top of page

เศรษฐศาสตร์แห่งความพอประมาณ



ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์




ความพอประมาณและความพอเหมาะเป็นหลักคิดที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าความพอประมาณ ความพอประมาณหรือความพอเหมาะพอดี (Temperance) ในทางศาสนาและในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มีแง่มุมที่แตกต่างกัน ในศาสนาต่างๆ ความพอประมาณ หมายถึง ความพอเหมาะพอควรและการที่บุคคลรู้จักควบคุมความต้องการหรือความรู้สึกของตนเองให้พอเหมาะ มิให้มากจนเกินไป เช่น มิให้บริโภคมากเกินไป หรือถ้ามีอารมณ์โกรธก็ไม่โกรธมากจนเกินไป เป็นต้น ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุราเมรัยหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ความพอประมาณจะเป็นการลด-ละ-เลิกจนกระทั่งไม่ดื่มเลย ซึ่งการไม่ดื่มเลยนี้เป็นความพอประมาณที่แท้จริง โดยทั่วไป ความพอประมาณในทางศาสนามีนัยของความต้องการเพียงในระดับปานกลาง (Modestly หรือ Moderation) ไม่เต็มที่หรือสุดขั้ว ความพอประมาณจึงเป็นความพอดีไปด้วย




ในวิชาเศรษฐศาสตร์เชื่อในการตัดสินใจเลือกที่สร้างความเหมาะสมทั้งในระดับบุคคลและระดับภาพรวมของตลาด จุดมุ่งหมายของเศรษฐศาสตร์มิใช่ความพอประมาณในแง่ของความต้องการเพียงในระดับปานกลางเหมือนทัศนะในศาสนาต่างๆ ทว่าจะมุ่งหาความพอเหมาะพอดีที่จะทำให้ตนได้รับสิ่งที่ต้องการนั้นเต็มที่ ความพอดีในทางเศรษฐศาสตร์จึงมิใช่ความพอประมาณในทัศนะทางศาสนา เพราะความต้องการอาจมีลักษณะสุดโต่งโดยข้ามเส้นศีลธรรมได้ ดังกรณีตัวอย่างของการบริโภคสุราหรือสิ่งมึนเมา การดื่มสุราจะมีความพอดีในเชิงเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ เพราะผู้บริโภคสามารถชั่งน้ำหนักผลดีและผลเสียแล้วดื่มในระดับที่พอเหมาะแก่ตน แต่การดื่มสุรามีผลต่อการตัดสินใจที่มีผลต่อครอบครัวและสังคมจึงมิใช่ความพอประมาณ นั่นคือ เศรษฐศาสตร์เชื่อเรื่องความพอดีที่มิใช่ความพอประมาณ เราจึงไม่ควรใช้คำว่าความพอประมาณเมื่อกล่าวถึงความพอเหมาะพอดีในเชิงเศรษฐศาสตร์


ในพระพุทธศาสนา ความพอเหมาะพอควรในเชิงศีลธรรมเป็นหลักพื้นฐานการดำเนินชีวิตของบุคคล ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก็ถือเป็นปรัชญาหนึ่งที่กลมกลืนกับส่วนหนึ่งในธรรมของสัตบุรุษหรือคนดีที่เรียกว่า สัปปุริสธรรม ในสัปปุริสธรรมและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ความพอประมาณเป็นความพอเหมาะพอควรประเภทหนึ่งที่ระบุเอาไว้อย่างชัดเจน ตรงกับคำในภาษาบาลีว่ามัตตัญญุตา ความพอประมาณ หมายถึง การที่บุคคลรู้จักตัดสินใจโดยไม่หวังผลให้เต็มสมบูรณ์หรือมากจนถึงขีดสุด บุคคลควรรู้จักที่จะคาดหวังให้บรรลุเป้าหมายระดับหนึ่งที่ไม่ตึงมือจนเกินไปและเพียงพอสำหรับตน อีกทั้งควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ รวมทั้งประโยชน์ใช้สอยที่แท้จริงด้วย ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะดีกว่าการดำเนินการแบบสุดขั้วให้ได้เต็มที่เท่าที่ตนจะแสวงหาได้ โอกาสที่จะเบียดเบียนผู้อื่นและความเสี่ยงที่จะกระทำเกินระดับที่เหมาะสมก็น่าจะน้อยลง


ความพอประมาณอีกประเภทหนึ่งในสัปปุริสธรรมเป็นความพอประมาณในแง่ที่เป็นความพอเหมาะแก่ตน (อัตตัญญุตา) ไม่ทะยานอยากในสิ่งที่เกินสภาพเงื่อนไขหรือฐานะอัตภาพของตนเอง ไม่ไหลไปตามกระแสความนิยมของสังคมหรือผู้อื่น

ผู้ที่อยู่ในวงการเศรษฐศาสตร์มักเห็นว่า ตัณหาความทะยานอยากเป็นสิ่งที่ทำให้โลกทางวัตถุเจริญก้าวหน้าได้ และมักเข้าใจ สับสนว่าความพอประมาณเป็นความปรารถนาน้อยหรือความมักน้อยซึ่งนำไปสู่ความต้องการที่ต่ำเกินไป ผู้ที่อยู่ในวงการพระพุทธศาสนามักมองว่า เศรษฐศาสตร์เชื่อในความต้องการที่ไม่สิ้นสุด อันเป็นการส่งเสริมความทะยานอยากที่เกินเลย จนเกิดเป็นผลเสียต่อทั้งบุคคลและสังคม อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐศาสตร์จะเชื่อว่า มนุษย์มีธรรมชาติของความต้องการที่ไม่สิ้นสุดจริง แต่เศรษฐศาสตร์ก็มิได้เชื่อเพียงแค่นั้น หากยังเห็นว่าโลกเศรษฐกิจเป็นโลกที่มีความขาดแคลนอันเนื่องมาจากทรัพยากรที่จำกัด มนุษย์จึงต้องตัดสินใจให้ได้รับผลประโยชน์ตามความต้องการและคุ้มค่ากับต้นทุนที่ต้องเสียไป สิ่งที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า นักเศรษฐศาสตร์แสวงหาเพียงแต่ความต้องการที่ไม่สิ้นสุด คงมาจากความที่นักเศรษฐศาสตร์มักเชื่อว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงย่อมดีกว่าอัตราการเติบโตที่ต่ำ เพราะนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มักถูกสอนมาว่า ผู้บริโภคจะแสวงหาความพึงพอใจสูงสุด (Utility Maximization) ผู้ผลิตจะแสวงหากำไรสูงสุด (Profit Maximization) และการมีสินค้าในปริมาณที่มากดีกว่ามีในปริมาณที่น้อย (More is preferred to less) ซึ่งนักเรียนเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งก็เชื่อเพียงนั้นจริงๆ


ความพอประมาณที่ไม่เสี่ยงจนเกินไปเป็นหลักสำคัญในการดำเนินชีวิตทางโลกของชาวพุทธ ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักเศรษฐศาสตร์ เราอาจยกตัวอย่างข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจที่สัตว์เศรษฐกิจต้องถูกกำหนดให้อยู่ในสภาพที่นิ่งดูดายหรืออยู่ในความนิ่งสงบไม่ได้ เมื่อมีข่าวว่าสถาบันการเงินแห่งหนึ่งมีฐานะง่อนแง่น เช่น ติดขัดสภาพคล่องอย่างรุนแรง คนจำนวนหนึ่งย่อมรู้สึกว่าต้องถอนเงินฝากออกโดยเร็วที่สุด คนอื่นเมื่อทราบข่าวและเห็นการตัดสินใจของคนจำนวนนั้นก็จะถูกจูงให้ถอนเงินฝากบ้าง จนกระทั่งกลายเป็นการไล่ล่าสภาพคล่อง (Herding Behavior) เอาไว้กับตัว ท้ายที่สุดสถาบันการเงินแห่งนั้นก็จะประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นและกลายเป็นปัญหาไปถึงสถาบันการเงินอื่นๆ นี่คือทฤษฎีพื้นฐานของวิกฤติการณ์เงินฝากธนาคาร (Bank Run) ในตัวอย่างนี้ สุดท้ายแล้วทุกคนก็จะเสียหายเพราะธนาคารล้มลงทั้งระบบ แต่ผู้ที่เสียหายน้อยที่สุดคือผู้ที่ไล่ล่าก่อน ผู้ที่เสียหายมากที่สุดคือผู้ที่ไม่ไล่ล่าหรือนิ่งสงบ ชาวพุทธจะมองปัญหานี้เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่จะต้องเรียนรู้เพื่อดูแลสินทรัพย์ของตนให้ดี ให้ปลอดภัยและให้พอเหมาะพอควร ไม่โลภจนเกินไป การตัดสินใจในปัญหานี้ชาวพุทธจึงยอมรับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ได้ แต่การโลภโดยไม่เลือกและไม่คำนึงถึงความถูกต้องจนกระทั่งก่อความเสียหายต่อส่วนรวมขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ชาวพุทธคัดค้าน




ในพระพุทธศาสนา ความพอเหมาะพอควรเป็นแนวคิดในการตัดสินใจของสัตบุรุษหรือสัปปุริสธรรม ซึ่งมี 7 ประการ ได้แก่ ความรู้จักหลักความจริงหรือเหตุ (ธัมมัญญุตา) ความรู้จักความมุ่งหมายหรือผล (อัตถัญญุตา) ความรู้จักตน (อัตตัญญุตา) ความรู้จักพอประมาณ (มัตตัญญุตา) ความรู้จักความเหมาะสมของเวลา (กาลัญญุตา) ความรู้จักการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อประชาคมหรือสังคมของตน (ปริสัญญุตา) และความรู้จักบุคคลที่เป็นคนดีและรู้จักคบคนดี (ปุคคลัญญุตา) ธรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นคำสอนที่ช่วยกำกับทัศนะของบุคคลให้คำนึงถึงความพอเหมาะพอควรในการดำเนินชีวิต ธรรมของสัตบุรุษนี้เทียบได้กับธรรมของพระอริยะและสัตบุรุษก็เทียบได้กับพระอริยะ อย่างไรก็ตาม แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ก็เป็นวิธีคิดหนึ่งที่ควรคำนึง เนื่องจากเป็นแนวคิดที่เน้นหลักของเหตุผล เพียงทว่ายังแคบเมื่อเทียบกับการมองในภาพรวมที่ต้องคำนึงทั้งความรู้และคุณธรรม


ความพอดีที่เป็นความพอประมาณในทางพระพุทธศาสนามีหลายระดับ ตั้งแต่ทางโลกถึงทางธรรม ผู้ที่ต้องการความสุขและความสำเร็จในทางโลกก็ใช้แนวคิดทางพุทธให้เป็นประโยชน์ได้ ความพอประมาณมิใช่ความบริบูรณ์และความเต็มที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพที่เป็นจริงของตนและเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่จำเป็นต้องได้รับสิ่งที่ต้องการจนเต็มขีดศักยภาพของบุคคล ถึงแม้จะพร่องไปก็ยังเป็นประโยชน์ที่เหมาะสมแก่ตน เหมาะสมแก่เวลา และเหมาะสมแก่การดำรงชีพที่เสริมสร้างคุณธรรมและระบบคุณค่าที่ดีในสังคม ความพอประมาณจึงเป็นสิ่งที่ถูกกำกับโดยสติและปัญญา ผู้ที่มีสติปัญญาสูงอาจไม่ตัดสินใจแบบที่สัตว์เศรษฐกิจตัดสินใจ ความพอประมาณของชาวพุทธไม่จำเป็นต้องให้ผลเหมือนความพอประมาณของผู้ที่ใช้เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่เป็นแบบวัตถุนิยม ชาวพุทธจะต้องอาศัยความลึกซึ้งและคุณธรรมด้วย มิใช่เพียงความรู้ในทางโลกเท่านั้น ดังนั้น ความพอประมาณของสัตว์เศรษฐกิจจึงยากที่จะเท่ากับความพอประมาณของผู้ที่มีสติและปัญญาที่ลึกซึ้งกว่าและมีความครอบคลุมไปถึงคุณค่าทางด้านจิตใจด้วย


สำหรับพระอริยะและปุถุชน ความพอประมาณจะมีความแตกต่างกันตามระดับของสติและปัญญา พระอริยะที่บรรลุมรรคผลต่างระดับกันก็จะมีความพอประมาณในคุณสมบัติหลักที่สอดคล้องกับมรรคผลของพระอริยะนั้นๆ พระอรหันต์ซึ่งบรรลุขั้นสูงสุดจะมีศีล สมาธิและปัญญาบริบูรณ์หรือเต็มที่ พระอริยะขั้นรองลงมาคือ พระอนาคามี จะมีศีลบริบูรณ์ สมาธิบริบูรณ์และปัญญาพอประมาณ พระอริยะขั้นรองลงมาคือ พระสกทาคามี จะมีศีลบริบูรณ์ สมาธิพอประมาณและปัญญาพอประมาณ พระอริยะขั้นต้นคือ พระโสดาบัน จะคล้ายพระสกทาคามีแต่อ่อนกำลังกว่าคือ มีศีลบริบูรณ์ สมาธิพอประมาณและปัญญาพอประมาณ


ส่วนปุถุชน ซึ่งหมายถึงผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่มากมาย แน่นอนว่าย่อมมีศีล สมาธิและปัญญาไม่เต็มที่ ถ้าถือศีลก็ยังถือศีลเพราะความกลัว ปุถุชนมีอยู่ 2 จำพวก ได้แก่ อันธปุถุชน ซึ่งเป็นผู้มืดบอด ไม่สนใจธรรมและกัลยาณปุถุชน ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณธรรมสูง มีธรรมเป็นส่วนสำคัญของการงาน โดยนัยนี้ อันธปุถุชนย่อมขาดความพอประมาณ มีความโลภมากเกินไปจนไม่คำนึงถึงคุณธรรม ถึงมีความรู้ก็อาจใช้ไปกับความชั่วได้ ในขณะที่กัลยาณปุถุชนรู้จักพอประมาณให้เหมาะแก่ตนและเงื่อนไขของคุณธรรม เพราะเป็นคนที่ดีและมีคุณธรรมแม้ว่ากัลยาณปุถุชนจะยังไม่สามารถลดละกิเลสได้มากและสม่ำเสมอเหมือนพระอริยะก็ตาม




โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงปุถุชน พระพุทธศาสนามักเน้นที่ อันธปุถุชน ส่วนบัณฑิตและสัตบุรุษ หมายถึง บุคคลที่เป็นคนดีและเข้าถึงพระพุทธธรรม เทียบเคียงได้กับพระอริยะ กัลยาณปุถุชนก็พอจะนับเป็นคนดีได้ เพียงแต่ศีลธรรมยังอยู่ในระดับปานกลางยังไม่สูงมากเพียงพอ


ความพอประมาณของบุคคลตั้งแต่ระดับกัลยาณปุถุชนสูงขึ้นไปจะอาศัยสติสัมปชัญญะในการจัดการกับความทะยานอยาก ความพอ (Enoughness) จะอาศัยสติที่เท่าทันความต้องการของตนเองเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าความสม่ำเสมอเท่าทันของสติที่รู้จักพอมีมากขึ้น ปัญญาที่เข้าใจความต้องการของตนก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย


โดยหลักมาตรฐานของสังคมทั่วไป คนเลวเป็นบุคคลที่กระทำความผิดหรือทำร้ายผู้อื่น จึงไม่ควรค่าแก่การสรรเสริญยกย่อง มักเป็นที่น่ารังเกียจในใจของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากมีการกระทำความผิดที่รุนแรงและสร้างความเสียหายต่อสังคม อย่างไรก็ตาม โดยกระแสของผลประโยชน์และอำนาจอิทธิพลของคนเลวแล้ว บุคคลจำนวนมากมักเกรงอกเกรงใจคนเลวเหล่านั้น บ้างก็ยินดียิ่งที่จะบริการรับใช้ผู้ที่มีอำนาจ โดยไม่สนใจว่าเป็นผู้ที่ได้รับอำนาจจากการคดโกงหรือไม่ บ้างก็หวังโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากระบบอุปถัมภ์ บ้างก็เคยชินกับการยกย่องผู้ที่มีอำนาจอิทธิพลตามสภาพสังคมรอบข้าง บ้างก็ไม่ต้องการแสดงออกให้ตนเองเดือดร้อน


ในพระพุทธศาสนา คนดีซึ่งเป็นผู้ที่รู้จักความพอประมาณเป็นบุคคลที่ควรคบ เปรียบได้กับบุคคลที่มีสองตา คือ รู้จักดูแลตนเองทั้งในทางโลกและทางธรรม ทรัพย์สินที่ได้รับนั้นมีที่มาอย่างชอบธรรม ส่วนคนเลวเป็นที่น่ารังเกียจและไม่ควรคบหาเข้าใกล้ เปรียบเสมือนบุคคลที่ตาบอดหรือมีตาเพียงข้างเดียวเท่านั้น (ผู้ที่ตาบอดคือ ผู้ที่ไม่รู้จักกระทำความดีทั้งในทางโลกและทางธรรม ไม่รู้จักดูแลเพิ่มพูนทรัพย์สิน ไม่รู้จักบุญ ส่วนผู้ที่มีตาเดียวคือ ผู้ที่ปะปนธรรมกับอธรรม ฉลาดในการให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินแต่ด้วยการคดโกงหลอกลวง การเปรียบเทียบบุคคลในลักษณะนี้ปรากฏในอันธสูตร) คนเลวในที่นี้ หมายถึง คนที่ไม่สามารถแยกแยะความดีและความเลวได้ หรือที่มักใช้คำว่าคนพาล คนพาลที่รู้ว่าตนเองเป็นคนพาลนับว่ายังมีโอกาสพัฒนาเป็นคนดีหรือบัณฑิตได้ ไม่เหมือนคนพาลที่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นคนพาล บุคคลไม่ควรพัวพันคบค้ากับคนพาล ผู้ที่เข้าไปอยู่ใกล้มักจะเดือดร้อนหรือไม่ก็ถลำลึกไปกับคนพาล ถ้าสติปัญญาของตนไม่เข้มแข็งเพียงพอ ย่อมมีความเสี่ยงที่จะตกต่ำตามไปด้วย อันธปุถุชนที่ประกอบอกุศลกรรมอยู่เสมอจึงยากที่จะเข้าถึงธรรม เพราะขาดทั้งศรัทธาและกัลยาณมิตรที่ช่วยให้ห่างออกจากอกุศลกรรม

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (2515) ทรงแยกอันธปุถุชนเป็น อันธพาลปุถุชนและปุถุชนสามัญ อันธพาลปุถุชนเป็นผู้มืดบอดสนิท ปุถุชนสามัญเป็นผู้มีความมืดบอดลางๆ และยังพอจะรับรู้ธรรมได้ (พระสูตรมีคำว่าพาลปุถุชน ชาวพุทธอาจใช้คำว่าพาลปุถุชนกับผู้ที่สูงกว่าอันธพาลปุถุชน แต่ต่ำกว่ากัลยาณปุถุชน) โดยนัยนี้ ปุถุชนจำนวนมากจึงไม่ถึงกับเป็นอันธพาลปุถุชนซึ่งตัดสินใจตามความทะยานอยากอย่างไม่คำนึงความถูกต้องเหมาะสม ปุถุชนสามัญมีความอ่อนแอทางปัญญาแต่ไม่ถึงกับกระทำความดีไม่ได้ เมื่อกระทำความผิดแล้วก็ยังคิดที่จะแก้ไขปรับปรุง ยังใส่ใจในความสุขความทุกข์ของผู้อื่นที่เกิดจากการกระทำของตนอยู่บ้าง ปุถุชนเหล่านี้จึงสามารถอาศัยหลักการดำเนินชีวิตที่มีความพอประมาณได้ในบางครั้งบางโอกาส คำแนะนำที่ดีน่าจะมีประโยชน์ต่อบุคคลเหล่านี้อยู่บ้าง และพอจะเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคมที่เกี่ยวข้องด้วยไม่มากก็น้อย


อันธปุถุชนโดยรวมนั้น เป็นปุถุชนที่อาศัยตัณหาในการแสวงหาลาภ ยศ สุข และความสรรเสริญ โดยวนเวียนอยู่กับการได้เสพ ความติดอกติดใจ ความรู้สึกกระหาย ความขาดแคลนไม่พอ ความพลัดพราก และความสุข-ความทุกข์ทั้งหลายที่มีต่อสิ่งเหล่านั้น สิ่งที่ต้องการเป็นสิ่งที่จิตร้องหา ถ้าเป็นอันธพาลปุถุชนก็จะจมอยู่กับความไม่ถูกต้อง ไม่คิดแก้ไขให้หลุดออกจากสิ่งที่ติดใจนั้นๆ ไม่รู้จักพอประมาณ ส่วนปุถุชนสามัญอาจจะยังรู้จักคิดที่จะแก้ไขบ้าง เมื่อรับรู้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ยังไม่ถึงกับรู้จักพอประมาณแต่พอจะคำนึงถึงความพอประมาณได้บ้างในบางครั้งบางคราว ไม่ถึงกับเป็นกิจวัตร

กัลยาณปุถุชนเป็นปุถุชนที่อาศัยกุศลกรรมเพื่อแสวงหาความสุขโดยมีศีลธรรมเป็นที่พึ่ง รู้จักแยกแยะความดีกับความเลว แล้วพยายามเกาะตนไว้กับความดี เป็นผู้ที่รู้จักพอประมาณรวมทั้งรู้จักยึดหลักคิดอื่นๆ ของสัตบุรุษด้วย สิ่งที่ต้องการเป็นสิ่งที่จิตยังเสพติด แต่รู้จักควบคุมหรือละเว้นพอสมควร ในสังคมโดยทั่วไป กัลยาณปุถุชนนับว่ามีจำนวนไม่มาก

ส่วนพระอริยะที่มีน้อยอย่างยิ่งในโลกใบนี้ อาศัยศีล สมาธิและปัญญาหรือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งในการหลุดพ้นจากกิเลสตัณหา มีสติสัมปชัญญะอยู่เนืองๆ หรืออยู่เสมอ จิตไม่เสพติด สิ่งที่ต้องการมีค่าเท่ากับสิ่งที่ไม่ต้องการ สิ่งที่สวยงามมีค่าเท่ากับสิ่งที่ไม่สวยงาม ท่านเป็นผู้สลัดออกซึ่งความทะยานอยากและสามารถฝึกฝนจิตจนมีความพอแบบอัตโนมัติได้ เมื่อมีความพอในจิต ความพอประมาณย่อมมีพร้อมเสมอ ความพอนี้เป็นการหยุดปรุงแต่งและเป็นความพอที่พัฒนาลึกไปถึงจิตใจ ดังนั้น ความพอจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา และนับเป็นก้าวที่ไปไกลเกินความเข้าใจทางเศรษฐศาสตร์และทัศนะเกี่ยวกับความพอประมาณในศาสนาต่างๆ


การเทียบเคียงคำสอนในพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับประเภทของบุคคลและประเภทของดอกบัว เป็นประเด็นที่มีประโยชน์เพิ่มเติมจากที่กล่าวมาข้างต้น การจัดแบ่งบุคคลเป็นเวไนยสัตว์โดยเปรียบเทียบกับประเภทของดอกบัวนั้น เกิดเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีพระอริยะ พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าพุทธธรรมเป็นสิ่งที่ยากเย็นยิ่งต่อการทำความเข้าใจและการปฏิบัติตนของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าสัตว์มนุษย์นั้นยังมีผู้ที่พอจะสอนธรรมได้เรียกว่าเวไนยสัตว์ จึงได้เกิดพระปฐมเทศนาและการเผยแผ่พุทธธรรมในเวลาต่อมา


ในพระสูตรมีการกล่าวถึงเวไนยสัตว์โดยครอบคลุมดอกบัว 3 เหล่าที่สอนธรรมได้ ดอกบัวเหล่าที่สูงที่สุดเรียกว่า “อุคฆฏิตัญญู” หมายถึง ผู้รู้ธรรมได้รวดเร็ว ไม่ต้องขยายความก็เข้าใจได้ เปรียบเสมือนดอกบัวที่พ้นน้ำ ซึ่งเมื่อได้รับแสงก็พร้อมที่จะบาน ดอกบัวเหล่าที่สูงรองลงมาเรียกว่า “วิปจิตัญญู” หมายถึง ผู้รู้ธรรมได้ค่อนข้างรวดเร็วถ้ามีการขยายความ เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ เมื่อได้รับแสงสว่างก็เพียงรอเติบโตอีกเล็กน้อยเพื่อบานในวันถัดไป ดอกบัวเหล่าสุดท้ายของเวไนยสัตว์เรียกว่า “เนยยะ” หมายถึง ผู้ที่ต้องได้รับการเคี่ยวเข็ญจึงพอจะเติบโตและอาจมีโอกาสที่จะบานได้สักวันหนึ่งในอนาคต ส่วน “ปทปรมะ” ซึ่งเป็นดอกบัวเหล่าที่ต่ำที่สุดนั้นมีปรากฏในอรรถกถา


ถ้าเราเทียบเคียงบุคคลเหล่าต่างๆ อุคฆฏิตัญญูสามารถเทียบได้กับกัลยาณปุถุชนที่สะสมการปฏิบัติธรรมมาพอสมควรแล้ว เช่น มีศีลเกือบครบถ้วน มีสมาธิเต็มที่และมีปัญญาพอสมควร แต่ยังขาดการชี้แนะที่ถูกต้องในการปฏิบัติ เมื่อได้รับการชี้แนะหรือได้รับธรรมก็รู้จักวิธีการสลัดกิเลสออกจากใจของตนทำให้เป็นพระอริยะได้อย่างรวดเร็ว อาทิ พระปัญจวัคคีย์และนักบวชที่ฝึกฝนตนมาพอสมควรแล้ว วิปจิตัญญูสามารถเทียบได้กับกัลยาณปุถุชนที่มีศีลพอสมควร มีความสนใจธรรมแต่ต้องอาศัยธรรมที่รอบด้านและการฝึกฝนตนด้วยความเพียร เนยยะสามารถเทียบได้กับปุถุชนสามัญที่ยังใช้ชีวิตพัวพันกับอกุศลกรรม แต่ก็สนใจที่จะกระทำความดีอยู่บ้าง ความที่ไม่มืดบอดสนิทยังช่วยให้เห็นแสงสว่างได้ลางๆ จึงพอมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นกัลยาณปุถุชนเป็นลำดับจนเป็นที่น่าสรรเสริญได้ ส่วนปทปรมะเทียบได้กับอันธพาลปุถุชนซึ่งถึงมีแสงสว่างไปถึงก็ไม่สามารถแลเห็น เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่เกิดมืดไปมืดหรือเกิดสว่างก็ไปมืด แม้โชคดีได้เกิดในตระกูลที่นับถือพระพุทธศาสนาหรือเกิดในประเทศที่มีพระพุทธศาสนาประดิษฐานมั่นคงก็ไม่มีประโยชน์


เมื่อเรากล่าวถึงแบบจำลองการตัดสินใจของปัจเจกบุคคลที่ใช้ในทางเศรษฐศาสตร์ มนุษย์เป็นปัจเจกบุคคลแห่งลัทธิวัตถุนิยม ผู้คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนอย่างยิ่งยวด และเป็นมนุษย์ต้นแบบที่ไม่สนใจศีลธรรมและไม่รู้จักความพอประมาณ ถ้าหากความพอประมาณของบุคคลจะมีอยู่บ้างในกรณีที่เผชิญกับความเสี่ยงทางกฎหมาย ปัจเจกบุคคลนี้ก็อาจตัดสินใจหลีกเลี่ยงการกระทำความผิด เพราะเห็นว่าไม่คุ้มค่าที่จะกระทำเช่นนั้น มิใช่เพราะความละอายและเกรงกลัวต่อบาป นับเป็นความพอเหมาะในทางโลกหรือในเชิงวัตถุนิยมในกรณีที่ไม่มีปัญหาความลักลั่นทางด้านคุณธรรมกับกระบวนการทางด้านกฎหมาย




โดยหลักการแล้ว กฎหมายจะบัญญัติขึ้นเพื่อส่วนรวมและคำนึงถึงศีลธรรมในระดับหนึ่งตามมาตรฐานของสังคมนั้นๆ ทว่าในทางปฏิบัติ กฎหมายก็ได้รับอิทธิพลจากโครงสร้างผลประโยชน์ในสังคมและมักมีปัญหาการปฏิบัติตามที่ต้องขึ้นอยู่กับอำนาจ กำลังทรัพย์และการเข้าถึงความเชี่ยวชาญทางกฎหมาย ความลักลั่นระหว่างหลักเกณฑ์เชิงคุณธรรมและสภาพที่เป็นจริงในกระบวนการยุติธรรมจึงเกิดขึ้นได้ สภาพเช่นนี้เป็นที่รับรู้อย่างดีในหลายต่อหลายประเทศ

ความคับแคบของโลกทัศน์ทำให้สัตว์เศรษฐกิจในแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์โน้มไปทางอันธพาลปุถุชน สัตว์เศรษฐกิจเป็นผู้จริงจังในผลประโยชน์ส่วนตน มุ่งแสวงหาแต่ผลประโยชน์ทางวัตถุในปัจจุบัน ไม่สนใจวิธีการและไม่สนใจผลเสียหายที่มีต่อผู้อื่น ตัณหาความทะยานอยากทำให้ความจริงจังในผลประโยชน์ส่วนตนมีมากเกินไปและเป็นไปแบบสุดๆ ความพอประมาณจึงไม่เกิด ถึงแม้ทราบว่าการกระทำดังกล่าวขาดคุณธรรม แต่ถ้าการกระทำนั้นให้ผลประโยชน์ต่อตนเองสูงสุดหลังจากคำนวณความคุ้มค่าในแง่ของผลได้ผลเสียแล้วก็จะตัดสินใจเช่นนั้น การกระทำเช่นนี้จึงนับเป็นการขาดความพอประมาณแม้ในทัศนะของตนจะเห็นว่าเป็นความพอดี


ถ้าสัตว์เศรษฐกิจตัดสินใจบริจาค ก็จะคำนึงถี่ถ้วนถึงการได้รับประโยชน์ส่วนตนจากการบริจาค ถ้าตัดสินใจสร้างถาวรวัตถุทางศาสนา ก็จะคำนวณละเอียดแล้วซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนในถาวรวัตถุทางศาสนาที่จะส่งผลถึงตน มิใช่ฉันทะที่ปรารถนาให้ความสุขความสงบตกอยู่แก่ผู้อื่นบ้าง สัตว์เศรษฐกิจไม่สนใจว่าทานที่ให้เป็นทานที่เป็นบาปหรือไม่ ถ้าตัดสินใจทุจริต บุคคลเหล่านี้ก็คำนวณแล้วถึงผลได้ ต้นทุน โอกาสที่จะถูกจับได้หรือถูกฟ้องร้อง ความสามารถในการวิ่งคดี ความเป็นไปได้ในการ “เป่าคดี” โอกาสที่จะได้รับการเว้นโทษรวมถึงจำนวนเวลาที่ผ่อนผันให้ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการที่คดีจะคั่งค้างอยู่ในกระบวนการยุติธรรม นั่นคือ สัตว์เศรษฐกิจจะกระทำตามความพอดีบนหลักเหตุผลทางเศรษฐกิจของตนเอง ถ้าสัตว์เศรษฐกิจมีจุดมุ่งหมายที่ชั่วหรือลวงโลก ความพอดีที่ตัดสินใจด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ก็นับเป็นการคิดใคร่ครวญรอบคอบเพื่อกระทำความชั่วและการลวงโลกตามไปด้วย


อย่างไรก็ตาม สัตว์เศรษฐกิจที่ไม่เป็นปัจเจกนิยมและวัตถุนิยมสุดขั้วก็ยังมีอยู่ในแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายวิชาการที่สนใจผลกระทบทางสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ผลงานของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีโลกทัศน์กว้าง เช่น ศาสตราจารย์เว็บเบลน (Thorstein Veblen) ชูมัคเคอร์ (E.F. Schumacher) โบลดิง (Kenneth E. Bouldng) ทีโอดอร์ ชูลทซ์ (Theodore Schultz) และแกรี เบคเคอร์ (Gary S. Becker) เป็นตัวอย่างที่ดีของโลกทัศน์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ปฏิเสธความสำคัญในทางสังคมศาสตร์และผลกระทบที่มีต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติหรือสังคมโลก มนุษย์ในแบบจำลองสายนี้เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เป็นสัตว์สังคมในขณะเดียวกัน


เมื่อเทียบกับทัศนะในพระพุทธศาสนา ความพอดีในมุมมองของสัตว์เศรษฐกิจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมนับว่าโน้มไปทางปุถุชนสามัญได้มากกว่าแบบจำลองของเศรษฐศาสตร์บริสุทธิ์ที่ปกตินักเศรษฐศาสตร์เล่าเรียนมา อย่างไรก็ตาม ความพอดีดังกล่าวยังเป็นความพอดีในแง่ของโลกทัศน์ ซึ่งอาจจะมิใช่ในแง่ของชีวทัศน์ก็ได้ เพราะสัตว์เศรษฐกิจที่มีทัศนะกว้างขึ้นในทางสังคมก็ยังคงต้องพึ่งตัณหาความทะยานอยากในการตัดสินใจ


วิชาการในแนวก้าวหน้าอาจชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ปัจเจกบุคคลละเมิดกฎหมายและเห็นว่าควรมีการแก้ไขเพื่อลดปัญหาดังกล่าว โดยยังมิได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรสนิยมและแรงผลักดันที่เกิดจากบุคคลนั้นๆ เอง โลกทัศน์ที่ไม่คับแคบอาจสนับสนุนการให้และการบริจาค แต่ยังไม่สนใจที่มาของการให้ว่ามาจากบาปหรือเป็นการปลอมปนบาปไปกับบุญเพื่อจุดมุ่งหมายของตัณหาหรือไม่ ความพอประมาณหรือความพอดีในเชิงชีวทัศน์และคุณธรรมนั้นจึงต้องอาศัยการยกระดับการพัฒนาตนสู่ความเป็นกัลยาณปุถุชนที่มีการเรียนรู้ธรรมและการพัฒนาทางด้านจิตใจควบคู่ไปด้วย

ดู 13 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page