วิจารณ์ พานิช
ขอขอบคุณ คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ที่กรุณาส่งหนังสือมาให้
1
บทสะท้อนคิด (reflection) ในบันทึกนี้เกิดขึ้นระหว่างอ่านหนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในตลาดหนังสือช่วงนี้ คือ ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน ที่สาระสำคัญที่สุดคือการปกครองแบบประชาธิปไตยมีได้หลายแบบ ไม่ใช่มีแค่แบบที่โลกตะวันตกกล่าวอ้างหรือโฆษณาเท่านั้น แต่ผมเพิ่งอ่านได้ ๙๒ หน้า จาก ๕๒๐ หน้าเท่านั้น จึงขอสะท้อนคิดในประเด็นที่หนังสือไม่ได้กล่าวถึง คือเรื่องการศึกษากับความเจริญก้าวหน้าของชาติ
หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องการปกครอง ที่เชื่อมโยงกับระบอบการเมือง และข้อความใน ๙๒ หน้าแรกของหนังสือบอกว่า การเมืองการปกครองของประเทศ เป็นสิ่งที่ ผุดบังเกิด (emerge) หรือวิวัฒนาการขึ้นมาจากองค์ประกอบด้าน สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ขนาดของประเทศ จำนวนประชากร พัฒนาการของสังคม และพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ก่อส่วนเกินทางเศรษฐกิจ กระตุกให้ผมเถียง เพราะเขามองประชากรเฉพาะด้านจำนวน
ผมเถียงว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดต่อบ้านเมืองคือคนหรือพลเมือง ปัจจัยอื่นเป็นองค์ประกอบ และแน่นอนว่าสภาพแวดล้อมส่งผลต่อคน หรือต่อคุณภาพของคน แต่มนุษย์มีธรรมชาติสร้างสรรค์และก่อการเปลี่ยนแปลงให้แก่ธรรมชาติ นำไปสู่ข้อเถียงของผมว่าวิธีคิดของคนเมื่อสองร้อยปีก่อนไม่ได้คำนึงถึงความสำคัญต่อการศึกษาในฐานะเครื่องมือพัฒนามนุษย์ ที่จะส่งผลต่อการเมืองการปกครองของประเทศในระบอบประชาธิปไตย
ข้อเถียงของผมมาจากการค้นพบด้านประสาทวิทยาศาสตร์ และวิทยาการด้านการเรียนรู้ ในช่วงเวลา ๑๐ - ๒๐ ปีที่ผ่านมา ที่บอกเราว่ามนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับศักยภาพที่สูงส่งในการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนา และการศึกษาหรือการเรียนรู้คือปัจจัยสำคัญในการหล่อหลอมคุณภาพพลเมือง ให้พลเมืองเกิดพัฒนาการในมิติ ASKV และ competency อย่างซับซ้อน เพื่อเป็นพลเมืองคุณภาพสูง
A = attitude, S = skills, K = knowledge, V = values ผสานเข้าด้วยกันเป็นสมรรถนะ (competency) ประเทศต้องมีพลเมืองสมรรถนะสูง จึงจะเจริญได้อย่างยั่งยืน คำว่าเจริญในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเป็นประเทศมหาอำนาจ แต่หมายถึงประเทศที่ผู้คนอยู่กันอย่างมีความสุข มีชีวิตที่ดี มีความสามัคคีกลมเกียวกัน ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาของประเทศ และที่สำคัญ มีความเหลื่อมล้ำน้อย ในอุดมคติ ระบอบประชาธิปไตยดั้งเดิม มีเป้าหมายเพื่อเสรีภาพ ภราดรภาพ และเสมอภาค แต่เราจะเห็นว่า โลกเราไม่ได้มีระบอบการปกครองที่สมบูรณ์แบบ ต้องการฝีมือมนุษย์ที่เป็นพลเมืองในการปรับแต่งและพัฒนาระบอบการปกครองประเทศ และระบอบการเมืองให้สนองผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และสนองการพัฒนาภาพรวมของประเทศ เราจึงต้องการคุณภาพของพลเมือง และต้องการคุณภาพการศึกษา ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ นี่คือข้อสะท้อนคิดจากการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง ประชาธิปไตยที่ดีเกิดขึ้นไม่ได้ หากพลเมืองคุณภาพต่ำ พลเมืองมีคุณภาพสูงไม่ได้ หากการศึกษาคุณภาพต่ำ
2
ชีวิตที่พอเพียง 4063. พัฒนาประเทศโดยวิเคราะห์ความต่าง
นี่คือบทสะท้อนคิด (reflection) ชิ้นที่ ๒ ที่เกิดจากการอ่านหนังสือ ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน โดยอ่านบันทึกที่ ๑ ได้ที่ (๑) (641004) ที่ผมฉุกคิดก็เพราะเรามักถูกสั่งสอนให้เอาใจใส่แนวโน้มสู่ศูนย์กลาง เปรียบเทียบภาพรวมของประเทศ แต่ในหนังสือเล่มนี้ บทที่ ๒ ตอนที่ ๒ (หน้า ๙๓) กล่าวถึงเส้นแบ่งสภาพพื้นฐานของประเทศจีน ที่เรียกว่า เส้นอ้ายฮุย – เถิงชง เส้นลากทางภูมิศาสตร์ระหว่างสองเมืองตามชื่อ “เส้นอ้ายฮุย – เถิงชง” ที่ลากจากตะวันออกเฉียงเหนือ สู่ตะวันตกเฉียงใต้ ในปี ค.ศ. 1935 ฝั่งตะวันออกมีพื้นที่ร้อยละ ๓๖ พลเมืองร้อยละ ๙๖ ฝั่งตะวันตกมีพื้นที่ร้อยละ ๖๔ มีพลเมืองร้อยละ ๔ ในปี ค.ศ. 2000 ตัวเลขดังกล่าวคือ ๔๔, ๙๔, ๕๖, ๖ สะท้อนว่า ในเวลา ๖๕ ปี สภาพการกระจายจำนวนพลเมืองตามภูมิศาสตร์ของประเทศไม่มีการเปลี่ยนแปลง และสะท้อนว่า ความเจริญกระจุกตัวอยู่ตามชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ข้อมูลที่สะท้อนความต่าง นำสู่ความสนใจต่อความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ และการจัดการระบบต่างๆ ของประเทศเพื่อสร้างความเท่าเทียม
3
ชีวิตที่พอเพียง 4068. พัฒนาประเทศด้วย Growth Mindset และ DLL
นี่คือบทสะท้อนคิด (reflection) ชิ้นที่ ๓ ที่เกิดจากการอ่านหนังสือ ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน โดยอ่านบันทึกก่อนได้ที่ (๑) (641004), (๒) สาระตลอดทั้งเล่มสะท้อน Growth Mindset ในการพัฒนากิจการต่างๆ ของประเทศ ในทุกเรื่องมีวงจรเรียนรู้ระดับ Double-loop learning (DLL) ทั้งสิ้น ตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนปฏิวัติสำเร็จในปี 1949 และปกครองประเทศเป็นต้นมา มีการทดลองพัฒนาประเทศ และ learning loop ต่างๆ มากมาย ทั้งที่เป็นความสำเร็จและล้มเหลว ประชาธิปไตยแบบจีน และสังคมนิยมแบบทุนนิยมสมัยใหม่ เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่น่าทึ่ง โดยที่ในหนังสือให้รายละเอียดมากมาย
ที่เตะตาผมมาก อยู่ที่หน้า ๑๘๓ – ๑๘๔ “การประเมินหลังการออกกฎหมาย” “การศึกษาวิจัยและตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายและข้อบังคับของฝ่ายนิติบัญญัติ การวิจัยมุ่งไปที่ผลลัพธ์ที่ได้หลังจากนำกฎหมายไปใช้ ปัญหาที่มีระหว่างการใช้กฎหมาย การวิเคราะห์ความถูกต้องของกฎหมาย ความสามารถในการดำเนินงาน และความตรงประเด็น ในการออกแบบระบบต่างๆ ของกฎหมาย”
เขายกตัวอย่างการประเมิน “กฎหมายว่าด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” “กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมเครื่องจักรการเกษตร” มีการใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น การสำรวจด้วยแบบสอบถาม การวิจัยภาคสนาม การวิเคราะห์กรณีศึกษา เป็นต้น เท่ากับได้เปิดให้มีการประเมินหลังการร่างกฎหมายของกฎหมายระดับประเทศ เกิดการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ของการร่างกฎหมายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เขาเรียกว่าเป็น “กระบวนการร่างกฎหมายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์” และ “การร่างกฎหมายอย่างเป็นประชาธิปไตย” ที่เตะตาและถูกใจผมมาก ก็เพราะผมคิดมานานแล้วว่า ในการยกร่างกฎหมายสำคัญๆ ที่มีความซับซ้อน ควรจัดการประเมินการใช้กฎหมาย เพื่อเป็น double-loop learning และช่วยให้ได้กฎหมายที่เหมาะสมจริงๆ โดยที่ในประเทศไทยสมัยก่อนผมเคยได้ยินว่า ใครที่วิพากษ์วิจารณ์กฎหมาย ถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะกฎหมายออกเป็นพระบรมราชโองการ สมัยนี้เปิดกว้างขึ้น แต่ก็ไม่เคยได้ยินว่ามีการประเมินผลการใช้กฎหมายอย่างจริงจังในประเทศไทย เพราะไทยเรามองกระบวนการออกกฎหมายเป็นเรื่องของผู้รู้ ผู้มีอำนาจไม่ได้มองว่าเป็นกระบวนการที่หวังผลดีแก่ประชาชนและบ้านเมือง เนื่องจากเป็นเรื่องซับซ้อน ดังนั้นแนวความคิดหรือเจตนารมณ์ของผู้ร่าง อาจมองข้ามหรือไม่มีข้อมูลบางประเด็น เมื่อประกาศใช้จริงจึงอาจมีช่องโหว่หรือจุดอ่อน แนวความคิดเรื่องการอกกฎหมายในบ้านเราอยู่ใต้ Fixed Mindset
4
ชีวิตที่พอเพียง 4073. พัฒนาประเทศด้วยพลังของขั้วตรงกันข้าม
นี่คือบทสะท้อนคิด (reflection) ชิ้นที่ ๔ ที่เกิดจากการอ่านหนังสือ ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน โดยอ่านบันทึกก่อนได้ที่ (๑) (641004), (๒) (๓)
บทที่ ๔ ความเป็นเอกภาพของการคุ้มครองสิทธิ์ กับการรวมศูนย์อำนาจ เป็นที่มาของชื่อบันทึกนี้ ในโลกของความซับซ้อน มีขั้วตรงกันข้ามเต็มไปหมด หากเรามองสมการชั้นเดียว (มองผิวเผิน) เราจะคิดว่าขั้วตรงกันข้ามเหล่านั้น ขัดกัน และหาทางหลีกเลี่ยง เท่ากับหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธความจริง แต่หากเรามองผ่านแว่นความซับซ้อน (complexity) มองจากมุมของเอกภาพ เราจะเห็นพลังของขั้วตรงกันข้าม (dilemma) โดยผมมีข้อเสนอว่า พลังที่หลอมรวมขั้วตรงกันข้ามเข้าด้วยกันคือ การมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน (shared vision หรือ purpose) จะทำเช่นนี้ได้ ผลประโยชน์ของส่วนรวมต้องเหนือผลประโยชน์ส่วนตน ประเทศที่ผู้คนถือประโยชน์ส่วนตนเป็นสรณะ ไม่มองผลประโยชน์ส่วนรวม จะไม่มีความสามารถสร้างเอกภาพบนความแตกต่างได้ พลังที่ยิ่งใหญ่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติก็จะไม่สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ได้ในประเทศนั้น
จะเห็นว่าพลังที่ยิ่งใหญ่ที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้น เป็นพลังสร้างสรรค์ก็ได้ เป็นพลังทำลายล้างก็ได้ ขึ้นกับจิตใจคน ว่าเป็นจิตใหญ่ หรือจิตเล็ก ผมจึงเรียกร้องมาตลอดให้การศึกษา การสื่อสาร การเมือง การศาสนา และระบบสาธารณะอื่นๆ มุ่งสร้างจิตใหญ่ให้แก่เด็กและเยาวชน โดยผู้ใหญ่ทำเป็นตัวอย่าง หันมาสะท้อนคิดในระดับบุคคล เวลานี้องค์การระดับนำด้านการศึกษาของโลก เช่น OECD ระบุชัดเจนว่า ต้องฝึกฝนเด็กและเยาวชนให้เข้าใจ รู้เท่าทัน และอยู่กับแรงบีบคั้นจากเรื่องที่เป็นขั้วตรงกันข้ามได้ จะทำให้เติบโตเป็นพลเมืองที่อดทน หรือเคารพ ต่อความแตกต่าง และเห็นคุณค่าของความแตกต่างหลากหลายทั้งในธรรมชาติ และในสังคม มีทักษะในการอยู่กับความแตกต่างโดยไม่ขัดแย้ง รวมทั้งมีทักษะในการใช้พลังของความต่าง หรือขั้วตรงกันข้าม ในการดำเนินกิจการ
การจะทำเช่นนั้นได้ต้องดำเนินกิจการภายใต้กระบวนทัศน์ของความซับซ้อน ใช้พลังฝ่ายซ้ายในบริบทหนึ่ง ใช้พลังฝ่ายขวาในอีกบริบทหนึ่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ อุดมการณ์ และเป้าหมายต้องไม่คลอนแคลน แต่ยืดหยุ่นในยุทธวิธี และการดำเนินการ
บทความนี้ได้เผยแพร่ผ่าน https://www.gotoknow.org/user/vicharnpanich/posts
สั่งซื้อหนังสือ "ประสบการณ์ประชาธิปไตย"
สั่งซื้อออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ CPWIBOOKSTORE
ส่งข้อความผ่าน Page CPWI BOOK
โทร. 092-439-7755
Comments