top of page

ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน ในทัศนะของผู้มีประสบการณ์กับการเมืองพรรคฯ ของจีน

โดย คุณ พิรุณ ฉัตรวนิชกุล (อดีตรองเลขาฯ กกต)

ตุลาคม 2564



สวัสดีครับ ผมขอไปอย่างรวบรัดเลยนะครับ ก่อนอื่นต้องขอพูดถึง หนังสือที่คุณยุวดีแนะนำ ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน ผมก็อ่านด้วยความพินิจพิจารณา มีความประทับใจหนังสือเล่มนี้มาก ปกติไม่ค่อยได้อ่านหนังสือวิชาการ เขาใช้คำว่าหนังสือวิชาการจากนักวิชาการจีน โดยทั่วไปมักจะเป็นเอกสารที่ทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนออกมา เพราะฉะนั้นการอ่านหนังสือเล่มนี้จึงมีคุณค่าที่เราจะนั่งพิจารณาในฐานะหนังสือวิชาการทางรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยของจีนที่ดีมากเล่มหนึ่ง อยากจะให้มีการเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ เพราะว่าในแง่ของความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพวกเรา เกี่ยวกับประเทศจีน เกี่ยวกับการเมืองจีน ผมว่าที่ผ่านมาค่อนข้างน้อย ในด้านของการศึกษาระดับชาติ พูดเลยว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องกับด้านประชาธิปไตยของเรา มีการพูดถึงประชาธิปไตยและการเมืองของจีนน้อยมาก ประสบการณ์ของประชาธิปไตยของจีนเล่มนี้ถือว่าเป็นการเปิดศักราชให้มีการเข้าใจการเมืองจีนให้มากขึ้น

เท่าที่ผมได้อ่านจากหนังสือเล่มนี้ และทำความเข้าใจ เห็นว่า พื้นฐานของพรรคคอมมิวนิสต์ที่จะมุ่งหวังสร้างสรรค์ประชาธิปไตยขึ้นมาในประเทศ เป็นเรื่องที่เราไม่ต้องสงสัย เพราะว่าอดีตผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่รุ่นก่อตั้งแทบทุกคน ก่อนจะมาเป็นคอมมิวนิสต์ หรือเข้าพรรคคอมมิวนิสต์จีน ล้วนแต่เป็นนักเคลื่อนไหว นักรักชาติ นักประชาธิปไตยมาก่อนทั้งนั้น เริ่มต้นจากปัญหาเรื่องเอกราชของชาติ และปัญหาที่ประเทศจีนไม่มีประชาธิปไตยอยู่ใต้การปกครองของระบอบฮ่องเต้มายาวนาน เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อสู้ของผู้คนในยุคสมัยก่อนที่จะมีคอมมิวนิสต์จีน ก็จะเห็นว่าทุกท่านเป็นนักประชาธิปไตย แล้วเรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศจีนเท่านั้น นักต่อสู้เพื่อเอกราชเพื่อประชาธิปไตยแทบทุกแห่ง เมื่อไปถึงจุดหนึ่งแล้ว จะมาสนใจและมุ่งที่จะสร้างสรรค์ประชาธิปไตยแบบยั่งยืนขึ้นมา


เพราะฉะนั้นว่าไปแล้ว ประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์มีส่วนใกล้ชิดสนิทสนมกันอย่างยิ่ง จะเห็นว่าบทเพลงเองของจีนเอง ตั้งแต่จีนยังไม่ปลดปล่อยประเทศ มีเพียงจุดฐานที่มั่นที่ยึดมาได้ ผู้นำจีนให้ความสนใจที่จะมองว่า จะทำให้ประชาชนในเขตฐานที่มั่นของตนเองมีการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างไรบ้าง เรื่องนี้ผมยกตัวอย่างเปรียบเทียบได้ แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในสมัยที่ผมไปเข้าร่วมในเขตป่าเขา ก็จะเห็นว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีฐานที่มั่นอยู่ทางภาคเหนือเล็กนิดเดียว และประชากรส่วนใหญ่ที่มาร่วมอยู่กับอำนาจรัฐในเขตปกครองหรืออยู่ในฐานที่มั่นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็เป็นชนชาติม้ง ชนชาติลัวะ แต่สิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในขณะนั้นให้ความสนใจ คือ ทำอย่างไรให้ประชากรที่มาอยู่ในเขตปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศไทย มีการดำเนินการทางชีวิตตามแบบประชาธิปไตย ถึงขนาดมีการจัดตั้งอำนาจรัฐขึ้นมา และจัดให้มีการเลือกตั้งในเขตปกครองเล็ก ๆ มีอยู่แห่งหนึ่งเป็นชนชาติม้ง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไปจัดเลือกตั้งโดยที่ประชาชนอ่านหนังสือไม่ได้ ใช้การลงคะแนนเสียงแบบเม็ดข้าวโพด คือ พยายามให้มีการเลือกตั้งในเขตของตนเอง โดยแบ่งให้ชัดเจนว่านี่เป็นผู้สมัคร จะหยอดเม็ดข้าวโพดลงในชาม คนได้เม็ดข้าวโพดมากกว่า คนนั้นจะขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่บ้านของเขตนั้น ๆ เพราะฉะนั้น นี่เป็นการแสดงประการหนึ่งของนักปฏิวัติพรรคคอมมิวนิสต์ในแต่ละแห่ง มักจะให้ความสนใจ รวมทั้งที่ท่านเลนินทำไว้ในโซเวียตของรัสเซียด้วย


การพยายามทดลองที่จะวางรากฐานให้พื้นที่ของตนเองที่มีการทดลองให้ประชาชนมีอำนาจอธิปไตย ถึงขั้นนำพาให้ชาวบ้านร่างธรรมนูญของตนเอง มีการแบ่งหน้าที่กันทำ มีการแบ่งว่า คนนี้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ ด้านเศรษฐกิจดูแลตั้งแต่หมูเห็ดเป็ดไก่ ดูแลทรัพยากร ที่จังหวัดน่านดูแลเรื่องรังผึ้ง รังผึ้งเป็นทรัพยากรและเป็นรายได้สำคัญของอำนาจรัฐ เขตจังหวัดน่านจะมีผู้ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ มีการพิมพ์เงินขึ้นมาใช้กันเองในเขตที่มั่นเป็นต้น อันนี้ อาจารย์เอนกคงได้เห็นแบบอย่างเหล่านี้มาบ้าง นี่เป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้น แต่ความเป็นจริงแล้ว ในขณะนั้นไม่สามารถดำเนินการทางการเมืองได้อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของจีนเองก็เช่นเดียวกัน


ผมพูดประเด็นนี้เพียงแต่สะท้อนให้เข้าใจว่า คนอาจจะมองว่าพวกคอมมิวนิสต์เป็นพวกเผด็จการ เป็นพวกไม่เอาประชาธิปไตย เป็นพวกใช้ความรุนแรง แต่ความจริงแล้ว โดยพื้นฐานเดิมของชาวพรรคคอมมิวนิสต์ หรือนโยบายพรรคคอมมิวนิสต์ มุ่งที่จะทดลองทำเรื่องประชาธิปไตยให้กับประชาชนเป็นหลัก ส่วนที่เห็นจากการพยายามจะสร้างสรรค์ประชาธิปไตยในประเทศจีน ตามที่อยู่ในหนังสือประสบการณ์ประชาธิปไตยจีนนั้น ผมคิดว่ามีประเด็นที่น่าสนใจมาก คือ ได้มีการเสนอระบอบประชาธิปไตยที่เราไม่ค่อยคุ้นชิน ไม่ค่อยได้ยินสักเท่าไหร่ มีการเสนอระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบตะวันตก ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบมีการเลือกตั้งแข่งขัน ไม่ใช่ระบบ one man one vote แต่มีการเสนอระบอบประชาธิปไตยที่ศาสตราจารย์ ฝางหนิงให้รายละเอียดจำนวนมาก และอันนี้เป็นรากฐานที่เราจะให้ความสนใจในการศึกษา ว่าระบอบที่เสนอไว้และดำเนินการอยู่ขณะนี้ของประเทศจีนจะเป็นอย่างไรบ้าง


ระบอบประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ


ระบอบประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ผมคิดว่าเรื่องนี้ เราควรจะให้ความสำคัญอย่างมาก และระบบประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ในหนังสือเล่มนี้ ศาสตราจารย์ฝางหนิง ได้ให้รายละเอียดพูดถึงข้อดีของระบอบนี้ค่อนข้างสูง ในขณะเดียวกันได้เสนอประเด็นที่เป็นอุปสรรคในการที่ประชาชนโดยทั่วไปจะมีประชาธิปไตยแบบเดียว แบบแข่งขันอย่างเดียว โดยที่น่าสนใจ คือ ในหนังสือเล่มนี้ได้พูดถึง หมู่บ้านหนึ่งที่ทางจีนได้เข้าไปทดลอง ถ้าหากว่ามีการเลือกตั้งระดับหมู่บ้านที่ใช้การลงคะแนนเสียงแบบแข่งขันจะเกิดไรขึ้น ปรากฏว่า สิ่งที่ผมคิดไม่ถึงเลย ว่ามันเกิดขึ้นเหมือนกับสิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งแบบที่ผมมีประสบการณ์และเห็นมาในประเทศไทย คือ มีการซื้อเสียง ซึ่งเป็นเรื่องแปลก จากการสังเกตว่า หลังเปิดให้มีการเลือกตั้งแบบแข่งขัน ปรากฏว่า ร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ ในบริเวณแถบนั้น เปิดกันคึกคัก ผู้เข้าแข่งขัน ผู้สมัคร มีการพาผู้ที่มีสิทธิที่จะเลือกตั้งไปเลี้ยงกัน หลังเลือกตั้งมีการพาไปเลี้ยงที่ร้านอาหารหรู เป็นต้น นี่เป็นเรื่องที่ ขนาดมีการดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ผลการวิจัยและติดตามเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น มีแบบที่ทำมาในการเมืองไทย คือ จ้างผู้แข่งขันลงสมัครรับเลือกตั้ง และจ้างคนอีกคนหนึ่งให้มาเป็นคู่แข่ง โดยที่ไปสมัครสมาชิกของอีกพรรค เป็นต้น อันนี้เกิดขึ้นจากทางคณะวิจัยไปสำรวจมา เพราะฉะนั้น เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้จีนเองพิจารณาเรื่องที่จะให้มีการเลือกตั้งแบบแข่งขัน แบบที่ทำกันอยู่ในประเทศอื่น ๆ หรือไม่ ก็ต้องเป็นเรื่องที่จีนต้องคิดมาก


เขาเลยมองเห็นว่า ในสภาวะปัจจุบันสิ่งที่สำคัญที่สุด แนวคิดของจีนที่ยึดอยู่กับโครงสร้างส่วนบน และโครงสร้างส่วนล่าง จีนมองว่า การพัฒนาประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมที่ทันสมัย หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะว่า ถ้าหากว่ามีการพัฒนาอุตสาหกรรมและมีอุตสาหกรรมทันสมัยมาแล้ว แต่โครงสร้างส่วนบนไม่เป็นประชาธิปไตย ยังเป็นแบบการวางแผนจากส่วนกลางอย่างเข็มข้น ยังมีการรวมศูนย์ที่ไม่ให้คนออกความเห็นต่าง ๆ จะทำให้ผู้คน ไม่กระตือรือร้นที่จะประกอบการทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถมีการผลิตทางอุตสาหกรรมที่ทันสมัยได้ ถ้าหากต้องการพัฒนาเศรษฐกิจให้ไปได้ดี ในขณะเดียวกันต้องการที่จะมีระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย ต้องทำให้ระบอบเศรษฐกิจมีการพัฒนา ไม่อาจมีประชาธิปไตยในสังคมที่ล้าหลัง ในสังคมที่ชนบทห่างไกลความเจริญ สังคมเมืองที่มีการเจริญเติบโตน้อย เมืองอยู่ในสภาวะที่เสื่อมโทรม ผู้คนอยู่ในเมืองอย่างยากจน เพราะฉะนั้น เมื่อจะทำให้เมืองขยายตัว เมืองเจริญรุ่งเรือง เมืองมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างคึกคัก เมืองมีอุตสาหกรรมอย่างคึกคัก จำเป็นต้องมีการกระตุ้นให้ประชาชนมีความกระตือรือร้น การกระตุ้นให้ประชาชนมีความกระตือรือร้นจะต้องผ่านระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยเป็นตัวกระตุ้น


แต่การเมืองแบบประชาธิปไตย จีนพบว่า เขาสามารถที่จะระดมความเห็นประชาชนให้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งแบบเดียว คือ แบบแข่งขัน แบบลงคะแนนเลือกตั้งทั่วไป แต่จีนสามารถระดมและคุ้มครองสิทธิของประชาชน ให้ประชาชนมีสิทธิทางเศรษฐกิจ มีสิทธิในการประกอบอาชีพได้ โดยไม่มีความจำเป็นที่ต้องเปิดให้มีการเลือกตั้ง ในขณะเดียวกัน จากผลการวิจัย จีนไม่ได้ปิดตายการเลือกตั้ง แต่จีนได้พิจารณาถึงในทางสากลว่าโลกกำลังไปแบบนี้ ทุกประเทศทำแบบนี้ ทำให้จีนมีความพยายามในการทดลอง โดยวิธีการของจีน ในการทำงานการเมือง ในการสร้างประชาธิปไตย เขามีวิธีที่เปิดเขตทดลอง ในเรื่องเขตเศรษฐกิจที่เขาเริ่มทดลองเป็นแบบนี้ มีการใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษ มีการทดลองเขตบางเขตที่มีความพร้อมก่อน ในด้านการเมืองก็เช่นเดียวกัน จีนมองว่า จำเป็นต้องมีการนำร่องจากการทดลองให้มีการเลือกตั้งในบางส่วน ในบางเมือง ในบางมณฑลก่อน และการเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งทางการเมืองอย่างเดียว แต่เป็นการเลือกแบบเจ้าหน้าที่ของทุกหน่วยงานพรรคคอมมิวนิสต์เองที่ได้มีการขยายให้มีความคล่องตัว และให้ได้รับการคัดสรรมากขึ้น เพราะฉะนั้นจีนค่อย ๆ จะไปในแนวทางนี้

ผมมีข้อสังเกตประการณ์หนึ่งจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ ว่าระบอบประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ความจริงเป็นระเบียบของพรรคคอมมิวนิสต์ทุกแห่ง ลักษณะของพรรคคอมมิวนิสต์สากล ไม่ว่าจะเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เขามีระบบระเบียบในการเป็นประชาธิปไตย ถือว่าทุกคนที่สังกัดในพรรค มีที่ประชุมที่จะออกความเห็นได้เป็นระยะ ประเทศจีนในขณะนี้ ผมเข้าใจว่า จะมีการประชุมพรรคเกือบทุกที่แทบทุกอาทิตย์ เวลาเราเดินทางไปจีน จะพบว่าเจ้าหน้าที่มาต้อนรับขอลาไปประชุม (ประชุมหน่วยพรรค) แสดงว่า วิธีการปฏิบัติภายในพรรคคอมมิวนิสต์มีระบบระเบียบ มีธรรมเนียมปฏิบัติที่จะส่งเสริมให้มีประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารืออยู่แล้ว


สิ่งที่คนภายนอกอาจจะคิดไม่ถึงในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน แม้แต่กองทัพของจีนก็มีประชาธิปไตยในกองทัพ ในกองทัพปลดแอกที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์โดยทั่วไปมีผู้นำสองฝ่าย คือ มีผู้บัญชาการและผู้ชี้นำทางการเมือง ผู้ชี้นำทางการเมืองที่อยู่ในกองทหารตั้งแต่ผู้กองเป็นต้นไป ก็จะมีการดำเนินชีวิตทางการเมืองของบรรดาทหารในสังกัดอยู่ในกองร้อยหรือกองพันให้มีชีวิตแบบประชาธิปไตย แม้กระทั่งประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ทุกแห่งจะมีการเปิดประชุมเดือนละครั้ง สองเดือนครั้ง เพื่อให้ทุกคนได้ออกความเห็นว่าชีวิตในกองร้อยเป็นอย่างไรบ้าง ชีวิตความเป็นอยู่ ข้าวปลาอาหาร สิ่งที่พบเห็นสามารถร้องเรียนได้ เช่น เบี้ยเลี้ยง ถ้าเป็นในกองทัพจีน เขาจะมีระบบให้ประชุมทางเศรษฐกิจ เขาเรียกว่า ประชาธิปไตยเศรษฐกิจในกองทหาร ในทหารทุกระดับสามารถที่จะออกความเห็นได้ในที่ประชุมนั้น ๆ ว่าชีวิตความเป็นอยู่เป็นอย่างไร ข้าวปลาอาหาร มีความเดือนร้อนอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นธรรมเนียมปฏิบัติภายในพรรคคอมมิวนิสต์เองเอื้อที่จะเกิดรูปแบบประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือมาก


ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ คิดว่าจะเป็นแนวโน้มใหญ่ของการดำเนินการในประเทศจีนที่เราจะต้องติดตาม เทคโนโลยีสมัยใหม่ อินเตอร์เน็ต เครือข่ายต่าง ๆ มันจะเอื้อต่อการใช้วิธีการมากขึ้น อย่างเช่น ที่จีนให้ทุกคนในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเข้าร่วมประชุมสภาประชาชนได้ โดยรับฟังการถ่ายทอดและแสดงความคิดเห็น มีแอดมินรับเอาเรื่องราวต่าง ๆ ที่ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น ผมว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่จะมีส่วนส่งเสริมในด้านการแสดงความคิดเห็นที่เป็นประชาธิปไตยอย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกันที่ศาสตราจารย์ ฝางหนิงพูดถึงก็คือว่า ขณะนี้จีนก็จะยังไม่หยุด จะยังแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อให้ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาจจะต้องติดตามต่อไปว่า เขาจะมีวิธีการอย่างไร อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่ง จะฝากว่าเรื่องประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือนี้ เนื่องจากว่าในทางรัฐศาสตร์ การเสนอเรื่องนี้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่มีมายาวนาน แต่ในขณะนี้มีการเสนอขึ้นมาเหมือนกับว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาใหม่ ผมก็คิดว่าน่าสนใจ น่าสนใจที่จะศึกษาต่อไป


อีกประเด็นหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ที่น่าสนใจก็คือว่า จีนเสนอว่าให้จับปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเป็นจริง เริ่มจากการปฏิบัติ แล้วก็ลงไม้ลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เช่น ปัญหาเรื่องความยากจน ความจริงตั้งแต่เริ่มต้น ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มปลดปล่อยประเทศคือแก้ปัญหาเรื่องความยากจน ชาวนาไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง จีนก็ยึดแผ่นดินทั้งหมดแล้วก็มาแบ่งปัน แบ่งปันไม่ใช่ให้เลย แต่ว่าให้ทำ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา 70 กว่าปี คนที่ได้รับที่ดินจากการแบ่งปันนั้นไปก็ยังอยู่ในลิสต์ของกระบวนการแก้ปัญหาของหน่วยงานที่แก้เรื่องความยากจน แก้ปัญหามาจนทุกวันนี้ มีการสอบถามตรวจสอบตลอดเวลา ในคนที่ใช้ที่ดิน มีการสำรวจ มีการวิจัยว่า คนที่ได้รับที่ดินไป เช่น คนละสิบห้าไร่ ในหมู่บ้านเดียวกัน ในตำบลเดียวกัน ใครบ้างที่มีการเปลี่ยนแปลงดีที่สุด แล้วครอบครัวไหนที่ได้รับไปเท่ากัน ทำไมจึงมีผลิตผลน้อยกว่าคนอื่น ฉะนั้นเขาจะเข้าไปสอบถามว่ามีปัญหาอะไร ติดขัดอะไร ติดขัดเพราะว่าจริง ๆ แล้วไม่ชอบ แต่ขณะนั้นไม่มีทางเลือก ถ้าเป็นอย่างนี้คุณจะเปลี่ยนไหม เปลี่ยนจากการทำเกษตรกรรมแบบนี้ไปเป็นช่างฝีมือไหม อันนี้ผมพูดถึงรายละเอียดเท่านั้นเองว่า กระบวนการที่จะแก้ความยากจน เวลาเขาจับปัญหาไหน ศาสตราจารย์ฝางหนิงบอกว่า เขาจะจับปัญหานั้น แล้วก็ทดสอบนำร่องแก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ ไม่จบไม่สิ้น ทำให้เขาแก้ปัญหาแต่ละเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญแก้ได้ตกไป


นอกจากนี้ มีประเด็นที่คิดว่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์หลายเรื่อง เติ้งเสี่ยวผิงก็ดี ผู้นำพรรคฯ ก็ดี ก็ยอมรับว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนเคยทำเรื่องผิดพลาดใหญ่ ๆ มาหลายเรื่องหลายครั้ง แต่เติ้งเสี่ยวผิงบอกว่า ขอหยุดไว้ก่อน จะกลับไปสรุปบทเรียนยังไงก็ได้ แต่ไม่ใช่ใช้เวลาขณะนี้ไปขุดมันจนกระทั่งไม่จบไม่สิ้น ก็ยอมรับว่ามีเรื่องผิดพลาด แต่ตอนนี้ความสำคัญของประเทศจีนในการก้าวไปข้างหน้ามันมีความสำคัญมากกว่า เพราะฉะนั้นขอให้คิดเรื่องที่จะก้าวไปข้างหน้าก่อน แต่จะไปสรุปบทเรียนแล้วจะไปเอาผิดใคร ไปก่อเรื่องนองเลือดอย่างไร ไม่ใช่ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะไม่ยอมรับ แต่ขออย่าถึงขั้นเอาตอนนี้ให้ตายกันไปข้างหนึ่ง เพราฉะนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจที่ศาสตราจารย์ฝางหนิงได้พูดถึงอยู่ว่า ไม่ใช่ว่าจะละเลยสิ่งที่ทำผิดพลาดมาในอดีต แล้วก็ลืมไป แต่มันก็มีอีกหลายเรื่องและมันต้องใช้เวลา


ผมคิดว่าการศึกษาชุดคำในสมัยเหมาเจ๋อตงก็ดี หรือในสมัยต่อมาก็ดี ก็จะมีการอ้างคำพูด 2-3 ประโยคนี้แล้วก็นำไปตีความมากมาย เพราฉะนั้น ต้องรู้ว่าคำพูดเหล่านั้นถูกใช้ที่ไหน ใช้ในบริบทอะไร เช่นกรณีที่ว่า เสียงข้างน้อยต้องขึ้นกับเสียงข้างมาก ในกรณีนี้ ศาสตราจารย์ฝางหนิงก็บอกว่า ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ จะสามารถหลีกเลี่ยงจุดอ่อนของการที่เอาแต่เสียงข้างมาก ไม่ใช่ว่าลงมติชนะกันแค่เสียงเดียวก็ต้องเอาเรื่องนั้นไปเลยเพราะว่าคุณแพ้แล้ว เสียงข้างน้อยถูกละเลยไปเลย ไม่ได้รับการปฏิบัติ ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือเขาว่าจะได้ฟังเสียงข้างมาก แล้วก็ได้ฟังสิ่งที่เสียงข้างน้อยเสนอไว้ว่ามีวิธีไหนบ้างที่จะทำให้เสียงข้างน้อยและเสียงข้างมากมีวิธีปฏิบัติไปด้วยกัน กรณีที่พูดว่า เสียงข้างน้อยให้ขึ้นกับเสียงข้างมาก มันอยู่ในระเบียบการของพรรคคอมมิวนิสต์ ก็มีคำพูดหนึ่งสำหรับสมาชิกพรรคเท่านั้น คือ บุคคลต้องขึ้นกับเหล่าจัดตั้ง แล้วในเหล่าจัดตั้งเสียงข้างน้อยต้องขึ้นต่อเสียงข้างมาก ชั้นล่างขึ้นต่อชั้นบน ทุก ๆ ส่วนขึ้นต่อศูนย์การนำ คำพูดชุดนี้เขาไม่ได้เอามาใช้กับประชาชนทั่วไป แต่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ปฏิญาณตนต้องปฏิบัติตามนี้ นั่นคือ คุณอยู่ที่ไหนก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับเหล่าจัดตั้ง แล้วเมื่อมีการถกเถียง มีการอภิปราย มีการลงมติในหน่วยจัดตั้งนั้น ๆ เสียงข้างน้อยต้องขึ้นต่อเสียงข้างมาก ไม่ใช่ไม่จบไม่สิ้น ตัดสินกันแล้วหลายครั้งเสียงข้างน้อยก็ยังไปเคลื่อนไหวก่อการปั่นป่วนวุ่นวาย ไม่ยอม ให้จบเป็นขั้น ๆ เรื่องนี้มีมาตั้งแต่สมัยเหมาเจ๋อตง เหมาเจ๋อตงเคยเป็นเสียงข้างน้อย แล้วก็โหวตแพ้ จำเป็นต้องทำตามเสียงข้างมาก ใน Long March ถ้าเราเคยไปอ่านประวัติเราจะเจอ แล้วต่อมาพักหลังปรากฏว่า ข้อเสนอที่เหมาเจ๋อตงเสนอไปนั้นน่าจะถูกต้องมากกว่าก็มีการประชุมในระยะถัดมา แล้วนำเอาแนวทางที่เหมาเจ๋อตงเสนอขึ้นมาแทน ก็คือเมื่อคุณยังเป็นเสียงข้างน้อยอยู่ ในระหว่างที่เป็นเสียงข้างน้อย ในฐานะที่คุณเป็นสมาชิกพรรค เป็นกรรมการกลาง บริหารอยู่ในพรรคเดียวกัน เสียงข้างน้อยต้องขึ้นกับเสียงข้างมากไปก่อน เพราะฉะนั้นเรื่องราวเหล่านี้ต้องดูบริบทของการใช้คำ ว่าเขาใช้กับบริบทไหน

สำหรับเรื่องนี้ผมก็ขอเพียงแต่พูดว่า เรื่องราวของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือจะเป็นประชาธิปไตยระดับไหน ไม่มีระบบไหนที่สมบูรณ์แบบ มีแต่ข้อดี ไม่มีข้อบกพร่อง เพราฉะนั้นก็ไม่ใช่ว่าไปหลงกับมันอย่างเดียว ทางศาสตราจารย์ฝางหนิงก็บอกแล้วว่าประชาธิปไตยมีหลายรูปแบบ วิธีการต่าง ๆ มันยังมีอีกหลายเงื่อนไข ต้องอย่าไปหลงยึดติดกับวิธีใดวิธีหนึ่งอย่างเดียว จะต้องนำมาซึ่งสภาพความเป็นจริง คือเริ่มต้นจากสภาพความเป็นจริง เริ่มต้นจากสถานการณ์ในขณะนั้นแล้วมาพิจารณา ไม่ใช่ว่าเอาเรื่องเฉพาะไปใช้ทั่วไป เอาเรื่องทั่วไปมาใช้กับการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง



ประวัติ คุณ พิรุณ ฉัตรวนิชกุล


จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อดีตรองเลขาธิการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ชุดที่ 1

Comments


bottom of page