top of page
klangpanyath

ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน ในมุมมองประวัติศาสตร์และการเมืองจีนยุคใหม่

โดย

คุณ ปถวี ตรีกรุณาสวัสดิ์

นักการทูตชำนาญการ (ที่ปรึกษา) คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ

ณ นครเจนีวา

ตุลาคม 2564




ผมขอขอบคุณทางผู้จัดนะครับ สถาบันคลังปัญญาฯ และศูนย์วิจัยไทยจีนที่ให้โอกาสผมมาร่วมเสวนาในวันนี้ สิ่งแรกขอเรียนว่า ที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นการกล่าวในนามบุคคลและเป็นความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น ตอนที่ได้รับการทาบทามให้มาร่วมเสวนา ผมรู้สึกยินดีและดีใจว่าในประเทศไทยมีการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับประเทศจีน ซึ่งจะช่วยเพิ่มองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับประเทศจีนในไทย สำหรับผลงานการศึกษาเกี่ยวกับจีนในอดีต ซึ่งค่อนข้างน้อย ดร.เขียน ธีระวิทย์ได้ปูรากฐานไว้ และในวันนี้มี อ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ซึ่งได้ช่วยอย่างมากในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างการเมืองจีนให้กับคนไทย


ก่อนอื่น พอเห็นชื่อของหนังสือ “ประสบการณ์ประชาธิปไตยของจีน” ผมค่อนข้างที่จะตกใจและ เชื่อว่าชื่อของหนังสือน่าจะช่วยทำให้ขายหนังสือได้มากขึ้น เพราะว่าทุกคนจะตั้งคำถาม ว่า “เอ๊ะ จีนเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วชื่อบนปกที่บอกว่าประชาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยในรูปแบบไหนและมาจากไหน” จากที่ ผมได้คุยกับคุณยุวดีฯ ผู้จัดการเสวนาครั้งนี้ ทราบว่ามีนักวิชาการบางคนได้ตั้งคำถามนี้ด้วยเหมือนกัน และอาจจะเอาไปพูดคุยในลักษณะที่แซวด้วย ซึ่งผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ “bad news” แต่เป็น news ที่ช่วยสร้างความตื่นตัวหรือ awareness กระตุ้นให้คนอยากค้นหาและทำความเข้าใจ หรืออย่างน้อยน่าจะช่วยให้ขายหนังสือได้มากขึ้น


ด้วยเวลาสั้น ผมขอสรุปสิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ ดังนี้ ประการแรก หนังสือเล่มนี้เหมือนเป็นปฏิกิริยาตอบสนอง โดยแสดงให้เห็นการมีตัวตนและอัตลักษณ์ของจีนและปฏิเสธความคิดและทฤษฎีของตะวันตก โดยเฉพาะของ Fukuyama ที่ในยุคทศวรรษ 1990 มองว่าประชาธิปไตยเสรี (liberal democracy) จะเป็นจุจบของประวัติศาสตร์ (The End of History) ซึ่งข้อสรุปดังกล่าว ภายในไม่ถึงหนึ่งชั่วอายุคน เมื่อคำนึงถึงการพัฒนาของจีนก็ดูเหมือนว่า อาจจะดูสั่นคลอนหรือถูกตั้งคำถาม


ประการที่สอง สิ่งที่อ่านไปแล้วมันกระโดดขึ้นมา คือ หนังสือได้บรรยายประสบการณ์ของจีนเกี่ยวกับประชาธิปไตยว่าเป็นกระบวนการที่คดไปวนมา เป็นเหมือนกับคนเล่นปิงปอง ตั้งแต่สมัยปลายราชวงศ์ชิงก็เป็นที่ตระหนักในวงกว้างแล้วว่า กระบวนทัศน์และมุมมองต่อโลกที่มองว่าราชวงศ์ชิงหรือจีน เป็นศูนย์กลางของโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว การพ่ายแพ้สงครามฝิ่นทั้งสองครั้งและการพ่ายแพ้สงครามกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะการแพ้สงครามต่อประเทศญี่ปุ่น ทำให้ราชวงศ์ชิงเล็งเห็นความสำคัญของการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงตนเอง ให้ก้าวไปสู่หรือกลับคืนไปสู่สถานะความเป็นพี่ใหญ่และมหาอำนาจของภูมิภาค ในการนี้ ในช่วงปลายราชวงศ์ชิง ได้มีความพยายามที่จะศึกษาบทเรียนของประเทศอื่น ๆ โดยการจัดตั้งเป็นคณะทำงานเพื่อปฏิรูประบบการปกครอง โดยได้ไปศึกษาระบบการปกครองต่าง ๆ ของอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันในสมัยนั้น และนำกลับมา เพื่อประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ในประเทศ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ข้อเสนอต่าง ๆ ไม่ได้รับการให้ความสำคัญ เนื่องจากถูกมองว่าไม่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับสถานการณ์ และต่อมา อันนี้ผมคิดว่ามันเป็นความผิดพลาดเชิงยุทธศาสตร์ “strategic misstep” ของราชวงศ์ชิงคือ การล้มล้างหรือล้มเลิกระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการ หรือที่รู้จักในไทยในชื่อชอง การสอบจอหงวน “状元” ซึ่งเหตการณ์ดังกล่าว เป็นการสะบั้นเส้นเลือดใหญ่ที่เชื่อมอำนาจของรัฐกับผลประโยชน์ของชนชั้นกลางที่แผ่ขยายไปทั่วทุกอณูของสังคม และเป็นเสมือนการทำลายฐานการสนับสนุนรัฐบาลและราชวงศ์ชิงของชนชั้นกลางโดยปริยาย ถ้าเทียบกับปัจจุบันก็คือการทำลายฐานและโครงสร้างของระบบราชการ ดังนั้น ย่อมแน่นอนว่า ราชวงศ์นั้น ๆ หรือรัฐบาลใดก็ตามคงอยู่ได้ยาก หากทำการล้มล้างระบบเดิมแต่ไม่มีระบบใหม่ที่เข้ามาแทนที่


ภายหลังการล่มสลายของราชวงศ์ชิง ก็เข้าสู่ยุคขุนศึก ยุคสาธารณรัฐและยุคจีนคณะชาติ ซึ่งหาก ถามว่าในช่วงนั้นมีกลุ่มอำนาจไหนที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหรือไม่ จากที่อ่านและศึกษาก็คงต้องตอบว่ามีอยู่น้อย โดยทุกกลุ่มอำนาจ ไม่ว่าขุนศึก พรรคก๊กมินตั๋งหรือแม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์เองก็ให้ความสำคัญกับอำนาจในเชิงที่เป็นรูปธรรม คือปกครองพื้นที่เท่าไหร่ ยึดครองหน่วยงานกี่หน่วยงาน กองกำลังติดอาวุธมีกำลังพลกี่นาย เก็บภาษีได้เท่าไหร่ มีงบประมาณดำเนินโครงการเท่าไหร่ ฯลฯ แต่ท่ามกลางความแก่งแย่งของกลุ่มอำนาจต่าง ๆ แนวคิดและอุดมการณ์ประชาธิปไตยตามความเข้าใจของเราในปัจจุบันกลับไปเกิดที่เยาวชน ในชนชั้นกลางปัญญาชน โดยเฉพาะคนที่มีการศึกษา ซึ่งจากการสังเกตจะพบว่าช่วงต้นทศวรรษ 1910 หรือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เราจะมีเห็นขบวนการ (movement) ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น New Age Movement หรือว่าจะเป็น May 4th Movement หรือการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ไม่เพียงถูกขับเคลื่อนด้วยแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตย แต่รวมถึงแนวคิดการเมืองอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดคอมมิวนิสต์ ฟาสซิสต์ แนวคิดอนาธิปไตย (anarchist) ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของความกระหายและความอยากที่จะหา reason of being และทางออกในการแก้ไขปัญหาปากท้อง การแก้ไขปัญหาอัตลักษณ์ที่ถูกดูแคลน เราจะทำอย่างไร


ภายใต้บริบทการเสาะแสวงหาคำตอบและการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ขึ้นมาแทนที่อัตลักษณ์ที่ล่มสลายไปกับราชวงศ์ชิงและภายใต้สมมุติฐานว่า ระบบการเมืองเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของสังคม เยาวชนและปัญญาชนจีนเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว จากตัวอย่างความเจริญก้าวหน้าของประเทศตะวันตกก็หันมารณรงค์แนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการ “ใฝ่หานายเต๋อ (德) หรือ democracy กับ นายไซ่ (赛) หรือ science” เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แต่ความฝันดังกล่าวก็ถูกทำให้พังทลายลงด้วยผลลัพธ์ของสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่จีนไม่ได้ผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม และสิ่งที่ตามมาคือ เยาวชนและปัญญาชนจีนรู้สึกว่า ‘อ้าว เรานึกว่าถ้าเราเป็นเหมือนพวกเขา ถ้าเราเชื่อและทำตามตัวอย่างของเขาแล้วจะดี แต่ทำไมในที่สุดเราไม่ได้อะไรเลย ทำไมเราถูกหักหลัง ...’ ซึ่งผมคิดว่าเหตุการณ์ในช่วงนี้ ทำให้ชาวจีนหลายกลุ่มมองว่า การนิยมตะวันตก การเชิดชูประชาธิปไตยไม่ใช่คำตอบสำหรับจีน และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการที่คนหลายกลุ่มพยายามหารูปแบบใหม่ ๆ ที่ใช่สำหรับจีน ซึ่งรวมถึงอุดมการณ์และแนวคิดลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วย


ในการนี้ ขอกล่าวเพิ่มเติมว่า ความจริงแล้ว พรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์เองไม่ได้ห่างไกลกัน เพราะในการสร้างพรรคก็กมินตั๋ง ซุนยัตเซ็นได้ไปขอและได้รับความช่วยเหลือจากพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย ทั้งการปฏิรูปโครงสร้างของพรรค การอบรมบุคลากร การปรับปรุงคุณภาพของงานทางด้านความคิด การยกระดับงานด้าน propaganda ฯลฯ ซึ่งเงื่อนไขเพื่อความช่วยเหลือดังกล่าวคือการให้พรรคก๊กมินตั๋งทำงานกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ผมคิดว่ายุคทศวรรษ 1910 - 1920 เป็นยุคที่น่าสนใจมาก เพราะทั้งพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์เป็นเพื่อนร่วมงานกัน ซึ่งส่งผลให้สองพรรคและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสองพรรครู้จักกันและมีเพื่อนอยู่ทั้งสองพรรค ซึ่งความใกล้ชิดดังกล่าว กอปรกับประสบการณ์ที่ชนชั้นผู้นำประสบ ส่งผลให้ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังการตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน นโยบายของผู้นำของทั้งสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน แม้ว่าจะภายนอกจะดูเหมือนแตกต่างกัน แต่เมื่อพิจารณา เชิงลึกก็จะเห็นว่ามุ่งแก้ปัญหาที่ตนมองว่าเป็นจุดอ่อนในยุคทศวรรษ 1920 และ 1930 กล่าวคือ พรรคคอมมิวนิสต์มุ่งแก้ไขปัญหาที่ดินในขณะที่พรรคก๊กมินตั๋งมุ่งแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งอันนี้เป็นภาพใหญ่ทางประวัติศาสตร์ก่อนที่จะปูทางไปสู่พัฒนาการทางการเมืองในยุคต่อไปของสาธารณรัฐประชาชนจีน


ประการที่สาม หนังสือระบุว่า การพัฒนา “ประชาธิปไตย” ในปัจจุบันของจีน เป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม โดยทางการจีนมองว่าเหตุการณ์ในช่วงดังกล่าวเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตยที่ไร้ระเบียบแบบแผน (disorderly democracy) ซึ่งบั่นทอนเสถียรภาพและความมั่นคงของชาติ ในการนี้ จากการทบทวนบทเรียนของยุคปฏิวัติวัฒนธรรม สิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนดำเนินการหลังจากนั้น คือ การสร้างประชาธิปไตยที่มีระเบียบแบบแผน (orderly democracy) ซึ่งข้อความดังกล่าว สะท้อนและตอกย้ำอย่างชัดเจนความห่วงกังวลหลักเกี่ยวกับประเด็นความมีระเบียบแบบแผนในการปกครองหรือการจัดระเบียบในสังคม ซึ่งภาพดังกล่าว เหมือนที่กล่าวข้างต้นแล้ว ตอกย้ำว่าพัฒนาการของจีน เป็นกระบวนการการเกิด action และ reaction อย่างไม่สิ้นสุด เหมือนการตีโต้ปิงปองไปเรื่อยๆ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่อาจารย์ที่เป็นนักปรัชญาลัทธิมาร์กซ์ของผมสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยที่ปักกิ่งสอนไว้ว่า กระบวนการพัฒนาของจีน เป็นเหมือนบันได มันจะขึ้นมาและจะลงไปบ้าง อาจจะมีปัญหาบ้าง แต่จากจุด ที่ม้วนตัวลงมา สิ่งที่สำคัญคือการหาทางออกเพื่อก้าวขึ้นไปสู่ระดับที่สูงขึ้นต่อไป ซึ่งไม่ขัดแย้งกับทฤษฎีทฤษฎีวัตถุนิยมวิภาษ และความพยายามในการสร้างความสอดคล้องระหว่างโครงสร้างส่วนบนกับโครงสร้างส่วนล่าง นอกจากนี้ หนังสือได้กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการมี orderly democracy คือการสนับสนุนและขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ (reform and opening) ของเติ้ง เสี่ยวผิง (ปี ค.ศ. 1978) ซึ่งเป็นความพยายามที่จะกลับมาสู่ประชาคมโลก การที่จะอยู่เคียงข้างเทียบไหล่ได้กับประเทศในสากล โดยปัญหา ที่ผู้นำจีนในตอนนั้นมองว่าเป็นปัญหาที่ต้องก้าวข้าม คือ การปลดปล่อยศักยภาพและพลังการผลิตของประชาชน ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือการสร้างกระบวนการที่เปิดกว้างและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นด้วยการพยายามแยกหน้าที่ (function) และความรับผิดชอบของภาครัฐ หน่วยงานราชการและหน่วยงานของพรรคคอมมิวนิสต์ออกจากกัน เพื่อไม่ให้เกิดการรวมศูนย์ของอำนาจเกินไป ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า หากใช้ระดับการพัฒนาทางวัตถุเป็นตัววัด การกระจายอำนาจการตัดสินใจและการแบ่งหน้าที่ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมประสบคามสำเร็จค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี แม้ว่าในปัจจุบันประเทศจีนจะได้พัฒนาไปมากแล้ว แต่จากที่ท่านอาจารย์พิรุณฯ ได้กล่าวข้างต้น หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของภาครัฐของจีนต้องไปประชุมของสาขาพรรคคอมมิวนิสต์ทุกอาทิตย์ ซึ่งตอกย้ำข้อเท็จจริงว่า ในปัจจุบัน แม้ว่าจีนจะพัฒนาไปสู่ประเทศแนวหน้าของโลกแล้ว แต่ในเชิงลึก จีนก็ยังมีสภาพเหมือน deep state ซึ่งมีโครงสร้างหลายส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่ นอกจากนี้ อีกภาพที่ต้องดูต่อไปคือ พรรคกับรัฐบาลจะแยกโครงสร้าง function และความรับผิดชอบได้ถึงขนาดไหน โดยไม่นำมาซึ่งความอ่อนแอของโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนและภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม การปลดปล่อยพลังทั้งของภาครัฐและเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน ภาควิชาการ ฯลฯ เติบโตและมีความรับผิดชอบในการกำหนดอนาคตของตัวเองมากขึ้นนำมาซึ่งสิ่งใด


ในประสบการณ์ของจีน หลังจากที่เปิดประเทศและปฏิรูปประเทศ 10 ปี ในปี 1989 คือเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจว่า เกิดการเสียเลือดเสียเนื้อขึ้น แต่ถ้ามองลึกลงไป ต้นเหตุของเหตุการณ์เทียนอันเหมิน คือ การเรียกร้องของเยาวชนและนักศึกษามหาวิทยาลัยในประเด็นเดิม ๆ ได้แก่ ปัญหาปากท้อง คอร์รัปชั่น ประสิทธิภาพการบริหารจัดการของประเทศ การที่เจ้าหน้าที่ของภาครัฐบางคนใช้ตำแหน่งกอบโกยผลประโยชน์และเรียกทรัพย์สิน ซึ่งล้วนเป็นปัญหาเดิม ซึ่ง ณ จุดนี้ ผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ก็มองว่าเราไม่ได้เข้มงวดเกี่ยวกับระเบียบและอุดมการณ์และมุ่งพัฒนาทางเศรษฐกิจจนก่อให้เกิดความหย่อนยาน และจำเป็นต้องจัดระเบียบสังคมในส่วนภาครัฐและภาคประชาชน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว ก็เป็นปฏิกิริยาตีกลับเหมือนการตีโต้ในเกมส์ปิงปองที่มุ่งปรับทัศนคติของสังคมในภาพรวม หรือการที่บันไดของการพัฒนาประเทศมาถึงจุดม้วนตัวลงและพรรค/ภาครัฐต้องหาทางออกและกำหนดแนวทางสำหรับการพัฒนาประเทศต่อไป หรือการต้องพยายามสร้างความสอดคล้อง ระหว่างองคาพยพต่าง ๆ ของสังคม ทั้งนี้ ถ้ามองจากภาพรวมของการพัฒนาประเทศต่าง ๆในโลก ในยุคทศวรรษ 1960-1970 ประเทศในโลกตะวันตก เช่น ฝรั่งเศสหรือแม้กระทั่งหลายประเทศในเอเชียก็เกิดกระแสนิยมอุดมการณ์สังคมนิยม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การเกิดปฏิกิริยาตีกลับในสังคมเมื่อประชาชนรู้สึกถึงว่าหาทางออกไม่ได้ ทั้งนี้ ที่สำคัญยิ่งกว่าคือสังคมนั้น ๆ สร้างสภาวะสมดุลอีกครั้งอย่างไร ซึ่งในกรณีของจีนคือการจัดระเบียบสังคมและการปฏิรูประบบการดำเนินการและบริหารกิจการของภาครัฐเพื่อให้สามารถรักษาสมดุลระหว่างกระแสและแรงกดดันต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงทำให้การมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นเสาหลักสำคัญของประเทศและสังคมจีนเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้น ๆ ของการพยายามเข้าใจประเทศจีน

ประการที่สี่ เหมือนกับที่เขามีสังคมนิยมในรูปแบบจีน จีนก็มีประชาธิปไตยในแบบจีน โดยถ้าต้องเปรียบคงเหมือนสามเหลี่ยมของไฟ ซึ่งประกอบด้วยสามองค์ประกอบได้แก่ ความร้อน อากาศ และเชื้อเพลิง สำหรับประเทศจีนไม่ว่าจะเป็นระบบการปกครองใดก็ต้องตอบโจทย์สำคัญ ได้แก่ การอยู่รอด (survival) ของระบบการปกครอง/พรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งขึ้นอยู่กับความชอบธรรม (legitimacy) ของระบบการปกครอง/พรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งตั้งอยู่บนความกินดีอยู่ดี (wellbeing) ของประชาชน ซึ่งผมคิดว่าสมการอันนี้ ถูกสกัดออกมาจากประสบการณ์ที่ชาวจีนได้ฟันฝ่ามา อนึ่ง สมการดังกล่าวก็ยังมีคุณค่าสำหรับประเทศอื่นด้วย โดยเฉพาะเมื่อมองว่า ยังมีหลายคนที่ยึดติดว่าประชาธิปไตยต้องเป็นรูปแบบนั้นรูปแบบนี้ แต่หากพิจารณา ดูแล้ว ความเป็นอยู่ของรัฐบาลใดก็ตามควรขึ้นอยู่กับความชอบธรรม ซึ่งความชอบธรรมดังกล่าว ซึ่งไม่ได้มาจากแค่การเลือกตั้ง ทั้งนี้ การเลือกตั้งหนึ่งในเครื่องมือ (tool) หลายประการที่ต้องใช้ร่วมกัน เช่น ระบบนิติบัญญัติ ระบบยุติธรรม ระบบการศึกษา ระบบตรวจสอบ ระบบการคัดเลือกข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฯลฯ เพื่อนำมาซึ่งความกินดีอยู่ดีของประชาชน ซึ่งข้อคิดดังกล่าว เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นข้อคิดที่สำคัญจาก การอ่านหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะเมื่อหนังสือเล่มนี้ระบุว่า การพัฒนา “ประชาธิปไตย” ของจีนยังไม่สิ้นสุด และได้วางแนวทางที่จะต้องเดินหน้าต่อไป โดยมุ่ง 1. การพยายามขยายขบวนการหารือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ 2. การปฏิรูปกลไกและระบบต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบของพรรค การเฟ้นหาเจ้าหน้าที่ของพรรค เจ้าหน้าที่ภาครัฐ รวมถึงการปฏิรูประบบยุติธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญชองการอยู่รอดของระบบการปกครองของจีนขึ้นอยู่กับการสร้าง การรักษาและการปรับปรุงให้กลไกและฟันเฟืองขั้นรากฐานที่ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในภาพรวมเดินหน้าอย่างราบรื่นที่สุด เพื่อประโยชน์ของประชาชนในภาพรวม


ประการที่ห้า มองไปข้างหน้าสิ่งที่จะเป็นความท้าทายต่อไปของจีนคืออะไร น่าจะเป็นเทคโนโลยี การสร้างเอกภาพทางความคิดหรือการควบคุมทัศนคติของคน 1,300 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเกิน 850 ล้านคนอย่างไร รวมถึงการรักษาความชอบธรรมของระบบในขณะเดียวกับการตอบโจทย์ความกินดีอยู่ดีและปากท้องของประชาชนที่มีความต้องการมากขึ้นต่อไป


ในการสรุปการเสวนาครั้งนี้ ผมขอฝากหัวข้อสำคัญ 4 หัวข้อ หัวข้อแรกคือตัวชี้วัด ซึ่งทุกคนที่ร่วมเสวนาในวันนี้ได้พูดในหลาย ๆ โอกาสว่า เราอาจต้องพิจารณาว่าไม่ควรยึดติดกับตัวชี้วัดว่า ต้องมีสิ่งนี้เท่านั้นถึงจะเป็นประชาธิปไตย รวมถึงต้องทบทวนว่าอะไรคือประชาธิปไตยและเป้าหมายของประชาธิปไตยคืออะไรรวมถึงอาจต้องกลับมาพิจารณาดูว่าภายใต้ระบบอะไรมีกลไกใดที่สำคัญ เหมาะสม เป็นประโยชน์และตอบโจทย์ของตัวเองทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว


หัวข้อที่สอง ends and means จุดมุ่งหมาย เป้าหมาย เป้าประสงค์และวัตถุประสงค์ กับขั้นตอนการดำเนินการ/วิธีการที่จะทำให้เราไปถึงจดมุ่งหมาย ในการเดินไปข้างหน้า เราจะกำหนดยุทธศาสตร์ในการเดินหน้ากันต่อไปอย่างไร บางท่านก็ได้พูดว่าจีนใช้ทฤษฎีแมวดำแมวขาว ก็ไม่สนใจว่าสีเป็นอะไร ขอให้จับหนูได้ก็พอ หรือทฤษฎีงการคลำหินข้ามลำธาร หรือการเดินหน้าสองก้าวแล้วถอยกลับมาหนึ่งก้าว แต่สิ่งที่สำคัญ ในส่วนนี้ผมคิดว่าคือการเป็นกระบวนการที่เปิดให้มีการทดลอง ทบทวน ตกผลึก และการนำผลลัพธ์มาประกอบการกำหนดยุทธศาสตร์หรือแนวทางที่จะเดินหน้าต่อไป ซึ่งปะะเด็นที่หลายท่านได้พูดถึง การกำหนดประเด็นสำคัญก่อนหลัง (priority) ของนโยบายที่มองไปข้างหน้า โดยคำนึงถึงทรัพยากรที่มีอยู่ เราจะใช้อะไรเท่าไหร่ ทำงานร่วมกับใคร และเพื่อวัตถุประสงค์อะไร รวมถึงการกำหนดไทม์ไลน์ ซึ่งมีท่านผู้ที่ได้ร่วมเสวนา พูดถึงโครงสร้างส่วนบนและโครงสร้างส่วนล่าง ความสัมพันธ์และความสัมพัทธ์ระหว่างกัน ความเด็ดขาด ในการตัดสินใจ การใช้การทดลอง trial and error แล้วก็การทบทวนบทเรียนที่ได้ เช่น ปัจจัยความสำเร็จคืออะไรและตัวแปรที่ต้องให้ความสำคัญมีอะไรบ้าง ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่สำคัญในการขยายการดำเนินการของนโยบายต่าง ๆ นอกจากนั้น เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่ควรนำมาแก้ไข ควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้และเป็นปัญหาที่สังคให้ความสำคัญหรือส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงควรมองถึงการใช้วิกฤตเป็นโอกาสสำหรับการปรับปรุงบริการและโครงสร้างต่าง ๆ รวมถึงการใช้เครื่องทุ่นแรงต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับประชาชนด้วย

หัวข้อที่สาม การปฏิรูป (reform) ถ้าเราดูจาก 40 ปี ของการปฏิรูปประเทศจีน เขาประสบความสำเร็จอย่างมาก ในงการยกระดับฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชน การพัฒนาประเทศ ผลลัพธ์ก็เป็นที่ประจักษ์เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นประชากรกว่า 800 ล้านคนที่ได้รับการยกฐานะออกจากความยากจน การพัฒนาเมืองใหญ่ที่ทันสมัย การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ฯลฯ อย่างไรก็ดี ในทางกลับกัน เรายังเห็นอีกด้วยว่า ยังมีความขาดแคลนบางส่วนด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะการแสดงออกในบางประเด็น ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นปัญหาที่เราจะต้องขบคิดต่อไปว่า เป็น trade off ที่คุ้มค่าหรือไม่ แล้วจะต้องดู ในระยะยาวด้วยว่า จีนในฐานะประเทศมหาอำนาจ จีนจะปรับตัวให้เข้ากับสถานะและบริบทใหม่ในเวทีระหว่างประเทศอย่างไร ในส่วนนี้ มีประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงมากในปัจจุบันคือ superpower rivalry ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งส่วนตัวผมมองว่านอกจากจะเป็นประเด็นผลประโยชน์แล้วยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย กล่าวคือ ตั้งแต่การปฏิรูปประเทศ จีนได้ยืนบนไหล่ของยักษ์ใหญ่มาตลอด โดยได้อาศัยประสบการณ์ ของประเทศที่พัฒนาแล้วรวมถึงสหรัฐฯ ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องดูต่อไปว่า เมื่อจีนก้าวมาสู่แนวหน้า ของการพัฒนาของโลกแล้ว ความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ จะปรับเปลี่ยนหรือไม่อย่างไร

หัวข้อที่สี่ ไทย สิ่งที่เราหารือในวันนี้ หรือสิ่งที่หนังสือเล่มนี้ได้จุดประกายให้ ให้ข้อคิดอะไรกับไทยบ้างประเด็นแรก ในเชิง conceptual ผมคิดว่าเราต้องไม่หลงทางไปกับการนิยามคำศัพท์เรื่องประชาธิปไตย แต่ละประเทศมีเงื่อนไขของตัวเองที่ต้องคำนึงถึงและปัญหาที่ต้องแก้ไข โดยคัดเลือกสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับประเทศนั้น ๆ ประเด็นที่สอง การปฏิรูป ผมขอแสดงความเห็นส่วนตัวว่า หากเปรียบเทียบกันระหว่างประสบการณ์การปฏิรูปของไทยกับของจีนในช่วง 40 ปีที่ผ่านมากับ เห็นได้ชัดว่ามีความแตกต่างที่สำคัญคือ (1.) ความต่อเนื่องเชิงนโยบายและการกำหนดเป้าหมายที่มองไปข้างหน้า (2.) ความต่อเนื่องของผู้นำ และ (3.) โครงสร้างและองคาพยพของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและภาคเศรษฐกิจ ซึ่งต้องชมจีนว่ามีเอกภาพสูงทางด้านนโยบาย ทางการกำหนดเป้าหมาย รวมถึงมีเครื่องมือที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนั้น ประเด็นที่สาม การกำหนดปัญหาและการแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ประชาชนในวงกว้างอย่างเด็ดขาดและทันท่วงที ประเด็นที่สี่ การเรียนรู้และนำบทเรียนที่ดีที่สุดและมีศักยภาพที่สุด จากการทดลอง และนำมาใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งเมื่อครู่มีท่านหนึ่งได้พูดถึง competency ของประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งผมคิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ จีนจะนำเอาประเด็นที่เป็นความท้าทายแปรเปลี่ยนเป็นแรงกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา อย่างเช่น ในช่วงปี 2008 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก นโยบายที่น่าสนใจที่สำคัญของรัฐบาลจีนคือการสนับสนุนเครดิตและเงินกู้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับกิจการและแปลงอุตสาหกรรมจากเดิมที่เป็น labor intensive เป็นอุตสาหกรรมที่ technology intensive และเป็นอุตสาหกรรมที่ creative ซึ่งการมองประเด็นให้ขาด การมีเครื่องมือและกลไกบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญ


สุดท้ายจะขอฝาก food for thought ให้ทุกท่าน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการมีปฏิกิริยาตอบสนอง ที่รวดเร็วและการมีองคาพยพต่าง ๆ ที่มีเอกภาพของทางการจีน ในช่วงเดือนที่ผ่านมา (ก.ย. 2564) ถ้าจำไม่ผิด หนังสือพิมพ์ Wallstreet Journal ได้ลงบทความกล่าวว่า เมื่อก่อนจีนจะพูดแค่เรื่องแมวดำกับแมวขาว แต่ตอนนี้ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย อาจต้องพูดว่า ไม่ว่าจะแมวขาวหรือแมวดำสำคัญคือต้องไม่ใช่ “แมวอ้วน” (fat cat เป็นการเล่นคำกับภาษาอังกฤษที่เปรียบแมวอ้วนเป็นภาพลักษณ์ของธุรกิจใหญ่) ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงปรากฏการณ์ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ที่ทางการจีนออกมาตรการกดดันภาคธุรกิจ ซึ่งในมุมมองของผมสิ่งที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นบทเรียนของทางการจีนเองที่เรียนรู้จากประสบการณ์ของสหรัฐฯอเมริกาที่ในช่วง 4 - 5 ปี ที่ผ่านมา ที่เกิดกระแสต่อต้านผู้มีฐานะร่ำรวย 1% ของประชากรก็ได้ ซึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อม ในสังคม ทางการจีน/ท่านสี จิ้นผิง ถึงต้องให้ความสนใจกับประเด็นเรื่อง conceptual และประเด็นเรื่องอุดมการณ์ของจีนอีกครั้ง พร้อมออกนโยบายที่เกี่ยวข้องทั้งมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาในจีน ขอบคุณครับ




ประวัติ คุณ ปถวี ตรีกรุณาสวัสดิ์


ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยปักกิ่ง สาขาประวัติศาสตร์จีน

ปริญญาโท / M Phil School of Oriental and African Studies (SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน สาขาจีนศึกษา (การเมืองจีนปัจจุบัน)

ปัจจุบัน รับราชการเป็นนักการทูตชำนาญการ (ที่ปรึกษา) คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ

ณ นครเจนีวา

Comments


bottom of page