top of page
klangpanyath

บางแง่มุมของการพัฒนานครเวียงจันทน์

นายปาณัท ทองพ่วง นักวิจัย สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ


ราว 4-5 ปีก่อน ผู้เขียนได้ไปเยือนนครเวียงจันทน์ นครหลวงของสาธารณรัฐประชาชนลาวเป็นครั้งแรก ครั้งนั้นนอกจากเวียงจันทน์แล้ว ยังได้ไปเยือนเมืองสำคัญของลาวอีกสองแห่งคือ เมืองวังเวียง และเมืองหลวงพระบางด้วย การไปในครั้งนั้นทำให้ผู้เขียนเห็นว่าระดับการพัฒนาบ้านเมืองลาวยังห่างจากไทยมาก นครเวียงจันทน์เองยังไม่มีอะไรมากนัก และค่าครองชีพที่นั่นก็สูงอย่างไม่น่าเชื่อ ก๋วยเตี๋ยว (เฝอ) ในเวียงจันทน์ราคาชามละ 80 บาท ไก่ปิ้ง ข้าวเหนียวก็ราคาสูงกว่าไทย 2-3 เท่า


เมื่อเดือนที่แล้ว (สิงหาคม 2562) ผู้เขียนได้ไปประเทศลาวอีกครั้ง ครั้งนี้ไปเฉพาะนครหลวงเวียงจันทน์ อยู่ที่นั่น 3 วัน การเดินทางครั้งนี้มีสาระมาก ได้เห็นนครเวียงจันทน์เพิ่มขึ้นมาก เพราะได้ผู้นำทางเป็นข้าราชการระดับกลางของลาวที่นำพาคณะของเราตลอด 3 วันไปชมสถานที่น่าสนใจต่างๆ และเล่าเรื่องราวมากมายของบ้านเมืองลาวในพวกเราฟัง และที่สำคัญไม่แพ้กันคือคณะที่เดินทางไปประกอบด้วยผู้ทรงภูมิที่ให้แง่มุม ความรู้ มาประกอบการมองด้วยสายตา การเดินทางครั้งนี้ทำให้เห็นว่า นครเวียงจันทน์และลาวในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก มีการพัฒนาเชิงวัตถุที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


เหตุใดนครหลวงเวียงจันทน์จึงตั้งอยู่ติดชายแดนไทย


เมื่อแรกที่เราข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่ด่านชายแดนที่หนองคายนั้น เมื่อไปถึงกลางสะพานก็จะเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อลงสะพานก็เข้าเขต “กำแพงนะคอน” อันเป็นชื่อของนครหลวงเวียงจันทน์นั่นเอง ใช่ครับ เมืองหลวงของประเทศลาวในปัจจุบันตั้งอยู่ติดกับชายแดนไทย คั่นไว้ด้วยแม่น้ำโขงเท่านั้น


ถึงตรงนี้หลายท่านคงเกิดคำถามว่าเหตุใดลาวจึงตั้งเมืองหลวงของประเทศไว้ที่ชายแดน ประจันกับอีกประเทศหนึ่ง ดูแล้วช่างเป็นทำเลที่ไม่เหมาะสมทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะถ้ามองเชิงความมั่นคงเอาเสียเลย


คำตอบก็คือ ความจริงแล้วแต่เดิมนครหลวงเวียงจันทน์ตั้งอยู่ใจกลางอาณาจักรลาวล้านช้าง ติดกับแม่น้ำเช่นเดียวกับเมืองโบราณทั่วไป แม่น้ำโขงนั้นเปรียบเสมือนแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานคร ฝั่งประเทศลาวปัจจุบันคือฝั่งพระนครของกรุงเทพฯ อันเป็นที่ตั้งของเมือง พระราชวัง ส่วนฝั่งภาคอีสานของไทยก็เปรียบเสมือนฝั่งธนบุรีของอาณาจักรล้านช้าง เป็นที่สำหรับทำการเกษตรป้อนเมือง ในยามที่คนยังสัญจรทางเรือเป็นหลักแม่น้ำโขงก็เปรียบเป็นถนนหลวงกลางกรุง แต่เมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดอินโดจีน จึงแบ่งดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้เป็นดินแดนของลาวภายใต้ฝรั่งเศสไป ส่วนฝั่งขวายังอยู่ในพระราชอาณาจักรสยาม ดินแดนของอาณาจักรลาวแต่เดิมจึงถูกแบ่งแยกเป็นสองฝั่งที่อยู่ในคนละประเทศตั้งแต่นั้นมา นครหลวงเวียงจันทน์ที่เคยอยู่ใจกลางอาณาจักร จึงกลายมาเหมือนกับว่าอยู่ติดชายแดน


การเปลี่ยนแปลงข้อนี้ส่งผลต่อความเป็นไปในยุคต่อมาของลาว โดยเฉพาะการพัฒนาของลาวอย่างยิ่ง การที่เมืองลาวถูกตัดเอาดินแดนเกษตรกรรมหลักออกไปอยู่กับอีกประเทศหนึ่ง รวมทั้งประชากรจำนวนมากในภาคอีสานก็กลายเป็นคนของฝั่งไทย ส่งผลให้ลาวขาดพื้นที่เกษตรกรรม ไม่สามารถผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงตนเองอย่างเพียงพอ และทำให้มีจำนวนประชากรน้อย ส่งผลให้มีกำลังซื้อน้อย เป็นข้อท้าทายกับการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง


นครหลวงเวียงจันทน์วันนี้ เทียบกับ 4-5 ปีก่อนที่ผู้เขียนไป ถือว่าพัฒนาขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด ประชากรในเวียงจันทน์กำลังจะถึง 1 ล้านคนแล้ว ข้างในเมืองเริ่มแออัด รถติด เมืองเวียงจันทน์ได้เตรียมขยายเมืองออกไปทางฝั่งตรงข้ามกับแม่น้ำโขง เริ่มมีการย้ายสถานที่ราชการหลายแห่งออกไปอยู่ที่เขตเมืองใหม่บ้างแล้ว เราได้เห็นตึกรามบ้านช่องที่ทันสมัย มีย่านการค้า ห้างสรรพสินค้า ย่านสังสรรค์ของวัยรุ่น ถนนคนเดินริมแม่น้ำโขงตอนกลางคืน


ภาพที่ 1 เขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวง ย่านที่พักอาศัยใหม่ในนครเวียงจันทน์




ภาพที่ 2 และ 3 บ้านเศรษฐีในเวียงจันทน์


ภาพที่ 4 ศูนย์การค้าทันสมัยในเวียงจันทน์


ภาพที่ 5 อาคารส่วนราชการลาวที่เริ่มย้ายไปสร้างในพื้นที่ใหม่ชานเมืองเวียงจันทน์


ร่องรอยของต่างชาติในลาววันนี้


เมื่อไปที่ลาว โดยเฉพาะในเวียงจันทน์ เราจะสัมผัสได้ทันทีว่าการพัฒนาของเมืองนี้มาจากต่างชาติเข้ามามาก ชาติที่เข้ามาลงทุน มาเปิดกิจการในลาวมาก จากที่สังเกตด้วยตาได้แก่ จีน มากที่สุด ตามมาด้วยไทยและเวียดนาม และเกาหลีใต้


สำหรับจีนนั้น จากที่เห็น มาทั้งระดับรัฐ ดังที่ทราบกันดีคือมาสร้างโครงการรถไฟจีน-ลาว เชื่อมเมืองบ่อเต็น บริเวณชายแดนตอนเหนือของลาวที่ติดกับมณฑลยูนนานตอนใต้ของจีน เข้ามาถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมใหม่ทางบก เส้นที่จะเชื่อมจีนเข้ากับอาเซียน เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายนี้ต่อไปก็จะเชื่อมกับรถไฟไทย-จีน ปัจจุบันรับผิดชอบการก่อสร้างโดยบริษัทร่วมทุนระหว่างจีนและลาว มีความคืบหน้าไปมากแล้ว นอกจากนี้ คนจีนยังเข้ามาในลาวเป็นนักลงทุนรายใหญ่มาสร้างย่านการค้า เช่น Vientiane New World ในเมืองเวียงจันทน์ มาสร้างตึกสูงใหญ่โต มาสร้างศูนย์ประชุมแห่งชาติงดงามอลังการกลางเมือง และยังเข้ามาเป็นแรงงานในลาวด้วย เช่น เป็นช่างซ่อมมือถือ มาเป็นพ่อค้าขายของ มาเปิดร้านอาหาร เป็นต้น ภายในศูนย์การค้า Vientiane New World เราได้พบกับร้านซ่อมโทรศัพท์มือถือ ซึ่งพนักงานซ่อมเป็นคนจีนทั้งหมด บางคนตามพ่อแม่มาอยู่ที่ลาวตั้งแต่เด็กจากมณฑลหูหนาน พูดคุยกับพวกเราได้โดยใช้ภาษาลาว



ภาพที่ 6 ธนาคาร ICBC ของจีนกลางเมืองเวียงจันทน์


ภาพที่ 7 ทางรถไฟความเร็วปานกลางจากเมืองบ่อเต็น ที่ชายแดนคุณหมิง-ลาว มายังนครเวียงจันทน์


ภาพที่ 8 พื้นที่ชานนครเวียงจันทน์ที่เตรียมไว้สำหรับก่อสร้างสถานีใหญ่แห่งหนึ่งของรถไฟจีน-ลาว




ภาพที่ 9 10 และ 11 ภายนอกและภายในห้างสรรพสินค้า Vientiane New World ที่ลงทุนโดยจีน ในนครเวียงจันทน์



ภาพที่ 12 และ 13 ร้านซ่อมมือถือภายใน Vientiane New World พนักงานในร้านเป็นคนจีนทั้งหมด

คนเสื้อขาวตามพ่อแม่จากมณฑลหูหนานมาอยู่ที่ลาวตั้งแต่เด็ก สื่อสารภาษาลาวได้คล่องแคล่ว


ส่วนเวียดนามนั้นก็มีอิทธิพลอยู่สูงในลาว คนลาวเชื้อสายเวียดนามอยู่ในลาวจำนวนมาก หลายคนเป็นลูกหลานของคนเวียดนามที่เคยช่วยในการปฏิวัติลาว เมื่อลาวปฏิวัติสำเร็จจึงได้ปักหลักที่ลาว และได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ภาษาเวียดนาม อาหารเวียดนาม (ที่พบมากเช่น ข้าวจี่ หรือ Banh Mi ในภาษาเวียดนาม ขนมปังบาแกตต์ใส้เนื้อสัตว์และผัก) ก็พบได้ทั่วไปในเวียงจันทน์


ภาพที่ 15 “ข้าวจี่” หรือ บาแกตต์สอดใส้ผักและเนื้อสัตว์แบบเวียดนามในเวียงจันทน์


สถาบันการเงินการธนาคารของเวียดนามก็มาเปิดในลาวอยู่พอสมควร เท่าที่เห็น เช่น Sacombank และ Vietinbank เป็นต้น นอกจากจีน ไทย และเวียดนาม เกาหลีใต้ก็เข้าไปทำอะไรในลาวอยู่มากพอสมควร เท่าที่เห็นคือ รถยนต์ในเวียงจันทน์จำนวนมากเป็นรถยนต์เกาหลี เช่น Kia Hyundai Daehan เป็นต้น ตามสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก ก็เจอนักท่องเที่ยวเกาหลีจำนวนมากที่สุดในบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติ


ส่วนอิทธิพลของฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคม เหลืออยู่ในลาวไม่มากแล้ว มีเพียงอาคารโบราณยุคอาณานิคมที่ปรากฏทั่วไปในเมือง และการทานบาแกตต์เท่านั้นเอง


มองการอุดมศึกษาลาวในปัจจุบัน


ในด้านการศึกษา คณะเรายังได้เดินทางไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ณ เขตดงโดก มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของลาว ในจำนวนมหาวิทยาลัยระดับชาติที่มีอยู่ราว 4-5 แห่งของประเทศในปัจจุบัน เช่น มหาวิทยาลัยสุพานุวงที่หลวงพระบาง มหาวิทยาลัยสะหวันนะเขต และมหาวิทยาลัยจำปาศักดิ์ เป็นต้น เราได้พบปะพูดคุยกับคณาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ทำให้ได้ทราบว่าลาวกำลังพัฒนาการศึกษาขั้นอุดมศึกษาในประเทศ ปัจจุบันกำลังพยายามสร้างชั้นปริญญาโทและเอกอยู่ คณาจารย์ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ หลายท่านจบการศึกษาจากต่างประเทศ เช่น ประเทศไทย (จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น) ประเทศเยอรมัน ปัจจุบัน เยาวชนลาวจำนวนมากนิยมไปเรียนต่อที่ประเทศจีน รวมทั้งนิยมเรียนภาษาจีน เพราะช่วยเปิดโอกาสในการประกอบอาชีพ ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ก็มีสถาบันขงจื่อ ซึ่งเป็นสถาบันที่เผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมจีน มาตั้งและมีนักศึกษาชาวลาวนิยมเรียนมากด้วย


นอกจากนี้ เรายังได้เข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ไกสอน พมวิหาน ผู้นำการปฏิวัติลาว อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรก และอดีตประธานประเทศลาว ผู้เปรียบเสมือนเป็น “บิดาแห่งประเทศลาวใหม่” ทำให้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การปฏิวัติลาวในช่วงเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศส ต่อมาจนถึงยุคสงครามเวียดนาม และสงครามปลดแอกของลาว ได้เห็นความยากลำบากและการเสียสละของบรรดาผู้นำการปฏิวัติและประชาชนลาว เห็นความใกล้ชิดของลาวและเวียดนามในระหว่างยุคปฏิวัติ เห็นความสัมพันธ์ของคนระดับผู้นำระหว่างไทย ลาว เวียดนาม


ภาพที่ 16 พิพิธภัณฑ์ไกสอน พมวิหาน ผู้นำการปฏิวัติสังคมนิยมลาว


บทสรุป


จากการเยี่ยมชมบ้านเมืองลาว ในนครหลวงเวียงจันทน์ครั้งนี้ เราได้ไปดูทั้งของเก่าและของใหม่ ได้เห็นวัดวาอารามที่สำคัญของลาว เช่น หอพระแก้ว วัดสีสะเกด พระธาตุหลวง มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เขตการค้า ทำให้ได้เห็นว่าตั้งแต่โบราณมา ลาวเป็นรัฐขนาดเล็ก มีทรัพยากรค่อนข้างจำกัด ทั้งด้านประชากรและผลผลิต ประกอบกับตั้งอยู่ห่างไกลทะเล จึงไม่ได้ทำการค้าทางไกล คงมีแต่การค้าทางบก ส่งผลให้สะสมทุนหรือความมั่งคั่งไว้ไม่ได้มากนัก โครงสร้างทางกายภาพของเมือง อาคาร สถาปัตยกรรมจากอดีตถึงปัจจุบันจึงอยู่ในระดับที่จำกัด ในยุคปัจจุบัน การพัฒนาประเทศของลาวก็ดูเหมือนว่าจะยังติดอุปสรรคนี้อยู่ รัฐบาลมีงบประมาณจำกัดมาก โดยเฉพาะงบพัฒนา ปัจจุบัน รัฐบาลลาวมีนโยบายที่เรียกในภาษาลาวว่า “ผันดินเป็นเงิน” หรือแปลงทรัพย์สินเป็นทุน เนื่องจากรัฐลาวมีทุนไม่เพียงพอ จึงต้องเอาที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบางส่วนแลกให้กับเอกชน เช่น แลกที่ทำการของส่วนราชการบางแห่งในศูนย์กลางนครเวียงจันทน์ให้เอกชน แลกกับการที่เอกชนไปสร้างที่ทำการใหม่ที่ใหญ่และทันสมัยกว่าให้ส่วนราชการนั้นๆ นอกเมือง


ดังนั้นในการพัฒนาประเทศ ลาวจึงต้องเปิดให้ต่างชาติเข้าไปมีบทบาทมาก ลาวนั้นแต่อดีตเป็นเหมือนเมือง “สองฝั่งฟ้า” ได้รับอิทธิพลของสยามและเวียดนามมากตั้งแต่อดีต แต่ในด้านวัฒนธรรมใกล้ชิดกับไทยมากกว่าเพราะร่วมเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม และศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเหมือนกัน ส่วนเวียดนามนั้นมาใกล้ชิดกับลาวมาก โดยเฉพาะทางการเมือง ในยุคที่ตกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศส เพราะถูกรวมอยู่ในหน่วยการปกครองเดียวกันกับเวียดนามและกัมพูชา เป็น “อินโดจีน” รวมทั้งในยุคปฏิวัติ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้ช่วยเหลือการปฏิวัติของลาวอย่างมาก ในยุคปัจจุบัน นอกจากไทย และเวียดนาม ก็ยังมีจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เข้ามาในลาวด้วยอย่างที่กล่าวไป แสดงให้เห็นว่า แม้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ลาวมีกำลังในการพัฒนาประเทศตัวเองจำกัดมาตั้งแต่โบราณ แต่ลาวก็สามารถดึงดูดกำลังของชาติต่างๆ มาช่วยพัฒนาประเทศมาตลอด เป็นสิ่งที่น่าศึกษาโดยเฉพาะในด้านศิลปะการถ่วงดุลความสัมพันธ์ของประเทศเล็กกับบรรดาชาติที่ใหญ่กว่า โดยที่ยังคงความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้พอสมควร


การพัฒนาในวันนี้ของลาวถือว่าตั้งต้นได้แล้ว และกำลังก้าวเดินไปข้างหน้า แม้ว่าหนทางจะยังอีกยาวไกล ชนชั้นกลางในลาวยังมีน้อย เราจะเห็นว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นคนชั้นล่าง และมีคนจำนวนน้อยที่ร่ำรวยมาก (เห็นได้จากมีรถยนต์ซูเปอร์คาร์ หรือบ้านหลังใหญ่โตที่มีให้เห็นอยู่ในลาว) อันเป็นลักษณะทั่วไปที่แสดงว่าประเทศกำลังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการพัฒนาแบบทุนนิยม ปัจจุบัน ค่าครองชีพในนครเวียงจันทน์ลดลงมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศไทย เพราะลาวเริ่มเลี้ยงสัตว์ ทำการเกษตรขั้นพื้นฐานเลี้ยงตัวเองบ้างแล้ว


ภาพที่ 17 สำนักงานขายรถยนต์ราคาแพงในเวียงจันทน์


ด้านการเมืองการปกครอง แม้ลาวจะยังปกครองด้วยพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ถือหลักสังคมนิยมในระดับทางการและทางทฤษฎี แต่ในความเป็นจริง ระบอบเศรษฐกิจการเมืองในลาวทุกวันนี้ไม่ได้เป็นสังคมนิยมตามทฤษฎีแล้ว ลาวกำลังเร่งพัฒนาประเทศตามแนวทางทุนนิยม แต่ระบอบการเมืองยังคงนำโดยพรรคปฏิวัติ ซึ่งอาจจะดูคล้ายจีนและเวียดนามเมื่อมองเผินๆ แต่ลึกลงไปในรายละเอียดไม่เหมือนกัน กรณีของลาว อุปสรรคสำคัญคือการที่ประเทศมีทุนและกำลัง (ทั้งทรัพยากรและจำนวนประชากร) ในการพัฒนาที่จำกัดมาก กับมีภารกิจที่ต้องพยายามลดผลประโยชน์ทับซ้อนและอภิสิทธิ์ของชนชั้นนำทางการเมืองในการพัฒนาประเทศลง หากทำภารกิจนี้ได้สำเร็จ การพัฒนาประเทศรวมทั้งระบอบการเมืองของลาวก็จะมีโอกาสยั่งยืนได้

Comments


bottom of page