สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ โดยคุณยุวดี คาดการณ์ไกล ผู้อำนวยการสถาบันคลังปัญญาฯ และ รศ.ดร. วรารัก เฉลิมพันธุศักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นำคณะวิจัยจาก College of International Development and Global Agriculture , China Agricultural University (CAU) สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่นำโดย Prof. Tang Lixia, รองคณบดี และ Ms. Ji Lanlan, นักศึกษาปริญญาเอกของคณะ ทั้งสองท่าน มีความสนใจศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของชนบทเปรียบเทียบในประเทศจีนและประเทศไทย (Comparative Study on Socio-Economic Transformations in Rural China and Thailand During Industrialization) เข้าสัมภาษณ์และแลกเปลี่ยนกับ คุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในประเด็นเรื่อง นโยบายของภาครัฐในการพัฒนาชนบทไทย ในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2567
คุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์เป็นผู้บริหารระดับสูงทำงานกับหน่วยงานภายใต้กำกับของภาครัฐและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีบทบาทในการพัฒนาชนบทไทยหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, คณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.). มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย (บชท.) ในพระบรมราชูปถัมภ์, มูลนิธิสัมมาชีพ, มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ฯลฯ ปัจจุบันท่านเป็นกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คุณเอ็นนู ให้ข้อมูลแก่คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัย CAU ว่า ประเทศไทย ภาครัฐใช้แนวคิดการพัฒนาชนบทไทยตามแนวทางของธนาคารโลก (World Bank) ที่มีแนวทางว่า การพัฒนาชนบทไทย (Rural Development) คือ การพัฒนาเพื่อพัฒนาสภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมของคนยากจนในชนบท มุ่งเป้าที่รายได้ มีมาตรฐานการคลองชีพ เป็นพลเมืองที่มีความสามารถที่ปกครองตัวเองได้
ที่ผ่านมา การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทย ภาครัฐเองได้สรุปบทเรียนแล้วว่ายังมีจุดอ่อนหลายจุด ผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ถึงปัจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เกิดการกระจุกตัวของเศรษฐกิจและแรงงานในเมืองขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่มีประชากรกว่า 15 ล้านคน และกระจุกอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ทุกภาค เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา เป็นต้น ผู้คนจากชนบทที่ไม่ประสบความสำเร็จกับการทำเกษตรกรรมจึงหลั่งไหลเข้ามาอยู่ในเมืองเหล่านี้ ส่งผลให้ชนบทไทยถูกละทิ้ง เหลือเพียงคนเฒ่าคนแก่ คนละทิ้งภาคเกษตรกรรม ความสามารถของภาคเกษตรกรลดลงอย่างชัดเจน ผู้คนในชนบทไม่ได้รับการพัฒนาที่เพียงพอ ซึ่งทำให้ผู้คนในชนบทเป็นที่น่ากังวลว่าจะมีปัญหาเรื่องความเสมอภาค โอกาส และการเติบโตด้านเศรษฐกิจ นี่เป็นปัญหาของประเทศไทยที่พัฒนาที่ไม่สมดุล
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐไทยได้พยายามเรียนรู้และปรับปรุงนโยบาย และการดำเนินงานในภาคปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชนบท มีหลายนโยบาย หลายโครงการที่ส่งผลบวกต่อคุณภาพชีวิตคนในชนบทโดยเฉพาะเกษตรกรไทย เช่น
ผ่านกลไกธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้เกษตรกรไทยได้เข้าสู่แหล่งเงินทุนที่สนับสนุนอาชีพ เช่น โครงการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ครอบครัวเกษตรกร ทั้งสินเชื่อเพื่อเสริมสร้างอาชีพ, สินเชื่อนวัตกรรมเครื่องจักร เครื่องยนต์, สินเชื่อสำหรับ smart farmer, สนับสนุนสินเชื่อการพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ และสินเชื่อค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน, สินเชื่อแก้หนี้นอกระบบ เป็นต้น
ผ่านกลไกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน พัฒนาที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ที่รู้จักกันดีในนาม โครงการบ้านมั่นคงในชนบท และโครงการบ้านมั่นคงในเขตเมือง เน้นปรับปรุงสาธารณูปโภคในที่ดินเดิม , การปรับผังที่ดิน , การประสานประโยชน์การใช้ที่ดิน , การก่อสร้างที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิม , การสร้างแฟลตหรืออาคารสูง , การรื้อย้ายและสร้างชุมชนใหม่ในที่ดินเดิม ทำให้ผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบทได้มีบ้านและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิต หลายครัวเรือนไม่โดนย้ายออกและได้อาศัยในที่ดินเดิม
ผ่านกลไกกรมการพัฒนาชุมชน ที่สนับสนุนให้เกิดกลุ่มออมทรัพย์ในชุมชนและวิสาหกิจของชุมชนร่วมกับความตั้งใจของชุมชน ทำให้ประเทศไทยมีกลุ่มทรัพย์ชุมชนที่ประสบความสำเร็จหลายแห่ง ช่วยเหลือและสนับสนุนคนในสมาชิกได้ เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านดอนคา จ.นครราชสีมา , กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านชากไทย จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น
ฯลฯ
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างและส่วนหนึ่งของนโยบายภาครัฐในการพัฒนาชนบท ยังมีการพัฒนาด้านอื่นๆ ที่ภาครัฐดำเนินการมานาน เช่น เรื่องสาธารณสุขไทย มีระบบบัตรทองให้คนรักษาฟรี เรื่องการศึกษาที่พยายามให้คนได้เรียนฟรี เป็นต้น ในปัจจุบัน ภาครัฐไทย ทั้งในส่วนของหน่วยงานกระทรวง ทบวง กรม หรือกลุ่มข้าราชการ และรัฐบาลที่มาจากฝ่ายการเมืองมีความพยายามที่จะปรับปรุงนโยบายในการพัฒนาชนบท ภาครัฐมุ่งเน้นแผนพัฒนาชนบทที่สร้างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมหลายภาคส่วน สร้างคนให้เป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น สนับสนุนการเรียนรู้และเทคโนโลยีให้มากขึ้น ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เอง มียุทธศาสตร์ที่ผลักดันเรื่องการพัฒนาชนบทให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่กำหนดทิศทางการพัฒนาให้ทุกภาคของประเทศพัฒนาตามจุดแข็งของตนเอง ตามบริบทของตนเอง ภาคไหนมีจุดแข็งอย่างไรก็มีเป้าหมายพัฒนาไปตามนั้น เช่น ภาคเหนือ เน้นการท่องเที่ยวและฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ภาคอีสาน เน้นเศรษฐกิจ BCG เศรษฐกิจเกษตรกรรมมูลค่าสูง ภาคใต้เน้น การพัฒนาสินค้าเกษตรมูลค่าสูง การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และเป็นภาคที่ต้องเชื่อมต่อการคมนาคมกับต่างประเทศ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นทิศทางที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการเพื่อพัฒนาประเทศและพัฒนาชนบทของไทย
ผู้เขียน : ณัฐธิดา เย็นบำรุง นักวิจัยสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ
Comments