top of page

การเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ความทันสมัยต้องอาศัยเงื่อนไขอย่างน้อยสามประการ

อัปเดตเมื่อ 25 เม.ย.






เรียบเรียงโดย

ยุวดี คาดการณ์ไกล

สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ




หนังสือเรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบพัฒนาการทางการเมืองในเอเชีย (Comparative Studies of Political Development / 政治发展比较研究)  ฉบับภาษาจีน เผยแพร่เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ บรรณาธิการโดย Prof.Fang Ning และ Prof.Guo Jing สถาบันวิจัยรัฐศาสตร์ ภายใต้สภาสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับมอบหนังสือเล่มนี้จาก Prof.Fang Ning 







หนังสือดังกล่าวเป็นผลงานการวิจัยของคณะวิจัยชุดใหญ่ของจีน เริ่มเมื่อปี 2008  โดยสภาสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน (Chinese Academy of Social Sciences) ได้ตั้งกลุ่มวิจัยด้านการพัฒนาทางการเมืองเปรียบเทียบ  ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วย แกนนำทางวิชาการรุ่นเยาว์และวัยกลางคนจากสภาสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน โดยมีศาสตราจารย์ฝางหนิง อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยรัฐศาสตร์ ภายใต้สภาสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน เป็นหัวหน้าทีม ดำเนินการสืบค้นและวิจัยในเอเชียและประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ทั้งนี้ เพื่อ​​วิเคราะห์และค้นหาความเหมือนและความแตกต่างของการพัฒนาทางการเมืองในกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมและความทันสมัยของโลก และค้นหากฎของการพัฒนาทางการเมืองในกระบวนการพัฒนาความทันสมัย  ในการวิจัยนี้ได้ค้นพบทฤษฎีบางอย่างจากการวิจัยเปรียบเทียบเกี่ยวกับการสร้างความทันสมัย และเขียนออกมาเป็นหนังสือภาษาจีนในชื่อเรื่องการศึกษาเปรียบเทียบพัฒนาการทางการเมืองในเอเชีย ล่าสุดตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปลายปี 2023  ที่ผ่านมา

 

ข้อสรุปบางส่วนที่น่าสนใจจากหนังสือเรื่องการศึกษาเปรียบเทียบพัฒนาการทางการเมืองในเอเชีย ที่ศาสตราจารย์ฝางหนิง ได้หยิบยกมาคุยในการประชุมปลายปี 2023 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง ในประเด็น การเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ความทันสมัย: มีเงื่อนไขพื้นฐานสามประการ

 

การพัฒนาอุตสาหกรรมและความทันสมัยดูเหมือนเป็นแนวโน้มทั่วไปในการพัฒนาของประเทศต่างๆ ทั่วโลก การพัฒนาอุตสาหกรรมและความทันสมัยนั้น ในด้านหนึ่ง นำมาซึ่งการพัฒนา ในอีกด้านหนึ่ง ก็ยังนำมาซึ่งความขัดแย้งและแม้แต่ความเสี่ยงด้วย เมื่อพิจารณาจากขั้นตอนทางประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมและกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ประสบกับความไม่สงบทางสังคมหลังจากการพัฒนามาระยะหนึ่ง และในที่สุดไม่สามารถพัฒนาสู่ความทันสมัย ยิ่งกว่านั้นกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า "รัฐล้มเหลว" อีกด้วย

 

คำถามคือ เหตุใดหลังสงครามโลกบางประทศจึงประสบความสำเร็จ ในขณะที่บางประเทศล้มเหลวในกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมและความทันสมัย? จากการวิจัยในหลายประเทศของทีมงานวิจัยจากสถาบันวิจัยรัฐศาสตร์แห่งชาติจีนที่นำโดย ศาสตราจารย์ฝางหนิง  ได้ค้นพบว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ อัตราการขยายตัวของเมืองของประเทศกำลังพัฒนาในท่ามกลางกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมและความทันสมัย

 

ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมดที่มีอัตราการขยายตัวของเมือง 65% หรือมากกว่าขึ้นไป ในที่สุดแล้วจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย แม้ว่าจะมีความขัดแย้งทางสังคม ความไม่สงบและเกิดความรุนแรงในสังคมก็ตาม ก็ยังสามารถทนทานต่อการทดสอบของปัญหาเหล่านี้ได้ ประเทศในกลุ่มนี้คือเกาหลีใต้และเขตปกครองไต้หวัน ส่วนประเทศอื่น ๆ ก่อนที่อัตราการขยายตัวของเมืองจะสูงถึง 65% ต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางสังคมและความไม่สงบ ส่งผลให้กระบวนการของการพัฒนาอุตสาหกรรมและความทันสมัยถูกขัดจังหวะหรือชะลอตัวลงอย่างมาก และบางส่วนก็อยู่ในภาวะซบเซาเป็นเวลานาน ตัวอย่างในกลุ่มนี้คือฟิลิปปินส์และเมียนมาร์

 

แล้วเหตุใดอัตราการขยายตัวของเมืองจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จ ความล้มเหลว และการถดถอยของการพัฒนาอุตสาหกรรมและความทันสมัยในประเทศกำลังพัฒนา และยังกลายเป็นตัวบ่งชี้ที่โดดเด่นอีกด้วยเมื่อมองจากภายนอก

 

ทีมวิจัยเชื่อว่า อัตราการขยายตัวของเมืองที่สูงนั้นสะท้อนและแสดงออกถึง 1) การเกิดโครงสร้างทางสังคมใหม่ที่มาจากกระบวนการในการพัฒนาอุตสาหกรรมและความทันสมัย ​​ 2) การบูรณาการของชนชั้นนำทางสังคมที่อยู่เหนือโครงสร้างใหม่ และ 3) การก่อรูปของจิตสำนึกอนุรักษ์นิยมทางสังคม จึงเรียกเงื่อนไขทั้งสามประการนี้ว่า สามเงื่อนไขพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ความทันสมัย


ประการแรก การก่อรูปของโครงสร้างทางสังคมใหม่

กระบวนการก่อรูปโครงสร้างทางสังคมใหม่คือ การขยับสถานะทางสังคมและการเปลี่ยนแปลงในอัตลักษณ์และสถานะของสมาชิกในสังคมที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและการขยายตัวของเมือง ในกระบวนการนี้ การขยับสถานะทางสังคมจะค่อยๆ ตกตะกอนและแข็งตัวเป็นความสัมพันธ์ใหม่ทางผลประโยชน์ จากนั้นค่อยๆ ก่อตัวเป็นชนชั้นใหม่และกลุ่มผลประโยชน์ใหม่ ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดโครงสร้างทางสังคมใหม่ขึ้น

 

เมื่อโครงสร้างทางสังคมใหม่ก่อตัวขึ้นแล้ว ทำให้บทบาทของการมีส่วนร่วมทางการเมืองและแม้แต่อำนาจทางการเมืองที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์และสถานะทางสังคมของกลุ่มต่างๆ ในสังคมก็ลดลงอย่างมาก  ด้วยเหตุนี้ แรงจูงใจในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการแบ่งอำนาจที่นิยมทำกันในกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมและความทันสมัยก็จะลดลง  ซึ่งอาจเป็นการให้หลักประกันกับระบบการเมืองและความเป็นระเบียบของสังคมขั้นพื้นฐาน

 

ประการที่สอง การก่อตัวและการบูรณาการของชนชั้นนำใหม่

ประสบการณ์ในอดีตของการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศกำลังพัฒนาแสดงให้เห็นว่า ในกระบวนการของการพัฒนาอุตสาหกรรมและการพัฒนาทางการเมืองที่สอดคล้องไปด้วยกันนั้น ชนชั้นนำของสังคมจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยมีการแบ่งแยกและรวมกลุ่มกันอย่างต่อเนื่อง เมื่อชนชั้นนำเก่าหายไปหรือเปลี่ยนแปลงไป ชนชั้นนำใหม่จะปรากฏขึ้น ระหว่างกลุ่มชนชั้นนำที่ต่างกันก็มีการเชื่อมต่อกันขึ้นมาใหม่และก่อรูปเป็นความสัมพันธ์ใหม่ ในที่สุดนำไปสู่ความเห็นร่วมกันและมีความเข้าใจกันโดยปริยาย

 

ความเห็นร่วมกันและความเข้าใจกันโดยปริยายนี้หมายความว่า ระหว่างกลุ่มชนชั้นนำต่างกลุ่มกัน เขาจะบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับ ระบบสังคมขั้นพื้นฐาน ระเบียบทางการเมืองและแนวคิดทางการเมืองและสังคมบางอย่าง เข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า บนพื้นฐานของความเห็นร่วมกันและความเข้าใจกันโดยปริยายนั้น  กลุ่มชนชั้นนำที่ต่างกลุ่มกัน ต่างก็มีข้อจำกัดในการนำกลุ่มและมวลชนที่พวกเขาเป็นตัวแทนอยู่ ด้วยเหตุนี้ ระเบียบสังคมที่อยู่ภายใต้อำนาจเปิดและมีระบบการแข่งขัน ก็จะสามารถช่วยรักษาเสถียรภาพพื้นฐานและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้

 

ประการที่สาม การก่อตัวของจิตสำนึกแบบอนุรักษ์นิยมใหม่

นอกเหนือจากกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมและการขยายตัวของเมืองแล้ว ในแง่ความคิดทางสังคม วัฒนธรรม และสภาวะทางจิตวิทยาสังคมก็อยู่ระหว่างงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และลึกซึ้งอีกด้วย เราจะเห็นแนวโน้มของการเกิดโครงสร้างทางสังคมใหม่ ส่วนสาระหลักหรือเรียกว่ากระแสหลักของสังคมใหม่คือ กลุ่มที่ถือเป็นประชากรส่วนใหญ่และมีข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจและสังคม พวกเขาจะก่อตัวเกิดจิตสำนึกอนุรักษ์นิยมทางสังคมใหม่ ขณะเดียวกัน พวกเขาจะยอมรับระบบสังคมในปัจจุบันและระเบียบที่มีอยู่เดิม

 


ในแง่นี้ จิตสำนึกอนุรักษ์นิยมทางสังคมใหม่จึงช่วยเปลี่ยนแปลงบรรยากาศของสังคม สามารถยับยั้งการเกิดขึ้นและการพัฒนาของ "ประชานิยม" ตลอดจนกระแสสังคมหัวรุนแรงและการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ต่อต้านระบบต่างๆ ซึ่งจิตสำนึกแบบอนุรักษ์นิยมใหม่นี้ได้ให้เงื่อนไขทางสังคมและจิตวิทยาที่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลงสถาบันได้

 

โดยสรุป งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยสามประการอันได้แก่ โครงสร้างทางสังคมใหม่ ชนชั้นนำใหม่ และจิตสำนึกแบบอนุรักษ์นิยมใหม่ เป็นเงื่อนไขที่เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในการเข้าสู่สังคมที่ทันสมัย





ดู 85 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page