top of page
klangpanyath

หนังสือประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน ในทัศนะของ ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช ตอนที่ 2

อัปเดตเมื่อ 25 ต.ค. 2564







วิจารณ์ พานิช

ขอขอบคุณ คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ที่กรุณาส่งหนังสือมาให้



5

ชีวิตที่พอเพียง 4078. พัฒนาประเทศด้วยสามเอกภาพ


นี่คือบทสะท้อนคิด (reflection) ชิ้นที่ ๕ ที่เกิดจากการอ่านหนังสือ ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน โดยอ่านบันทึกก่อนได้ที่ (๑) (641004), (๒) (๓) (๔)

เกือบสามสิบปีแรกของประเทศจีนภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ ให้บทเรียนที่เจ็บปวด

พอเริ่ม(คริสต)ทศวรรษที่ 1980 ก็เริ่มจับทางได้ แต่ทศวรรษนั้นเป็นช่วงวิกฤติของลัทธิคอมมิวนิสต์แบบดั้งเดิม ตามด้วยการล่มสลายของโซเวียดรัสเซีย จีนก็ได้รับมรสุมไปด้วย เกิดวิกฤติปี 1989 พอเข้าทศวรรษที่ 1990 ก็เริ่มต้นยุครุ่งโรจน์

ผมตีความจากการอ่านหนังสือตั้งแต่ต้นจนถึงกลางเล่ม จีนคลำทางผ่านการทดลองและเรียนรู้ ๔๐ ปี ก็พบหลักการ สามเอกภาพ อันได้แก่ (๑) การเป็นผู้นำของพรรค (๒) การส่งเสริมประชาธิปไตย (ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ) (๓) การปฏิบัติตามกฎหมาย (หลักนิติธรรม)

การเปลี่ยนการปกครองจากเผด็จการ มาเป็นประชาธิปไตย ที่เป็นประชาธิปไตยแบบจีน ได้จากการทดลอง ปรับปรุง และเห็นผลดีในบริบทจีน ไม่ใช่หลับหูหลับตาเอาอย่างประชาธิปไตยของประเทศตะวันตก เวลาผ่านมา ๓๐ ปี พิสูจน์แล้วว่า ใช้ได้ผลดีกว่าประชาธิปไตยแบบอเมริกัน แม้แต่ประชาธิปไตยตามแนวคิดตะวันตกก็มีหลากหลายรูปแบบ (๕)

หนังสือสรุปว่า การเมืองแบบประชาธิปไตยของจีน นั้น อำนาจอธิปไตยแยกเป็น ๓ องค์ประกอบที่เป็นรูปธรรมคือ (๑) สิทธิ (๒) อำนาจ (๓) วิธีการ โดยในทางปฏิบัติ อธิปไตยของประชาชนมี ๓ ประเด็นคือ (๑) การคุ้มครองสิทธิของประชาชน (๒) อำนาจของประชาชน (๓) สิทธิของประชาชน

หลักการสามเอกภาพมีรายละเอียดมากมาย และมีตรรกะย้อนแย้งมากมายเช่นกัน เช่น การคุ้มครองสิทธิ์ กับ การรวมศูนย์อำนาจ ในช่วงหลังเขาแทน การรวมศูนย์อำนาจ ด้วยความเป็นผู้นำของพรรค และอธิบายว่า (๑) ความเป็นผู้นำของพรรคเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนที่จะเป็นเจ้าของประเทศ และการปกครองประเทศด้วยหลักนิติธรรม (๒) การทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศเป็นเป้าหมายพื้นฐานของประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม และ (๓) การปกครองประเทศด้วยหลักนิติธรรมเป็นกลยุทธพื้นฐานของพรรค ในการนำประชาชนปกครองประเทศ

เขาอธิบายว่า การคุ้มครองสิทธิ์นำไปสู่ความกระตือรือร้นของประชาชน เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในการร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและความทันสมัย ในขณะที่การรวมศูนย์อำนาจทำให้สามารถดำเนินการตามยุทธศาสตร์ในการสร้างอุตสาหกรรมและความทันสมัย จะเห็นว่าประเทศจีนมีวิธีทำให้ความย้อนแย้งกลายเป็นพลัง คำอธิบายนี้พิสูจน์ว่าเป็นจริงผ่านการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดดในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา โดยผมตีความว่า เขาต้องพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า การดำเนินการตามหลักการดังกล่าว เป็นไปเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงไม่ใช่แค่กล่าวอ้าง แต่ในความเป็นจริงเป็นการดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของคนรวยหรือคนชั้นสูงเพียงหยิบมือเดียว (อย่างที่เห็นในหลายประเทศ) คือต้องได้ใจได้ความเชื่อถือจากประชาชน

การพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์มี ๕ ประการ คือ (๑) การปรับและควบคุมระดับมหภาคของเศรษฐกิจระบบตลาด (๒) กำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (๓) ประสานการพัฒนาในระดับภูมิภาค (๔) ส่งเสริมการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (๕) ให้บริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน แต่ละยุทธศาสตร์มีรายละเอียดมาก



6

ชีวิตที่พอเพียง 4083. พัฒนาประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (deliberative democracy)


นี่คือบทสะท้อนคิด (reflection) ชิ้นที่ ๖ ที่เกิดจากการอ่านหนังสือ ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน โดยอ่านบันทึกก่อนได้ที่ (๑) (641004), (๒) (๓) (๔) (๕)

มองภาพกว้าง ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือพัฒนาในประเทศตะวันตกตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ และในประเทศตะวันตกยุคปัจจุบันก็มีการพัฒนาแนวความคิด แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นประชาธิปไตยแบบแยกค่าย แข่งขัน เอาชนะ เนื่องจากวัฒนธรรมปัจเจกนิยมและเสรีนิยม เน้นการแข่งขันและยับยั้งชั่งใจซึ่งกันและกัน ในประเทศจีนเขาเอ่ยถึงประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือยุคเก่า ตั้งแต่ยุคก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จะเข้าปกครองประเทศในปี 1949

แต่ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือยุคใหม่เริ่มในปี 1979 และค่อยๆ เข้มแข็งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และเป็นรูปแบบหลักของประชาธิปไตยแบบจีน ในขณะที่ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือของตะวันตกเป็นรูปแบบเสริม

ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือแบบจีนมีรากฐานมาจากลัทธิมาร์กซ์ อยู่บนแนวคิดของความรักชาติ การรวมกลุ่ม และวัฒนธรรมประเพณีของจีน มีการสนับสนุนและรับฟังร่วมกัน มีความสามัคคีแต่แตกต่างกันได้ มีใจกว้าง และสนับสนุนการปรึกษาหารือ นัยยะในหนังสือ ชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยแบบตะวันตก ได้สร้างการแบ่งค่ายผลประโยชน์ มีการโจมตียับยั้งซึ่งกันและกัน หรือแลกเปลี่ยนแบ่งปันผลประโยชน์จึงเกิดกลไกจำกัดอำนาจ และมีการตัดสินใจแบบหลายศูนย์ หลายระดับ ส่งผลให้มีการลดทอนอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร

“ในอีกด้านหนึ่ง เป็นเรื่องง่ายที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ของกลุ่มกับผลประโยชน์โดยรวม ซึ่งส่งผลให้มีแนวโน้มนโยบายระยะสั้น ไม่สามารถมีนโยบายระยะยาวได้ และเป็นการมุ่งผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก”

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว จึงรู้ว่าจีนมีหลายพรรคการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร จนปัจจุบัน คำโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายโลกตะวันตกว่าประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์มีพรรคการเมืองเดียวนั้นจึงไม่จริง ที่เป็นความจริงคือพรรคคอมมิวนิสต์ผูกขาดการเป็นรัฐบาล โดยที่เขาเปิดกว้างรับฟังพรรคอื่น และรับฟังความเห็นต่าง มากขึ้นเรื่อยๆ เขาบอกว่า การปรึกษาหารือในการเมืองจีนมี ๓ ระดับ คือ (๑) ในการปกครองตนเองระดับรากหญ้า (๒) ระดับนโยบายสาธารณะ (๓) ปรึกษาหารือเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยภายในพรรค

ลักษณะเฉพาะที่โดเด่นของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือของจีนมี ๓ ประการคือ

1. มีต้นตอจากทฤษฎีและแนวปฏิบัติของแนวร่วมทางการเมืองที่จีนใหม่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ใช้และพัฒนาเรื่อยมา

2. มีการสืบหาและต่อยอดวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนที่มีมายาวนานในประวัติศาสตร์ที่ให้คุณค่าของความสามัคคี และเคารพความแตกต่าง

3. บูรณาการอยู่ในเศรษฐกิจระบบตลาดซึ่งเป็นของใหม่และมีการพัฒนาควบคู่กันระหว่างเศรษฐกิจระบบบตลาด กับประชาธิปไตยแนวปรึกษาหารือ

สองข้อแรกเป็นพลังแห่งอดีต ข้อที่สามเป็นพลังแห่งปัจจุบันและอนาคต




7

ชีวิตที่พอเพียง 4088. สิทธิในมุมมองสังคมนิยม


นี่คือบทสะท้อนคิด (reflection) ชิ้นที่ ๗ ที่เกิดจากการอ่านหนังสือ ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน โดยอ่านบันทึกก่อนหน้านี้ได้ที่ (๑) (641004), (๒) (๓) (๔) (๕) (๖)

สาระในหนังสือบทที่ ๖ ทำให้ผมเลื่อมใสว่า จีนมีภูมิปัญญาตีความสิ่งที่เรียกว่าสิทธิตามแบบของตน ไม่เชื่อตามฝรั่ง ที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชน คือมนุษย์มีสิทธิเหนือสิ่งอื่นๆ ทั้งปวง ที่เป็นแนวคิดสุดโต่งแบบหนึ่ง และหลายครั้งฝรั่งใช้ลัทธินี้เล่นงานประเทศอื่น ที่ไม่ดำเนินตามที่ตนกำหนด แต่จีนไม่สนใจ น่านับถือจริงๆ

สิทธิแบบจีน (ตามที่อธิบายในหนังสือเล่มนี้) ไม่ได้ติดตัวมากับคน เป็นสิ่งที่ได้จากสังคม ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาตามธรรมชาติตรงตามแนวลัทธิสังคมนิยมเผงทีเดียว ซึ่งตรงกันข้ามกับสิทธิในลัทธิเสรีนิยม ที่ถือว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับสิทธิที่เกิดจากความเป็นมนุษย์ เป็นเสรีชน ไม่มีใครถูกใครผิด เพราะต่างก็เป็นสมมติ หรือหลักการที่มนุษย์สร้างขึ้น

เนื่องจากสิทธิของประชาชนจีนมาจากสังคม ทางการจีนจึงพัฒนาสิทธิแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเชื่อว่าไม่เป็นการพัฒนาแบบเป็นเส้นตรง เพราะเป็นระบบที่ซับซ้อน

จีนใช้หลักการว่า สิทธิของประชาชนเกิดจากปัจจัยทางประวัติศาสตร์ แต่ละประเทศต่างก็มีประวัติศาสตร์ของตน การพัฒนาสิทธิพลเมืองจึงเลียนแบบกันไม่ได้ จีนมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าห้าพันปี จึงมีที่มาของเรื่องสิทธิที่ซับซ้อนตามแบบจีน อังกฤษก็มีประวัติศาสตร์ของตน และมีที่มาของเรื่องสิทธิตามแบบของตนยาวนาน ๗๐๐ ปี

ข้อความในหน้า ๓๑๙ – ๓๒๑ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก ลอกเอาระบบประชาธิปไตยของยุโรปและสหรัฐอเมริกามาใช้แบบไม่ลืมหูลืมตา (ไร้ปัญญา) ผลคือเกิดการรัฐประหารและสังคมวนเวียนอยู่ในความยากจน และความแตกต่างทางชนชั้น ต่างจากจีนที่สามารถพัฒนาก้าวกระโดดได้ เพราะกล้าคิดสร้างระบบของตนเอง จากการเรียนรู้ของตนเอง ซึ่งบางช่วงก็ลองผิด และต้องประสบความยุ่งยาก ผมจึงเกิดคำถามว่า ประเทศไทยตกอยู่ในกลุ่มประเทศตามที่เขาพูดถึงหรือไม่

ผมชอบที่เขาบอกว่า สำนึกแห่งสิทธิเป็นเหรียญสองด้าน ด้านเป็นคุณ ทำให้ผู้คนมีความกระตือรือร้น ด้านที่เป็นโทษ ทำให้เป็นคนมุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตน มุ่งแต่จะเรียกร้องผลประโยชน์ จีนจึงมองเรื่องการพัฒนาสิทธิว่าต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ คือ หาทางทำให้สองหน้าของเหรียญเดียวกันเป็นหนึ่งเดียวกัน ประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมเป็นสิ่งเดียวกัน ประโยชน์เฉพาะหน้ากับประโยชน์ระยะยาวเป็นสิ่งเดียวกัน ฟังดูเป็นอุดมคติ แต่เมื่อปฏิบัติแบบทำไปปรับไปก็บรรลุได้จริง

ผมตีความว่า สังคมต้องมีการจัดการเรื่องสิทธิ เพื่อให้ส่งผลด้านบวก และควบคุมผลด้านลบ





8

ชีวิตที่พอเพียง 4093. ใช้ปัญหานำสู่การสร้างสรรค์


นี่คือบทสะท้อนคิด (reflection) ชิ้นที่ ๘ ที่เกิดจากการอ่านหนังสือ ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน โดยอ่านบันทึกก่อนหน้านี้ได้ที่ (๑) (641004), (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗)

สาระในหนังสือบทที่ ๗ ผลักดันที่ปัญหา และส่งเสริมด้วยการนำร่อง ทำให้ผมยิ่งเลื่อมใสว่า จีนมียุทธศาสตร์สร้างสรรค์ที่ล้ำลึก คำนึงถึงจุดเด่นและจุดด้อยของแนวทางพัฒนาประเทศสองแบบ คือแนว “ออกแบบจากระดับบนสุด” โดยใช้ทฤษฎีการออกแบบ กับแนว “คลำก้อนหินข้ามแม่น้ำ” คือทำไปเรียนรู้ไป ปรับไป จีนยึดแนวทางหลังเป็นหลัก ตามชื่อของบทที่ ๗ คือ ผลักดันที่ปัญหา และส่งเสริมด้วยการนำร่อง คือ เมื่อลงมือทำก็จะพบปัญหาต้องหาทางเผชิญปัญหาด้วยโครงการนำร่อง เพื่อค้นหาความรู้และวิธีการที่เหมาะสมสำหรับใช้ในระบบใหญ่ โดยเขาตระหนักว่า การเมืองเป็นเรื่องซับซ้อน คาดเดายาก มีความเป็นอัตวิสัย และความรู้ความเข้าใจก็มีจำกัด จึงต้องพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป

โดยการทดลองนำร่อง สะสมความสำเร็จเล็กๆ สู่ความสำเร็จใหญ่ ซึ่งเราจะเห็นว่า ภายใน ๓๐ ปี ความสำเร็จเล็กๆ เหล่านั้น ได้ส่งผลให้ประเทศจีนพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

อ่านรายละเอียดในหนังสือแล้ว สัมผัสความละเอียดอ่อนระมัดระวังของจีน เขาบอกว่า ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งโดยตรง มีแนวโน้มจะนำไปสู่การใช้เงินเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง (น. ๓๖๒) เขาจึงเลือกพัฒนาประชาธิปไตยด้วยการทดลองแบบนำร่อง โดยคำนึงถึงปัจจัยทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ค่อยๆ พัฒนาประชาธิปไตยแบบจีนขึ้นมา อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่รีบร้อน




บทความนี้ได้เผยแพร่ผ่าน https://www.gotoknow.org/user/vicharnpanich/posts

 

สั่งซื้อหนังสือ "ประสบการณ์ประชาธิปไตย"


  1. สั่งซื้อออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ CPWIBOOKSTORE

  2. ส่งข้อความผ่าน Page CPWI BOOK

  3. โทร. 092-439-7755



ดู 90 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page