top of page

ความหวังใหม่ของความทันสมัยของจีน - Prof. Fang Ning

อัปเดตเมื่อ 1 เม.ย.






มหาวิทยาลัยหัวเฉียว (Huaqiao University) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน และสมาคมจีนเพื่อการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (China Society for Southeast Asian Studies) จัดการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 12” (The 12th Thai – Chinese Strategic Research Seminar) ภายใต้หัวข้อเรื่อง “ร่วมสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกันในยุคใหม่ (Jointly Building a China-Thailand Community with a Shared Future in the New Era)” ระหว่างวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมนี้ ในการปาฐกถาพิเศษ ได้รับเกียรติจาก Prof. Fang Ning อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยรัฐศาสตร์ สถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์ (CASS) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความหวังใหม่ของความทันสมัยของจีน” มีสาระสำคัญ ดังนี้


ที่ผ่านมาสาธารณรัฐประชาชนจีนพัฒนาเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรมไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม ทำให้เศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เศรษฐกิจของจีนมีอิทธิพลกับทวีปเอเชียอย่างมาก โดยเฉพาะกับประเทศไทย เพราะมีที่ตั้งอยู่ใกล้กัน มีการค้าขายระหว่างกันอย่างใกล้ชิด และสังคมเศรษฐกิจจีนและไทยก็มีคล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ตาม จีนเองได้เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจเฉกเช่นเดียวกันประเทศอื่นๆ เมื่อช่วงที่จีนเปิดประเทศใน ค.ศ. 1970 จีนพัฒนาเศรษฐกิจ สร้าง GDP เฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี หลังจากนั้น GDP ของจีนก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ค.ศ. 2010-2022 อัตราลดลง 1.1. เปอร์เซ็นต์ทุก 2 ปี



ภาพ Prof. Fang Ning



สาเหตุของปัญหาเศรษฐกิจจีนมาจากอะไร ?


  1. เป็นไปตามกฎของการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยวงจรการพัฒนาอุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น เติบโตรวดเร็ว –สม่ำเสมอ – ปานกลาง – ต่ำ อุตสาหกรรมจีนก็ไม่มีข้อยกเว้น เป็นไปตามทฤษฏีเช่นกัน

  2. ปัญหาสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ในอดีต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพัฒนาด้วยการเสริมสร้างและร่วมมือกัน ประเทศต่างๆ ค้าขายเสรี แบ่งหน้าที่กันผลิตตามศักยภาพของแต่ละประเทศ ทำให้เศรษฐกิจโลกพัฒนาอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจจีนก็เหมือนกัน แต่ในระยะหลัง มีการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะจีนและอเมริกา ทำสงครามการค้า (trade war) จีนซึ่งเป็นโรงงานของโลก ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า สังเกตได้จากเมืองเศรษฐกิจอย่างเมือง Xiamen และเมือง Yiwu

  3. โรคระบาด covid 19 จีนและโลกหนีไม่พ้นโรคระบาด covid 19 ซึ่งส่งผลต่อคนทุกคน และทำให้เศรษฐกิจเหมือนติดเชื้อโควิดไปด้วย แม้โควิด 19 จะจบลงแต่เศรษฐกิจจีนก็ยังดูเหมือนคนป่วย และได้รับผลกระทบอยู่

  4. การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล ช่วงเริ่มต้นการพัฒนา จีนมีนโยบายเปิดประเทศ การปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นแบบตลาด ทำให้เศรษฐกิจประสบความสำเร็จ คนทำธุรกิจได้อย่างเสรี จนมีคำขวัญว่า “ปฏิรูปให้คึกคัก” ทำให้ประชาชนมีความทะเยอทะยาน กระตือรือร้นทำงาน ทำธุรกิจ ต่อมามีจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจแบบเสรี แม้มีจุดดีที่คนทะเยอทะยานแต่ก็ตามมาด้วยปัญหาทุจริตคอรัปชั่น การปล่อยปะละเลยทางเศรษฐกิจเกินไป รัฐบาลจึงเริ่มเข้ามาควบคุมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้ความทะเยอทยานของภาคเอกชนลดลง ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยลดลง ผู้ประกอบการขาดความกระตือรือร้น ทำให้ธุรกิจไม่เติบโต การบริโภคน้อยลง ส่งผลให้เศรษฐกิจแย่

อันที่จริง ทุกประเทศเจอปัญหาทางเศรษฐกิจเหมือนกัน มีความท้าทายเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสใหม่เช่นกัน เศรษฐกิจจีนกำลังหาโอกาสใหม่ในการพัฒนา



โอกาสครั้งใหม่ของจีน


ในปี ค.ศ. 1935 นักภูมิศาสตร์จีน Hu Huanyong ได้วาดเส้นภูมิศาสตร์จีน ที่เรียกว่า เส้นอ้ายฮุย – เถิงชง (Heihe–Tengchong Line) หรือเส้น Hu line เป็นเส้นจินตภาพภูมิศาสตร์ ที่แบ่งพื้นที่ของจีนออกเป็นสองส่วน เส้นนี้เริ่มลากจากเมืองอ้ายฮุย ในมณฑลเฮยหลงเจียง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนที่อยู่ใกล้รัสเซีย และจบที่เมืองเถินชง ในมณฑลยูนนาน ภาคใต้ของจีน เส้นนี้ทำให้เห็นภูมิศาสตร์จีนเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งตะวันตกและตะวันออก ฝั่งตะวันออกมีพื้นที่ร้อยละ 36 ประชากรร้อยละ 96 ฝั่งตะวันตกมีพื้นที่ร้อยละ 64 มีประชากรร้อยละ 4 ในปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมาตัวเลขดังกล่าวแทบไม่เปลี่ยนแปลง นั่นหมายความว่า ในเวลา 65 ปี สภาพการกระจายจำนวนประชากรตามภูมิศาสตร์ของประเทศแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาและความเจริญกระจุกตัวอยู่ตามชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ มีความไม่เท่าเทียมในการพัฒนาระหว่างภาคตะวันตกและภาคตะวันออก ขาดความสมดุลในการพัฒนา ภาคตะวันออกพัฒนาอย่างมาก ในขณะที่ภาคตะวันตกยังคงด้อยพัฒนา


ภาพ เส้นอ้ายฮุย – เถิงชง (Heihe–Tengchong Line) ในจีน


ทั้งนี้ ทรัพยากรของภาคตะวันตกของจีนมีจุดเด่น คือ พลังงานน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก พลังงานน้ำเป็นพลังงานใหม่ พลังงานสะอาดที่อยู่ที่ตะวันตกของจีน พลังงานน้ำดังกล่าวยังไม่พัฒนาอย่างเต็มที่ ในสมัยโบราณ น้ำคือ ปัญหา และทำให้เกิดภัยพิบัติ ปัจจุบัน เราสร้างเขื่อนทำให้กักน้ำได้ ภัยพิบัติจากน้ำก็น้อยลง น้ำท่วมน้อยลง น้ำจึงเป็นของดี สร้างประโยชน์ให้ประเทศ ดังนั้น จีนมีโอกาสใหม่ในการสร้างสถานีปั่นไฟโดยพลังงานน้ำ ไฟฟ้า Solar Cell นอกจากพลังงานน้ำ ภาคตะวันตกของจีนยังมีถ่านหินจำนวนมาก ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม จีนผลิตถ่านหินมากที่สุด สำรองเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคตะวันตก อีกทั้งจีนยังมีทรัพยากรป่าในภาคตะวันตกอีกจำนวนมากด้วย


ภาคตะวันตกของจีน มี 8 มณฑล มีประชากรเพียงประมาณ 100 ล้านคน แต่มีพื้นที่เป็น 1 ใน 3 ของประเทศที่มีทรัพยากรมากมาย นี่เป็นโอกาสใหม่ในการพัฒนาของจีน


หากประเทศต่างๆ ในโลก รวมถึงประเทศไทย สามารถมาร่วมลงทุนและพัฒนาภาคตะวันตกร่วมกับจีน ก็จะทำให้หลายประเทศได้รับผลประโยชน์จากเส้นอ้ายฮุย เถิงชง





ผู้เขียนบทความ - ณัฐธิดา เย็นบำรุง นักวิจัยสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ




ดู 53 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page