“การพัฒนาบุคลากรไม่ใช่แค่การเพิ่มพูนความรู้หรือทักษะวิชาชีพ
…แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่วิธีการมองโลก”
โลกเปลี่ยนแปลงอย่างไร
BlackRock, Inc. บริษัทด้านการจัดการหลักทรัพย์ชั้นนำของสหรัฐอเมริกาคาดการณ์แนวโน้มอีก 30 ปีข้างหน้าว่าดุลอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกจะเปลี่ยนจากตะวันตกมาสู่ตะวันออก ก่อให้เกิดการถ่วงดุลทางเศรษฐกิจมากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนทรัพยากร สัดส่วนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง และเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ของโลก เป็นที่คาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีคนตกงานเป็นจำนวนมากเนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ ในสภาวะความเปลี่ยนแปลงนี้การปรับตัวของประเทศเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน แต่การจะเปลี่ยนประเทศได้ก็ขึ้นอยู่กับการปรับตัวขององค์กรต่างๆ ภายในประเทศ และสุดท้ายการปรับตัวขององค์กรต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของคน ซึ่งศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต และรองศาสตราจารย์ ดร. จำนง สรพิพัฒน์ กรรมการบริหารสมาคมวิจัยวิทยาการขนส่งแห่งเอเชีย ร่วมเสนอมุมมองต่อการเปลี่ยนประเทศไทยในเวทีเรื่อง “Thailand Perspective: มองมุมใหม่ เปลี่ยนประเทศไทยให้ดีกว่าเดิม” จัดโดยสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ ร่วมกับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีแนวทางการปรับตัวของคนไทยและการปฏิรูประดับองค์กร ดังนี้
การปรับตัวของคนไทย
คนไทยจะปรับตัวก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ศ.ดร. เอนก เสนอว่าต้องเริ่มจากการเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อประเทศไทย รู้จักจุดแข็งและจุดอ่อน ขณะที่ รศ.ดร. จำนง เสริมว่าคนไทยต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีด้วยมองประเทศไทยเชิงบวก
คนไทยส่วนใหญ่อาจมองว่าประเทศเต็มไปด้วยปัญหา ข้อจำกัด และอุปสรรคนานัปการ สิ้นหวังที่จะหลุดออกจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งมุมมองเชิงวิพากษ์หรือการมองแต่ปัญหามากเกินไปจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ แต่การมองโอกาสและความเจริญรุ่งเรืองที่ประเทศไทยมีอยู่ด้วยมุมมองด้านบวกจะทำให้เรามีกำลังใจในการพัฒนาคน องค์กร และประเทศไทยให้ดีขึ้นได้ มองกลับกันอีกมุมหนึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากประเทศหนึ่งในโลกตะวันออก มีข้อได้เปรียบหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านภูมิศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างจีนกับอินเดีย เชื่อมจีนลงสู่ช่องแคบมะละกา และเชื่อมจากพม่าไปยังเวียดนาม ดังนั้นไทยจึงเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อจีนและอินเดียผงาดขึ้นทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนจะลงสู่มหาสมุทรอินเดียได้ต้องผ่านไทย ส่งผลให้ไทยได้รับประโยชน์ด้วยในแง่การค้าการลงทุนและโลจิสติกส์ ดังนั้น ประเทศไทยจึงเป็นทำเลทองในการเชื่อมโยงการค้าและการคมนาคมขนส่งในภูมิภาคเอเชีย
จากสภาพทางภูมิศาสตร์ดังกล่าว ในอดีตคนโบราณเดินทางโดยเรือ ไทยจึงเป็นเมืองท่าสำคัญในการเชื่อมโลกตะวันตกกับตะวันออก มีชาวจีน ทมิฬ สิงหล เปอร์เซีย และชาติพันธุ์อื่นๆ เดินทางค้าขายและมาตั้งรกรากในประเทศไทย เราจึงสร้างชาติไทยขึ้นจากการผสมกลมกลืนทางชาติพันธุ์ คน “ไท” แท้นั้นไม่มี ล้วนผสมไปด้วยเชื้อสายมอญ เขมร ลาว จีน ฯลฯ จนกลายมาเป็นคนไทยในทุกวันนี้ เราไม่เคยกวาดล้างชาติพันธุ์ใด ไม่เคยมีความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ เป็นประเทศที่ใจกว้างยอมรับความหลากหลาย ผู้คนต่างเชื้อชาติต่างศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข อันเป็นหนึ่งในเสน่ห์ของประเทศไทยที่โลกชื่นชม
นอกจากนี้ ลักษณะนิสัยพื้นฐานของคนไทยคือความสนุกสนานและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีวัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อันเป็นที่ประทับใจของคนต่างชาติ ศ.ดร.เอนก ตั้งข้อสังเกตว่าทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และลักษณะนิสัยต่างเป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทยซึ่งองค์กรภาคส่วนต่างๆ ต้องรู้จักประยุกต์ใช้เป็นโอกาสให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจและภาคบริการต้องรู้จักใช้ “หลั่นล้าอีโคโนมี” คือไม่แข่งขันกับต่างประเทศในด้านเทคโนโลยี 4.0 ซึ่งเราไม่ถนัด แต่แข่งขันในภาคธุรกิจและภาคบริการบนพื้นฐานความสนุกสนานและความโอบอ้อมอารีของคนไทย เช่น การบริการ การท่องเที่ยว การดูแลสุขภาพ และเกษตรกรรม เป็นต้น
ศ.ดร.เอนก มองว่าการที่คนไทยจะก้าวทันโลกได้นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้และทักษะที่ทันสมัยเท่านั้น แต่จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่การปรับเปลี่ยนมุมมองเพราะ “การพัฒนาบุคลากรไม่ใช่แค่การเพิ่มพูนความรู้หรือทักษะวิชาชีพ…แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่วิธีการมองโลก”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์
คนไทยรู้ทันเทคโนโลยี
ผลกระทบจาก Disruptive Technology ในช่วง 10-20 ปีข้างหน้าจะส่งผลโดยตรงต่อภาคธุรกิจ ซึ่งกลุ่มอาชีพที่จะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกคือภาคบริการ อาทิ ธุรกิจด้านข้อมูลข่าวสาร การเงินการธนาคาร ภาพยนตร์ ดนตรี การจองที่พักและการเดินทาง เป็นต้น บทบาทของเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกกว่า ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งระบบตั้งแต่อัตราการว่างงานที่สูงขึ้น บริษัทห้างร้านที่ปรับตัวไม่ทันจะต้องทยอยปิดตัวลง คนมีกำลังซื้อน้อยลง เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะเติบโตช้าลงด้วย เห็นได้ชัดว่าความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมิได้กระทบต่อปัจเจกบุคคลเท่านั้น ซึ่งการรับมือกับการเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี 4.0 นั้น รศ.ดร.จำนง เสนอแนวทางการปรับตัวของคนไทยดังต่อไปนี้
1. ปรับมุมมองการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี ว่าเทคโนโลยี AI หรือหุ่นยนต์ต่างๆ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ งานประเภทใดที่เทคโนโลยีมีประสิทธิภาพและแม่นยำกว่าแรงงานมนุษย์ก็ต้องเลือกใช้เทคโนโลยี แต่มนุษย์ต้องเป็นผู้ควบคุมระบบและเป็นผู้ตัดสินใจในกระบวนการต่างๆ ทั้งหมด พร้อมกันนี้ต้องพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่เทคโนโลยีทำแทนมนุษย์ไม่ได้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. มีไหวพริบควบคุมเทคโนโลยีได้ ต้องมีความรู้แบบ Deep Concept รู้ลึก รู้จริง และเข้าใจการทำงานอย่างเป็นระบบสามารถวิเคราะห์และตัดสินใจในสถานการณ์ที่ซับซ้อนและมีความไม่แน่นอนสูงได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในรายละเอียดปลีกย่อยทุกเรื่อง เพราะเทคโนโลยีไม่สามารถตัดสินใจเองได้ในสถานการณ์ที่ซับซ้อน
3. ตื่นตัวเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ รู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบนพื้นฐานข้อได้เปรียบของประเทศไทย ซึ่งประเด็นนี้คือหัวใจสำคัญในการปรับตัวของสังคมไทยเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของบุคลากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่มิใช่เพียงการปรับตัวให้ก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเท่านั้น เพราะคนรุ่นใหม่มีความคุ้นเคยและสามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่ได้ง่ายจึงไม่น่ากังวล ศ.ดร.เอนก มองว่าคนรุ่นใหม่ต้องศึกษาประวัติศาสตร์และวิธีการบริหารปกครองของผู้นำในอดีตเพื่อตระหนักถึงคุณค่าของภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยด้วย และนำมาเป็นบทเรียนและประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสร้างบุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญของชาติก้าวทันโลกอย่างภาคภูมิ
รองศาสตราจารย์ ดร. จำนง สรพิพัฒน์
การปฏิรูประดับองค์กร
การจะเปลี่ยนประเทศไทยได้นอกจากปรับเปลี่ยนที่ตัวคนแล้ว องค์กรควรมีการปฏิรูปเพื่อช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระดับบุคคลด้วยแนวทางหลัก 3 ประการคือ
ประการแรก เปลี่ยนเกณฑ์การคัดเลือกเข้าทำงานโดยพิจารณาจากประสบการณ์ โลกในยุค 4.0 เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วแต่แกนกลางของระบบการศึกษาไทยกลับไม่เคยเปลี่ยนตาม ระบบการศึกษาไทยยังเน้นการเรียนรู้แบบท่องจำ (Passive Learning) เรียนรู้โดยปราศจากการปฏิบัติ และมีมาตรฐานการประเมินผลการเรียนที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ส่งผลให้ระบบการศึกษาผลิตบุคลากรที่ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์เข้าสู่ตลาดแรงงาน จึงเป็นหน้าที่ของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ต้องมีหลักสูตรอบรมทักษะที่ตรงกับสาขาวิชาชีพและตอบสนองความต้องการของตลาด ดังเช่นการคัดเลือกบุคลากรของบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง Google และหลายบริษัทในซิลิคอน วัลเลย์ในสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ได้พิจารณาผู้สมัครจากวุฒิการศึกษาในระบบเท่านั้น แต่พิจารณาจากการผ่านหลักสูตรอบรม (Training Course) ที่ภาคธุรกิจเป็นผู้จัดทำขึ้น ตลอดจนการพิจารณาจากประสบการณ์การทำงานจริง องค์กรจะได้รับบุคลากรที่มีคุณสมบัติและทักษะที่ตรงตามความต้องการของตลาดได้ดีกว่าประเมินจากระบบการศึกษาทั่วไป ในปัจจุบันการฝึกฝนทักษะด้านต่างๆ ไม่จำเป็นต้องผ่านระบบมหาวิทยาลัยเสมอไปเพราะมีหลักสูตรออนไลน์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก องค์กรภาคส่วนต่างๆ จำเป็นต้องมีส่วนร่วมเดินหน้าพัฒนาด้านการศึกษาโดยไม่ควรรอการสนับสนุนจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว
ประการที่สอง จัดการฝึกอบรมทักษะใหม่ๆ (Retraining) แก่พนักงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้บุคลากรก้าวทันโลกตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะในด้านเทคโนโลยีที่ต้องใช้ความชำนาญแบบใหม่ (New Skills) ภาคธุรกิจจึงต้องมีฝ่ายอบรมให้บุคลากรมีความรู้และทักษะในศตวรรษที่ 21 เพราะหากไม่มีการอบรมแก่บุคลากรอย่างสม่ำเสมอแล้ว ภายในอีก 10-20 ปีข้างหน้าย่อมกระทบต่อประสิทธิภาพขององค์กรและส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด
ประการที่สาม องค์กรต้องปรับระบบการบริหารที่เอื้ออำนวยให้บุคลากรมีเวลาเลี้ยงดู อบรม และให้การศึกษาบุตรหลานมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันแรงงานต้องทำงานหนักไม่มีเวลาให้การศึกษาบุตรหลานได้อย่างเต็มที่กลายเป็นรากฐานของปัญหานานัปการ เนื่องจากครอบครัวเป็นหน่วยย่อยที่สุดของสังคมซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกำลังคนที่มีประสิทธิภาพของประเทศในภายภาคหน้า
ท้ายที่สุดแล้วการจะเปลี่ยนประเทศไทยให้ดีกว่าเดิมได้นั้น รศ.ดร. จำนง เน้นย้ำว่า
“จะเปลี่ยนประเทศได้ต้องเปลี่ยนที่ตัวคน แต่จะเปลี่ยนคนได้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดของคนก่อน แม้จะเป็นเรื่องยากแต่เรายอมแพ้ไม่ได้”
ภาพปก: ฐิติรัตน์ รู้เสงี่ยม ผู้ช่วยนักวิจัย
Comments