top of page

เศรษฐกิจไทยดีหรือไม่ดีกันแน่?? กระบวนทัศน์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคประชาชน


รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ

สิงหาคม 2561


“เรารณรงค์ประชาธิปไตยทางการเมือง แต่เราไม่เคยสนใจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ถ้าหากประชาธิปไตยทางการเมือง 1 คน เท่ากับ 1 เสียง ฉะนั้น ประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจคือ 1 คน เท่ากับ 1 กรรมสิทธิ์ เช่น คนงานย่อมมีกรรมสิทธิ์ในแรงงานของเขา เพราะปัจจัยการผลิตทางเศรษฐศาสตร์ ทุนและที่ดิน เป็นกรรมสิทธิ์ของนายจ้าง แต่แรงงานเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกจ้าง ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต้องกำหนดการใช้กรรมสิทธิ์ของตนเองได้”


ตัวเลขเศรษฐกิจที่รัฐบาลและนักเศรษฐกิจนำเสนอออกมานั้นกับสิ่งที่เป็นจริงเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกัน รัฐบาลเสนอว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยดีมาก การส่งออกดีมาก GDP เพิ่มสูงขึ้น การลงทุนเพิ่มสูงขึ้น แต่เรามักจะเจอการบ่นมากมายจากคนทั่วไป เช่น แท็กซี่ คนค้าขาย และคนในท้องถิ่น ว่าเศรษฐกิจไม่ดี รายได้ลดลงมาก เหตุใดรัฐบาลและนักเศรษฐศาสตร์เสนอต่างจากที่ชาวบ้านคิด เกิดอะไรขึ้นในเศรษฐกิจไทย


ภาพลวงตาการส่งออกไทย


ในการดูระบบเศรษฐกิจ ใช้สมการ Y=C + I + G + (X-M) คือ มีเรื่องการใช้จ่ายการบริโภคครัวเรือน ตัว C การลงทุนภาคเอกชน ตัว I การใช้จ่ายรัฐบาล ตัว G ดุลการค้า (x-m) สิ่งที่น่าสนใจ คือ ภาพลวงตาของตัวเลขการส่งออก เรามักจะพูดกันเสมอว่าการส่งออกเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ซึ่งมันทำให้คนเข้าใจผิดว่าการส่งออกสร้าง GDP 70 เปอร์เซ็นต์ แต่จริงๆ แล้วมูลค่าการส่งออกยังไม่ใช่มูลค่าที่ไปเพิ่ม GDP โดยตรง ต้องหักการนำเข้าออกก่อน เช่น มูลค่าการส่งออกเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ นำเข้า 65 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่า ดุลการค้าคือ 5 เปอร์เซ็นต์ ตัวที่เพิ่ม GDP คือดุลการค้า และดุลการชำระเงิน ไม่ใช่การส่งออก มีการตั้งคำถามกันมากว่า ตัวเลขส่งออกดีมาก ควรกระจายไปด้านล่างได้แล้ว นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า ถ้าการส่งออกดี จะช่วยกระจายเศรษฐกิจไปเอง เหตุใดทำไมเศรษฐกิจสังคมไทยไม่กระจายออกไป นักเศรษฐศาสตร์ และรัฐบาลไม่ได้อธิบายอย่างชัดเจนถึงปัญหาตัวเลขการส่งออกไทย มีหลายเหตุผลดังนี้


ประการแรก หากไปดูสินค้าส่งออกที่มียอดส่งออกสูง คือ สินค้ารถยนต์ สินค้าอิเลคทรอนิคส์ โดยเฉพาะอีเล็กทรอนิกส์เราส่งออกประมาณมูลค่า แปดแสนล้าน แต่เมื่อไปดูการนำเข้าปรากฏว่า เรานำเข้าวัสดุแปรรูปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับส่งออก 100 บาท นำเข้า 90 บาท เหลือ 10 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นค่าแรง เอาเข้าจริง แปดแสนล้านที่ส่งออก ดุลการค้าจริงมีเพียงแค่ แปดหมื่นล้านเท่านั้น ในขณะที่พวกแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศ รัฐไม่ส่งเสริมอะไร นำเงินกลับบ้าน แปดหมื่นล้านเช่นเดียวกัน แต่รัฐกลับเลือกเอาใจนักลงทุน เพื่อการส่งออกมาก


ประการที่สอง บริษัทที่ส่งออกจำนวนมากล้วนแต่เป็นบริษัทต่างชาติทั้งนั้น เช่น รถยนต์ เป็นของบริษัทที่ญี่ปุ่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นของบริษัทอเมริกา ทำกำไรได้เขาก็เอาเงินกลับประเทศไปจำนวนมาก เหลืออยู่ไทยไม่มากนัก เพราะประเทศไทยไม่มีกฎหมายควบคุมการส่งกำไรออก


ประการที่สาม บริษัทต่างชาติแนวคิดสำคัญคือ การไปลงทุนในประเทศอื่นจะต้องหาวิธีเอาประโยชน์จากประเทศนั้นให้มากที่สุด เพื่อช่วยประเทศแม่มากที่สุดเท่าที่กฎหมายอนุญาตให้ทำ ไทยไม่เคยสนใจเรื่องระบบการตั้งราคา สินค้าส่งออกบางตัว มีการลดราคาเพื่อให้บริษัทแม่มีกำไร และขายให้บริษัทแม่ราคาต่ำกว่าไทยมาก เช่น ตู้เย็น รถยนต์ ส่งออกไปญี่ปุ่น ขายต่ำกว่าราคาในเมืองไทยมาก เมื่อเขาต้องการประโยชน์จากเรา เขาสร้างกลไกขึ้นมา กลไกตัวหนึ่งเขาสร้างขึ้น คือ การตั้งราคาโอนกำไร ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองเรียกว่า Transfer Pricing การถ่ายโอนกำไรจากบริษัทลูกไปสู่บริษัทแม่ในต่างประเทศผ่านการกำหนดราคาส่งออกต่ำ ส่งผลให้ผลประกอบการทางบัญชีของบริษัทลูกในประเทศไทยมีกำไรน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ค่าจ้างในบริษัทลูกก็ขึ้นไม่ได้ แถมยังทำให้รัฐบาลไทยเก็บภาษีได้น้อย แต่กำไรส่วนใหญ่ไหลไปอยู่ที่บริษัทแม่ เงินเดือนลูกจ้างที่บริษัทแม่เติบโตดี เพราะเป้าหมายอยู่ที่บริษัทแม่


ประการที่สี่ เราไม่เคยสร้างกลไกเพื่อเอาประโยชน์จากเขาเลย เขามาในประเทศเราเขาย่อมสร้างกลไกเอาประโยชน์จากประเทศเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาคิดและเขาทำได้ แต่ในขณะที่ไทยมีกลไกน้อยมากที่จะได้ประโยชน์จากเขา มีในสมัยทักษิณที่พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องการตั้งราคาโอนกำไร หากราคาขายควรเป็น 4 หมื่นบาท แต่ขายจริงแค่ 1 หมื่นบาท แสดงว่าขายต่ำกว่าราคา 3 หมื่นบาท เราใช้วิธีเก็บภาษีราคาที่หายไปนั้น 10 เปอร์เซ็นต์ ได้มา 3000 บาท (จากมูลค่าต่ำกว่าปกติ 30,000 บาท) แต่มูลค่า 27,000 บาท ก็หายไปอยู่ดี สะสมแบบนี้มา 20 – 30 ปี แต่ไม่มีใครสนใจ รัฐก็ยังส่งเสริมการลงทุนบริษัทประเภทนี้ ลดภาษีสารพัดให้ต่างชาติอยู่มาก การเข้ามาของทุนต่างประเทศเราได้รับประโยชน์น้อย อีกทั้งทุนเหล่านี้กำลังกระทบต่อทุนเล็กทุนน้อยในท้องถิ่นด้วย เช่น ทุนจีน เข้ามาแย่งอาชีพโชห่วยในเชียงใหม่ เข้ามาเป็นล้งรับซื้อผลไม้จำนวนมาก เหล่านี้กระทบต่อธุรกิจท้องถิ่นทั้งสิ้น เขาเข้ามาลงทุนเป็นเรื่องดี แต่เรากลับปล่อยเสรีตามธรรมชาติจนไม่มีขอบเขต ไม่ได้สร้างกลไกการกระจายรายได้เลย ดังนั้นเรื่องกลไกเอาประโยชน์และปกป้องคนท้องถิ่นควรคิดมากกว่านี้


การบริโภคครัวเรือนภายในประเทศ คือ ส่วนที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด


หากดูตัวเลข GDP ไทย ปี 2559 การบริโภคครัวเรือน การที่ทุกคนใช้เงินซื้อข้าวซื้อของ สร้าง GDP ถึง 54 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่รัฐส่งเสริมการลงทุนเอกชนมาก แต่ภาคนี้สร้าง GDP เพียง 22 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ภาครัฐอัดเงินเต็มที่สร้าง GDP ได้สูงสุดไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ ดุลการค้าสร้าง GDP ได้เพียง 9 เปอร์เซ็นต์ สรุปได้ว่า การลงทุนเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออกการนำเข้า สร้าง GDP ได้ไม่ถึงครึ่ง แต่การบริโภคภาคประชาชนสร้างได้เกินครึ่งแล้ว ฉะนั้น กำลังซื้อภายในประเทศ (Domestic Purchasing Power) ของคนเป็นสิ่งสำคัญมาก


พลังการบริโภคของประชาชนมาจากไหน ดูจากตัวเลขรายได้ประชาชาติ พูดง่ายๆ รายได้ในกระเป๋าทุกคนรวมกัน อันนี้คือตัวสร้างการบริโภค ใครมีเงินมากใช้จ่ายใช้มาก มีเงินน้อยใช้จ่ายได้น้อย


1) การบริโภคของไทยมาจากค่าจ้าง 41 เปอร์เซ็นต์ 2)มาจากอาชีพอิสระ 37 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาชีพอิสระที่มีจำนวนคนมากที่สุด คือ เกษตรกร โดยเฉพาะชาวนามีประมาณ 8 ล้านคน แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย คนขับรถแท็กซี่ ฯลฯ อีกประมาณ 8 – 9 ล้านคน นั่นแสดงว่าถ้านำภาคประชาชนรวมกัน คือ กลุ่มลูกจ้าง ทั้งลูกจ้างภาครัฐและเอกชนซึ่งมีประมาณ 18 ล้านคน รวมกับกลุ่มอาชีพอิสระ สร้างรายได้ประชาชาติได้กว่า 78 เปอร์เซ็นต์แล้ว นี่คือพลังบริโภค ที่สร้าง GDP หากพลังการบริโภคเข้มแข็ง GDP ก็จะสูงตาม แต่ทุกวันนี้ไทยยังติดกับดักรายได้ปานกลาง เพราะพลังการบริโภคของเราต่ำ


ในเมื่อตัวสร้าง GDP คือ การบริโภคซึ่งมาจากค่าจ้างและรายได้อิสระ ถ้าหากอยากจะเร่ง GDP รัฐต้องคิดว่าควรเร่งด้านไหน รัฐจะเร่งด้านส่งออกนั้นก็ไม่ผิด แต่ส่งออกนั้นสามารถไปสร้าง GDP และรายได้ประชาชาติมากน้อยเพียงใด ในขณะที่กำไรสุทธิของนิติบุคคล เป็นเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติเท่านั้น แต่ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ ทำไมรัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับธุรกิจมากเกินไป และทำไมเราละเลยพลังการบริโภค ทั้งที่มันเป็นตัวหลักของการสร้าง GDP นักเศรษฐศาสตร์อ่านตัวเลขเป็น ทำไมพากันนิ่งเฉย ไม่อธิบายสิ่งเหล่านี้ ทั้งที่ครัวเรือนเป็นเรื่องของ Macro economics ครัวเรือนเป็นผู้ชี้ขาด GDP ไม่ใช่ธุรกิจ


ค่าจ้างและรายได้ของผู้ประกอบอาชีพอิสระ กลไกวัฒนธรรมของกระจายรายได้ไปยังชนบท



ค่าจ้างกับรายได้อาชีพอิสระ เราเรียกว่า “เศรษฐกิจภาคประชาชน” อาชีพอิสระ อย่างเกษตรกร จะอยู่ในท้องถิ่น ส่วนแรงงานก็คือลูกหลานชาวนาและเกษตรกรประเภทอื่นๆ ชาวบ้านที่มาจากท้องถิ่น ต่างจังหวัด มาทำงานในเมืองใหญ่เป็นลูกจ้างและแรงงานอิสระ รายได้และค่าจ้างที่ได้มา มีกลไกวัฒนธรรมที่กระจายไปยังชนบท กลไกวัฒนธรรมนั้นก็คือ การบ่มเพาะให้ลูกหลานรู้จักกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ คนส่วนใหญ่ยังพึ่งสวัสดิการครอบครัว คือลูกต้องดูแลพ่อแม่ เขาจะส่งเงินกลับบ้านเดือนละ 1-2 พันบาท แสดงว่ากลไกกระจายเงินจากเมืองสู่ชนบทที่สำคัญ คือ เงินของลูกจ้าง คำถามก็คือว่า ค่าจ้าง วันละ 300 เขาจะเหลือเงินไปให้พ่อแม่ได้อย่างไร ในเมื่อคนเดียวก็ใช้แทบไม่พอ สิ่งที่เป็นไปได้ก็คือ การได้รับโอที หรือค่าล่วงเวลา เพราะฉะนั้นหากโรงงานไม่มีค่าล่วงเวลา คนงานก็จะไม่มีค่าล่วงเวลา ไม่มีเงินส่งกลับบ้าน คนชนบทก็แย่ตามไปด้วย รัฐส่งเสริมการลงทุนมากมายให้นักลงทุน แต่หากนักลงทุนไม่มั่นใจในตลาดภายในประเทศ คนไม่มีกำลังซื้อ เขาก็ไม่มั่นใจในการลงทุน มันกระทบกันทั้งหมด


นอกจากนี้เงินที่ลูกจ้างได้มาจะหมดไปกับการบริโภคภายใน ซื้อของในประเทศ แต่รายได้ที่เขามีในปัจจุบันซื้อได้แค่ปัจจัย 4 เช่น ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ก็แทบจะไม่พอ เมื่อเป็นแบบนี้การกระจายรายได้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีเงินให้กระจาย กระทบถึงหาบเร่แผงลอย แม่ค้า เกษตรกร หลายกลุ่มมาก ที่สำคัญลำพังศักยภาพการกระจายจากบนลงล่างก็ต่ำอยู่แล้ว ปัจจุบันยังเกิด Technology disruption หรือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี มีระบบอินเตอร์เน็ต AI Robot เข้ามาแทนที่แรงงาน รัฐก็ยิ่งส่งเสริม โรงงานไหนใช้ Robot AI จะลดภาษีให้ แต่คนตกงานไม่มีอะไรรองรับ พอคนไม่มีรายได้ ไม่มีกำลังซื้อ GDP ก็ขยับเพิ่มได้น้อย ต้องคิดให้รอบคอบ กลายเป็นว่าแรงงานบางส่วน โดยเฉพาะพนักงานธนาคาร ที่มีกำลังซื้อพอสมควร จากค่าจ้างและโบนัส กำลังมีภาวะตกงาน ยิ่งทำให้สถานการณ์ในอนาคตยิ่งจะแย่ตาม


การหยดกระจายแบบธรรมชาติไม่มีจริง ต้องสร้างกลไกกระจายทั้งสิ้น


นักเศรษฐศาสตร์เชื่อเสมอว่า ถ้าธุรกิจมีกำไรแล้ว โดยธรรมชาติแล้วจะเกิดการกระจายไปสู่ข้างล่างเอง โดยรัฐห้ามยุ่ง แต่ในความจริงมันกระจายได้น้อย เพราะไทยเราพึ่งทุนต่างชาติมากเกินไป เงินไหลออก ไหลไปข้างล่างน้อยมาก ค่าจ้างก็น้อยมาก การกระจายได้ยิ่งเกิดขึ้นยาก ต้องสร้างกลไกการกระจายรายได้ให้มีประสิทธิภาพกว่านี้


ในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำ (Great Depression) เมื่อ ปี 1929 – 1933 สหรัฐอเมริกาทำตามคำแนะนำของ John Maynard Keynes เกิดเป็นโครงการรัฐอัดเงินให้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจเรียกว่า โครงการนิวดีล (New Deal) เมื่อธุรกิจมีกำไรจากงบของรัฐ Roosevelt ประธานาธิบดีอเมริกาก็ตั้งคำถามว่าเศรษฐกิจเติบโตแล้ว ธุรกิจมีกำไรแล้ว จะทำอย่างไร ให้กำไรเหล่านี้กระจายไปหาประชาชนส่วนใหญ่บ้าง ควรจะแบ่งปันอย่างทั่วถึง มิฉะนั้นกำไรไปกองธุรกิจหมด จึงเกิดกลไกการแบ่งปันที่สร้างขึ้นมาเพื่อกระจายรายได้ 3 อย่างคือ


1. Social Security Act คือ พ.ร.บ. ว่าด้วยความมั่นคงของมนุษย์ หรือประกันสังคม ซึ่งประเทศไทยมีแล้วในปี 2533


2. การส่งเสริมให้คนงานมีการรวมตัวกันเพื่อเจรจาต่อรองกับนายจ้าง บริษัทไหนมีกำไรมาก ลูกจ้างก็ขอมาก เจรจากัน โดยรัฐบาลคอยดูแล แต่ในประเทศไทยมีกลไกนี้หรือไม่ เรามีน้อยมาก


ข้ามมาในประเทศจีน จีนเคยเป็นประเทศค่าแรงถูก แต่ปัจจุบันค่าแรงจีนสูงแล้ว เพราะรัฐบาลจีนมีนโยบายว่าจีนต้องลดพึ่งพาการส่งออก เนื่องจากมีประเทศตลาดใหม่ๆ เกิดขึ้นซึ่งค่าแรงถูกกว่าจีนแล้ว สินค้าส่งออกอาจจะถูกกว่าของจีน จีนต้องพึ่งตลาดภายใน เพิ่มกำลังซื้อภายใน หากโรงงานใดมีลูกจ้าง 500 คน ขึ้นไป นายจ้างต้องสร้างหอพัก เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านปัจจัย 4 ให้กับแรงงาน เพื่อให้ใช้จ่ายอย่างอื่นมากขึ้น ในสิงคโปร์ ลดภาษีธุรกิจมากกว่าไทยจริง แต่วิธีการที่เขาใช้ คือ กดดันให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง เมื่อมีกำไรเพิ่มขึ้น ลูกจ้างสิงคโปร์ทุกคนต้องจ่ายภาษี เพราะรายได้ถึงเกณฑ์ รัฐจึงยังเก็บภาษีได้มาก แต่ในไทยมาตรการทางภาษีไม่ถูกใช้เป็นกลไกกระจายรายได้ เราเป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดกลาง ซึ่งควรมีภาษีทางตรงมาก แต่ในความเป็นจริงคนมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์จ่ายภาษีทางตรงเป็นคนส่วนใหญ่ กลไกการกระจายไม่มีประสิทธิภาพและไม่ได้ผลเลย


กระบวนทัศน์ใหม่ในการมองภาคเศรษฐกิจ : เศรษฐกิจภาคที่ 3 (ภาคประชาชน)


เมื่อเป็นเช่นนี้ การมองเศรษฐกิจที่เราเห็นชัดเจนว่า ตัวชี้ขาดมาจากภาคประชาชนเป็นหลัก แต่ทำไมรัฐบาล นักเศรษฐศาสตร์ จึงพูดแต่เศรษฐกิจ 2 ภาค คือ เศรษฐกิจภาครัฐ เศรษฐกิจภาคธุรกิจ แต่ไม่เคยสนใจเศรษฐกิจภาคประชาชน ทั้งๆ ที่ภาคนี้สร้าง GDP สูงมาก ในปัจจุบันยุโรปจึงมีการปรับเรื่องภาคเศรษฐกิจใหม่ คือ ปรับเป็น 3 ภาค มี ภาครัฐ (Public sector) ภาคธุรกิจ (Private sector) และภาคที่สามประชาชน ประชาสังคม (Civil sector) สำหรับภาคนี้ นักเศรษฐศาสตร์และรัฐบาลไทยไม่สนใจเลย ทั้งที่เป็นภาคของการบริโภค และมาจากการทำงานของคนส่วนใหญ่ เช่น แรงงาน ลูกจ้าง เกษตรกร และอาชีพอิสระอื่นๆ นอกจากนี้ในยุโรปยังเกิดแนวคิดกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่กำลังขยายตัว ซึ่งเป็นการประกอบการเพื่อนำกำไรมากระจายให้สังคม ไม่ใช่นำกำไรให้กับผู้ถือหุ้นเป็นหลัก



จะสร้างเศรษฐกิจภาคที่ 3 ขึ้นมาได้อย่างไร


ประการแรก เน้นพื้นฐานเศรษฐกิจให้แข็งแรง คือ “การบริโภคและการผลิต”

เราต้องเข้าใจว่า เศรษฐกิจเป็นเรื่องพฤติกรรมของคน ไม่ใช่เรื่องตัวเลข คือพฤติกรรมปากท้องชาวบ้าน ระบบเศรษฐกิจ คือการบริโภค การผลิต การแลกเปลี่ยน เป็นหลัก ถ้าเราจะสร้างเศรษฐกิจภาคประชาชนหรือท้องถิ่นขึ้นมา ต้องสนใจที่การผลิตและการบริโภคก่อน


การเน้นที่การผลิตและการบริโภคนั้น คือ “แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวง ร.9 ที่มีแนวคิดรากฐานของเศรษฐกิจอยู่ที่การบริโภคและการผลิต ยังไม่ใช่การแลกเปลี่ยน เรื่องเกษตรทฤษฏีใหม่ ให้ความสำคัญการผลิตเพื่อการบริโภคคือการสร้างรายได้แท้จริง เรียกว่า real income มีนา มีน้ำ มีสวน มีผัก มีสัตว์เลี้ยง มีกินมีใช้ เหลือก็ค่อยขาย พื้นฐานต้องแข็งแรงก่อน สมัยก่อนสวนของคนไทยจึงมีผักสวนครัว และผลไม้หลายชนิด มีมังคุด ทุเรียน เงาะ เก็บไว้กิน เหลือก็ขาย อันไหนถูกก็ขายอีกอย่าง หรือปัจจุบันเมื่อคนอยู่ในโรงงานมากขึ้น มีอาชีพประจำ ก็ควรใช้ “หลักคิด 1 ครัวเรือน 2 วิถีการผลิต” คือ การเป็นทั้งแรงงานรับจ้างและเน้นการปลูกผักไว้ในบ้านด้วยเพื่อกิน เหลือไว้ขาย เพื่อลดรายจ่าย เป็น 2 วิถีการผลิตที่เพิ่มรายได้และลดรายจ่ายในเวลาเดียวกัน


ทั้งนี้ วิธีคิดแบบเน้นการผลิตและการบริโภคก่อน มันไม่สร้าง GDP นักเศรษฐศาสตร์ไม่ชอบ เพราะ GDP คิดจากมูลค่าการซื้อขาย ถ้าไม่มีการซื้อขายก็ไม่มี GDP ฉะนั้นต้องผลิตเพื่อขายไว้ก่อน เศรษฐกิจจะได้หมุนเวียน มายาคตินี้ทำให้เกิดนโยบายพืชเชิงเดี่ยวจำนวนมาก เพื่อให้ได้ผลผลิตมากๆ นำไปขายในตลาด เช่น ช่วงหนึ่ง รัฐส่งเสริมให้ปลูกยางพาราอย่างเดียว ห้ามปลูกอย่างอื่นปน สุดท้ายยางล้นตลาด ราคาตก ตอนนี้ก็เปลี่ยนให้ปลูกตามราคาสินค้านั้น แต่ก็ยังปลูกพืชเชิงเดี่ยว กล่าวมานี้ ไม่ได้หมายความว่าให้ตัดเรื่องการแลกเปลี่ยนค้าขาย แต่สำคัญคือ เรานับหนึ่งที่ตรงไหนต่างหาก ปัจจุบันเรานับหนึ่งที่การซื้อขาย ต่างจากในหลวง ร.9 นับหนึ่งที่การมีกินมีใช้ก่อน


ประการที่สอง การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานไทย : นโยบายการสร้างธนาคารแรงงาน


รัฐบาลมีนโยบายลดหนี้นอกระบบ เน้นช่วยเหลือเกษตรกรเป็นหลัก แต่แท้จริงแล้วเกษตรกรร้อยละ 80-90 เป็นหนี้ในระบบ จริงๆ แล้วหนี้นอกระบบกระจุกตัวอยู่ในโรงงาน นั่นคือ แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ที่หัวหน้างานจะปล่อยกู้ร้อยละ 10 ต่อเดือน รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการสร้าง “ธนาคารแรงงาน” ขึ้นมา ที่ให้แรงงานกู้ ร้อยละ 10 ต่อปี โดยตัดเงินผ่านบัตร ATM เงินเดือนแรงงาน ธนาคารแรงงานเป็นรูปแบบธนาคารเฉพาะกิจหรือธนาคารพิเศษ ช่วงแรกอาจจะเป็นโครงการภายใต้ธนาคารของรัฐ เช่น ออมสิน กรุงไทย เป็นต้น โดยรัฐขายพันธบัตรให้กองทุนประกันสังคม ในอัตราดอกเบี้ยประมาณ 2.5 ต่อปี แล้วให้โครงการธนาคารแรงงานกู้ต่อร้อยละ 5 ต่อปี จากนั้นโครงการนำมาปล่อยกู้ให้แรงงานร้อยละ 10 ต่อปี หลังจากให้แรงงานกู้ ตั้งกฎว่าให้หัก 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินกู้นำฝากประจำ สะสมรวมกันเป็นเงินจำนวนก้อนใหญ่ เมื่อผู้กู้ผ่อนหนี้หมดแล้ว เงินฝากก้อนนี้ก็นำไปจัดตั้งธนาคารแรงงาน ธนาคารดังกล่าวก็จะกลายเป็นธนาคารของแรงงาน เจ้าของคือแรงงานอย่างแท้จริง การให้กู้ได้นั้น สามารถตั้งเงื่อนไขหรือกลไกในการกู้ขึ้นมา เช่น กู้ได้ไม่เกิน 2-3 เท่าของเงินเดือน ชำระภายใน 3 ปี มีการประชุมแรงงานลูกหนี้ทุกเดือน เพื่อติดตามหนี้และการพัฒนาด้านอื่นๆ ของแรงงาน เป็นต้น ธนาคารแรงงานจะใช้แนวคิด “หนี้พัฒนาคน” คล้ายกับธนาคารเพื่อคนจน หรือธนาคารกรามัน ที่ดร.ยูนุส สร้างขึ้นมาในประเทศบังคลาเทศ


ประการที่สาม การผูกขาดทางธรรมชาติ คือ การผูกขาดที่สามารถต่อสู้กับทุนใหญ่ได้ สู่ข้อเสนอนโยบายโมเดลสามหนึ่ง เพื่อค้นหาทุนของท้องถิ่น


ในวงการธุรกิจจะเน้นการแข่งขันมาก และในการแข่งขัน ทุนใหญ่มักจะชนะเสมอ สิ่งที่ท้องถิ่นจะแข่งขันกับทุนใหญ่ได้ คือ การใช้ลักษณะการผูกขาดเชิงท้องถิ่น คือ มีทรัพยากรบางอย่างของบางท้องถิ่น ที่คนอื่นไม่มี เป็น การผูกขาดโดยธรรมชาติ (Natural Monopoly) เช่น นครศรีธรรมราชมีกีฬาวัวชน ก็สามารถสร้างให้กลายเป็นเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม ทำให้นครฯเป็นแหล่งศูนย์กลางกีฬาวัวชน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ เกิดกติกาใหม่ๆ เกิดการพัฒนาทุ่งหญ้าเลี้ยงวัวชน เกิดการพัฒนาคัดเลือกพันธ์วัว เกิดอุตสาหกรรมนวมสวมเขาวัว เกิดอุตสาหกรรมหนังวัว อุตสาหกรรมเนื้อวัว และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้


นอกจากนี้ประเทศไทยมีทุนธรรมชาติอยู่แล้ว คือ การพัฒนาอาหารประจำถิ่น แนวคิด การผลิตอาหารท้องถิ่น คือ 1.การผลิตอาหารตามฤดูกาล 2 ความสดใหม่ 3.การปรุงแต่งใส่สิ่งประกอบลงไป 4. ความสวยงาม เช่น จำปาดะของภาคใต้ เป็นอาหารอร่อย และต้านมะเร็งได้ด้วย ควรต่อยอดขึ้นไป สร้างให้เป็นผลิตภัณฑ์ผูกขาดโดยท้องถิ่น ต้องหาให้เจอและทำเป็นเศรษฐกิจท้องถิ่น


ฉะนั้น ของดีท้องถิ่น ล้วนแต่เป็นคุณค่าทางธรรมชาติ (Natural value) คุณค่าทางวัฒนธรรม (Cultural Value) สามารถแปรเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ (Economic value) แล้วเอามูลค่าทางเศรษฐกิจไปพัฒนาคุณค่าทางวัฒนธรรม ขับเคลื่อนท้องถิ่นทั้งประเทศ สุดท้ายแล้วเศรษฐกิจท้องถิ่นแบบนี้ จะกลายเป็นความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage of Local Economy) นี่คือแนวคิดการสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้จะทำให้สู้ทุนใหญ่ได้ เพราะเขาผลิตที่อื่นๆ ไม่ได้ แต่ท้องถิ่นทำได้ และต้องทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นของท้องถิ่น การแสวงหาการผูกขาดทางธรรมชาติไม่ใช่เรื่องง่าย อันนี้คือทุนที่หายาก ต้องพึ่งนักวิจัยนักวิชาการ ข้อเสนอทางนโยบาย คือ ทำ Master Plan สร้างเป็นนโยบายสามหนึ่ง 1 ข้าราชการ 1 นักวิจัย 1 ชุมชน เพื่อวิจัยค้นหาทุนดังกล่าวออกมาให้ได้


ประการที่สี่ ความเป็นไปได้อยู่ที่การค้าเล็กการค้าน้อย (SMIs)


เราจะทำอย่างไรให้ธุรกิจเล็กธุรกิจน้อยบานสะพรั่ง ความเป็นไปได้อยู่ที่การค้าเล็กการค้าน้อย SMIs (Small and Micro Enterprise) แต่ในไทย SMIs หายไปจำนวนมาก ทุกวันนี้โดนค้าปลีกสมัยใหม่ของทุนใหญ่กลืนหมด ทั้งที่เป็นอาชีพที่เป็นกลไกสำคัญของการกระจายรายได้ การทำให้เกิดธุรกิจเล็กๆ บานสะพรั่ง ต้องทำให้โชห่วยได้เกิดและอยู่รอด โดยทำให้เขามีส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น ต้องสร้างกลไกขึ้นมา ยกตัวอย่าง ในเยอรมัน การค้าปลีกสมัยใหม่ (modern trade) กับการค้าแบบดั้งเดิม (traditional trade) ไปด้วยกันดีมาก ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดใหญ่ 20.00 น. ต้องปิด แต่ร้านเล็กๆ เปิดได้ถึง 24.00 น. และห้างใหญ่ต้องห่างกัน 20 กิโลเมตร ตรงกลางจะเป็นร้านค้าเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้อยู่ด้วยกันได้ คนซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ก็จะซื้อจากร้านเล็ก ราคาจะสูงกว่าเล็กน้อยแต่ประหยัดเวลาและค่าเดินทาง ถ้าซื้อมากๆ ก็เดินทางไปซื้อจากห้างใหญ่ ที่ราคาอาจจะถูกกว่า ในอิสราเอล ห้างขนาดใหญ่เป็นของสหกรณ์ ร้านเล็กๆ เป็นของส่วนบุคคล ในสวีเดน ร้านโชห่วยท้องถิ่นบางร้านอายุ 1000 กว่าปี เพราะเป็นอาชีพของคนค้าขายที่ต้องอยู่คู่กันกับประชาชนส่วนใหญ่ ฉะนั้น เราสามารถใช้นโยบาย 3 คุม คุมพื้นที่ คุมราคา คุมเวลา ที่ใช้ทั่วโลก เพื่อให้รายเล็กแข่งกับรายใหญ่ได้ แต่ประเทศไทยกลับทำไม่ได้ เสนอรัฐบาลกี่ครั้งก็ไม่เคยผ่าน


ประการที่ห้า การใช้ระบบดิจิตอลในการแลกเปลี่ยนสินค้ากับสินค้า (Digital Barter System) ให้เกิดประโยชน์


ในการที่เราจะทำให้กลุ่มธุรกิจรายเล็กรายน้อยบานสะพรั่งขึ้นมา เพื่อให้เกิดการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น ในยุคนี้ที่เป็นยุค Digital Economy การแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างสะดวกมาก เรามีเทคโนโลยีมากขึ้น ควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ถ้าเราทำให้ทุกคนเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ในราคาถูก ให้คนเป็นเจ้าของเทคโนโลยี และถ้ารัฐบาลต้องการทำลายการผูกขาดของทุนใหญ่ ระบบ digital barter ต้องเกิดขึ้น เช่น คนใต้ขาดแคลนข้าวหอมมะลิ อีสานขาดอาหารทะเล ดังนั้น เราน่าจะสามารถนำ ข้าวหอม ไปแลกกับสินค้าอาหารทะเล ถ้าใช้ digital barter โดยมีการตีมูลค่า เช่น ข้าวหอม 1 ตันคิดเป็นเงินเท่าไหร่ แล้วปลา 100 กิโลกรัมคิดเป็นเงินเท่าไหร่ แลกกันได้ไหม โดยมีการขนส่งทางไปรษณีย์ราคาถูกเป็นตัวช่วย จะทำให้การแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องผ่านทุนใหญ่อีกต่อไป


เราเรียกร้องประชาธิปไตยทางการเมือง แต่ไม่เคยเรียกร้องประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ


เรื่องสุดท้าย เรารณรงค์ประชาธิปไตยทางการเมือง แต่เราไม่เคยสนใจประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ถ้าหากประชาธิปไตยทางการเมือง 1 คน เท่ากับ 1 เสียง ฉะนั้น ประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจคือ 1 คน เท่ากับ 1 กรรมสิทธิ์ เช่น คนงานย่อมมีกรรมสิทธิ์ในแรงงานของเขา เพราะปัจจัยการผลิตทางเศรษฐศาสตร์ ทุนและที่ดิน เป็นกรรมสิทธิ์ของนายจ้าง แต่แรงงานเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกจ้าง ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต้องกำหนดการใช้กรรมสิทธิ์ของตนเองได้ ในประเทศไทยแรงงานมีสิทธิ์ในกรรมสิทธิ์นี้มากน้อยแค่ไหน แต่ในต่างประเทศแรงงานมีกรรมสิทธิ์นี้มาก และหากไม่ได้เป็นแรงงาน กรรมสิทธิ์ทางเศรษฐกิจ คือ กรรมสิทธิ์ในเรื่องการทำมาหากิน เช่น 1 คน ควรมีที่ดินทำกินอย่างน้อย 1 แปลง หรือเป็นเจ้าของกิจการ 1 กิจการ เช่น แม่ค้า เราจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และหากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือ จำเป็นต้องมีตลาด คนค้าขายต้องเข้าถึงตลาด และต้องมีส่วนแบ่งตลาดด้วย เพราะในไทยคำว่าส่วนแบ่งตลาดเป็นปัญหามาก รัฐบาลไม่เคยสนใจ เราจะแบ่งตลาดให้คนเล็กคนน้อยได้อย่างไร ไม่เคยคิดกลไกนี้ขึ้นมาเลยสิ่งที่ควรระวังในเรื่องการสร้างเศรษฐกิจภาคประชาชนหรือเศรษฐกิจท้องถิ่น


1. ต้องดูแลเรื่องค่าจ้างและ เรื่องรายได้ของอาชีพอิสระ

2. ดูแลการลงทุนจากต่างประเทศ ต้องให้ทุนต่างประเทศบำรุงท้องถิ่น สร้างกลไกให้ทุนต่างประเทศกระจายรายได้ไปถึงชาวบ้านอย่างพอเพียงและทั่วถึง

3. การส่งออก ดูแลมูลค่าส่งออกกลับประเทศเต็มเม็ดเต็มหน่วย

4. ต้องระวังการลงทุนต่างประเทศ ไม่มาแย่งอาชีพในท้องถิ่น จนคนท้องถิ่นล้มละลาย




สรุปและเรียบเรียงจาก เวทีนโยบายเศรษฐกิจท้องถิ่นสู่การสร้างเศรษฐกิจชาติ วันจันทรที่ 30 กรกฎาคม 2561

สรุปและเรียบเรียง : ณัฐธิดา เย็นบำรุง ผู้ช่วยนักวิจัย

ภาพปก : ฐิติรัตน์ รู้เสงี่ยม ผู้ช่วยนักวิจัย

จัดรูปแบบ : ปลายฟ้า บุนนาค ผู้ช่วยนักวิจัย

ดู 25 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page