top of page
klangpanyath

การทูตสาธารณะแบบจีน

อัปเดตเมื่อ 25 ต.ค. 2564



การทูตสาธารณะคืออะไร


การทูตสาธารณะในแนวคิดและปฏิบัติจริงในโลกตะวันตก คือการทูตสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่มองว่าการทูตไม่ใช่เรื่องของรัฐอีกต่อไป ทำให้มีตัวแสดงในการดำเนินนโยบายทางการทูตนอกจากรัฐ โดยเฉพาะภาคประชาสังคม และภาคบริษัทเอกชนที่จะสนับสนุนนโยบายของรัฐตนและรัฐที่รับเอานโยบายไปมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนในรัฐอื่น เพราะฉะนั้น รัฐสามารถค่านิยมผ่านการทูตสาธารณะได้ เสมือนการสร้างเพื่อน โดยมีทุกรัฐเป็นเพื่อนเพื่อลดการพึ่งพิงมหาอำนาจ


โดยศาสตราจารย์ Nicholas J.Cull แห่งมหาวิทยาลัย Southern California ผู้เชี่ยวชาญด้านการทูตสาธารณะ ให้ความเห็นว่า ถ้ารัฐต้องการใช้การทูตสาธารณะให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องเริ่มจากการฟังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเชื่อมโยงภาคประชาชนกับนโยบายของรัฐ โดยรัฐต้องมีความน่าเชื่อ และคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชน (public opinion) รวมทั้งมีวาทศิลป์ไม่ให้เกิดกระแสต่อต้าน


โดยการทูตสาธารณะในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศฝรั่งเศสที่ได้ใช้การทูตสาธารณะในการขยายอิทธิพล ความเป็นฝรั่งเศสผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการไปยังประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ (francophone countries) โดยร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน เอกชน และหน่วยงานต่างๆ

ยิ่งไปกว่านั้นในสหราชอาณาจักร ได้สนับสนุนการทูตสาธารณะ โดยเชื่อมกับ Soft Power ผ่านหน่วยงานส่งเสริมวัฒนธรรม เช่น The British Council เพื่อสร้างฐานข้อมูลเชื่อมโยงระหว่างองค์กระและบุคคลในประเทศที่หน่วยของอังกฤษไปตั้งถิ่นฐาน และสร้างความร่วมมือกับสาธารณชนในต่างประเทศ


แต่อย่างไรก็ตามในบทความนี้จะพูดถึงการทูตสาธารณะของประเทศจีนเป็นสำคัญ ซึ่งในประเทศจีนมี 3 คำที่ใกล้เคียงกับคำว่า “การทูตสาธารณะ” คือ การทูตพลเมือง การทูตของประชาชน และการทูตระหว่างประชาชน ซึ่งในแต่ละคำใช้ในยุคสมัยที่แตกต่างกันของประเทศจีน

รัฐบาลจีนทดลองปฏิบัติการทูตสาธารณะในแบบของตนเองโดยตั้งเป้าหมายและวางแผนจัดกิจกรรมระดับโลก 2 กิจกรรม ได้แก่ การเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในค.ศ. 2008 และการจัดงานนิทรรศการโลกในค.ศ. 2010 กิจกรรมทั้งสองมีกระบวนการเตรียมการ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการใช้ทูตสาธารณะในการสื่อสารผลประโยชน์และคุณค่าของจีนหลังการปฏิรูปและเปิดประเทศในค.ศ. 1987 คำกล่าวข้างต้นของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา (Hu Jintao) ในการประชุมคณะผู้แทนทางการทูตของจีนในต่างประเทศ ครั้งที่ 11 ณ กรุงปักกิ่ง ในค.ศ. 2009 ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำสูงสุดของจีนตระหนักถึงความสำคัญของการทูตสาธารณะในนโยบายต่างประเทศของจีน


1. การทูตสาธารณะของจีนในรัฐบาลหู จิ่นเทา


1.1 จีนที่เปิดกว้าง ทันสมัย และพัฒนา: ภาพลักษณ์จีนใหม่ในปักกิ่งโอลิมปิก ค.ศ. 2008

กีฬาโอลิมปิกคือโอกาสทางเศรษฐกิจและการทูตสาธารณะครั้งใหญ่ของจีน ถือเป็นโอกาสที่จีนส่งข้อความถึงสังคมระหว่างประเทศว่า จีนพร้อมเปิดตัวในฐานะชาติสมัยใหม่และมีความก้าวหน้า มีสื่อมวลชนชาวญี่ปุ่นเคยสัมภาษณ์เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) เกี่ยวกับโอกาสในการเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกของจีนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1979 ในเวลานั้น เติ้งตอบแต่เพียงว่า มีความเป็นไปได้ที่จีนจะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิก และหนึ่งทศวรรษต่อมา ขณะที่เติ้งกำลังตรวจงานก่อสร้างกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 11 ณ กรุงปักกิ่ง ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1990 เติ้งถามเจ้าหน้าที่ว่า “ได้ตัดสินใจหรือยังที่จะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกนั้นจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ชาติจีนของเรา แล้วก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนะ สิ่งก่อสร้างทั้งหลายที่สวย ๆ นี่แทบจะสูญเปล่าเลยถ้าเราไม่ลองประมูลเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกดูบ้าง” คำกล่าวของเติ้งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ


ประธานาธิบดีหู จิ่นเทาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้งานแสดงดังกล่าวในฐานะเครื่องมือของการทูตสาธารณะไว้อย่างน่าสนใจ ระหว่างการตรวจสอบความพร้อมของพื้นที่จัดงานใน 4ข้อ ดังนี้

  1. ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองระดับสูงและผู้เข้าชมชาวต่างชาติให้ดีด้วยการต้อนรับอย่างอบอุ่นในแบบจีนและแสดงความก้าวหน้าที่สอดคล้องกลมกลืนกับความเปิดกว้างของจีน

  2. มั่นใจว่าข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลมีประสิทธิภาพ

  3. ส่งเสริมความเข้าใจร่วมกันระหว่างประชาชนจีนกับประชาชนทั่วโลกด้วยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจและการแสดงความสำเร็จและประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลอดช่วง 30 ปีของการปฏิรูปและเปิดประเทศ

  4. แปลงทรัพยากรจับต้องไม่ได้ที่งานจัดแสดงสร้างขึ้นให้เป็นการส่งเสริมการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ และฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก”[1]


ทั้งนี้ คำขวัญของการจัดแสดงงานดังกล่าวเป็นคำขวัญเดียวกันกับการประมูลนั่นคือ “เมืองที่ดีกว่า ชีวิตที่ดีกว่า” การคัดเลือกคำขวัญของงานนี้ใช้วิธีเดียวกันกับการประมูลเพื่อเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกนั่นคือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติเสนอแนะความคิด โดยเปิดรับเป็นภาษาอังกฤษตั้งแต่ต้น สำหรับความคิดรองของงานก็มีหลากหลายมากตั้งแต่ “การผสมผสานวัฒนธรรมที่หลากหลาย” “ความมั่งคั่งไพบูลย์” “นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” “การแสวงหาตัวแบบใหม่ของชุมชนเมือง” “และปฏิสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบท” ซึ่งทั้งหมดนี้สื่อถึงภาพลักษณ์ใหม่ที่จีนใหม่ต้องการนำเสนอนั่นคือ สังคมที่สอดคล้องกลมกลืนและความยั่งยืน[2]


สาระหลักที่งานจัดแสดงนี้ต้องการสื่อคือ การแสดงความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในช่วงการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน สร้างภาพลักษณ์การพัฒนาอย่างสันติในสังคมระหว่างประเทศ และเสริมสร้างความร่วมมืออย่างมีสันถวไมตรีกับนานาอารยประเทศ นอกจากนี้ เป็นการจัดแสดงอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่และวัฒนธรรมที่รุ่มรวย ขยายการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับภายนอก และส่งเสริมการพัฒนาสังคม ผู้จัดงานตั้งเป้าหมายว่า งานดังกล่าวจะช่วยตอบโจทย์สำคัญ 3 ข้อ ได้แก่

1) เมืองแบบไหนที่ทำให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น

2) วิถีชีวิตแบบไหนที่ทำให้เมืองกลมกลืนและพัฒนาดียิ่งขึ้น

3) วิถีการพัฒนาเมืองแบบไหนที่ทำให้โลกดีขึ้นและเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น


ทั้งนี้ จีนต้องการแสดงให้โลกเห็น “ภาพของการพัฒนาเมืองที่เป็นจริง” และหวังว่าจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายระหว่างประเทศในด้านยุทธศาสตร์เมืองและการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการประมูล จีนเน้นว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการจัดงานแบบ “สีเขียว” เน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม และนำเสนอนวัตกรรมพัฒนาเมืองสีเขียวสำหรับอนาคตด้วย ในการสร้างสัญลักษณ์ของงานนั้น จีนพยายามผสมผสานแก่นความคิดให้เข้ากับวัฒนธรรมของจีน โดยสร้างออกมาเป็นภาพคนสามคนจับมือกันแสดงถึงความเป็นครอบครัวใหญ่ของมนุษยชาติ และวาดเป็นตัวอักษร 世 ที่แปลว่า โลกดังภาพที่ 2 เพื่อส่งสารถึงสังคมระหว่างประเทศว่า งานดังกล่าวเป็น “งานระดับโลกและเป็นการแสดงวัฒนธรรมเมืองที่แตกต่างหลากหลายของโลก"


สัญลักษณ์ของงานนิทรรศการโลกที่เซี่ยงไฮ้ ค.ศ. 2010





ที่มา: เว็บไซต์ทางการของงานนิทรรศการโลกที่เซี่ยงไฮ้ ค.ศ. 2010



2. การทูตสาธารณะของจีนในรัฐบาลสี จิ้นผิง


2.1 การสืบสานและต่อยอดการทูตสาธารณะแบบจีนของผู้นำรุ่นที่ 5


ผู้นำจีนรุ่นที่ 5 ยังคงสานต่อปณิธานอันแน่วแน่ของผู้นำรุ่นก่อนในการสื่อสารกับประชาคมระหว่างประเทศ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประกาศ “ความฝันของจีน (China Dream/中国梦)” ในค.ศ. 2012 เน้นย้ำการแสวงหาและพัฒนา “ความคิดสังคมนิยมที่มีลักษณะแบบจีน (Socialism with Chinese Characteristics/中国特色社会主义)” และ “การฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของชาติจีนอีกครั้ง (Great Rejuvenation of the Chinese Nation/中华民族的伟大复兴)” ให้เป็นประเทศที่มีสถานะและบทบาทในประชาคมระหว่างประเทศ พ้นจากความยากจน ประชาชนกินดีอยู่ดี ซึ่งเป็นการเรียนรู้และต่อยอดจากประสบการณ์ที่จีนเคยผ่านมาในอดีตในช่วงที่มหาอำนาจตะวันตกเข้ามารุกราน ครอบครอง และแบ่งแผ่นดินจีนออกเป็นส่วน ๆ บัดนี้ ถึงเวลาแล้วที่จีนจะก้าวไปข้างหน้า มุ่งสู่อนาคตด้วยความคิดแบบจีนและการปฏิบัติแบบจีน ดังที่ Brown วิเคราะห์ไว้ว่า


“ความฝันของจีนนั้นเป็นเรื่องราวชั้นเยี่ยมที่จัดการกับการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูป และการเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัย ขณะที่ยังยึดมั่นรักษาพันธกิจหลายประการตามที่ได้ประกาศเอาไว้...จากนี้ไป พรรคคอมมิวนิสต์จีนคงไม่ใช่แค่ทำให้คนในชาติสามารถบรรลุความต้องการทางวัตถุเท่านั้น แต่ต้องบรรลุเป้าหมายทางอุดมคติ แรงบันดาลใจอื่น ๆ และความหวังด้วย”[1]


เช่นเดียวกับนโยบายเพื่อนบ้านที่ดี (Good Neighbor Policy/中国的睦邻政策) การทูตสาธารณะเป็นอีกเสาหลักหนึ่งในการดำเนินวิเทโศบายที่จีนให้ความสำคัญ ดังที่ประธานาธิบดีสีกล่าวถึงการสื่อสารภาพลักษณ์ของจีนในการประชุมว่าด้วยภารกิจทางอุดมการณ์และการสื่อสารภาพลักษณ์แห่งชาติเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 2013 ไว้ว่า จีนต้องมีการสร้างแนวทางการสื่อสารใหม่ ๆ ที่เป็น “การบอกเล่าเรื่องราวที่ดีของจีนสู่โลก (Telling a good story of China/讲好中国故事)” และส่งเสียงของจีนให้กึกก้องในประชาคมระหว่างประเทศ ดังที่หวัง อี้เหว่ย (Wang Yiwei) ศาสตราจารย์สาขาการระหว่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยเหรินหมินกล่าวว่า


“ดังที่ท่านเลขาธิการพรรค สี จิ้นผิงกล่าวไว้ ความท้าทายแห่งยุคสมัยของเรานั้นอยู่ที่การสื่อสารเรื่องราวของเรา ภารกิจแห่งยุคสมัยของเราจึงอยู่ที่การบอกเล่าเรื่องราวที่ดีของจีนสู่โลก...อย่างแรกคือ เรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศและวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลัง...การบอกเล่าเรื่องราวที่ดีของจีนสู่โลกนั้นหมายถึง การบอกเรื่องดี ๆ ของคน ๆ หนึ่งและการขยายเสน่ห์และความน่าสนใจของจีนผ่านความสนใจส่วนบุคคล...จีนมีเรื่องราวน่าสนใจหลายเรื่อง มีทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่การบอกเล่าแนวคิดและวิธีปฏิบัติแบบจีนที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวเหล่านั้น”[2]


นอกจากการบอกเล่าเรื่องราวที่ดีของจีนแล้ว นักวิชาการจีนยังอธิบายว่า จีนปรารถนาที่จะแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาและนำปรัชญาที่จีนสั่งสมมาไปสนทนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอารยธรรมหลักอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอารยธรรมญี่ปุ่น อารยธรรมอินเดีย อารยธรรมอิสลาม หรืออารยธรรมแอฟริกันด้วย อีกประเด็นหนึ่งที่กรอบความคิดการทูตสาธารณะของจีนแตกต่างจากกรอบความคิดการทูตสาธารณะของโลกตะวันตกคือ การใช้การทูตเป็นเครื่องมือสะท้อนเสียงและผลประโยชน์ของประชาชนจีนทั้งในและนอกประเทศ และสื่อสารวาระทางนโยบายภายในประเทศไปสู่ประชาคมระหว่างประเทศ ดังที่ Edney เสนอไว้ว่า ความพยายามส่งเสริมวัฒนธรรมของจีนในประชาคมระหว่างประเทศและส่งเสียงของจีนให้กึกก้องนั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกำหนดสภาพแวดล้อมที่ประกอบความเห็นสาธารณะที่เชื่อมโยงสอดคล้องกับวาระทางการเมืองภายในของพรรคคอมมิวนิสต์จีน[3]


ในการมุ่งสู่ความฝันของจีน จีนประกาศมหายุทธศาสตร์แถบและเส้นทางหรือ BRIในค.ศ. 2013 ในช่วงที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเดินทางเยือนคาซัคสถานและรัสเซีย มหายุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นการสร้างความเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกทั้งทางบกและทางทะเล โดยต่อยอดจากเส้นทางสายไหมในประวัติศาสตร์ของจีน ประกอบด้วย 5 เสาหลัก ได้แก่ การประสานนโยบาย (Policy Coordination) การอำนวยความสะดวกเพื่อสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity Facilitation) การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่ไม่มีอุปสรรค (Unimpeded Trade) การบูรณาการทางการเงิน (Financial Integration) และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน (People-to-people Exchanges) มีประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อมโยงดังกล่าวกว่า 60 ประเทศ จึงมีผู้เรียกมหายุทธศาสตร์นี้ว่าเป็น “แผนการมาร์แชล (Marshall Plan) ของจีน”[4]


Tony Liu เสนอว่า ในแง่การทูตสาธารณะ รัฐบาลจีนนำเสนอ BRI ใน 3 องค์ประกอบหลัก องค์ประกอบแรกคือ การนำเสนอ BRI ในฐานะตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจจีน การนำเสนอมหายุทธศาสตร์ดังกล่าวไม่มีเพียงกรอบความคิดที่กว้างหรือเป้าหมายหลักเท่านั้น ยังมีรายละเอียดของประเด็นและกลไกการขับเคลื่อนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก่อตั้งกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund: SRF) และธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Project: AIIB) เพื่อส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการพัฒนาเส้นทางขนส่ง ที่สำคัญ จีนไม่ได้นำเสนอแต่วาระของตนอย่างเดียว ยังมีการนำเสนอวาระที่เชื่อมโยงกับวาระทางนโยบายระดับโลกอื่น ๆ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างและพัฒนานวัตกรรม และการพัฒนาสีเขียว วิธีที่จีนใช้สื่อสารประเด็น BRI ก็มีหลากหลายมากตั้งแต่การสื่อสารโดยตรงในการประชุมระหว่างประเทศ การจัดทำรายงานการทูตสาธารณะที่เป็นผลจาก BRI ออกเผยแพร่ การผลิตสารคดี และการทำเพลง[5]


องค์ประกอบที่สองคือ การนำเสนอภาพบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จีนที่มีคุณูปการในระดับโลกโดยเชื่อมโยงกับ BRI โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จางเชียนและเจิ้งเหอ ผู้บุกเบิกเส้นทางสายไหมคนสำคัญ และยังมีการสัมภาษณ์บุคคลผู้มีชื่อเสียงและผู้เชี่ยวชาญจำนวน 60 คนที่มีความรู้และมีความเกี่ยวข้องกับ BRI นำเสนอผ่านทาง CCTV อีกด้วย องค์ประกอบสุดท้าย การนำเสนอภาพลักษณ์ของจีนผ่านผู้มีบทบาททางการเมืองและทางธุรกิจเพื่อดึงความสนใจจากสื่อต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศผ่านผู้นำประเทศ เรียกว่า “การทูตผู้นำ (Head of State Diplomacy)” ที่ “จีนให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากการต่างประเทศไม่ได้เป็นแค่บทบาทของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น”[6] การที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางไปเยือนประเทศต่าง ๆ ถึง 69 ประเทศ เป็นจำนวนถึง 42 ครั้ง เพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับพหุภาคีและทวิภาคี ในการเดินทางแต่ละครั้ง สื่อมวลชนจะต้องทำข่าว แน่นอนว่า สื่อก็จะมีโอกาสศึกษาและเผยแพร่ประเด็นเกี่ยวกับ BRI ซึ่งเป็นวาระทางนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของจีนด้วย[7]


Rawnsley เสนอว่า ความพยายามในการส่งเสริมวัฒนธรรมที่เข้มแข็งเพื่อขยายวาระและคุณค่าของจีนในประชาคมระหว่างประเทศตามคำกล่าวของสี จิ้นผิงในตอนเปิดของบทนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองจีนจาก “การแทรกซึมทางวัฒนธรรม (Cultural Infiltration/文化渗透)” มาพร้อมกับคลื่นสินค้าวัฒนธรรมจากชาติอื่นที่หลั่งไหลเข้ามาในจีนเป็นจำนวนมาก ความตระหนักถึง “ภัย” เช่นนี้มีมาตั้งแต่สมัยหู จิ่นเทาที่พิจารณากระแสเหล่านี้เป็นการวางโครงเรื่องเพื่อทำให้จีน “กลายเป็นตะวันตก” และพยายาม “แบ่งแยก” จีน หูเตือนให้จีน “เฝ้าระวังและมีมาตรการตอบโต้ที่แข็งขัน” ในการแสดงมุมมองต่อความมั่นคงแห่งชาติแบบองค์รวมของจีน

สี จิ้นผิงเสนอให้สร้าง “การฟื้นฟูศิลปวิทยาการทางวัฒนธรรม (Cultural Renaissance)” เพื่อฟื้นฟูคุณค่าและความสูงส่งทางจริยธรรมแบบจีนเหนือคุณค่าตะวันตก และเพื่อเสริมสร้าง “ความมั่นใจตนเองในทางวัฒนธรรม (Cultural Self-confidence)” ให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง หากกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงปักกิ่งในค.ศ. 2008 และงานแสดงสินค้าที่เซี่ยงไฮ้ ค.ศ. 2010 เป็น “ลายมือ” สำคัญของรัฐบาลหู จิ่นเทาแล้ว มหายุทธศาสตร์ BRI และการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในคุณค่าและปัญญาของจีนก็คือ “ลายมือ” ของรัฐบาลสี จิ้นผิง ซึ่งสะท้อนความฝันของจีนในอีกด้านหนึ่งนั่นคือ การเสนอทางเลือกอื่นนอกจาก “ความฝันของอเมริกา (American Dream)” ที่เน้นแต่คุณค่าของปัจเจกมากเกินไปนั่นเอง[8]


2.2 ประเทศที่มีความรับผิดชอบ: การทูตสาธารณะของจีนกับสถานการณ์โรคโควิด-19


โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับบริบทและเงื่อนไขภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่หลายประเทศเอเชียไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย เกาหลีใต้ หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเวียดนามและกัมพูชา ต่างใช้โรคโควิด-19 เป็นโอกาสในการสร้างและปรับภาพลักษณ์ และขยายความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อขยายสถานะและบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศของตน ในกรณีของจีน แม้จะเป็นประเทศที่ประกาศว่า พบผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการเป็นประเทศแรก แต่จีนก็สามารถพลิกสถานการณ์จากการเป็น “ผู้ประสบภัย” ให้กลายเป็น “ผู้ช่วยเหลือ”[9] หรือ “ประเทศที่มีความรับผิดชอบ (Responsible Major Country)” ต่อประเทศเพื่อนบ้านและมนุษยชาติผ่าน “การทูตหน้ากากอนามัย (Mask Diplomacy)”[10]


ภูมิภาคเอเชียเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของจีนทั้งในด้านการต่างประเทศและความมั่นคง เนื่องจากจีนมีพรมแดนติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ถึง 14 ประเทศ ที่สำคัญ ประเทศเหล่านี้ส่วนมากเป็นประเทศหุ้นส่วนของมหายุทธศาสตร์ BRI ด้วยกันทั้งสิ้น ในภูมิภาคเอเชียไม่ว่าจะเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชียกลางนั้น ประเทศส่วนใหญ่ตอบรับความช่วยเหลือของจีนอย่างดี กิจกรรมที่จีนดำเนินการส่วนมากเป็นการประชุมทางไกลเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์การจัดการโรค การมอบหน้ากาก ซึ่งการมอบสิ่งของที่จำเป็นสำหรับการป้องกันโรคโดยปิดข้อความที่เป็นถ้อยคำให้กำลังใจหรือบทกวีภาษาท้องถิ่นของประเทศนั้น ๆ บนกล่องหน้ากากอนามัย เพื่อสื่อสารกับคนท้องถิ่นให้รับรู้ถึงความตั้งใจของจีนมากขึ้น

ผลจากการทูตของจีนนั้นทำให้ชนชั้นนำของหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มองจีนในเชิงบวก ดังรายงานของศูนย์ยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies: CSIS) ที่สำรวจความคิดเห็นของชนชั้นนำทางการเมืองในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า จีนได้รับความนิยมในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้นในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 และมีแนวโน้มว่า ผู้มีบทบาทเหล่านี้เห็นศักยภาพของจีนทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้าอย่างมาก[11]




อ้างอิง [1] Kerry Brown, The New Emperors: Power and Princelings in China (London: I.B. Tauris, 2014), 206, 208. [2] Yiwei Wang, “Jianghao zhongguo gushi shi shidai shiming,” อ้างใน Tony Tai-Ting Liu, “Public Diplomacy: China’s Newest Charm Offensive,” in New Perspectives on China’s Relations with the World: National, Transnational and International, eds. Daniel Johanson, Jie Li and Tsunghan Wu (Bristol: E-International Publishing, 2019), 80, https://www.e-ir.info/publication/new-perspectives-on-chinas-relations-with-the-world-national-transnational-and-international/. [3] Kingsley Edney, “Soft Power and the Chinese Propaganda System,” Journal of Contemporary China 12, no. 78 (2012): 914. [4] Gary D. Rawnsley, “Communicating Confidence: China’s Public Diplomacy,” in Routledge Handbook of Public Diplomacy, eds. Nancy Snow and Nicholas J. Cull, second edition, (New York: Routledge, 2020), 288. [5] Tony Tai-Ting Liu, “Public Diplomacy,” 80-81. [6] เอนก เหล่าธรรมทัศน์, สัมภาษณ์โดยคณะผู้วิจัย, กรุงเทพฯ, 14 กรกฎาคม 2563. [7] Ibid. [8] Rawnsley, “China’s Public Diplomacy,” 287.


[9] เสกสรร อานันทศิริเกียรติ, “โควิด-19: มองประเด็นการแข่งขันทางการทูตทั่วโลก และความท้าทายทางการทูตของไทย,” The Momentum, 29 เมษายน 2563, https://themomentum.co/mask-diplomacy-amid-coronavirus/. [10] “Mask Diplomacy: China tries to rewrite virus narrative,” Bangkok Post, March 20, 2020, https://www.bangkokpost.com/world/1882990/mask-diplomacy-china-tries-to-rewrite-virus-narrative. [11] CSIS, Powers, Norms, and Institutions: The Future of the Indo-Pacific from a Southeast Asia Perspective(Washington: CSIS, 2020), 1, https://csis-website-prod.s3.amazonaws.com/s3fs-public/publication/20624_Green_PowersNormsandInstitutions_WEB%20FINAL%20UPDATED.pdf.



ดู 486 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentários


bottom of page