top of page
klangpanyath

มุมมองใหม่และความท้าทายในการพัฒนาร่วมกันของประเทศบนแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง

อัปเดตเมื่อ 29 ส.ค. 2565

โดย

สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ


ที่มาภาพ: https://www.globaltimes.cn/page/202103/1216933.shtml


แม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง แม่น้ำสายสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปรียบเสมือนดั่งเส้นเลือดหล่อเลี้ยงผู้คนมากมายกว่าร้อยล้านชีวิตนับตั้งแต่ตอนใต้ของจีน เมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ทว่า ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ แม่น้ำโขงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คุณยุวดี คาดการณ์ไกล รองประธานสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ ได้กล่าวถึงโครงการการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือเพื่อการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขงอย่างยั่งยืนของสถาบันคลังปัญญาฯ ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ Xiang Shan Grand Academy ของจีน จากการศึกษาพบว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงนั้น ระดับน้ำมีความผันผวนเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างฉับพลัน การขึ้นและลงของน้ำไม่เป็นไปตามฤดูกาล มีการระเบิดเกาะแก่งตามลำน้ำโขง วิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำโขงนั้นไม่อาจพึ่งพิงแม่น้ำเพื่อการยังชีพได้อีกต่อไป นอกจากนี้ ยังได้มีสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ขึ้นหลายจุดบนลำน้ำโขง โดยเฉพาะ เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้ามีจำนวนมากกว่า 10 แห่ง และมักจะถูกพูดถึงผ่านสื่อมวลชนอยู่บ่อยครั้งในฐานะสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง ด้วยความเดือดร้อนของชาวบ้านริมแม่น้ำโขงในประเทศไทย จึงเกิดการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายประชาชนไทยลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา ขณะเดียวกัน ก็เรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐให้เข้ามาดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำระหว่างพรมแดนและเกี่ยวโยงกับหลายประเทศ ไม่อาจแก้ปัญหาเพียงลำพังประเทศใดประเทศหนึ่งได้ อีกทั้งมีความซับซ้อนของสาเหตุที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการกระทำของมนุษย์ การแก้ไขปัญหาจึงต้องมองอย่างแยกแยะ อาศัยการพูดคุย ไว้เนื้อเชื่อใจและร่วมมือกันของประเทศต่างๆที่อยู่บนแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง

ในส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาดังกล่าวนี้ สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ ของไทย จึงได้ร่วมมือกับ สถาบันวิจัยเพื่อการศึกษาประเทศและภูมิภาค แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง จัดเวทีเสวนาวิชาการออนไลน์ระหว่างจีน-ไทย เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 เวลา 9:00-16:00 น. ในหัวข้อ “การเติบโตไปด้วยกันและการพึ่งพาอาศัยระหว่างมนุษย์กับน้ำ: ความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำในแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง" (Symbiosis and Co-prosperity between Human and Water: Lancang-Mekong Water Resources Cooperation) และได้รับเกียรติจากนักวิชาการในหลากหลายสาขาวิชาการของทั้งสองประเทศมาร่วมเป็นวิทยากรนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อแนวทางความร่วมมือบนแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง อย่างยั่งยืนในอนาคต



รองศาสตราจารย์ ดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ นายกสมาคมทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทยและหนึ่งในคณะกรรมการของ International Water Association (IWA) กล่าวว่า ตนเองมีความกังวลต่อการพัฒนาระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำโขง ซึ่งในปัจจุบันมักถูกดึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองในภูมิภาค อีกทั้ง ความร่วมมือในเรื่องแม่น้ำโขงที่มีอยู่ยังถือว่าไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าใด เพราะเป็นความร่วมมือแบบหลวม ๆ ที่การตัดสินใจต่าง ๆ ยังเคารพอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศอยู่ ไม่มีการปรึกษาหารือถึงเรื่องของผลประโยชน์ส่วนรวม ทั้ง ๆ ที่แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสากล ส่วนเรื่องระดับน้ำที่มีความผันผวนและไม่เป็นไปตามฤดูกาลในแม่น้ำโขงเป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความถี่ที่บ่อยครั้งเฉกเช่นที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้


สอดคล้องกับที่ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิบูลย์ ตั้งกิตติภาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัทที่ปรึกษากฎหมาย ฟาร์อีสต์ จำกัด ได้กล่าวว่า ภัยแล้งหรือน้ำท่วมในแม่น้ำโขงเกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตกาล มิใช่สิ่งใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นหลังจากมีการสร้างเขื่อน ประชาชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขงได้ใช้ชีวิตตามสภาพของแม่น้ำอย่างปกติตลอดมา แต่การจัดการน้ำทางตอนเหนือของแม่น้ำที่ไม่สอดคล้องกับประเพณีวัฒนธรรมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผู้อยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำ จึงสร้างความเดือดร้อนและความเสียหายแก่ประชาชนผู้อยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำด้วย เพราะเหตุความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในวัฒนธรรมต่างพื้นที่นั่นเอง

ดร. แมน ปุโรทกานนท์ เลขานุการมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ จึงเสริมอีกว่า ถึงแม้ชุมชนบนลุ่มน้ำโขงจะมีการปรับตัวให้มีระบบดำรงชีพที่หลากหลาย แต่เมื่อกระแสน้ำมีภาวะขึ้นลงอย่างผิดธรรมชาติอันเกิดจากโครงการหรือกิจกรรมการพัฒนาแบบต่าง ๆ บนแม่น้ำสายหลัก จึงเป็นภาวการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางอาหาร ความคลอนแคลนของเศรษฐกิจครัวเรือนและชุมชนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง



ศาสตราจารย์ (เกียรติคุณ) ดร. สุริชัยหวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นทั้งปัญหาและเป็นทั้งโอกาสของการร่วมมือกัน น้ำกับมนุษย์ไม่ได้แยกออกจากกัน เช่นเดียวกัน เมื่อมองเรื่องแม่น้ำโขงก็ต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตของผู้คนริมแม่น้ำโขงด้วย ปัญหาแม่น้ำโขงนั้นเป็นเรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไม่ใช่เพียงเรื่องข้อมูลเท่านั้น สถานการณ์ความขัดแย้งในแม่น้ำโขงไม่ใช่ปัญหาเรื่องของน้ำเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงมุมมองต่อลุ่มน้ำโขงที่แตกต่างกัน นอกจากนี้แล้วเราต้องเคารพประสบการณ์ที่แตกต่างของคนที่อยู่ในลุ่มน้ำโขงตอนบน ตอนกลาง และตอนปลายด้วย

มุมมองที่แตกต่างประการแรกคือ มองน้ำเป็นเพียงการใช้ประโยชน์ แต่ไม่ได้มองน้ำในฐานะที่เป็นระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับสังคมด้วย ยกตัวอย่าง เช่น การระเบิดเกาะแก่งกลางน้ำโขงเพื่อให้สะดวกต่อการเดินเรือ แต่ได้นำมาซึ่งการสูญเสียของระบบนิเวศ ทั้งนี้ก็เพื่อเสนอให้ยอมรับการมองแม่น้ำโขงจากหลายมุมมอง (water ontology) ฉะนั้นความรู้ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต้องอยู่บนพื้นฐานของการทบทวนปัญหาที่ผ่านมา แล้วนำมาแลกเปลี่ยนด้วยความเคารพต่อประสบการณ์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ผ่านมา ทบทวนเรื่องของเศรษฐกิจที่ไม่ใช่เพียงเรื่องของการลงทุนเท่านั้น แต่ต้องเป็นเศรษฐกิจที่ฟื้นฟูระบบนิเวศและระบบความหลากหลายทางชีวภาพด้วย

ประการที่สอง ปัญหาทางนโยบายที่มีต่อการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขง หน่วยงานนโยบายในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นตามไม่ทันกับปัญหา ขณะเดียวกันยังขาดการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและภาคประชาสังคม การตัดสินใจทางนโยบายที่ผ่านมาไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรมของการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง

ประการที่สาม การจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกันระหว่างประเทศ ต้องอาศัยความเข้าใจร่วมกัน มากกว่าเรื่องอธิปไตยของประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นหลัก ธรรมาภิบาลในการกำกับดูแลแม่น้ำโขงไม่ใช่การพิจารณาเฉพาะการลงทุนก่อสร้างอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงการเกษตร การฟื้นฟูระบบนิเวศต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม และ Inclusive ตลอดลุ่มน้ำโขง และสำหรับการตัดสินใจนั้น ยังจะต้องให้สังคมท้องถิ่นข้ามประเทศ (sub-nation) ที่ผู้คนอาศัยอยู่ร่วมกันในบริเวณนั้นมีส่วนในการตัดสินใจด้วย หลายกรณีไม่ต้องผ่านการตัดสินใจจากเมืองหลวงของแต่ละประเทศ แต่ควรให้การตัดสินใจนั้นอยู่บนพื้นฐานของชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำโขงอย่างใกล้ชิดมากกว่า และที่กล่าวว่าการตัดสินใจไม่ทันกับสถานการณ์นั้น นั่นก็คือ แม่น้ำโขงต้องตัดสินใจที่ระดับท้องถิ่นด้วยถึงจะทันการณ์ ฉะนั้น พื้นที่ใกล้เคียงกันในบริเวณนี้ควรทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายความร่วมมือให้มากกว่านี้

ประการสุดท้าย ความไว้วางใจกันเป็นสิ่งที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ จะต้องทำไปและแก้ปัญหาไป เพื่อให้เกิดความไว้วางใจกันมากขึ้น การแก้ปัญหาจะต้องคำนึงถึงหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืน โอกาสและความท้าทายของการพัฒนาในภูมิภาคนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่ต้องขึ้นอยู่กับอำนาจที่เกี่ยวข้องกับภูมินิเวศด้วย ภูมินิเวศของการอยู่ร่วมกันซึ่งเป็นอำนาจเชิงบวกด้วย เป็นไปไม่ได้ที่การพัฒนาที่มองไปข้างหน้าจะไม่คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาเก่า จึงมีความจำเป็นต้องเร่งสร้างความร่วมมือทั้งด้านวิชาการและด้านนโยบายในหลายระดับขึ้นมา



ในมุมมองของนักวิชาการฝ่ายจีน โดย ศาสตราจารย์ ดร. ไจ๋ คุน (翟崑) รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการศึกษาประเทศและภูมิภาค มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจารย์ประจำคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้กล่าวถึงกรอบคิดการพัฒนาของประเทศจีน ซึ่งมียุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่บนแนวคิดที่ว่า การพัฒนาที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ประเทศนั้น ถือว่าเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของจีนที่จะต้องให้ความร่วมมือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีแนวคิดที่เรียกว่า “ประชาคมที่มีโชคชะตาร่วมกัน” ซึ่งเป็นแนวคิดที่มองว่า การพัฒนาที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกต้องดำเนินไปด้วยกัน ดังนั้นจีนและประเทศอื่น ๆ ต้องช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ จีนจึงถือว่า ความร่วมมือในทรัพยากรน้ำของแม่น้ำโขง และความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทยในประเด็นอื่น ๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งของหลักการพัฒนาในข้างต้น ขณะเดียวกัน ความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวกับแม่น้ำโขงยังถือว่ามีน้อยมากในแวดวงวิชาการของจีน จีนจึงเร่งมือในการทำความเข้าใจในประเด็นนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ดำเนินไปด้วยกัน

ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ ฝางหนิง (房宁) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยรัฐศาสตร์ ภายใต้สถาบันสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน ในฐานะประธานการเสวนาครั้งนี้ กล่าวว่า เห็นด้วยกับที่อาจารย์สุริชัย ที่กล่าวว่า เราต้องเคารพประสบการณ์ของคนท้องถิ่น พวกเราก็อยู่กันคนละที่ บางคนอยู่เมืองหลวง บางคนอยู่ริมแม่น้ำโขง บางครั้งเรามีความหวังดีต่อชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งยังไม่เพียงพอ เราต้องเอาใจใส่ต่อพวกเขาจริง ๆ และต้องมีนโยบายที่นำมาปฏิบัติอย่างจริงจังด้วย

ศาสตราจารย์ ดร. เฉิน ซื่อหลุน (陈世伦) อาจารย์ประจำคณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น ให้ความเห็นว่า แม่น้ำโขงนั้นมีการทำข้อตกลงระหว่างประเทศมากมาย แต่การดำเนินการกลับพบปัญหาไม่น้อย ซึ่งเกิดจากโครงการพัฒนาและผลกระทบที่มาจากการพัฒนาตลอดทั้งสายน้ำ การพัฒนาก็มีปัญหา ไม่พัฒนาก็มีปัญหา เป็นสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เราต้องใช้มุมมองนิเวศวิทยาการเมือง (Political ecology) เพื่อช่วยหาจุดสมดุลระหว่างการเมืองกับนิเวศวิทยา หากเราขยับขยายความเป็นเมืองโดยไม่คำนึงถึงการทำลายธรรมชาติ สมดุลระหว่างมนุษย์กับระบบนิเวศก็จะเปลี่ยนไป การพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอาจจะดูดี แต่การทำลายก็รวดเร็วไปด้วย ด้วยเหตุนี้ ความท้าทายในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนในระบบนิเวศของลุ่มน้ำจึงเป็นสิ่งที่ควรได้รับความใส่ใจอย่างยิ่ง



ศาตราจารย์ ดร. เถียน ฟู่เฉียง (田富强) อาจารย์ประจำภาควิชา วิศวกรรมไฮดรอลิค มหาวิทยาลัยชิงหวา กล่าวว่า มุมมองในเรื่องทรัพยากรน้ำนั้นมีความหมายกว้าง ไม่ใช่เพียงแค่การใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรและอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงการใช้พลังงานน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า รวมทั้งการจัดการกับน้ำท่วมและน้ำแล้งอีกด้วย ดังนั้น หัวข้อเสวนาวันนี้ก็ควรมองให้กว้างครอบคลุมมากขึ้นได้ หากเราเปรียบเทียบขนาดลุ่มน้ำของแม่น้ำโขงกับแม่น้ำเหลืองของจีน จะพบว่ามีขนาดพอ ๆ กัน แต่จำนวนประชากรในลุ่มน้ำโขงมีมากกว่าถึง 10 เท่า และมีทรัพยากรที่มากกว่าแม่น้ำเหลืองอยู่มาก ส่วนคุณภาพน้ำโดยรวมยังดี แม้บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจะมีน้ำเค็มไหลย้อนขึ้นมาจากทะเลบ้าง ตามที่ได้มีการวิจัยเกี่ยวกับน้ำท่วมหรือแห้งแล้งที่เกิดในแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง 120 ปีที่ผ่านมา มีข้อมูลชี้ว่าระดับน้ำเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ หลายปีที่ผ่านมาไม่ว่าน้ำท่วมหรือน้ำแล้งในลุ่มน้ำนี้ก็มากขึ้นกว่าแต่ก่อน จากข้อมูลที่มีอยู่พบความแห้งแล้งที่เกิดในฤดูแล้งมีมากขึ้นด้วย

ความท้าท้ายที่จะพูดถึงในที่นี้คือ 3I ประกอบด้วย หนึ่งคือ โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) สองคือ ข่าวสาร (Information) และสามคือ กลไก ระบบหรือสถาบัน (Institution)

ประการแรกโครงสร้างพื้นฐานนั้น หมายถึง การส่งน้ำไปใช้ไม่ว่าจะใช้เพื่ออุตสาหกรรมหรือในครัวเรือน การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญมาก ปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการใช้งานเป็นสิ่งที่บ่งชี้คุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกประเทศ สำหรับลุ่มน้ำโขง การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานยังต้องมีเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันภัยธรรมชาติและอำนวยประโยชน์แก่ประชาชน รวมทั้งการป้องกันน้ำเค็มไหลเข้ามา ทั้งหมดยังต้องการการลงทุนในโครสร้างพื้นฐานอีกมาก สำหรับเขื่อนต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นอยู่ในลุ่มน้ำนี้ นอกจากได้ไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นมาแล้ว เขื่อนยังช่วยให้เกิดประโยชน์ในการปรับใช้น้ำและการบริหารน้ำได้อย่างชัดเจน

ประการที่สอง ข่าวสารมีความหมายกว้างทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและมีหลายระดับ ประกอบด้วย ข้อมูล (Data) ข่าวสาร (Information) ความรู้ (Knowledge) และปัญญา (Wisdom) ยกตัวอย่างเช่น ในแม่น้ำถ้ามีตัวเลขบ่งบอกถึงระดับความสูงต่ำของน้ำนี่เรียกว่าข้อมูล เมื่อมีข้อมูลมากขึ้นแล้วทำให้รู้ว่าระดับน้ำที่ขึ้นลงมีรูปแบบอย่างไรเพื่อใช้เตือนภัยน้ำท่วมได้นี่เรียกว่าข่าวสาร ถ้าพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อสะสมข้อมูลข่าวสารมากขึ้นแล้วทำให้รู้ว่าการเกิดน้ำท่วมหรือน้ำแล้งของพื้นที่นี้ว่ามีลักษณะพิเศษอย่างไรนี่จะเรียกว่าความรู้ และถ้าพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นคือเมื่อรู้ว่าน้ำท่วมน้ำแล้งเกิดขึ้นเพราะเหตุใด แล้วเราจะจัดการให้ดีขึ้นได้อย่างไร อย่างเช่น ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ก็หันมาสนใจการแก้ไขปัญหาที่อิงธรรมชาติ (Nature-based Solution) ซึ่งเป็นการจัดการอย่างยั่งยืนและการใช้คุณลักษณะและกระบวนการทางธรรมชาติเพื่อจัดการกับความท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้ายกระดับความรู้ถึงขั้นนี้ได้ก็จะเรียกว่ามีปัญญา

สำหรับแม่น้ำโขงเราจึงต้องการข่าวสารในความหมายกว้างมาใช้ประโยชน์ในการบริหาร แต่เนื่องจากแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำระหว่าประเทศ อาจจะมีความลำบากในการบริหารด้านข่าวสาร โดยส่วนตัวแล้วมองว่าการแบ่งปันข้อมูลแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง ให้กับประเทศเพื่อนบ้านดำเนินการได้ค่อนข้างดี รวมทั้งความร่วมมือในการประชุมทางวิชาการครั้งนี้ด้วย สำหรับความร่วมมือระหว่าง 6 ประเทศที่อยู่บนแม่น้ำสายนี้ เรามีระบบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง ซึ่งจะเอื้อให้เกิดโอกาสในการแบ่งปันข่าวสาร ไม่ว่าจะอยู่ในระดับของข้อมูล ข่าวสารและความรู้ ก็ตาม เราก็มีโอกาสนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้

ถึงแม้ว่าเรามีระบบความร่วมมือและดำเนินการร่วมมือกันได้มากแล้วก็ตาม แต่แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้น การแบ่งปันข้อมูลข่าวสารยังไม่เกิดขึ้นเต็มที่ ขณะเดียวกัน เรายังขาดความรู้ความเข้าใจในแม่น้ำสายนี้อยู่มาก ทำให้เรามีความคิดต่างกัน ต่อประเด็นน้ำท่วมและน้ำแล้งอะไรคือสาเหตุของปัญหา เราก็ยังมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ยกตัวอย่างเช่น ความแห้งแล้งในปี 2016 นั้นเกิดจากสาเหตุใด บางคนบอกว่าเกิดจากเขื่อนกักเก็บน้ำ บางคนบอกว่าฝนตกน้อย ต่างคนก็ต่างมีความเห็นที่ต่างกัน ดังนั้น เราจึงควรมีการแลกเปลี่ยนมากขึ้นในด้านข้อมูลข่าวสาร อีกเรื่องหนึ่งคือดินทรายหรือตะกอนดินในแม่น้ำสายนี้ ข้อมูลตัวเลขที่มีอยู่ยังเป็นของผลงานวิจัยเมื่อ 150 ปีก่อน ทำให้ความรู้(Knowledge) แม่น้ำโขงของเรามีจำกัดมาก ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลใหม่เลย จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยด้านนี้เพิ่มมากขึ้น

ในด้านกลไก ระบบหรือสถาบัน (Institute) เราจะเห็นว่า ปัจจุบันแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขงมีกลไกความร่วมมือมากมาย แต่ผลการดำเนินการยังไม่ค่อยดี เราจะทำอย่างไรให้กลไกการบริหารทรัพยากรน้ำในแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขงได้รับผลดังที่เราคาดหวัง เราต้องร่วมมือกันในการส่งเสริมเพื่อให้กลไกที่ทำงานได้ผลเกิดขึ้นมาให้ได้ในอนาคต และขอนำคำพูดของนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลปี 2009 ชื่อElinor Ostrom ที่กล่าวว่า Build in knowledge and the trust are essential for solving collective action problem. ดังนั้น การสร้างความรู้และความเชื่อใจกันจึงเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญยิ่ง ไม่ว่าคนที่อยู่ตอนต้น ตอนกลางและตอนปลายของแม่น้ำ ต่างมีสิทธิมีหน้าที่ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่เชื่อใจกัน

กล่าวโดยสรุปการสร้างความรู้และความเชื่อใจกัน ก็ต้องมีการไปมาหาสู่กัน ต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้ระหว่างกัน ถ้าไม่มีการแลกเปลี่ยนกัน ความรู้และความเชื่อใจกันก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนอย่างเช่นการเสวนาในวันนี้ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก


รองศาสตราจารย์ อี๋ว ไห่ชิว (余海秋)ผู้อำนวยการศูนย์ไทยศึกษา ภายใต้สถาบันเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันวิจัยสังคมศาสตร์แห่งยูนนาน ได้เสริมอีกว่า พื้นที่ลุ่มน้ำโขงยังมีความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมอีกประการหนึ่งคือปัญหาความยากจน จึงคิดว่าควรมีการนำตัวแบบนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนของจีนมาประยุกต์ใช้ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงได้ ซึ่งหน่วยงาน Think thank สามารถเข้ามามีบทบาทในความร่วมมือเพื่อการแก้ไขปัญหาและนำความสำเร็จไปสู่การขยายผลได้


บทสรุปของการเสนาครั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาและแนวทางความร่วมมือของจีน-ไทย บนแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง ในอนาคต ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

1. แม่น้ำล้านช้างในลุ่มน้ำตอนบนและแม่น้ำโขงในลุ่มน้ำตอนล่างนั้นถือว่าเป็นแม่น้ำสายเดียวกัน ดังนั้น การแบ่งปันข้อมูลข่าวสารทางอุทกวิทยาและการพัฒนาทรัพยากรน้ำจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะต่อประเทศในลุ่มน้ำตอนล่าง หากมีมาตรการแบ่งปันข้อมูลที่ดีจะส่งผลทำให้เกิดการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และเกิดการประสานงานที่มีประสิทธิภาพ

2. จำเป็นจะต้องมีกลไกกลางที่จะช่วยในการแบ่งปันข้อมูล ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ คือ 1) การตั้งคณะกรรมการกำหนดกฎเกณฑ์และขอบเขต มีสำนักเลขานุการที่มีประสิทธิภาพ 2) ควรมีที่ปรึกษาที่มาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาสังคม และ 3) กลไกทั้งหมดต้องได้รับความเห็นชอบในการดำเนินงานจากอำนาจรัฐของแต่ละประเทศ

3. ควรให้ความสำคัญกับหลักการและการปฏิบัติตามแนวคิด Inclusive Growth ที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยมีกรอบการพัฒนาและตัวชี้วัดที่ชัดเจนร่วมกันในทุกโครงการและแผนงานการพัฒนา ผ่านการส่งเสริมกระบวนการตัดสินใจแบบปรึกษาหารือ (Deliberative decision making) และการสร้างกระบวนการใช้ความรู้ร่วมกันของท้องถิ่นดั้งเดิมและความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า

4. ในการสร้างความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนควรเปิดกว้างและบริหารจัดการเขื่อนอย่างสอดคล้องกับระบบนิเวศและวิถีชีวิตของประชาชน แบ่งปันผลประโยชน์ รวมทั้งกำกับดูแลระบบนิเวศร่วมกันอย่างจริงจัง

5. ส่งเสริมแนวคิดนิเวศวิทยาการเมือง เปิดพื้นที่ให้ความหมายหรือวิธีการคิดเรื่องน้ำในรูปแบบอื่น เช่น วิธีการคิดเรื่องน้ำของท้องถิ่น เคารพภูมิปัญญา ความรู้และประสบการณ์ในการจัดการน้ำของคนท้องถิ่น และให้คนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางนโยบายด้วย

6. Think Tank ของแต่ละประเทศควรเข้ามาร่วมมือกันในบทบาทของการแก้ไขปัญหา นอกจากการทำข้อเสนอนโยบายให้แก่ฝ่ายบริหารในแต่ละประเทศแล้ว ยังต้องมีการถอดบทเรียนว่า นโยบายที่ทำไปนั้นเกิดผลอย่างไร อีกทั้ง Think Tank ของแต่ละประเทศควรร่วมมือกันส่งเสริมนโยบายการลดความยากจนในภูมิภาคด้วย

ในตอนท้ายของการเสวนา ศาสตราจารย์ ดร. ไจ๋ คุน ได้ตอกย้ำหนักแน่นว่า จีนมีความตั้งใจที่จะนำเอาข้อมูลและข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ บนลุ่มน้ำล้านช้าง-แม่โขง ที่ได้รับจากเวทีเสวนาครั้งนี้ นำเสนอให้กับระดับผู้นำของจีนที่จะมีการประชุมเร็ว ๆ นี้ เพื่อวางแผนนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลต่อไปในอนาคต อีกทั้งฝ่ายจีนจะใช้การประชุมเสวนาในครั้งนี้เป็นโอกาสในการร่วมมือและพัฒนาการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ของจีนให้หลากหลายมากขึ้นในภายภาคหน้า ทั้งนี้ เชื่อว่าทั้งฝ่ายจีนและไทยต่างมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเครือข่ายวิชาการประชาคมจีน-ไทย ที่มีโชคชะตาร่วมกันนี้ ให้เข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาความร่วมมือและการแก้ไขปัญหาร่วมกันของภูมิภาคอย่างยั่งยืนต่อไป




24 สิงหาคม 2565







ดู 139 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page