กระทรวง อว. และภาคี ร่วมกันจัดเวที สร้างการเรียนรู้ของนักวิชาการ เพื่อการพัฒนาชีวิตและปัญญา และเชิญผมไปร่วมให้ข้อคิดเห็นจากประสบการณ์ เรื่อง ประสบการณ์กับการศึกษาที่นำไปสู่การสร้างปัญญา ให้แก่อาจารย์จาก มรภ. และ มทร. จำนวนประมาณ 20 - 30 คน ในวันที่ 24 มีนาคม 2565 โดยช่วงเวลาที่ผมแลกเปลี่ยน 45 นาที
ผมคิดว่าควรเริ่มจากการศึกษาที่ไม่นำสู่การสร้างปัญญา ขอเสนอว่าได้แก่ การศึกษาที่
เน้นให้ท่องจำ เพื่อตอบข้อสอบ และข้อสอบเน้นถามความจริงแบบถูกผิด หรือเลือกคำตอบที่มีให้
ครูอาจารย์สอนสาระ ให้เรียนทฤษฎีที่ชัดเจนตายตัว ให้นักเรียนเชื่อ ยึดมั่นเป็นคัมภีร์ตายตัว
เน้นการเรียนในห้องเรียน และห้องทดลองเท่านั้น
สอนให้เชื่อ และทำตามรูปแบบหรือแนวทางที่กำหนด
อยู่ในบรรยากาศ หรือ ระบบนิเวศการเรียนรู้ (learning ecosystems) แบบผู้น้อยต้องคล้อยตามผู้ใหญ่ ต้องไม่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ หรือผู้มีอำนาจเหนือ
เน้นเฉพาะด้านวิชาการ ไม่เอาใจใส่ด้านคุณลักษณะส่วนตัว ด้านความประพฤติ การอยู่ร่วมทำงานร่วมกับผู้อื่น ด้านคุณธรรมจริยธรรม จิตใจ และจิตวิญญาณ
เน้นเรียนแบบแข่งขันตัวใครตัวมัน
เน้นให้โจทย์ง่ายๆ เพื่อศิษย์ไม่เครียด
เน้นเฉพาะการเรียนในสถานศึกษา ไม่เอาใจใส่ให้คุณค่าการเรียนรู้นอกสถานศึกษา ที่เป็นการเรียนรู้ในชีวิตจริง
เน้นเฉพาะปัญญาภายนอก เน้นเรียนเชิงเทคนิคเท่านั้น ไม่เอาใจใส่ปัญญาเชิงสังคม และปัญญาภายใน
การศึกษาที่นำสู่การสร้างปัญญา ย่อมต้องตรงกันข้ามกับลักษณะข้างต้น ต้องฝ่าหรือเอาชนะความเคยชินเดิมๆ อธิบายเพิ่มเติมได้ว่า เป็นการศึกษาที่
พัฒนา 7 แกนพัฒนาตัวตน ที่เสนอโดย Chickering & Reisser (1993) (Chickering’s Seven Vectors of Identity Development) ซึ่งหมายความว่า การศึกษาต้องไปให้ถึงการพัฒนาด้านคุณค่าในตัวผู้เรียน คือเกิดปัญญาในระดับคุณค่า
เรียนผ่าน “วงจรเรียนรู้จากการปฏิบัติ” (Kolb’s Learning Cycle) เป็นหลัก ดูรูป เริ่มจากการตั้งเป้าว่าจะทำกิจกรรมเพื่อบรรลุผลอะไร เพื่อเรียนรู้อะไร แล้วลงมือทำ เป็นขั้นตอนที่ 1 ระหว่างลงมือทำ สังเกตและสะท้อนคิดต่อสิ่งที่เกิดขึ้น หรือต่อประสบการณ์ที่ได้รับ เป็นขั้นตอนที่ 2 ตามด้วยการนำเอาข้อมูลจากประสบการณ์และการสะท้อนคิดมาตกผลึกเป็นหลักการ (conceptualization) หรือทฤษฎี (theory) เป็นขั้นตอนที่ 3 แล้วนำหลักการที่สรุปได้ไปทดลองใช้ในสถานการณ์อื่นๆ ต่อไป หรือในสถานการณ์เดิมแต่ปรับให้ทำได้ง่ายขึ้น หรือเกิดผลดียิ่งขึ้น เป็นขั้นตอนที่ 4
ผมมีความเห็นว่า คนเราจะเรียนรู้สู่ปัญญาได้จริง ต้องกล้าสร้างทฤษฎีด้วยตัวเอง โดยสร้างจากการปฏิบัติ คือต้องมั่นใจตนเองในระดับที่กล้าสร้างทฤษฎีเอง แต่ก็ต้องถ่อมตัวโดยการนำทฤษฎีของตนไปเทียบกับทฤษฎีที่มีผู้ค้นพบมาก่อนแล้ว เพื่อทำความเข้าใจในมิติที่ลึกซึ้งเชื่อมโยงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรวจสอบทฤษฎีในระดับ generalization (ใช้ได้ทั่วไป) และระดับ contextualization (ใช้ได้ฉพาะบางบริบท) ในส่วนทฤษฎีจำเพาะบริบทนี่แหละเป็นอิสรภาพที่เราจะคิดโต้แย้งทฤษฎีของปราชญ์ใหญ่ของโลกได้
จะเห็นว่า “วงจรเรียนรู้จากการปฏิบัติ” คือเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั่นเอง และสำหรับการเรียนรู้ภาคที่เป็นทางการ วงจรนี้จะมีพลังสูงกว่า หากทำในสถานการณ์จริง (real life experience) ไม่ใช่ทำในสถานการณ์สมมติภายในห้องเรียน หรือภายในสถาบัน
เชื่อมโยงความรู้ปฏิบัติ กับความรู้ทฤษฎี ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนแห่งปัญญาระดับสูง ทำโดยปรับขั้นตอนที่ 4 ของ Kolb’s Learning Cycle ไปเป็นนำหลักการหรือทฤษฎีสร้างเองในขั้นตอนที่ 3 มาเปรียบเทียบกับความรู้ทฤษฎีที่มีอยู่แล้ว ตรวจสอบว่าส่วนใดสอดคล้องกัน มีส่วนใดแตกต่างกันบ้าง และส่วนที่แตกต่างเป็นความรู้ใหม่ที่มีความสำคัญเพียงใด หากมีความสำคัญจะได้ใช้เป็นโจทย์เพื่อเริ่มต้น Kolb’s Learning Cycle ใหม่
ในการทำงานใดๆ ก็ตาม ทำให้เป็นการหมุน “วงจรเรียนรู้สองวง” (double-loop learning) ไปพร้อมๆ กันกับการทำงาน คือให้ได้ผลของการทำงานสองต่อ คือได้ทั้งผลงาน และได้การเรียนรู้ และไม่ใช่การเรียนรู้แบบธรรมดาๆ ต้องได้การเรียนรู้แบบประเทืองปัญญา คือเกิดการตั้งคำถามต่อสมมติฐานหรือทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังงานนั้น
จัดกระบวนการเรียนรู้แบบ เรียนรู้เชิงรุก (active learning)
เน้นหนุนให้ผู้เรียนพัฒนาความสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ (creativity & critical thinking) ใส่ตน เท่าๆ กับการเรียนสาระให้เกิดการพัฒนาสมรรถนะ (competencies) ทั้งสมรรถนะทั่วไป และสมรรถนะเฉพาะด้าน
มุ่งหนุนให้ผู้เรียนพัฒนา สมรรถนะแห่งอนาคต (future skills) ใส่ตน เรื่องนี้ได้อธิบายไว้ในการบรรยายแก่ผู้บริหารของ มศว. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ซึ่งเข้าไปชมได้ที่ (1) ท่านที่สนใจเรื่องอุดมศึกษาที่นำสู่ปัญญาควรเข้าไปชมอย่างยิ่ง จะคุ้มกับเวลา 3 ชั่วโมงเศษของท่าน
ตั้งโจทย์ท้าทาย คือใช้หลัก high expectation, high support เป็นการฝึกสมรรถนะ สู้สิ่งยาก ไม่ท้อถอยยอมแพ้ง่ายๆ ที่เรียกว่า perseverance ที่เมื่อรวมกับ passion ต่อเรื่องนั้น เรียกว่า grit ซึ่งในภาคไทยคืออิทธิบาท 4 (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) นั่นเอง ปัญญาด้านสู้สิ่งยาก เป็นสมรรถนะสำคัญยิ่งต่อชีวิตในอนาคต
ให้ความสำคัญต่อ ปัญญาปฏิบัติ (phronesis) มากพอๆ กับ หรือมากกว่า ปัญญาเชิงทฤษฎี (academic wisdom) ซึ่งหมายความว่า มีการพัฒนาสมรรถนะในการสร้างความรู้ความเข้าใจในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง จากการทำงานหรือการใช้ชีวิต สมรรถนะนี้เรียกว่า การเรียนรู้ผ่านการสะท้อนคิด (reflective learning) โดยต้องมีทั้งสมรรถนะเรียนรู้จากการสะท้อนคิดคนเดียว และสะท้อนคิดเป็นกลุ่ม
ฝึกสะท้อนคิดทั้งเพื่อพัฒนาวิธีปฏิบัติ และเพื่อทำความเข้าใจความรู้ทฤษฎีในมิติที่ลึกและเชื่อมโยงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้เกี่ยวกับบริบทของงานและชีวิตของตน และของผู้อื่น
มีบรรยากาศ หรือระบบนิเวศการเรียนรู้ ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยต่อการแสดงข้อคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ถูกเยาะเย้ยว่าโง่หรือเพี้ยน ยิ่งได้รับความชื่นชมว่ากล้าคิดแหวกแนว ไม่คิดตามความเชื่อเดิมๆ เสมอไป และได้รับคำถามต่อเนื่องว่ามีหลักฐานสนับสนุนข้อคิดเห็นนั้นอย่างไรบ้าง ก็จะเป็นพื้นที่ส่งเสริมความสร้างสรรค์ ที่ต้องส่งเสริมการคิดฟุ้ง (divergent thinking) แล้วสานเสวนากันสู่การคิดสรุป (convergent thinking) ในภายหลัง โดยต้องเอื้อให้วงเสวนาอยู่กับความไม่ชัดเจน (ambiguity) นานเพียงพอ คือไม่ด่วนสรุป
ใช้พลังของความไม่ชัดเจน (ambiguity) เพื่อการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ และเรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง
สรุปสั้นที่สุด การศึกษาที่นำสู่การสร้างปัญญาคือการศึกษาในสภาพจริงของเรื่องราวต่างๆ ที่มีสภาพซับซ้อน (complexity) โดยมีทฤษฎีหรือหลักการช่วยเป็นกรอบการคิด แต่ต้องไม่ติดกรอบ ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับทฤษฎี กล้าเถียงทฤษฎี กล้าตั้งทฤษฎี (เล็ก) จากการปฏิบัติของเราเอง
การศึกษาเพื่อสร้างปัญญาเน้นฝึกตั้งคำถาม พอๆ กับฝึกหาคำตอบ
วิจารณ์ พานิช
17 มี.ค. 65
บทความนี้ เผยแพร่ครั้งแรกใน https://www.gotoknow.org/posts/699984
Comments