top of page

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เมื่อคนได้คนเสียเป็นคนละกลุ่มกัน


รศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ ผู้บรรยาย

สิงหาคม 2561

“เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ของรัฐ รัฐไม่สามารถทำได้อย่างที่ฝัน ที่บอกว่าจะเป็น Thailand 4.0 แล้วมุ่งพยายามให้เด็กไปสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเอง ทั้งที่ทรัพยากรมนุษย์ที่เรามีนั้นน้อยนิดและอ่อนด้อยทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์มาก นี่เป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องมีการสำรวจอย่างรอบด้านว่าเรื่องใดด้านใดที่เรามีความถนัดและมีข้อได้เปรียบในเชิงแข่งขันจริง”

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เอาแนวคิดมาจากนักวิชาการชาวเยอรมันท่านหนึ่ง ชื่อว่า Professor Klaus Schwab ข้อคิดเห็นของเขานำไปสู่แผนการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ก้าวล้ำทันยุคของเยอรมนี ชื่อว่าแผน German Industry 4.0 Professor Klaus Schwab เป็นวิศวกรที่หันมาสนใจเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และจบปริญญาโท-เอก ด้านเศรษฐศาสตร์ ถือเป็นบุคคลที่มีความรู้ทั้งทาง Soft Science และ Hard Science ที่สำคัญเขาเป็นผู้ก่อตั้งสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ดังนั้นบทบาทของเขาจึงได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูง


Klaus เขียนหนังสือออกมาสองเล่ม เล่มแรกคือ The 4th Industrial Revolution ส่วนเล่มที่สอง Shaping The 4th Industrial Revolution เล่มแรกอธิบายความว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมแต่ละครั้งมีประวัติความเป็นมาอย่างไร และสาเหตุที่ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มาจากอะไร และจะมีผลกระทบต่อระบบการจ้างงาน เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในอนาคตอย่าไร ส่วนหนังสือเล่มที่สอง ประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรกเป็นการสรุปเนื้อหาจากหนังสือเล่มแรก ส่วนที่สองจะเป็นการลงรายละเอียดเทคโนโลยีที่สำคัญต่างๆว่ามีเทคโนโลยีอะไรบ้างที่จะกระทบกับมนุษย์ ระบบเศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม รวมๆ แล้วมีประมาณสิบกว่าเทคโนโลยี แต่ในที่นี้ จะขอสรุปเนื้อหาบางส่วนที่สำคัญจากหนังสือเล่มที่สองเท่านั้น ส่วนแรกจะกล่าวถึงความเป็นมาของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ส่วนที่สองจะอธิบายถึงเทคโนโลยี (เพียงบางเทคโนโลยีที่สำคัญมากๆ) ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนโลกในอนาคต



พัฒนาการการปฏิวัติอุตสาหกรรมของโลก


การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เกิดเมื่อปลายศตวรรษที่ 18 เมื่อมีการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำเป็นครั้งแรกในโลก ที่มนุษย์รู้จักใช้พลังงานจากแร่ธาตุมาทดแทนพลังงานของกล้ามเนื้อคนและสัตว์


การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 เกิดขึ้นราวต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อมีการประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าใช้ ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบการส่งถ่ายพลังงานจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งที่อยู่ห่างไกลออกไปในรูปของไฟฟ้าได้ และการประดิษฐ์เครื่องจักรสันดาปภายในที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าสันดาปภายนอก เช่น เครื่องจักรไอน้ำที่ใช้ถ่านหิน คนที่เกิดช่วงหลังของศตวรรษที่ 20 จะเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ชัดเจน


การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 เกิดขึ้นราวประมาณทศวรรษ 1980 แต่ความจริงการสร้างนวัตกรรมนี้เริ่มมีมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เริ่มจากมีการประดิษฐ์ทรานซิสเตอร์ขึ้นก่อน และนำมาประยุกต์ใช้การคำนวณทางคณิตสาตร์ จนนำไปสู่การประดิษฐ์คอมพิวเตอร์ที่เปลี่ยนจากระบบหลอดสุญญากาศมาเป็นระบบสารกึ่งตัวนำที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าและมีราคาถูกลงเรื่อยๆ จนมีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากมายในระดับครัวเรือน ในทศวรรษ 1980 ที่สำคัญ วิวัฒนาการของเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์นี้มีการเปลี่ยนแปลงให้เครื่องขนาดเล็กลงอย่างรวดเร็ว เป็นการก้าวหน้าแบบทวีคูณ คือ ในขณะที่ขนาดเล็กลง ความสามารถกลับมากขึ้นและราคาถูกลงมากมายแบบทวีคูณ เมื่อคอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลงมากๆ จนถึงระดับที่สามารถนำเอาคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กเหล่านี้ไปติดกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการอำนวยความสะดวกในการทำงานในชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้


การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การเปลี่ยนแพลตฟอร์มของโลก การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุด มีจุดเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของระบบสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้เทคโนโลยีทั้งสองอย่างนี้แทบไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่เนื่องจากระบบสื่อสารโทรคมนาคม ได้พัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ และมีขนาดเล็กลง จนเป็นโทรศัพท์พกพาติดตัวขนาดเล็ก ทำให้มีคนเห็นประโยชน์จากการรวมตัวกันของสองเทคโนโลยีนี้ นั่นคือ Steve Job ซึ่งเป็นคนแรกที่นำเอากระบวนการทำงานสองอย่างนี้มาทำงานร่วมกัน เป็นการรวมตัวกันข้ามแพลตฟอร์ม (Platform) นั่นก็คือ โทรศัพท์มือถือที่ใช้เพื่อการสื่อสารอย่างเดียวกับคอมพิวเตอร์ที่ประยุกต์ช่วยทำงานต่างๆ มารวมกัน กลายเป็น “สมาร์ทโฟน”


เมื่อเทคโนโลยีพื้นฐานเปลี่ยนไปในลักษณะข้ามแพลตฟอร์ม จึงก่อให้เกิดธุรกิจข้ามแพลตฟอร์มแบบใหม่ขึ้น เริ่มแรกจากธุรกรรมการโอนเงิน Elon Musk ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Paypal ใช้ Paypal เป็นตัวกลางการโอนเงิน ซึ่งก่อนหน้านี้ บัตรเครดิตยังไม่สามารถตัดเงินในบัญชีธนาคารผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้โดยตรง แต่ Paypal เป็นตัวกลางที่เชื่อมให้บัตรเครดิตสามารถโอนเงินในบัญชีของผู้ซื้อให้กับบัญชีของผู้ขายโดยตรง โดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ตได้ หลังจากนั้นการทำธุรกรรมข้ามแพลตฟอร์มก็มีการพัฒนาเกิดขึ้นใหม่ไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นท้ายที่สุดที่เงินจากคนโอนเงินต้นทางสามารถโอนเงินไปสู่คนรับเงินปลายทางโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านธนาคารที่มีอยู่เดิมอีกต่อไป แต่กลับมีผู้ประกอบการแบบใหม่มาทำหน้าที่แทนธนาคารคือ เจ้าของระบบเครือข่ายสื่อสารออนไลน์ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางให้บริการการทำธุรกรรมทางการค้าผ่านระบบอินเตอร์เน็ตนั่นเอง ดังนั้น จะเห็นว่าในยุคนี้จะมีผู้ที่มีความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์แบบใหม่ในงานธุรกิจสาขาต่างๆ ตั้งตัวเป็นเจ้าของธุรกิจหน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก เนื่องจากความได้เปรียบของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เร็วกว่า และต้นทุนถูกกว่าเทคโนโลยีแบบเก่าที่มีอยู่เดิมนั่นเอง


จับตา 4 เทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของมนุษยชาติ


ในหนังสือ Shaping The 4th Industrial Revolution ได้พูดถึงเทคโนโลยี 4 ตัวที่สำคัญ (ที่จริงมีจำนวนสิบกว่ารายการ) เนื่องจากเทคโนโลยีนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง และจากบทเรียนที่เราเคยผ่านมา ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1, 2 และ 3 การเปลี่ยนแต่ละครั้งสังคมจะได้รับผลกระทบมากเพราะมันจะมีทั้งคนได้และคนเสีย โดยเฉพาะบทเรียนการเปลี่ยนแปลงในยุคที่ 1 และ 2 ที่ผลของการเปลี่ยนเทคโนโลยีทำให้เกิดการปฏิวัติทางสังคม เกิดการนองเลือด เกิดลัทธิการเมือง หนังสือเล่มนี้จึงเน้นย้ำว่าหากรัฐตามไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแล้ว โลกทั้งหมดก็จะเผชิญกับผลกระทบอันไม่พึงประสงค์อีกเฉกเช่นเดียวกับประโยชน์ที่ได้รับจากเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ ดังนั้น รัฐควรจะต้องมีวิสัยทัศน์ และกำหนดกรอบกติกา การกำหนดนโยบายเรื่องดังกล่าวให้มากเพราะเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ (เรียกว่า Disruptive Technology เนื่องจากผลกระทบของเทคโนโลยีเหล่านี้รุนแรงมาก ถึงกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำธุรกิจและการผลิตของมนุษย์ต่างออกไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง) จะมีผลต่อปัจจุบันและอนาคต มีดังนี้


1. ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ในคอมพิวเตอร์ต้องมีชุดคำสั่งที่สั่งให้ทำงานผ่านภาษาที่ใช้สื่อสารระหว่างคนและเครื่องคอมพิวเตอร์ เรียกว่าการโปรแกรมเครื่องคอมพิวเตอร์ต่างๆ ดังเดิมชุดคำสั่งเหล่านี้เป็นคำสั่งตายตัวไม่มีความยืดหยุ่นพอ ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานได้อย่างตายตัวเท่านั้น ต่อมามีการพัฒนาภาษาโปรแกรมเหล่านี้ที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์ทำงานยืดหยุ่นขึ้น จนเครื่องคอมพิวเตอร์สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจงานบางประเภทเหนือมนุษย์ โดยเฉพาะงานที่มีกรอบกติกาทำงานที่ค่อนข้างชัดเจน เช่น การเดินหมากรุก หมากโกะ หมากฮอส รวมถึงเกมส์คอมพิวเตอร์ต่างๆ เป็นต้น พัฒนาการที่สำคัญล่าสุดของชุดคำสั่งโปรแกรมเหล่านี้คือ การสร้างชุดคำสั่งที่ช่วยให้เครื่องคอมพิวเตอร์เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Machine Learning) และเก่งขึ้นเรื่อยๆ หากเครื่องได้รับการฝึกฝนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำนองเดียวกับสมองมนุษย์


2. Robotic Technology คือการนำเอาเทคโนโลยี AI นำไปประยุกต์ใช้ในเครื่องจักรกลอัตโนมัติต่างๆ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจ หรือเรียนรู้ได้ด้วยตนเองทำให้เกิดเป็นหุ่นยนต์เพื่อช่วยหรือทำงานแทนมนุษย์ในกิจกรรมการผลิต บริการหรือให้ความบันเทิงต่างๆ แก่มนุษย์


3. Internet of Things (IoT) คือการนำเซนเซอร์ขนาดเล็กติดไปในอุปกรณ์ เครื่องจักรต่างๆ เมื่อมีเซนเซอรก็ทำให้อุปกรณ์หรือเครื่องจักรสามารถสื่อสารกับเครื่องจักรด้วยกันเองหรือสื่อสารกับมนุษย์ผู้เป็นผู้ควบคุมหรือสั่งการได้ โดยมีระบบเครือข่ายสื่อสารและหน่วยเก็บข้อมูลและหน่วยประมวลผลส่วนกลาง เป็นตัวสำคัญที่ทำให้ระบบ IoT เชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด เช่น ระบบวงจรกันขโมย สามารถเปิดดูได้ผ่านมือถือได้ และหากมีผู้บุกรุก เครื่องจะส่งสัญญาณไปแจ้งเจ้าของบ้าน และยังสามารถแจ้งไปยังสถานีตำรวจได้ด้วย


4. เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เกี่ยวข้องกับการใช้องค์ความรู้ทางด้านชีววิทยาในระดับหน่วยเล็กสุดของสิ่งมีชีวิตคือ ยีนและดีเอ็นเอไปประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ เกษตรกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ (ผู้เขียนจะไม่กล่าวรายละเอียดในที่นี้)


อาชีพที่เปลี่ยนก่อน อาชีพที่เปลี่ยนหลัง อาชีพที่ไม่เปลี่ยนแปลง


เมื่อเกิด Disruptive Technology เรื่องสำคัญที่รัฐควรให้ความสนใจมากคือเรื่องเศรษฐกิจ อาชีพหลายอาชีพจะหายไป หรือถูกแทนที่ บางอาชีพยังคงต้องอยู่แต่เปลี่ยนรูปแบบไป คนที่จะอยู่รอดได้ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น หากไม่มีความคิดสร้างสรรค์ก็แพ้แก่ AI และหุ่นยนต์


กลุ่มแรก อาชีพที่เกิดความเปลี่ยนแปลงก่อน Professor Klaus Schwab มองว่า กิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ทำหน้าที่แค่เป็นตัวกลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Transaction) แต่ไม่ต้องมีการดำเนินการต่อมาด้วย physical action อาศัยแค่ถ่ายข้อมูลแล้วนำไปสู่การตัดสินใจหรือทำธุรกรรมอะไรบางอย่างที่ไม่ต้องอาศัย physical action ตามมา เช่น ธนาคาร หนังสือพิมพ์ (คือการส่งข่าวระหว่างจุดที่มีเหตุการณ์ไปสู่ประชาชน) คนกลางให้บริการขายเพลง ภาพยนตร์ ฯลฯ อาชีพเหล่านี้ จะถูกขจัด (disrupt) ก่อน และในอนาคต กลุ่มที่เป็นล่ามแปลภาษา ก็อาจจะถูกขจัด (disrupt) ด้วย


กลุ่มที่สองที่เป็นอาชีพที่เปลี่ยนแปลงทีหลัง คือ อาจจะเป็นกลุ่มอาชีพที่ต้องมี Physical Movement บ้าง แต่เป็นแค่กิจกรรมสนับสนุนทีหลัง กรณีนี้คือพวกคนกลางซื้อขายสินค้าตามห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ในปัจจุบันก็เกิดมีเทคโนโลยีมาทดแทนแล้ว ได้แก่ระบบ E-Commerce ต่างๆ เช่น Alibaba เป็นคนกลางแบบใหม่เข้ามาแทนที่การซื้อขายจากร้านค้าในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าปลีก กลายเป็นซื้อขายสินค้าออนไลน์ทางคอมพิวเตอร์แทน และคนกลางรายใหม่ที่เป็นเจ้าของตลาดคือ Alibaba กลุ่มห้างสรรพสินค้าเหล่านี้ยังมีอยู่แต่จะมีจำนวนน้อยลงไปเรื่อยๆ หรืออาจจะเหลือเป็นการซื้อขายโดยตรงจากทางโรงงานแทน อีกกลุ่มคือหลังจากมีการพัฒนา AI ที่ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้งานวิเคราะห์บางอย่างถูกแทนที่ด้วยAI งานวิเคราะห์ประเภทนี้ จะเป็นงานวิเคราะห์ที่มีแบบแผนมาตรฐานชัดเจน เช่นงานให้บริการการเงินหน้าเคาน์เตอร์เป็นต้น กลุ่มนี้อาจหมดอาชีพเช่นกัน


กลุ่มที่สามเป็นอาชีพที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นงานที่ต้องใช้มนุษย์สัมพันธ์ เช่น อาชีพหมอ พยาบาล ซึ่งไม่มีทางตกงาน เนื่องจากเครื่องจักรไม่สามารถมีจิตวิญญาณเหมือนคนได้ ไม่มีเมตตา ไม่กรุณา อาชีพที่ต้องใช้มนุษย์สัมพันธ์เครื่องจักรจะเข้ามาแทนไม่ได้ อย่างน้อยอีก 50 ปีข้างหน้าไม่มีทางทำได้แน่ ดังนั้น การมี EQ จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก การฝึกและสร้างคนที่มี EQ ก็ยังต้องทำอยู่ เครื่องจักรเหล่านี้เดิมทีความตั้งใจคือเพื่อช่วยมนุษย์ แต่เมื่อมีความสามารถมากเกินไปมันจึงเข้ามาแทนที่มนุษย์ ฉะนั้นจึงต้องคิดในแง่ที่ว่า มนุษย์ต้องทำงานที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ ส่วนงานที่ยาก แต่ซ้ำซากและเสียเวลาก็ควรให้หุ่นยนต์ทำ กลุ่มอาชีพที่ไม่มีรูปแบบแน่นอน มีความยืดหยุ่นสูง เช่น อาชีพนักกีฬา ซึ่งมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและมีความพลิกแพลง และงานที่ไม่มีรูปแบบตายตัว ต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา ต้องใช้การทำงานร่วมกับหลายๆ ฝ่าย อาชีพเหล่านี้เครื่องจักรจะสู้ไม่ได้ และจะถูกแทนที่ได้ยาก


แนวโน้มอาชีพในอนาคตที่จะไม่ถูก disrupt คือ งานวิชาชีพที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ และผู้ที่จะประสบความสำเร็จได้ ควรสามารถที่จะเรียนรู้และใช้ Disruptive Technology สมัยใหม่ให้มาสนับสนุนกันกับอาชีพของตนได้ ในอนาคต คนต้องมีความรู้เฉพาะเรื่องและมีความรู้ด้าน IT เพื่อนำความรู้สองด้านนี้มาผนวกเข้าด้วยกัน คนกลุ่มนี้จะเป็นคนที่มีโอกาสมากที่สุด ยกตัวอย่าง เภสัชกรที่มีความรู้ด้าน IT จะสร้างโอกาสให้สร้างธุรกิจใหม่ได้ เช่น พัฒนาระบบซอฟต์แวร์การผลิตหรือจัดเก็บคลังยาสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตยาได้



เมื่อคนที่เสีย (ผลประโยชน์) กับคนที่ได้ (ผลประโยชน์) เป็นคนละกลุ่มกัน


ในสหรัฐอเมริกา มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า หลังจากเกิด Disruptive Technology ก็ทำให้เกิดอาชีพใหม่ได้ก็จริง แต่เป็นงานใหม่ที่ต้องการกลับเป็นคนที่มีคุณสมบัติต่างจากของเดิม คนที่จะนำความสามารถของเดิมมาใช้ในงานใหม่ได้นี้มีไม่ถึงร้อยละ 30 อีกร้อยละ 70 เป็นคนแบบใหม่ เพราะฉะนั้นสามารถสรุปได้ว่าเทคโนโลยีใหม่ทำให้เกิดการสร้างงานใหม่ได้จริง แต่งานใหม่ไม่สามารถใช้คนเก่าทำงานได้ แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนของเทคโนโลยีใหม่นั้นต้องการความเชี่ยวชาญของคนที่มีอาชีพแบบใหม่มากกว่าแบบเดิม และคนเก่าที่ถูกออกจากอาชีพเก่าก็คือผู้เสียผลประโยชน์เพราะถูกทดแทนด้วยคนกลุ่มใหม่ ในแง่ของฝ่ายอุปทานมีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้น คือบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ที่เคยครองตลาด กลับตกที่นั่งลำบาก เนื่องจากผู้ผลิตรายเล็กเริ่มสามารถแข่งขันได้ผ่านการผลิตแบบโฮมเมด โฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ แล้วผู้ซื้อก็ซื้อโดยตรง ที่เรียกว่า C2C จึงเกิดเป็นแนวโน้มการทำธุรกิจแบบใหม่ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก


ปัจจุบัน ในสหรัฐมีแนวโน้มว่าเด็กที่จบมัธยมปลายไม่นิยมเรียนต่อมหาวิทยาลัย มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับออกไปทำอาชีพอิสระหรือทำธุรกิจของตนเอง


สิ่งที่น่าวิตกกังวลคือ ถ้าคนอาชีพใหม่เข้ามา แล้วคนอาชีพเก่าถูกแทนที่มันก็จะเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมขึ้น อย่างแรกคือเกิดการว่างงานมากขึ้น อย่างที่สอง ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีใหม่ได้ ทรัพย์สินใหม่นี้ ในแง่ของผู้ใช้มันมีได้เฉพาะคนที่มีฐานะเท่านั้นที่จะมีโอกาสเข้าถึงก่อน ส่วนในแง่การผลิตก็เช่นกันเทคโนโลยีใหม่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบางอย่างของการผลิต การกระจายสินค้าและบริการ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับบริษัทขนาดใหญ่หากปรับตัวไม่ทันก็อาจจะล้มละลายไปทั้งหมด และอาจจะเป็นเหตุที่มาของการว่างงานอย่างมหาศาล


ข้อเสนอ/ข้อตระหนัก ต่อทิศทางการปรับตัวของไทย


1. เทคโนโลยีควรเป็นเพียงเครื่องมือ ควรต่อยอดจากต้นทุนของประเทศไทยที่มี

สำหรับประเทศไทย สิ่งที่สำคัญคือต้นทุนของประเทศ เราต้องรู้ว่าประเทศมีต้นทุนเดิมอะไร ข้อเด่นของเราคืออะไร แล้วจึงนำเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาสนับสนุนต้นทุนของเรา แล้วสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น มีชาวนารุ่นใหม่ที่ทำข้าวออแกนิกส์ขาย แปรรูปเป็นข้าวสารเองบรรจุและขายผ่านโซเชียลมีเดียด้วยตนเอง หากรัฐเข้ามาช่วยสร้างเครื่องมือ แอปพลิเคชั่นที่จะช่วยให้คนรู้จักมากขึ้น และเปิดตลาดไปต่างประเทศได้ จะเป็นการใช้ Disruptive Technology เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยๆ ให้สามารถแข่งขันกับบริษัทค้าข้าวรายใหญ่ๆ ได้ เป็นการทำการตลาดแบบ niche market แต่ตรงนี้ประเทศไทยค่อนข้างมีช่องว่างอยู่มาก เพราะรัฐไทยไม่ได้มีคนที่รู้จริงที่มาช่วยเหลือคนจนมากนัก


จุดแข็งและงานที่ไทยเด่นกว่าชาติอื่นคือ งานเกษตรกรรม งานบริการด้านการแพทย์และสุขภาพ และวัฒนธรรม เนื่องจากเราผลิตบุคลากรทางด้านนี้มาเป็นเวลานานและมีจำนวนมากพอ ที่สำคัญถูกจริตกับคนไทยที่ไม่ต้องใช้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์มาก เพราะฉะนั้นประเทศไทยจะสามารถทำบางเรื่องบางอย่างได้ดี แต่วิธีคิดบ่อยครั้งยังละเลยต่อการทำให้รู้จักตัวเองดีพอ เราคอยทำตามแต่ฝรั่ง เราเห็นฝรั่งทำอะไรก็ทำตาม อยากทำหมดทุก supply chain ซึ่งบางครั้งมันยังไม่ใช่สิ่งที่เราถนัดและชำนาญ


2. ไทยจะเป็นผู้ผลิต หรือผู้ใช้เทคโนโลยี

รัฐมักอ้างว่า เมื่อก่อนเรานำเข้าองค์ความรู้ (Know-how) อย่างเดียว เราไม่สร้าง ทำให้เราไม่สามารถก้าวข้ามการติดกับดักรายได้ปานกลางได้ หลักแนวคิดของรัฐคือจะต้องสร้าง Know-how ขึ้นเอง แต่การสร้าง Know-how รัฐเองก็ยังไม่รู้จริงว่า Know-how ที่เราจะสร้างขึ้นมาสักอย่างนั้นต้องใช้คนในหลายสาขา ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากในระดับที่ต้องมี Critical Mass มากพอ จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ยกตัวอย่างในจีน เพียงงานวิจัยเรื่องเดียวในด้านวิทยาศาสตร์ ต้องใช้นักวิทยาศาสตร์ชั้นหัวกะทิราว 300-400 คน และเงินอีกมหาศาลในการคิดเรื่องนั้นเรื่องเดียว แต่ประเทศไทยจะทำแบบนี้ได้หรือไม่ ประเทศไทยมีทรัพยากรจำกัดและไม่ได้มีคนจำนวนมากขนาดนั้น เพราะฉะนั้น เราไม่จำเป็นต้องทำหมดทุกเรื่องตลอด supply chain เราไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สร้างนวัตกรรมของตนเองทุกelement ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้าง final product ของเราเอง เราเป็นแค่เจ้าของนวัตกรรม key element ที่สำคัญๆ บางชิ้น ในจุดใดจุดหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน ก็ได้ แต่ต้องมี uniqueness ที่ใครก็ทำสู้เราไม่ได้ ซึ่งอิสราเอลก็ใช้วิธีแบบนี้ ประเทศนี้เล็ก อิสราเอลไม่สามารถที่จะผลิตสินค้าจำนวนมากได้โดยพึ่งตลาดภายในเป็นหลักที่เหลือส่งออกเช่นที่จีนทำ จึงทำเฉพาะสิ่งที่ตนเชี่ยวชาญ เช่น โดรน (มาจากสงครามเพื่อใช้สอดแนม) โดรนทางทหารอิสราเอลเก่งที่สุดในโลก อิสราเอลก็ใช้ความรู้จากสงครามมาทำให้กลายมาเป็นเงิน


สำหรับท่าทีของไทย เป็นไปได้สองแนวทางคือ หนึ่ง เราเข้าไปเป็นผู้สร้างนวัตกรรมและผลิตDisruptive Technology ของตนเอง หรือ สอง เราเป็นเพียงผู้ประยุกต์ใช้ Disruptive Technology อย่างชาญฉลาด เป็นผู้มีความรู้ใน Disruptive Technology เป็นอย่างดี แต่ไม่ใช่เป็นผู้สร้างนวัตกรรม Disruptive Technology ของตนเองแบบครบวงจร ซึ่งในความเห็นผม เราต้องมีกลยุทธ์ที่ถ้าจะเป็นผู้ใช้ ก็ต้องใช้อย่างชาญฉลาด ต้องใช้แบบรู้ลึกรู้จริง ไม่ใช่เป็นผู้ใช้ขั้นสุดท้ายแบบไม่รู้อะไรเลย ต้องรู้ระดับ concept ของเครื่องในระดับที่อย่างน้อยต้องสามารถซ่อมเครื่องด้วยตนเองได้ หากเรารู้ถึงระดับนั้น จะทำให้เรารู้จักตัวเองด้วยว่า มีบางเรื่องบางอย่างที่เราจะมีความสามารถเพียงพอที่จะสร้างด้วยตนเอง เพราะเราเป็นผู้ใช้เครื่องนี้มากเป็นพิเศษ หรืออาจมีผู้จบด้านนี้เป็นพิเศษแต่มีจำนวนคนมากพอ และมีทรัพยากรสนับสนุนอย่างเพียงพอ หากเป็นกรณีเช่นนี้เราอาจสามารถพัฒนาเป็น Know-how เฉพาะเรื่องเฉพาะอย่างได้



ข้อสรุป


เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ของรัฐ รัฐไม่สามารถทำได้อย่างที่ฝัน ที่บอกว่าจะเป็น Thailand 4.0 แล้วมุ่งพยายามให้เด็กไปสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเอง ทั้งที่ทรัพยากรมนุษย์ที่เรามีนั้นน้อยนิดและอ่อนด้อยทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์มาก นี่เป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องมีการสำรวจอย่างรอบด้านว่าเรื่องใดด้านใดที่เรามีความถนัดและมีข้อได้เปรียบในเชิงแข่งขันจริง


แต่ถ้าเราเลือกที่จะเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี เราจะกลายเป็นผู้ใช้ที่ชาญฉลาดได้อย่างไร เมื่อเราเป็นผู้ใช้ เราควรที่จะพลิกแพลงต่อยอดเทคโนโลยีที่นำเข้ามาได้ เช่น ถ้าเราจะตั้งเป้าเป็นแค่ผู้ประยุกต์ใช้ AI อย่างน้อยที่สุด เราก็ควรจะเป็นโปรแกรมเมอร์ที่รู้ภาษา AI อย่างดีในระดับที่สามารถจะเขียนแอปพลิเคชั่นที่นำไปใช้ประโยชน์เฉพาะงานได้ และมีจำนวนมากพอในทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังต้องรู้ตัวเองด้วยว่าเราถนัดอะไร มีข้อเด่น ข้อด้อยอะไร ไม่ใช่ทำตามต่างประเทศทั้งหมด แล้วค่อยนำความถนัดของเรามาปรับใช้กับ เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ให้เหมาะสม



เรียบเรียง: ปลายฟ้า บุนนาค ผู้ช่วยนักวิจัย


ดู 175 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page