top of page

"ยุคทองของมหาวิทยาลัย" โดย ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช

klangpanyath

อัปเดตเมื่อ 11 เม.ย. 2565


รายการ The Satandard Poscast เรื่อง มหาวิทยาลัยกำลังตาย? มธ.จับมือ SkillLane ดิสรัปต์ใหญ่ ใครก็ออกแบบปริญญาได้ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 ให้ภาพมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปรับรูปแบบการเรียนสำหรับนักศึกษาครั้งใหญ่ ใช้หลักการ การเรียนรู้ไร้กำแพง นักศึกษาเรียนกับภาคทำงานจริงได้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปรับตัวเป็น open platform หรือ integration platform หนุนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่

การเรียนกับการให้ปริญญากลายเป็นสองสิ่งที่แยกกัน การให้ปริญญาต้องปรับเป็นการรับรองสมรรถนะ ไม่ใช่รับรองว่าผ่านการเรียนตามรูปแบบตายตัว

ผมขอแสดงความชื่นชมต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กล้าออกจากความเคยชินเดิมๆ เพราะรู้ว่า safety zone ของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่เดิม กลายเป็น risk zone แทนที่จะถูกการเปลี่ยนแปลง disrupt มหาวิทยาลัยต้องลุกขึ้นมา disrupt ระบบการเรียนรู้ในอุดมศึกษาเสียเอง


เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ท่านรัฐมนตรีกระทรวง อว. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวในที่ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างการเรียนรู้กับนักวิชาการ เพื่อการพัฒนาชีวิตและปัญญา แก่อาจารย์ มรภ. และ มทร. ว่า กระทรวง อว. มีคณะกรรมการที่ท่านเป็นประธานเอง ท่านใช้คำว่า คณะกรรมการ HE Sandbox อนุมัติหลักสูตรแปลกๆ ได้

ผมจึงคิดว่า นี่คือยุคทองของมหาวิทยาลัย ในการมีโอกาสทำงานอย่างสร้างสรรค์ ไม่ถูกครอบงำโดยอำนาจของรูปแบบตายตัวของอุดมศึกษา ที่กระทรวง อว. ยึดกุมอยู่ รมต. ท่านก่อนๆ เน้นทำหน้าที่ควบคุมกฎ แต่ท่าน รมต. อเนก เน้นหาทางแหกกฎ เพื่อให้โอกาสสร้างสรรค์แก่มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565 ในการประชุมสภา มช. มีวาระเสนอหลักการของหลักสูตรใหม่เข้าขอคำแนะนำจากสภามหาวิทยาลัย คราวนี้มี หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมอาหารและอุตสาหกรรมชีวภาพ (Doctor of Philosophy Program in Food Innovation and Bioindustry) ของวิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร

หลังจากฟังผู้เชี่ยวชาญเชิงสาระให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ โดยกรรมการสภาผู้รู้ด้านวิชาการ ผมเสนอว่า ผู้จัดการหลักสูตรน่าจะพิจารณาให้เป็นหลักสูตรที่เน้นการสร้างสรรค์เชิงประยุกต์ ไม่ใช่เชิงวิชาการแบบเดิมๆ การวิจัยเน้นแนว translational research ไม่ใช่ academic research แบบที่เราคุ้นเคย หลักการสำคัญคือ เกณฑ์ในการได้รับปริญญาไม่ใช่การตีพิมพ์ผลงานวิจัย แต่อยู่ที่ผลงานวิจัยมีการนำไปใช้งานจริง เห็นผลจริงในเชิงธุรกิจ หรือมีการนำไปจดสิทธิบัตรได้ ซึ่งจะมีลักษณะของงานพัฒนามากกว่างานวิจัย

โจทย์ในการทำผลงานเพื่อเป็นวิทยานิพนธ์ควรมาจากภาคประกอบการ และจะยิ่งดีหากมีบริษัทร่วมงานด้วย เพราะโจทย์มาจากเขา และเขารอเอาผลไปใช้งาน เขาจึงยินดีร่วมลงทุนด้วย

ข้อเสนอเชิงสร้างสรรค์ของผมในที่ประชุมต่างๆ กว่าครึ่งจะผ่านเลย ไม่มีคนพูดถึง แต่คราวนี้ท่านนายกสภา ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย กล่าวเสริมว่าทีมผู้รับผิดชอบน่าจะใช้หลักการนี้ เป็นหลักสูตรเน้นปฏิบัติ ไม่ใช่เน้นวิชาการ

ผมเสนอต่อทีมอาจารย์ที่มาเสนอหลักการของหลักสูตรว่า หากแนวทางที่แนะนำ ไม่ตรงกับระเบียบที่มีอยู่ ให้เสนอขอยกเว้นระเบียบต่อกระทรวง อว. ที่คณะกรรมการที่ท่าน รมต. เอนก เป็นประธาน

นี่คือยุคทองของมหาวิทยาลัย ที่จะคิดวิธีทำงานใหม่ๆ แหวกแนว ที่ก่อผลดีต่อบ้านเมือง

วิจารณ์ พานิช

27 มี.ค. 65


บทความนี้ เผยแพร่ครั้งแรกใน https://www.gotoknow.org/posts/700298

ดู 58 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page