วิจารณ์ พานิช
ขอขอบคุณ คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ที่กรุณาส่งหนังสือมาให้
9
ชีวิตที่พอเพียง 4103. เส้นทางพัฒนาประชาธิปไตยของจีน
นี่คือบทสะท้อนคิด (reflection) ชิ้นที่ ๙ ที่เกิดจากการอ่านหนังสือ ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน โดยอ่านบันทึกก่อนหน้านี้ได้ที่ (๑) (641004), (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘)
สาระในหนังสือบทที่ ๙ กลยุทธและโอกาสการสร้างประชาธิปไตยของจีน บอกเราว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นมาในสังคมนั้นๆ คนไทยต้องช่วยกันสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมต่อบริบทของเราเอง ไม่ใช่มุ่งคัดลอกเอามาจากประเทศอื่น แต่ก็ต้องเรียนรู้ทั้งจากประวัติศาสตร์ของตนเอง และเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่น เราต้องมี เส้นทางพัฒนาประชาธิปไตยของไทยเอง
ปัจจัยที่ผลักดันให้การพัฒนาการเมืองแบบประชาธิปไตยในจีนได้ผลมี ๓ ประการคือ (๑) การกระจายอำนาจ และกำหนดขอบเขตของอำนาจอย่างเหมาะสม (๒) การตัดสินใจอย่างมีข้อมูลหลักฐานและซื่อสัตย์ นี่คือเรื่องความสามารถในการปกครอง (๓) การต่อต้านการทุจริตและส่งเสริมความซื่อสัตย์ ทั้งสามปัจจัยนั้น ในทางปฏิบัติมีความเป็นพลวัตมาก ยิ่งประเทศมีความก้าวหน้ามาก ยิ่งมีความท้าทายมาก
การต่อต้านการทุจริต และส่งเสริมความสุจริตใช้หลัก ๓ ประการคือ (๑) พัฒนาบุคลากรของพรรค และของรัฐ (๒) ปฏิรูประบบบริหารภาครัฐ โดยเน้นระบบตรวจสอบและระบบอนุมัติ (๓) ปฏิรูประบบตุลาการ โดยจีนถือว่าระบบตุลาการเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบการเมือง
กลยุทธพื้นฐานในการส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างสรรค์ประชาธิปไตยจีน มี ๓ ประการคือ (๑) ขยายการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับต่างๆ อย่างเป็นระเบียบ (๒) ขยายขอบเขตและพัฒนาคุณภาพของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (๓) สร้างระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ และระบบกำกับดูแลแบบประชาธิปไตย โปรดสังเกตวิธีคิดและวิธีดำเนินการอย่างมีพลวัต และผมตีความว่ามีวงจรเรียนรู้
ประเด็นท้าทายต่อการพัฒนาการเมืองจีน ๓ ประการ ได้แก่ (๑) เสถียรภาพด้านโครงสร้างเพราะในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมาจีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจและด้านการเมืองอย่างก้าวกระโดดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมากมาย ย่อมทำให้เกิดปัญหาทางสังคม และความขัดแย้งตามมา ข้อมูลระหว่างปี 1998 – 2008 บอกชัดเจนว่ามีความไม่สงบและความขัดแย้งเกิดขึ้นมาก (๒) ความเสี่ยงของการปฏิรูประบบ ได้แก่ ก.) ความเสี่ยงจากการกระจายอำนาจ ข.) ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและสังคม ค.) ความเสี่ยงจากการโจมตีในการแสดงความคิดเห็นสาธารณะที่ควบคุมยาก (๓) อนาคตของประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ที่มีปัจจัยเกิดใหม่ ๓ ประการคือ ก.) การก่อตัวของโครงสร้างทางสังคมใหม่ ข.) การก่อตัวและรวมตัวของชนชั้นสูงใหม่ ค.) การก่อตัวของจิตสำนึกอนุรักษ์นิยมใหม่
อ่านประเด็นท้าทายข้างต้นแล้ว ผมสรุปกับตนเองว่า จีนใช้การวิจัยด้านสังคมศาสตร์อย่างชาญฉลาดมาก คือใช้ชี้นำการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในหนังสือเต็มไปด้วยคำถามในการพัฒนา ที่ผมเดาว่า สถาบันวิจัยรัฐศาสตร์ ภายใต้สถาบันสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (ที่ผู้เขียนหนังสือ คือ ศาสตราจารย์ฝางหนิง เคยเป็นผู้อำนวยการ) น่าจะได้รับเอาคำถามเหล่านั้นมาดำเนินการวิจัย การพัฒนาประชาธิปไตยจีนจึง “ดำเนินการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์”
ผมจึงจินตนาการว่า นโยบายของกระทรวง อว. ในการส่งเสริมการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้ง TASSHA (๙) (๑๐) น่าจะได้เรียนรู้จากประเทศจีนในประเด็นนี้ โดยน่าจะขอความร่วมมือกับประเทศจีนในการวางยุทธศาสตร์พัฒนาความเข้มแข็งของการวิจัยด้านรัฐศาสตร์
ปัจจัยเกิดใหม่ ๓ ประการคือ ก.) การก่อตัวของโครงสร้างทางสังคมใหม่ ข.) การก่อตัวและรวมตัวของชนชั้นสูงใหม่ ค.) การก่อตัวของจิตสำนึกอนุรักษ์นิยมใหม่ เกิดขึ้นในทุกประเทศที่เอาจริงเอาจังกับการพัฒนาประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ต้องมีการวิจัยทำความเข้าใจประเด็นเหล่านี้ และนำมาใช้ในการสร้างวงจรการพัฒนาประเทศ
โดยในหน้า ๔๘๓ เขาเอ่ยถึงเหตุการณ์ พ.ศ. ๒๕๑๖ ของประเทศไทยด้วย รวมทั้งเหตุการณ์สำคัญในหลายประเทศในเอเชีย ผมสรุปว่า เส้นทางพัฒนาประชาธิปไตยของจีน บูรณาการอยู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างแน่นแฟ้น โดยเขามีวิธีดำเนินการพัฒนา “อย่างเป็นวิทยาศาสตร์” (evidence-based development)
10
ชีวิตที่พอเพียง 4113. อธิบายปรากฏการณ์ประชาธิปไตยจีนด้วย ๔ ทฤษฎี
นี่คือบทสะท้อนคิด (reflection) ชิ้นที่ ๑๐ และสรุปจากตอนสุดท้ายของหนังสือ ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน โดยอ่านบันทึกก่อนหน้านี้ได้ที่ (๑) (641004), (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙)
ฝรั่งพยายามเอาทฤษฎีและตัวอย่างประชาธิปไตยของเขามาให้เราใช้ หลายประเทศว่าง่าย ใช้แล้วก็เฉไฉได้ผลที่สังคมไม่เจริญก้าวหน้า แต่ฝรั่งพอใจ จีนเจ็บตัวมาเป็นศตวรรษจึงไม่เชื่อใครง่ายๆ ค้นหาแนวทางของตนเอง ซึ่งก็คลำผิดมานานราวๆ ๓๐ ปี เพิ่งมาคำถูกเอาราวๆ ๓๐ ปีหลังนี้ โดยมีประจักษ์พยานว่า ประเทศเจริญก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด
ทฤษฎีประชาธิปไตยจีนจึงเขียนขึ้นจากการตีความประสบการณ์จริงของตนเอง ไม่ใช่ลอกทฤษฎีของคนอื่นมา เป็นทฤษฎีที่พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลในบริบทจีน แต่ที่จริงก็มีฐานคิดมาจากหลากหลายแหล่ง รวมทั้งแหล่งตะวันตก ทฤษฎีทั้งสี่ได้แก่
• ทฤษฎีว่าด้วยองค์ประกอบสามประการของประชาธิปไตย เริ่มด้วยการให้ความหมายต่อประชาธิปไตย ต้องกล้าให้ความหมายตามวัตถุประสงค์ของตนเอง ไม่ใช่ลอกเลียนตามประเทศอื่น องค์ประกอบทั้งสามของประชาธิปไตยได้แก่ (๑) การคุ้มครองสิทธิ (๒) การแบ่งแยกอำนาจ และตรวจสอบถ่วงดุล (๓) การตัดสินใจด้วยเสียงข้างมาก
• ทฤษฎีว่าด้วยนิยามทางประวัติศาสตร์ การเกิดขึ้นของประชาธิปไตยนั้นถูกกำหนดโดยประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์เป็นผู้นิยาม ประชาธิปไตยของแต่ละประเทศจะต้องสร้างขึ้นจากภายใน ไม่ใช่รับถ่ายทอดมาจากภายนอก
• ทฤษฎีว่าด้วยประเด็นหลักของประชาธิปไตย ประเด็นหลักคือการพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนาความทันสมัยของประเทศ ให้เป็นจริง
• ทฤษฎีว่าด้วยขั้นตอนประชาธิปไตย ขั้นตอนของการพัฒนาประชาธิปไตย ต้องสอดคล้องกับขั้นตอนการพัฒนาประเทศในภาพรวม
อ่านแล้วรู้สึกว่าผู้เขียนต้องการอธิบายว่า การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ต้องไม่หลงทำตามทฤษฎีของประเทศตะวันตก เพราะแต่ละประเทศมีพัฒนาการในอดีตแตกต่างกัน และมีปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และอื่นๆ แตกต่างกัน จึงต้องดำเนินการพัฒนาประชาธิปไตยตามแนวทางของตนเอง โดยทำความเข้าใจหลักการให้ชัดและถูกต้อง และการพัฒนานั้นต้องทำไปเรียนรู้และปรับตัวไป ที่เรียกว่าเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และสำหรับจีน ประสบการณ์อันเจ็บปวดจากการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่กินเวลา ๑๐ ปี ให้การเรียนรู้สูงยิ่ง
“ประชาธิปไตยของแต่ละประเทศจะต้องสร้างขึ้นจากภายใน ไม่ใช่รับถ่ายทอดมาจากภายนอก” ช่างเหมือนกับเรื่องการเรียนรู้ของมนุษย์ ไม่ผิดเพี้ยนที่การเรียนรู้ของมนุษย์เป็นกระบวนการสร้างความรู้ภายในตน แล้วทดลองใช้ในสถานการณ์จริงหรือสถานการณ์จำลอง เพื่อทดสอบว่าความรู้ที่สร้างขึ้นนั้นใช้ได้จริงไหม หากใช้ได้จริงก็จดจำไว้ เอาไว้ใช้ในโอกาสต่อไป
หลักการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ จึงเป็นเรื่องของการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นจากการตีความสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ต่อเนื่องยาวนานมาหลายร้อยปี มาเข้มข้นขึ้นในช่วงหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
11
ชีวิตที่พอเพียง 4113. เณรน้อยอ่านหนังสือประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน
นี่คือบทสะท้อนคิด (reflection) ชิ้นที่ ๑๑ และเป็นตอนสุดท้าย ที่เกิดจากการอ่านหนังสือ ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน โดยอ่านบันทึกก่อนหน้านี้ได้ที่ (๑) (641004), (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๐)
ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ และสะท้อนคิดเขียนบันทึกลงแลกเปลี่ยนด้วยสายตาของ “เณรน้อย” (novice) คือไม่มีพื้นความรู้เรื่องประชาธิปไตยมาก่อน และแม้อ่านหนังสือเล่มนี้จบ ก็ยังเป็นเณรน้อยอยู่ดี
สรุปประโยคเดียวได้ว่า ประชาธิปไตยจีน เป็นประชาธิปไตยที่มีการเรียนรู้สูง หนังสือเล่มนี้เขียนแบบนักวิชาการ หรือนักวิจัยทางสังคมศาสตร์ อ่านแล้วผมสรุปว่า การพัฒนาประชาธิปไตยต้องการการวิจัยทางสังคมศาสตร์ และการวิจัยด้านการเมืองอย่างเข้มข้น นี่คือเครื่องมือหนึ่งของการเรียนรู้เชิงระบบ ที่เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติที่ทำให้ประชาธิปไตยจีน “มีพัฒนาการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์” โดยมีหลักฐานเชิง “ภววิสัย” (objectivity)
หนังสือเล่มนี้ สรุปหลักการ หรือทฤษฎีจากการปฏิบัติ และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ที่มีทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จ ช่วงสามสิบปีแรกหลังการเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นคอมมิวนิสต์ ล้มเหลวมากกว่า ยิ่งช่วง ๑๐ ปีของการปฏิวัติวัฒนธรรมยิ่งล้มเหลว ช่วงสามสิบปีหลังสำเร็จอย่างน่าทึ่ง แต่ในความสำเร็จก็มีความล้มเหลว เช่นเหตุการณ์เทียนอันเหมินปี 1989 และขณะนี้เหตุการณ์ในฮ่องกงก็ยังต้องระมัดระวัง
ประชาธิปไตยเป็นสิ่งผุดบังเกิด มาจากสารพัดเหตุปัจจัยของสังคมนั้นๆ โดยหนังสือเน้นปัจจัยเชิงประวัติศาสตร์ มีผลให้รูปแบบประชาธิปไตยของแต่ละประเทศไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
ประชาธิปไตยจีนเป็นประชาธิปไตยสังคมนิยม จึงย่อมแตกต่างจากประชาธิปไตยเสรีนิยมในตะวันตก หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นจุดแข็งจุดอ่อนที่แตกต่างกันของประชาธิปไตยสองแนวนี้ ซึ่งหมายความว่า ในโลกนี้ไม่มีทางมีประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ ผมตีความว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่เป้าหมาย เป้าหมายแท้จริงคือการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ในสังคมที่เจริญก้าวหน้าทั้งด้านวัตถุ ด้านสังคม และด้านจิตใจ ประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่าประชาชนแต่ละคนมีเสรีภาพไร้ขอบเขต ต้องมีความรับผิดชอบด้วย และต้องเคารพความแตกต่างด้วย
ความท้าทายของประชาธิปไตยในอนาคตคือจะดำเนินการให้คนที่โตมาในสภาพอุดมสมบูรณ์วัตถุปรนเปรอ อยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุขได้อย่างไร และจะเป็นประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จ ในท่ามกลางสังคมที่ผู้คนมีความแตกต่างกันในหลากหลายด้าน และแตกต่างกันอย่างรุนแรง ได้อย่างไร
บทความนี้ได้เผยผ่าน https://www.gotoknow.org/user/vicharnpanich/posts
สั่งซื้อหนังสือ "ประสบการณ์ประชาธิปไตย"
สั่งซื้อออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ CPWIBOOKSTORE
ส่งข้อความผ่าน Page CPWI BOOK
โทร. 092-439-7755
Comments