คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ผู้อำนวยการสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. จำนง สรพิพัฒน์ ที่ปรึกษาสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ ให้การต้อนรับ พูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ "มุมมองของจีนต่อสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ" กับ ศาสตราจารย์ Wang Jian, ผู้อำนวยการสถาบัน Institute of International Relations, Shanghai Academy of Social Sciences (SASS) และทีมคณะอาจารย์ในสถาบันอีก 3 ท่านได้แก่ ศาสตราจารย์ Tang Wei, รองศาสตราจารย์ Liu Jingqian และ ดร.Wang Chengzhi
ศาสตราจารย์ Wang Jian เป็นผู้อำนวยการของ Institute of International Studies, Shanghai Academy of Social Sciences และยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันตกและแอฟริกาเหนือศึกษา (CWANAS) ของ SASS รองประธานสมาคมการศึกษานานาชาติเซี่ยงไฮ้ และรองคณบดีศูนย์ศึกษาชาวยิวเซี่ยงไฮ้ งานวิจัยของท่านมุ่งเน้นไปที่เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ ปัญหาตะวันออกกลางและชาวยิว (อิสราเอล) ความสัมพันธ์จีน-ต่างประเทศ และการทูตจีน ผลงานของท่านได้ตีพิมพ์เป็นบทความมากกว่า 70 บทความในวารสารที่มีชื่อเสียง เช่น World History และ Contemporary Chinese History Research รวมถึงหนังสือพิมพ์ เช่น People's Daily และ Guangming Daily ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 - 2545 ท่านได้ไปเยี่ยมนักวิชาการที่สถาบันทรูแมนที่มหาวิทยาลัยฮิบรูแห่งเยรูซาเลมในประเทศอิสราเอล และได้รับเชิญจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้เป็นผู้ International Visitor และเยี่ยมชมหน่วยงานภาครัฐ คลังสมอง และมหาวิทยาลัยกว่า 50 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา
สาระสำคัญของการแลกเปลี่ยนครั้งนี้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศในขณะนี้ จีนในฐานะเป็นประเทศมหาอำนาจอีกขั้วหนึ่ง มุมมองและจุดยืนของจีนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ในภาพรวม ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก็ยังเป็นคู่แข่งกัน เมื่อ ค.ศ. 2022 จากรายงานยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ National Security Strategy October 2022 ที่เปิดเผยว่า สหรัฐยังคงมองว่าจีนเป็นคู่แข่งสำคัญ และเป็นความท้าทายของสหรัฐฯ จีนเป็นประเทศที่มีความสามารถที่จะเปลี่ยนระเบียบโลก เพราะจีนแข็งแกร่งทั้งในด้านเศรษฐกิจ การทูต การทหารและเทคโนโลยี หวังมีอิทธิพลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและเป็นผู้นำโลกเช่นเดียวกับสหรัฐฯ ในรายงานฉบับนี้ยังย้ำว่าจีนใช้พลังอำนาจทางเศรษฐกิจเข้าต่อรองและบังคับประเทศอื่นๆ ให้ร่วมกับจีนเพื่อผลประโยชน์ของจีน
ทั้งสองฝ่ายยังแลกเปลี่ยนเรื่องการต่อสู้และแข่งขันกันของมหาอำนาจต่างๆ ในโลกในแต่ละประเด็น ดังนี้
- ประเด็นการแข่งขันในเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างจีนและสหรัฐ จีนเป็นประเทศที่ท้าทายและเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ ในเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยี จีนสามารถทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นสินค้า mass production สินค้านวัตกรรมที่มีราคาที่ถูก ทำให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนำมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันได้ดี ซึ่งสหรัฐฯ ยังไม่สามารถเปลี่ยนเทคโนโลยีให้ราคาถูกได้แบบจีน ในหลายอุตสาหกรรมจึงมีการแข่งขันกันอยู่เสมอ เช่น อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก ทุกวันนี้โลกตัองการเทคโนโลยีใหม่ในการจัดการกับปัญหาภูมิอากาศและโลก (Climate Change) แต่ประเทศมหาอำนาจกลับแข่งขันกัน กีดกันเทคโนโลยีอีกฝ่าย สหรัฐฯ ประกาศแผนการที่จะปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีนสู่ระดับ 100% และปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าประเภทอื่น ๆ ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์จากจีน เช่น อุปกรณ์โซลาร์เซลและเซมิคอนดักเตอร์ เนื่องจากกังวลว่าจีนจะทำให้ภาคการผลิตของอเมริกามีปัญหาทั้งด้านราคาสินค้าและตลาดแรงงาน ในขณะที่จีนเองก็ได้ย้ายฐานการผลิตด้านพลังงานทางเลือก เช่น เรื่องโซลาร์เซล มาผลิตที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย มาเลเซีย กัมพูชา ซึ่งเมื่อประเทศเหล่านี้ส่งสินค้าแผงโซล่าร์เซลไปยังสหรัฐฯ บริษัทเอกชนในสหรัฐเรียกร้องให้ขึ้นภาษีสินค้าดังกล่าวจากประเทศเหล่านี้ เพราะกังวลว่าจีนจะได้ประโยชน์และทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้ในสหรัฐถูกจนกระทบธุรกิจของสหรัฐฯ ซึ่งในมุมมองของจีนมองว่าสหรัฐฯ ไม่ได้คิดถึงประชาชนและปัญหาภูมิอากาศของโลกเป็นหลัก ทั้งๆ ที่สินค้าเหล่านี้ควรทำให้มีราคาถูก ทุกคนเข้าถึงได้ และช่วยให้โลกมีภาวะอากาศที่ดีขึ้น แต่กลับเน้นประโยชน์ทางด้านการค้าเป็นหลัก
- ประเด็นเรื่องไต้หวัน ที่ผ่านมาจีนทราบดีว่าสหรัฐฯ พยายามที่ยั่วยุให้จีนและไต้หวันเข้าสู่ภาวะความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น จากเหตุการณ์ที่ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ มาเยือนไตหวันโดยตรง สหรัฐฯ ต้องการให้เกิดสงครามในภูมิภาคแห่งนี้ ในอนาคตหากสหรัฐฯ อาจจะมีการยั่วยุเพิ่มมากขึ้น แต่จุดยืนของจีน คือ จีนจะพยายามอย่างดีที่สุดในการรักษาสันติภาพระหว่างจีนและไต้หวันให้นานที่สุด
- ประเด็นเรื่องสงครามยิว - ปาเลสเลสไตน์ นักวิชาการจาก SASS ยังคงยืนยันตามการประกาศจุดยืนของกระทรวงต่างประเทศจีนว่า จีนไม่ประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จีนสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายยุติสงคราม เพื่อลดความสูญเสียของประชาชน สนับสนุนและพร้อมช่วยให้เกิดการเจรจาสันติภาพให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด จีนสนับสนุนแนวทาง 2 รัฐ (two-state solution) คือ จีนยอมรับการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ และประเทศอิสราเอล จีนพร้อมสนับสนุนการสถาปนารัฐปาเลสไตน์ที่เป็นอิสระ แต่แนวทางของจีนในลักษณะนี้ ตะวันตกเองก็มองว่าจีนเลือกข้างปาเลสไตน์ ในขณะที่สหรัฐฯ และตะวันตกเลือกข้างอิสราเอล เพราะกลุ่มอิทธิพลชาวยิวมีบทบาทอย่างมากในการเมืองสหรัฐฯ แต่ในมุมของจีนนั้น จีนแสดงให้เห็นถึงบทบาทของการต้องการสันติภาพ ไม่ได้ต้องการเลือกข้างฝ่ายใด
สถานการณ์การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจของโลกคือสหรัฐฯ และจีน ก็ยังคงมีแนวโน้มตึงเครียดให้หลายด้าน ทั้งสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี จนไปถึงการมีโอกาสที่เข้าสู่สงครามทางทหาร แต่จีนมีจุดยืนชัดเจนว่าจีนไม่ต้องการสงคราม อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความขัดแย้งกันหลายเรื่อง แต่มีแนวโน้มว่าทั้งสองประเทศก็ยังน่าจะต้องอยู่กันอย่างสันติได้ หันมาร่วมมือแก้ปัญหาใหญ่ของโลก เช่น ปัญหาภูมิอากาศ วิกฤตอาหารโลก ปัญหาโรคระบาด เป็นต้น
ทางสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ศาสตราจารย์ Wang Jian และทีมอาจารย์จาก Shanghai Academy of Social Sciences มาเยี่ยมเยียนและแลกเปลี่ยนความคิดทางวิชาการร่วมกัน ในอนาคตก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทยและจีนให้มากยิ่งขึ้น
ผู้เขียน : ณัฐธิดา เย็นบำรุง นักวิจัยสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ
コメント