชายแดนไทยท่ามกลางยุทธศาสตร์ BRI : โอกาสด้านเศรษฐกิจ

หันกลับมาวิเคราะห์เมืองชายแดนไทย เมืองชาแดนไทยท่ามกลางบริบทที่จีนแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก เมืองชายแดนไทยจะมีโอกาสทางเศรษฐกิจกับจีนอย่างไร หากมองจากศักยภาพเมืองชายแดนไทยที่มีต่อจีน จะพบว่า ในด้านการค้าชายแดน แม้อันดับหนึ่งจะเป็นการค้าระหว่างไทยกับมาเลเซียที่มีมูลค่าสูงที่สุด แต่มูลค่าการค้าระหว่างไทยและจีนตอนใต้ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด ใน พ.ศ. 2563 ไทยและจีนมีมูลค่าการค้าชายแดน 2.38 ล้านบาท มากกว่า พ.ศ. 2562 ที่มีมูลค่า 1.38 ล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 20.2 เปอร์เซ็นต์ (ฐานเศรษฐกิจ INFO GRAPHIC, 2564) ในด้านภูมิศาสตร์ ทำเลที่ตั้งของเมืองชายแดนไทยนั้นแม้ไม่ได้อยู่ติดชายแดนจีน แต่ก็สามารถเชื่อมไปถึงจีนได้ อีกทั้งที่ตั้งของเมืองชายแดนไทยใกล้กับเมืองหลวงหรือเมืองขนาดใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ชายแดนภาคเหนือสามารถเชื่อมด้วยถนนไปถึงมณฑลยูนนานผ่านถนน R3A เมืองชายแดนแม่สอด อยู่ใกล้เมืองเมียวดี เชื่อมกับเมืองย่างกุ้ง และหากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอาจเชื่อมไปได้ถึงเมืองรุ่ยลี่ของจีนได้ ในส่วนภาคอีสาน เมืองชายแดนไทยสามารถขนส่งสินค้าผ่านลาว และเวียดนาม เชื่อมไปจนถึงชายฝั่งของจีน ผ่านถนนเส้น R9 R8 R12 ซึ่งก็เป็นเส้นทางขนส่งผลไม้ในปัจจุบันจากไทยไปจีน



ภาพที่ 2 แสดงการเชื่อมโยงทางภูมิศาสตร์ระหว่างไทยและจีน


ที่มา https://www.transtimenews.co/5154/



ที่สำคัญ ในบริบทโลกในทศวรรษ 2020 การเคลื่อนไหวของมหาอำนาจที่ส่งผลต่อภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกคงไม่พ้นยุทธศาสตร์การต่างประเทศของจีน ยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative เป็นนโยบายการต่างประเทศเชิงรุกของจีนในการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การค้า และ วัฒนธรรมของประเทศจีนแผ่ไปยังทวีปต่างๆ ทั่วโลก และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่จีนให้ความสำคัญเพราะภูมิภาคนี้เป็นเหมือนหลังบ้านของจีน ที่จีนต้องการเชื่อมทั้งเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม


คำถาม คือ แล้วยุทธศาสตร์ BRI นี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับเมืองชายแดนไทย อันที่จริงความร่วมมือระหว่างไทย – จีนที่เป็นรูปธรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ BRI มีเพียงโครงการเดียว คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงหนองคาย – กรุงเทพ จีนมียุทธศาสตร์ใช้ไทยเป็นศูนย์กลางสำคัญของรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีนและอาเซียน เพราะไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ตรงกลางอาเซียน (ประภัสสร์ เทพชาตรี, 2562) โครงการรถไฟไทย – จีน นี้ จะมีผลต่อเมืองชายแดนภาคอีสานอย่างแน่นอนโดยเฉพาะเมืองหนองคายในฐานะเมืองสถานีต้นทางของไทย และเมืองอุดรธานี แม้ในทางภูมิศาสตร์จะไม่ได้มีเนื้อที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านแต่อุดรธานีเป็นเมืองที่มีบทบาทเชื่อมกับลาวอย่างมาก อีกทั้งเป็นเมืองที่อยู่ของคนจีนโพ้นทะเล

หากมองแค่โครงการ BRI ในไทยคงเกี่ยวพันกับเมืองชายแดนแค่ไม่กี่เมือง แต่ทั้งนี้หากศึกษาโครงการจาก BRI ที่ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านไทย จะพบว่า ทั่วทิศของบริเวณประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับเมืองชายแดนไทย ล้วนมีโครงการ BRI เข้าไปลงทุนหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งเมืองชายแดนภาคตะวันตก ในเมียนมา การลงทุนโครงการในเมียวดี สร้างเมืองใหม่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะในเมืองโก๊กโก่ หรือ ชเวโก๊กโก่ (Shwe Kokko) และยังมีอีก 2 โครงการใหญ่ คือ โครงการพื้นที่อุตสาหกรรม Saixigang และโครงการเมืองนานาชาติฮ่วนหยา (Huanya) (Clapp, 2020) เป็นอภิมหาโครงการทั้งหมด โดยเมืองเมียวดีเป็นพื้นที่ที่อยู่ตรงข้ามกับเมืองชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก เพียงแค่แม่น้ำอิระวดีกั้น เศรษฐกิจทั้งสองฝั่งพึ่งพาอาศัยกันมานานทั้งด้านแรงงาน การซื้อขายสินค้า และการบริการสาธารณสุข ส่วนฝั่งชายแดนตะวันออก ประเทศกัมพูชา มีหลายโครงการจาก BRI ทั้งโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ สีหนุวิลล์ (Sihanoukville) ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,300 ไร่ (McGrath, 2017) รวมถึงโครงการพัฒนาเมืองใหม่ในเกาะกง และการพัฒนาเมืองใหม่ในทมอดา ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากชายแดนตราด

ในส่วนภาคเหนือ จีนมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในเมืองบ่อเต็น ของ สปป.ลาว รถไฟความเร็วสูง และเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ต่างก็รู้กันดีว่ารองรับนักลงทุนจากจีน และที่สำคัญใน BRI จีนได้กำหนดมณฑลยูนนานให้มีบทบาทเชื่อมต่อกับประเทศตอนใต้ของจีน ซึ่งมณฑลยูนนานอยู่ห่างจากเมืองชายแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพียงแค่ 254 กิโลเมตรเท่านั้น มณฑลยูนนานมีนโยบายที่คาดว่าน่าจะส่งผลดีต่อไทย เช่น ระบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-Commerce) ที่ด่านบ่อหาน ร่วมกับไทย รองรับการค้าบนเส้นทาง R3A ซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ และขนส่งจากไทยไปจีนได้โดยตรง (ผู้จัดการออนไลน์, 2561) รวมไปถึงนโยบายลดภาษีนำเข้าสินค้าทางน้ำที่ด่านท่าเรือกวนเหล่ย เป็นต้น น่าจะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของเมืองชายแดนไทย การสำรวจผ่านมุมมองเมืองชายแดนไทยจะเห็นได้ว่ายุทธศาสตร์ BRI ของจีน เป็นบริบทของโลกบริบทใหม่ที่จะมีผลต่อเมืองชายแดนไทยเกือบทุกภาคของประเทศ ทั้ง ชายแดนภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคอีสาน และภาคตะวันออก

ภาพที่ 3 โครงการ BRI ในไทยและเพื่อนบ้านที่มีผลต่อเมืองชายแดนไทย


ที่มา Google Map พัฒนาเพิ่มเติมโดยผู้วิจัย




จากการศึกษาข้อมูลและการสัมภาษณ์หอการค้าจังหวัดตามชายแดน พบว่า เมืองชายแดนไทยได้ผลทั้งบวกและลบจากโครงการ BRI ในประเทศเพื่อนบ้าน ผลในทางบวกที่จะไปสู่โอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกับจีน คือ

1. โอกาสด้านการค้า มีคนจีนจำนวนหลายแสนเข้ามาอยู่ในเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมต้องการการจับจ่ายเงิน ต้องการสินค้าจากไทยแน่นอน เช่น แม่สอด คนจีนข้ามมาซื้อของอยู่เป็นประจำ ย่อมเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SME ไทยที่จะทำการค้าขาย ทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สามารถขายได้แทบทั้งหมด ในเมืองชายแดนตราดเอง คนจีนในกัมพูชาได้เข้ามาเที่ยว และใช้บริการโรงพยาบาลในตราด และในชายแดนภาคเหนือ นโยบายระบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ก็น่าจะช่วยให้มีการส่งสินค้าจากไทยไปจีนได้มากยิ่งขึ้น

2. โอกาสด้านการลงทุน วิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการดำเนินนโยบาย BRI ที่ต้องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปทั่วโลก การสนับสนุนจากรัฐในนโยบาย “ก้าวออกไป” ที่สนับสนุนให้ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจของจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ผนวกกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ทำให้นักลงทุนจีนต้องย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ มุ่งสู่โลกภายนอก สำหรับประเทศไทย นอกเหนือจากพื้นที่ EEC แล้ว นักลงทุนจีนยังสนใจลงทุนตามเมืองต่างๆ ของไทยด้วย เช่น เชียงใหม่ เชียงราย และเมืองอุดรธานี สะท้อนให้เห็นว่า โดยภาพรวม ประเทศไทยเองอยู่ในความสนใจด้านการลงทุนจากจีนมาโดยตลอด ดังนั้น เมืองชายแดนไทยเองมีโอกาสอย่างยิ่งในการดึงการลงทุนจากจีนให้เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เป็นนโยบายของเมืองชายแดนไทย แต่ทั้งนี้คงขึ้นกับการพัฒนาเมืองชายแดนไทยที่ต้องยกระดับตัวเองให้เป็นเมืองที่เหมาะแก่การลงทุนของภูมิภาคให้ได้ และต้องแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการภายในประเทศให้ดี



อย่างไรก็ตาม โครงการ BRI ในประเทศเพื่อนบ้าน ก็ส่งกระทบเชิงลบกับเมืองชายแดนไทยไม่น้อย ในด้านการค้า กลุ่มทุนจีนจะเข้ามาเป็นคู่แข่งและตีตลาดการค้าชายแดนไทย เนื่องจากมีต้นทุนราคาที่ถูกกว่า นอกจากนี้ การเข้าร่วมโครงการ Cross Border E-commerce สินค้าจีนจะทะลักเข้ามาในไทย ในด้านการลงทุน BRI ทำให้นักลงทุนจีนหันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า เพราะแรงจูงใจทางนโยบายและเรื่องของความง่ายในการทำธุรกิจ (Easy of doing business) ที่เพื่อนบ้านมีมากกว่าไทย การสร้างเมืองขนาดใหญ่ในเพื่อนบ้าน เมืองที่โตขึ้น เบื้องหลังมาจากเมืองแห่งเอนเตอร์เทนเม้นท์ มีบ่อน คาราโอเกะ เป็นเมืองเที่ยว เป็นธุรกิจสีเทา ทำให้ชายแดนไทยกังวลเรื่องความเสื่อมโทรมของสังคมเมือง และปัญหาการเข้า-ออกผิดกฎหมาย (โกวิทย์ บุญธรรม, 2563) สิ่งเหล่านี้เป็นเหรียญสองด้านที่ไทยควรจะประเมินโอกาสและข้อท้าทายให้ดี


ท่ามกลางบริบทระหว่างประเทศที่มี BRI จากจีนจะมีผลต่อเมืองชายแดนไทย ซึ่งเป็นได้ทั้งโอกาสและผลกระทบทาง แต่ไทยควรต้องมองให้เป็นโอกาสของเมืองชายแดนไทย และมองโอกาสร่วมกับทุนเดิมทางภูมิศาสตร์ที่ประเทศไทยก็เชื่อมเมืองขนาดใหญ่ได้ทั้งในจีนและเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการค้าชายแดนไทยที่มีกับจีนและภูมิภาคอาเซียน ฉะนั้น เมืองชายแดนของไทยจึงเหมาะเป็นอย่างยิ่งที่จะยกระดับตนเองเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค และพัฒนาเป็นเมืองระดับโลกได้


5. การพัฒนาเมืองชายแดนไทย : นโยบายจากภาครัฐและช่องว่าง

นโยบายการพัฒนาเมืองชายแดนไทย ในส่วนของรัฐบาลกลางมีเค้าโครงมาตั้งแต่แผนพัฒนาสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ที่ไทยเริ่มมีนโยบายเข้าร่วมตามกรอบความร่วมมือของต่างประเทศ จนมาในแผนพัฒนาและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 นโยบายการพัฒนาเมืองชายแดนชัดเจนขึ้น ได้ปรากฏวิสัยทัศน์ให้เปิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่บริเวณชายแดนเชื่อมโยงการค้าการลงทุนในภูมิภาคของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน มีรูปธรรมโครงการสำคัญคือ นโยบายการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษในเมืองชายแดน 10 เมืองทั่วทุกภาคของไทย (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2559) และแผนแม่บท (Master Plan) การพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคในเมืองชายแดนจำนวน 11 แห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางถนนของเมืองชายแดน หวังให้จังหวัดชายแดนกลายเป็นศูนย์กลาง (Hub) เชื่อมต่อการขนส่งสินค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน (สิริรัตน์ วีรวิศาล, 2561)


เมื่อวิเคราะห์เจาะลึกลงมากขึ้น จะเห็นว่า แม้รัฐบาลจะมีนโยบายการพัฒนาเมืองชายแดนแต่ไทยยังมีปัญหาและช่องว่างในการพัฒนาเมืองชายแดนอยู่มาก เขตเศรษฐกิจพิเศษที่เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2557 มีปัญหาในการปฏิบัติงานไม่น้อย เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษไม่คืบหน้า มีรูปธรรมแห่งเดียวคือที่จังหวัดสระแก้ว ไม่มีแรงจูงใจนักลงทุนต่างชาติ ไม่ตอบโจทย์นักลงทุนท้องถิ่น และยังไม่เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในเมืองชายแดน นอกจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าว แผนการพัฒนาบุคลากรในเมืองชายแดนยังไม่ปรากฏชัด ทั้งที่บุคลากรชายแดนจำเป็นต้องปรับตัว โดยเฉพาะภาคราชการในเมืองชายแดนยังไม่ตื่นตัวการเตรียมพร้อมการเข้ามาของจีน รวมทั้งขาดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองชายแดน ภาคส่วนที่รับรู้และมียุทธศาสตร์เชิงรุกส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชนของพื้นที่ที่ปรับตัวเร็ว

ปัญหาหรือช่องว่างเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เกิดมาจากพื้นฐานโครงสร้างอำนาจการบริหารจัดการเมือง ที่เป็นปัญหาของประเทศไทย การบริหารประเทศยังเป็นแบบรวมศูนย์ ท้องถิ่นไม่ได้มีอำนาจในการบริหารจัดการเมืองอย่างเต็มที่ เมืองของไทยบริหารโดยข้าราชการส่วนกลางเป็นหลัก ส่วนท้องถิ่นเป็นเพียงส่วนเสริมเท่านั้น หลายกระทรวง หลายกรมของรัฐส่วนกลาง มีบทบาทและงบประมาณในพื้นที่มาก ทำให้การบริหารงานไม่เป็นเอกภาพ เช่น โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีแต่นโยบายแต่ยังขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ชัดเจน ไม่มีกลไกพิเศษที่ทำให้ตัดสินใจได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเพียงประธานประสานกับรัฐบาล แม้จะมีศูนย์ประสานงานเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ไม่มีอำนาจ หรือระเบียบกฎหมายให้อำนาจหน่วยงานต่างๆ (เทอดเกียรติ, 2563) แตกต่างกับต่างประเทศ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษเจี่ยก้าวในเมืองรุ่ยลี่ ในมณทลยูนนานของจีน ใช้พื้นที่เพียง 2.4 ตารางกิโลเมตร แม้จะพื้นที่น้อยแต่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะจีนจะมีหน่วยงานกลางหน่วยหนึ่งคุมทุกอย่าง ทั้งอำนาจศุลกากร อำนาจสรรพากร อำนาจทางพาณิชย์ มีความเป็นเอกภาพ สั่งการได้ ปัญหาการกระจายอำนาจนี้ ส่งผลต่อวิสัยทัศน์ ทรัพยากร และแรงผลักดันที่ยังไม่มากพอในการการพัฒนาเมืองชายแดนในหลายด้าน รวมไปถึงความพร้อมที่จะคิดโครงการขนาดใหญ่ร่วมกับเมืองต่างๆ ในภูมิภาค


6. ข้อเสนอแนะการพัฒนาเมืองชายแดนสู่เมืองเศรษฐกิจแห่งภูมิภาค

จากการทบทวนแนวทางการพัฒนาเมืองชายแดนของต่างประเทศ และวิเคราะห์ร่วมกับโอกาสของเมืองชายแดนไทยที่จะเชื่อมเศรษฐกิจกับจีน เมืองชายแดนไทยควรพัฒนาและยกระดับเมืองเพื่อเป็นพื้นที่สำคัญเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ ข้อเสนอแนะทางนโยบายเชิงรุกเพื่อพัฒนาเมืองชายแดนสู่เมืองแห่งการเชื่อมต่อกับต่างประเทศ มีดังนี้

  1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองชายแดนที่มีเป้าหมายและชัดเจน ทิศทางภาพใหญ่ต้องชัดเจน มีเป้าหมาย แบบยุทธศาสตร์ BRI ของจีน และควรกำหนดบทบาทหน้าที่ของเมืองชายแดนแต่ละภาคให้ชัดเจนตามศักยภาพเพื่อให้การทำภารกิจเชื่อมกับต่างประเทศ เช่น เมืองชายแดนภาคเหนือควรสร้างความร่วมมือกับมณฑลยูนนานเป็นพิเศษ ในฐานะมณฑลสำคัญของจีนตอนใต้ตามนโยบายของ BRI เมืองชายแดนในภาคตะวันออกต้องพัฒนาเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่รองรับผู้คนจากเวียดนามและกัมพูชาโดยเฉพาะในบริเวณสีหนุวิลล์ที่มีคนจีนจำนวนมาก เมืองชายแดนภาคตะวันตกควรเน้นสร้างและพัฒนาเมืองแม่สอดให้เป็นเมืองหลักที่เหมาะสำหรับการค้าและการลงทุนร่วมกับพม่าและจีน เมื่อมียุทธศาสตร์แล้ว รัฐบาลต้องพร้อมทุ่มเททรัพยากรและงบประมาณ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม การผังเมือง การพัฒนาคน เพื่อให้หน่วยงานระดับพื้นเชื่อมั่นและพร้อมที่เปลี่ยนแปลงและตอบสนองยุทธศาสตร์ได้ การเปลี่ยนแปลงของเมืองแบบองคาพยพจึงจะเกิดขึ้น

  2. การมีอำนาจและกฎหมายพิเศษในการบริหารเมืองชายแดน พื้นที่ที่มีความเฉพาะพิเศษ อย่างเมืองชายแดน ควรมีโครงสร้างการบริหารจัดการและกฎระเบียบที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาได้ เมืองชายแดนในต่างประเทศรัฐบาลท้องถิ่นหรือมลรัฐมีอำนาจสูงในการจัดการพื้นที่ ทำให้สามารถสร้างโครงการร่วมกับเมืองเพื่อนบ้านได้สำเร็จ โดยไม่ต้องผ่านส่วนกลาง การกระจายอำนาจเช่นนั้นอาจใช้เวลานานในไทย เบื้องต้นเมืองชายแดนไทยที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์อาจเริ่มจากมีหน่วยงานกลางหรือคณะกรรมการกลางพิเศษชุดหนึ่งที่ทำให้หน้าที่ตัดสินใจในพื้นที่ได้โดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานราชการทั่วไป รวมถึงการให้อำนาจออกกฎหมายพิเศษ เช่น การลดเว้นภาษี การแลกเปลี่ยนเงินตรา การไม่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ การลดอุปสรรคในการเข้าออกของคน เป็นต้น เพื่อดึงดูดในการลงทุนทั้งจากทุนท้องถิ่นและทุนต่างจากประเทศได้

  3. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับเมืองในภูมิภาค เมืองชายแดนไทยต้องสร้างความร่วมมือกับเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือแบบทวิภาคีหรือพหุภาคี โดยพยายามดึงจีนในฐานะประเทศมหาอำนาจเข้ามาร่วมด้วย และต้องเป็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาเมืองทุกฝ่ายได้ ข้อนี้เป็นจุดแข็งของเมืองชายแดน ที่เมืองอื่นๆ ทำได้ยากเพราะภูมิศาสตร์พื้นที่ไม่เอื้ออำนวยเท่าเมืองชายแดน ความร่วมมือระหว่างเมืองนั้นสามารถทำได้หลายแบบ เช่น การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วม (Cross Border Economics Zone) อาจเป็นไปได้ในเมืองแม่สอดและเมืองเมียวดีของเมียนม่าที่มีการค้าระหว่างกันเป็นทุนเดิม และเมียวดีเต็มไปด้วยคนจีนที่มาลงทุนใน BRI หรือเมืองอุดรธานี – เวียงจันทน์ในลาว ในภาคตะวันออกในเมืองชายแดนตราด สามารถทำความร่วมมือสร้างท่าเรือเพื่อส่งเสริมการเดินเรือชายฝั่ง 3 ประเทศ (ไทย กัมพูชา เวียดนาม) เพราะกัมพูชามีคนจีนจำนวนมากจาก BRI เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น

  4. การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของเมืองชายแดน เมืองชายแดนไทยต้องมีการสร้างแบรนด์หรือจุดขายบางอย่าง (Branding City) เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับตนเอง โดยเฉพาะจุดขายของการเป็นเมืองแห่งการเชื่อมต่อกับภูมิภาคอาเซียน รวมไปถึงจีนและอินเดีย เพื่อให้นักลงทุนได้มองเห็นตลาดใหม่ที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ เมืองชายแดนไทยยังสามารถสร้างจุดเด่นจากทรัพยากรของเมืองไม่ว่าจะเป็นทุนทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ เพื่อดึงดูดการค้าและการท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านและจีนได้ เช่น เมืองชายแดนเชียงรายควรสร้างความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ไท ไต ลาว วัฒนธรรมร่วมของภูมิภาค เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจากยูนนาน เมืองชายแดนแม่สอดควรพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางอัญมณีในภูมิภาคและและศูนย์หยกโลกแบบเมืองรุ่ยลี่ ที่สามารถดึงนักค้าหยกทั่วภูมิภาคมายังเมืองได้

  5. การพัฒนาบุคลากรในเมืองชายแดนให้เป็นพลังของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรของหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการทั่วไป และนักศึกษา เพื่อพัฒนาให้มีความเข้าใจหรือมีทักษะที่รองรับกับการพัฒนาเมืองชายแดน ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ของภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงการการลงทุนจาก BRI หรือยุทธศาสตร์ของประเทศอื่นๆ และควรมีการหนุนเสริมให้เกิดเครือข่ายของท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชน โดยให้กลุ่มของภาคเอกชนในพื้นที่ให้มีบทบาทนำในการพัฒนาเมืองชายแดน เพราะเป็นภาคส่วนที่ไม่ติดกรอบและปรับตัวได้ดี ที่ผ่านมา ภาคเอกชนไทยในพื้นที่ชายแดนมีการเคลื่อนไหวทำงานร่วมกับจีน เพื่อรองรับการเข้ามาของยุทธศาสตร์ BRI แล้วในหลายพื้นที่ ก็ยิ่งจะช่วยสร้างพลังของพื้นที่ให้การเรียกร้องและสร้างข้อเสนอที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเองได้



7. บรรณานุกรม


Chen, X. M., & Stone, C. . (2013). China and Southeast Asia: Unbalanced development in the greater Mekong subregion. The European financial review.

Clapp, J. T. (2020, July). Myanmar’s Casino Cities: The Role of China and Transnational Criminal Networks . Special Report.

Cota, J. E. (2017). Economic integration and cross-border economic organizations: The case of San Diego-Tijuana. Estudios fronterizos, 18. doi:10.21670/ref.2017.35.a02

Herzog, L. A. (2014). The Cross-Border Metropolis in a Global Age: A Conceptual Model and Empirical Evidence from the US–Mexico and European Border Regions. Global Society, 28(4), 441-461. Retrieved from https://www.tandfonline.com/doi/10.1080/13600826.2014.948539

John S. Felkner, Robert M. Townsend. (2011). The Geographic Concentration of Enterprise in Developing Countries. The Quarterly Journal of Economics, Volume 126, Issue 4, November 2011, 2005–2061, https://doi.org/10.1093/qje/qjr046.

LISER. (2015). Opportunities of cross-border cooperation between small and medium cities in Europe. Luxembourg: Luxembourg Institute of Socio-Economic Research.

Maung, M. (1994). On the Road to Mandalay: A Case Study of the Sinonization of Upper Burma. Asian Survey Vol. 34, No. 5 (May, 1994), 447-459.

McGrath, C. (2017, June 12). Sihanoukville zone prospers on China links. Retrieved July 9, 2021, from The Phnom Penh Post: https://www.phnompenhpost.com/business/sihanoukville-zone-prospers-china-links

Song Tao, et al. (2020). Ruili, China: The China–Myanmar Nexus Hub at the Crossroads. Cities, Volume 104, 102766.

โกวิทย์ บุญธรรม. (2563, มกราคม 23). เมืองใหม่ทุนจีน แม่สอด-เมียวดี ใครได้-ใครเสีย. Retrieved เมษายน 12, 2564, from thaipbs: https://news.thaipbs.or.th/content/288249

ฐานเศรษฐกิจ INFO GRAPHIC. (2564, June 25). จีนคู่ค้าเพื่อนบ้านไทยมาแรงจ่อแซงขึ้นแชมพ์แทน"มาเลเซีย". Retrieved กันยายน 12, 2564, from ฐานเศรษฐกิจ: https://www.thansettakij.com/general-news/485357

เทอดเกียรติ, ช. (2563, มกราคม 24). ไทยได้แค่ชะเง้อเมียนมา เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด 5 ปี ยังไม่เกิด. (ThaiPBS, Interviewer) Retrieved from https://news.thaipbs.or.th/content/288281

ประภัสสร์ เทพชาตรี. (2562). อาเซียนกับ BRI (Belt and Road Initiative). Retrieved เมษายน 12, 2021, from drprapat: http://www.drprapat.com/

ผู้จัดการออนไลน์. (2561, มีนาคม 4). จีนใช้ “ไห่เถา” ผ่านด่านโมฮาน หนุนการค้าอีคอมเมิร์ซเส้นทางอาร์สามเอรุ่ง. Retrieved from mgronline: https://mgronline.com/local/detail/9610000021647

พรชนก เทพขาม. (2562). ความเหลื่อมล้้าเชิงพื้นที่ และนัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย.กรุงเทพฯ: ธนาคารแห่งประเทศไทย.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2559). สรุปสาระสำคัญแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังแห่งชาติฉบับที่12.กรุงเทพฯ : สำนักงานนายกรัฐมนตรี.

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครคุนหมิง. (2556). เขตการค้าชายแดนเจี่ยเก้า เมืองรุ่ยลี่. Kunming China : สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครคุนหมิง.

สิริรัตน์ วีรวิศาล. (2561). การพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าจังหวัดชายแดน. ติดตามสถานการณ์ขนส่ง ในอนุภูมิภาค GMS. โรงแรม S31 สุขุมวิท กรุงเทพ: กรมการขนส่ง ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อุกฤษฏ์ ปัทมานนท์. (2560). เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทยกับอาเซียน: ภูมิภาคนิยม รัฐ และทุน. วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา 36(1): มกราคม - มิถุนายน 2560, 10-26.

เอนก เหล่าธรรมทัศน์. (2559). เมืองย้อนคิด มุ่งสู่อนาคต. กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง.


***** หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรก งานสัมมนายุทธศาสตร์ไทย- จีน ครั้งที่ 10

**** อ้างอิง (Citation)

ณัฐธิดา เย็นบำรุง. (2564). การพัฒนาเมืองชายแดนไทย สู่โอกาสทางเศรษฐกิจจากจีน. ใน งานสัมมนายุทธศาสตร์ไทย- จีน ครั้งที่ 10 (หน้า 194-204). Huaqiao University ( HQU ) ,China Society for Southeast Asian Studies (ζSSAS), National Research Council of Thailand ( NRCT) , Thai-Chinese Culture and Economy Association (TCCEA)

ดู 310 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page