ชญานิษฐ์ เชิดธรรมธร นักวิจัย สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ 4 มีนาคม 2563
เนื้อหาบทความเป็นการสรุปส่วนหนึ่งจากวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตของผู้เขียน ณ บัณฑิตวิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
การศึกษาเริ่มต้นจากข้อสงสัยต่อข้อเสนอของ Milton J. Esman (2004) ในหนังสือ An Introduction to Ethnic Conflict ที่เสนอว่า คนชาติพันธุ์จีนในประเทศไทยเป็นกรณีที่ต่างออกไปจากคนจีนโพ้นทะเลในประเทศอื่นๆ เพราะคนจีนโพ้นทะเลในไทยเป็นกรณีเพียงกรณีเดียวที่ถูกชุมชนชาติพันธุ์กระแสหลักกลืนกลายได้สำเร็จ รวมถึงการตั้งข้อสังเกตต่อมิตรสหายลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในประเทศอาเซียนประเทศอื่นๆ แต่ยังสามารถใช้ภาษาจีนในการสื่อสารได้ ในขณะที่ลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นใหม่ในประเทศไทยกลับพูดภาษาจีนไม่ได้เลย
กรอบทฤษฎี
กรอบทฤษฎีที่ใช้วิเคราะห์มี 3 ทฤษฎี ทฤษฎีแรก คือ Social Identity Theory ซึ่งเป็นทฤษฎีที่เกิดจากการผสานของทฤษฎี Primordialism และ ทฤษฎี Social Constructionism อันเป็น 2 ทฤษฎีหลักของการศึกษาเรื่องชาติพันธุ์ Social Identity Theory มองว่า ปัจเจกมีความต้องการโดยกำเนิดที่จะมีอัตลักษณ์ทางสังคม เพราะฉะนั้นมนุษย์จำเป็นต้องอยู่ในกลุ่มก้อนใดกลุ่มก้อนหนึ่ง และการเป็นสมาชิกของกลุ่มนั้นๆจะนำพาไปสู่การเกิดการเปรียบเทียบระหว่างอัตลักษณ์ของกลุ่มตนเองและอัตลักษณ์ของกลุ่มอื่นๆ Marilynn Brewer (1997:203-4; 2001:21-2) เสนอในทฤษฎีนี้ว่า การจะมีอัตลักษณ์และตัวตนทางสังคมของปัจเจก พวกเขามีความต้องการ 2 สิ่งที่ต้องการถูกเติมเต็ม หนึ่งคือการถูกรวมและกลืนเข้าไปในกลุ่ม หรือก็คือปัจเจกต้องการเป็นสมาชิกของกลุ่มก้อนใดกลุ่มก้อนหนึ่ง สองคือความต้องการความแตกต่างจากกลุ่มก้อนอื่นๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ปัจเจกจำแนกความแตกต่างของตนเองต่อกลุ่มที่ตนเองไม่ได้เป็นสมาชิก ตัวอย่างเช่น มุสลิมในสามจังหวัดฯมองตัวเองว่าเป็นมลายูมุสลิม และมองมุสลิมที่อยู่นอกพื้นที่ว่าเป็นไทยมุสลิมและเป็นคนนอก
ทฤษฎีที่สองคือ Ethnic Assimilation หรือ การกลืนกลายทางชาติพันธุ์ Hechter และ Okamoto (2001:98) และ Esman (2004:125) เสนอว่า การกลืนกลายทางชาติพันธุ์คือการที่รัฐบาลเร่งให้กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยรวมเข้ากับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอำนาจนำ โดยการผลักดันให้ใช้ภาษาราชการได้อย่างคล่องแคล่วเพื่อให้ได้โอกาสเข้าถึงการศึกษา การรับราชการ หรือแม้กระทั่งโอกาสทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ สังคมกระแสหลักจึงเข้มแข็งมากขึ้นจากการเข้าร่วมของชาติพันธุ์กลุ่มที่เล็กกว่า และกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยแหล่านั้นจะค่อยๆหายไป
ขณะที่ Murdock (1964:130) และ Brown (1994:2) มองว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะควบคุมอย่างเต็มที่กับวิธีที่คนจะคิดว่าตนเองอยู่กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มไหน หรือจะเลือกไปอยู่กลุ่มไหน เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่คนที่ถูกกลืนกลายจะยังรักษาต้นกำเนิดทางชาติพันธุ์ของตนเองไว้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง Kymlicka (2005:49) เสนอว่า นโยบายกลืนกลายชาติพันธุ์ที่มุ่งจะhomogenizeความหลากหลายสามารถนำไปสู่ความขัดแย้งได้
นโยบายการกลืนกลายทางชาติพันธุ์มีปัจจัยสำคัญ 4 อย่างที่สนับสนุนให้นโยบายสำเร็จ อันได้แก่ การแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ (Intermarriage) การอยู่อย่างกระจัดกระจาย (Living dispersedly) สังคมแบบเปิด (Opened community) และขีดความสามารถของรัฐ (Capacity of state)
การแต่งงานระหว่างผู้ที่มีเชื้อชาติ ศาสนา หรือชาติพันธุ์ต่างกันเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ผลักดันการกลืนกลายให้สำเร็จมากยิ่งขึ้น มีงานศึกษาหลายชิ้นที่บอกว่าการอยู่อย่างกระจัดกระจายและขนาดของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มน้อยส่งผลแง่บวกต่ออัตราการแข่งงานข้ามชาติพันธุ์ ในทางตรงกันข้าม หากชนกลุ่มน้อยอยู่อย่างกระจุกตัว การแต่งงานข้ามชาติพันธุ์จะไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก การอยู่อย่างกระจัดกระจายของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มน้อยยังส่งผลแง่บวกต่อการกลืนกลายทางชาติพันธุ์ด้วย ในขณะที่ชนกลุ่มน้อยที่อยู่รวมกันในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นหรือรับบาลได้มากกว่า
สังคมแบบเปิดเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนและติดต่อสื่อสารกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในสังคมแบบเปิดมีtoleranceและความยืดหยุ่นต่อวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากกลุ่มของตนได้มากกว่ากลุ่มที่อยู่ในสังคมแบบปิด ทำให้กลุ่มที่อยู่ในสังคมเปิดมีแนวโน้มที่จะถูกกลืนกลายได้ง่ายกว่า
ขีดความสามารถของรัฐเองก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของนโยบายการกลืนกลาย แต่รัฐที่มีขีดความสามารถสูงหลายรัฐเองก็ประสบปัญหาในการดำเนินนโยบายให้เป็นไปอย่างสงบและนำไปสู่ความขัดแย้งชาติพันธุ์ รัฐที่มีขีดความสามารถสูงและไม่เป็นประชาธิปไตยมีแนวโน้มสูงมากที่จะผลักดันนโยบายที่มีลักษณะก้าวร้าวและเข้มข้น แน่นอนว่าเป็นการเพิ่มแนวโน้มในการเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นเป้าหมายของนโยบาย
Clayton Peoples (2004) เสนอ 3 เงื่อนไขที่รัฐต้องข้ามผ่านไปให้ได้เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์อันส่งผลทางลบต่อการกลืนกลาย ได้แก่ เงื่อนไขทางการเมือง เศรษฐกิจ และการรับรู้ ซึ่งเงื่อนไขทางด้านเศรษฐกิจไม่สามารถแยกขาดจากประเด็นการเมืองได้ Esman (2004:78) มองว่า กลุ่มที่มีอำนาจนำทางการเมืองจะใช้อำนาจนั้นสร้างความได้เปรียบทางเศรษฐกิจอยู่เสมอ ส่งผลให้เกิดการแบ่งชนชั้นและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ในขณะที่กลุ่มที่ได้เปรียบทางเศรษฐกิจก็ใช้ความได้เปรียบนั้นเข้าไปกุมอำนาจทางการเมืองได้ เงื่อนไขอย่างที่สาม เงื่อนไขการรับรู้ เป็นเงื่อนไขที่เชื่อมโยงกับSocial Identity Theory ก็คือปัจเจกจะพยายามค้นหาว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มไหนและมองหาความแตกต่างจากกลุ่มอื่น การไม่มีtoleranceต่อความแตกต่างต่อกลุ่มชาติพันธุ์อื่น รวมถึงการมองว่ากลุ่มอื่นๆเป็นภัยคุกคามมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ภัยคุกคามในที่นี้คือภัยคุกคามต่อวัฒนธรรมและอัตลักษณ์เฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่เล็กกว่าและไม่มีอำนาจนำกลัวว่ากลุ่มที่ใหญ่กว่าจะกลืนกลุ่มตนเองและทำให้อัตลักษณ์เฉพาะหายไป
จากทั้ง 3 เงื่อนไขนี้ Clayton Peoples กล่าวว่า เงื่อนไขทางการเมืองเป็นเงื่อนไขที่ท้าทายและเอาชนะยากที่สุดเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ หากยังก้าวผ่านเงื่อนไขทางการเมืองไม่ได้ก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาdiscriminationในด้านเศรษฐกิจและด้านวัฒนธรรม
ประวัติศาสตร์การเมืองของนโยบายกลืนกลายทางชาติพันธุ์ของไทยต่อชาติพันธุ์จีนในราชอาณาจักรสยามจนถึงราชอาณาจักรไทย
ในอดีต ชาวจีนเดินทางมาสยามเพื่อติดต่อค้าขายตลอดและอพยพเข้ามาเพื่อใช้แรงงาน ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าชาวจีนเข้ามาตั้งรกรากในแผ่นดินสยามตั้งแต่ช่วงเวลาใด ประพิณ มโนมัยวิบูลย์ (2011:539) เสนอว่า ชาวจีนเข้ามาในสยามก่อนที่จะมีอาณาจักรสยามมาเป็นเวลานานด้วยจุดประสงค์เพื่อค้าขายและติดต่อสื่อสารกันผ่านระบบบรรณาการ G. William Skinner (1957:45-46) เสนอว่า นโยบายใยสมัยกรุงธนบุรีที่ส่งเสริมคนจีนให้ค้าขายและทำงานในราชอาณาจักรส่งผลให้มีพ่อค้าชาวจีนเข้ามาค้าขายเป็นจำนวนมาก รวมถึงกระจายการค้าขายไปยังหัวเมืองต่างๆในภาคตะวันออกและภาคใต้ด้วย จำนวนคนจีนจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ยังผลให้ราชสำนักริเริ่มการควบคุมผู้อพยพชาวจีนอย่างเป็นระบบโดยมอบตำแหน่งพระยาโชดึกราชเศรษฐี กรมท่าซ้าย ให้ชาวจีนรับราชการและควบคุมดูแลคนชาติพันธุ์เดียวกันในรัตนโกสินทร์อย่างเป็นระบบโดยการเก็บภาษีและเริ่มนับจำนวนชาวจีนด้วยระบบผูกปี้ข้อมือจีน
ในช่วงเวลานี้ ชาวจีนเริ่มตั้งถิ่นฐานในราชอาณาจักร มีพื้นที่ทางการเมืองในราชสำนักสยาม มีชุมชนชาวจีนตามที่ต่างๆ ติดต่อสื่อสารกับคนท้องถิ่นผ่านการค้าขาย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งไม่ใช่เพียงแค่สิ่งของ แต่รวมถึงภาษาและวัฒนธรรมด้วย เกิดการแต่งงานระหว่างชาติพันธุ์ คำว่า “ลูกจีน” จึงเริ่มถูกใช้เรียกทายาทที่เกิดจากการที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็นจีนและอีกคนเป็นไทย ภาษาแม่ที่ลูกจีนใช้ก็ไม่ใช่ภาษาจีนอีกต่อไป แต่เป็นภาษาไทย เพื่อให้ได้รับการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและเศรษฐกิจได้มากกว่าการเป็นลูกจีนที่พูดภาษาจีนได้ดีกว่าภาษาไทย
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศจีนนำโดยซุนยัตเซ็นทำให้ราชสำนักและชนชั้นนำสยามลดความไว้ใจที่มีต่อคนจีนในราชอาณาจักรลง อุดมการณ์ทางการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นในจีนดูจะเป็นภัยต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม ทางรัฐบาลจึงออกพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461 และ 2470 เพื่อให้มีอำนาจควบคุมและคอยสอดส่องโรงเรียนจีนในสยามเพื่อให้แน่ใจว่า หลักสูตรที่ใช้สอนในโรงเรียนจีนจะไม่สอนอุดมการณ์ทางการเมืองแบบซุนยัตเซ็น และต้องสอนการเป็นพลเมืองที่ดีและจงรักภักดีรวมถึงสอนประวัติศาสตร์และภาษาไทยตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
การขึ้นสู่อำนาจของจอมพลป.พิบูลสงครามและอุดมการณ์ชาตินิยมแบบสุดโต่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวจีนและกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยอื่นๆในสยามได้รับแรงกดดันมากที่สุดช่วงหนึ่ง การเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทยเมื่อ พ.ศ. 2482 ทำให้คนที่อยู่ภายในเขตอธิปไตยของไทยต้องเป็นคนไทยไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดหรือจะเป็นชาติพันธุ์ใด ขณะนั้น ชาวไทยเชื้อสายจีนถูกห้ามไม่ให้เดินทางไปยังบางพื้นที่ของประเทศรวมทั้งยังการถูกกีดกันทางเศรษฐกิจ โรงเรียนจีนหลายแห่งถูกปิด บ้างก็ถูกจับตามองอย่างหนัก ร้านค้า สมาคม ธนาคาร และโรงพยาบาลที่ถูกครอบครองโดยคนไทยเชื้อสายจีนหลายแห่งก็ถูกบังคับให้ปิดตัว วัฒนธรรมประเพณีบางอย่างถูกห้ามไม่ให้ปฏิบัติ ทั้งหมดนี้เพื่อลดอิทธิพลของภาษาจีนรวมถึงอำนาจทางเศรษฐกิจของชาวไทยเชื้อสายจีนลง มีการตั้งข้อสังเกตจากงานวิจัยหลายชิ้นว่า ยุคชาตินิยมแบบเข้มข้นนี้ทำให้ชาวไทยเชื้อสายรุ่นหลังใช้ภาษาไทยเพื่อสื่อสารเป็นหลักแทนภาษาจีนและแทบจะพูดภาษาจีนไม่ได้หรือไม่ได้เลย อย่างไรก็ตาม หลังผ่านพ้นยุคชาตินิยม ชาวไทยเชื้อสายจีนก็กลับมามีอำนาจนำทางเศรษฐกิจได้อีกครั้งและอำนาจทางการเมืองก็เช่นกัน
ชาว ‘ไทย’ เชื้อสายจีน
Chan และ Tong (1993:141) เสนอว่า กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอำนาจนำไม่ได้เป็นตัวแสดงที่สำคัญเพียงตัวแสดงเดียวในการผลักดันให้การกลืนกลายสำเร็จ แต่กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นเป้าหมายของการกลืนกลายก็เป็นตัวแสดงสำคัญเช่นกัน van den Berghe (1981:217) เองก็เสนอว่า การกลืนกลายที่ประสบความสำเร็จจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเกิดการพ้องกันระหว่างความต้องการกลืนกลายและความต้องการถูกกลืนกลาย
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวจีนในประเทศไทยถูกกลืนกลายมากกว่าชาติพันธุ์อื่นโดยเปรียบเทียบ คือ ความต้องการร่วมกันต่อการกลืนกลาย ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง ฝ่ายรัฐบาลไทยผู้ผลักดันนโยบายและผู้อพยพชาวจีนและลูกหลานซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของนโยบายกว่าศตวรรษ ชาวจีนอพยพที่เข้ามาตั้งรกรากในอาณาบริเวณสยามส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ทำให้ผู้อพยพชาวจีนให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องเป็นอันดับแรก รวมถึงการประกอบอาชีพและการหารายได้เลี้ยงตัว เพราะฉะนั้นชาวจีนจึงจำเป็นต้องปรับตัวเข้าหาสังคมและวัฒนธรรมกระแสหลัก รวมถึงการเรียนและพูดภาษาไทย ผลที่ตามมาคือ ทายาทที่เกิดจากการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ระหว่างคนจีนและคนท้องถิ่นที่เป็นคนไทยจะพูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่เพื่อเข้าถึงโอกาสที่ดีกว่าในการประกอบอาชีพไม่เพียงภาคเอกชน แต่หมายถึงภาครัฐและความมั่นคงด้วย
เกษียร เตชะพีระ (1994:118) เสนอว่า รัฐบาลไทยยุคชาตินิยมบังคับให้ลูกจีนเลือกระหว่างการรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมกับสถานภาพทางเศรษฐกิจ และลูกหลานชาวจีนเลือกข้อหลัง ในภายหลัง เศรษฐกิจของประเทศไทยส่วนใหญ่ก็ถูกครอบครองและควบคุมโดยชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งพื้นที่อำนาจในการเมืองระดับชาติก็ไม่ต่างจากด้านเศรษฐกิจนัก
ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ผลักดันให้นโยบายการกลืนกลายทางชาติพันธุ์ของรัฐไทยที่มีต่อชาวจีนสำเร็จคือปัจจัยภายนอก ซึ่งเร่งให้รัฐต้องรีบออกมาตรการและนโยบายควบคุมและกลืนคนจีนให้กลายเป็นคนสยามหรือคนไทยให้ได้เพื่อไม่ให้กลายเป็นภัยคุกคาม ปัจจัยภายนอกในที่นี้ คือ การขึ้นมาของกระแสชาตินิยมในจีนแผ่นดินใหญ่ก่อนการปฏิวัติจะเกิดขึ้น ประกอบกับกระแสชาตินิยมจีน (Chinese Nationalism) ที่เกิดขึ้นในหมู่คนจีนและคนจีนโพ้นทะเลทั่วโลก ทำให้ความไว้ใจที่รัฐบาลสยามมีต่อคนจีนอพยพและลูกหลานลดลงตามลำดับ โดยมีความกังวลเรื่องเสถียรภาพของระบอบการเมืองสยามเข้ามาแทนที่ พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461 เป็นสิ่งสะท้อนความกังวลของรัฐบาลสยามในขณะนั้น
พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461 ไม่ได้มีไว้เพื่อควบคุมโรงเรียนเอกชนโดยทั่วไป แต่มีไว้เพื่อควบคุมโรงเรียนจีนในสยามโดยตรง อีกทั้งเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการกำจัดโรงเรียนในสยามที่ใช้หลักสูตรล้อกับโรงเรียนจีนในแผ่นดินใหญ่ให้หมดไปโดยไม่ให้กระทบโรงเรียนต่างชาติโรงเรียนอื่นๆ เช่น การระบุว่าผู้อำนวยการโรงเรียนต้องมีใบรับรองจึงจะเปิดโรงเรียนได้ และทางรัฐบาลสยามไม่รับใบรับรองจากจีนหรือใบรับรองที่เป็นภาษาจีน แต่กลับยอมรับใบรับรองจากชาติตะวันตก ผู้อำนวยการโรงเรียนจีนส่วนใหญ่ก็ไม่ชำนาญภาษาไทย เป็นเหตุให้โรงเรียนจีนในสยามต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังกำหนดให้โรงเรียนจีนต้องสอนภาษาไทยเป็นหลัก สอนหน้าที่พลเมืองสยามที่ดี และสอนให้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยห้ามไม่ให้สอนแนวคิดทางการเมืองอื่นในโรงเรียนนอกจากแนวคิดการเมืองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2470 ที่ออกมา 9 ปีให้หลัง ให้อำนาจโดยตรงกับรัฐมนตรีศึกษาธิการในการสั่งปิดโรงเรียนใดๆที่ถูกจับได้ว่าลักลอบสอนและเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่อต้านกษัตริย์ ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจฝืดเคืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้โรงเรียนจีนที่ยังเหลืออยู่ต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก เหตุเหล่านี้เป็นสิ่งกระตุ้นให้ชาวจีนในสยามเริ่มส่งลูกหลานเข้าเรียนที่โรงเรียนรัฐที่อยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงจากรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ส่งผลให้ลูกหลานชาวจีนค่อยๆถูกกลืนเข้าสู่วัฒนธรรมและสังคมกระแสหลัก และค่อยๆถอยห่างจากการใช้ภาษาจีนออกมาเรื่อยๆ จากนโยบายที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า นโยบายการกลืนกลายจะไม่สามารถสำเร็จได้เลยหากขาดกระบวนการทางการศึกษาแห่งชาติที่อนุญาตให้รัฐควบคุมการออกแบบหลักสูตรได้ตามปรารถนา
ซึ่งหากสังเกตจากมุมมอง 3 เงื่อนไขของ Clayton Peoples จะเห็นว่าทั้ง 3 เงื่อนไขไม่ได้เป็นปัญหาต่อการถูกกลืนกลาย รัฐบาลสยามสามารถก้าวข้ามทั้ง 3 เงื่อนไขเพื่อกลืนคนจีนโพ้นทะเลให้กลายเป็นคนไทยเชื้อสายจีนได้ คนไทยเชื้อสายจีนไม่ถูกเบียดขับจากอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ หากแต่เป็นผู้เล่นสำคัญ ในขณะที่ชาวจีนมีวัฒนธรรมและศาสนาคล้ายคลึงกับชาวไทย ทำให้ปรับตัวเข้าหากันไม่ยาก ความรู้สึกถึงความเป็นอื่นก็จะลดลงตามไป การเอาชนะทั้ง 3 เงื่อนไขได้จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นโยบายการกลืนกลายทางชาติพันธุ์ของรัฐไทยประสบความสำเร็จ
อ้างอิง
เกษียร เตชะพีระ. 1994. แลลอดลายมังกร: รวมข้อเขียนว่าด้วยความเป็นจีนในสยาม. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.
Brewer, Marilynn. 1997. “The Social Psychology of Intergroup Relations: Can Research Inform Practice?” Journal of Social Issues 53(1): 197-211. Retrieved September 20, 2018 (http://spssi.onlinelibrary.wiley.com.ssl.access.ewha.ac.kr/doi/epdf/10.1111/j.1540-4560.1997.tb02440.x).
Brewer, Marilynn. 2001. “Ingroup Identification and Intergroup Conflict: When Does Ingroup Love Become Outgroup Hate?” Pp. 429-44 in Social Identity, Intergroup Conflict and Conflict Reduction, edited by R.D. Ashmore, L. Jussim and D. Wilder. Oxford: Oxford University Press.
Brown, David. 1994. The State and Ethnic Politics in Southeast Asia. London: Routledge.
Chan, Kwok Bun and Chee Kiong Tong. 1993. “Rethinking Assimilation and Ethnicity: The Chinese in Thailand.” The International Migration Review 27(1):140-168. Retrieved April 17, 2018 (http://www.jstor.org/stable/2546705).
Esman, Milton J. 2004. An Introduction to Ethnic Conflict. Cambridge: Polity Press.
Hechter, Michael and Dina G. Okamoto. 2001. “Political Consequences of Minority Group Formation.” Annual Review of Political Science 4(1):189-215. Retrieved September 5, 2018 (http://eds.a.ebscohost.com.access.ewha.ac.kr/ehost/pdfviewer/pdfviewer?vid=0&sid=0787e760-c5e2-47c0-88f1-5ac4a2bc5148%40sessionmgr4010).
Jaruthavee, Raviphan. 2009. “Chinese Schools in Monthon Krungthep, 1918-1932.” Master Dissertation, Department of History, Faculty of Arts, Chulalongkorn University.
Kymlicka, Will. 2005. “Liberal Multiculturalism: Western Models, Global Trends, and Asian Debates.” Pp.22-55 in Multiculturalism in Asia, edited by W.Kymlicka and B.He. Oxford: Oxford University Press.
Manomaivibool, Prapin. 2011. “Chinese Community in Thailand: Variety of Chinese dialects.” The Journal of the Royal Institute of Thailand 36(4):532-52. Retrieved March 13, 2018 (http://www.royin.go.th/royin2014/upload/246/FileUpload/2466_6110.pdf).
Murdock, George P. 1964. “The Kindred.” American Anthropologist 66(1):129-32. Retrieved April 5, 2018 (http://www.jstor.org/stable/669092).
Peoples, Clayton D. 2004. “How Discriminatory Policies Impact Interethnic Violence.” International Journal of Sociology 34(1): 71-96. Retrieved September 20, 2018 (http://www.tandfonline.com.ssl.access.ewha.ac.kr/doi/pdf/10.1080/00207659.2004. 11043126).
Skinner, G. William. 1957. Chinese Society in Thailand: An Analytical History. Ithaca, NY: Cornell University Press.
Van den Berghe, Pierre L. 1981. The Ethnic Phenomenon. New York: Elsevier North Holland Inc.
Comments