top of page

ประสบการณ์ความร่วมมือทางวิชาการไทยจีนสู่อนาคตร่วมกัน

klangpanyath

อัปเดตเมื่อ 24 มิ.ย. 2567





วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันสังคมศาสตร์จีน (Chinese Academy of Social Sciences, CASS) มีกำหนดจัด “การสัมมนาวิชาการไทย-จีน ครั้งที่ 4 (The 4th China-Thailand Think Tank Forum) ภายใต้หัวข้อ “ครอบครัวไทย-จีนชิดใกล้ มุ่งสร้างชุมชนเป็นหนึ่งเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”(China-Thailand One Close Family to Establish a Shared Community for an Everlasting Future) ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประเทศไทย พร้อมเปิดศูนย์วิจัยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันสังคมศาสตร์จีน (CASS - NRCT CCS)

 

ในงานดังกล่าวมีกิจกรรมเสวนา NRCT Talk : Towards a Shared Future คุณณัฐธิดา เย็นบำรุง นักวิจัยของสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ เป็นหนึ่งในวิทยากรเสวนา ในหัวข้อเรื่อง ประสบการณ์ความร่วมมือทางวิชาการไทยจีนสู่อนาคตร่วมกัน (Collaborative Academic Experiences Between Thailand and China Toward a Shared Future)


ประสบการณ์ความร่วมมือทางวิชาการไทยจีนกล่าวถึงประสบการณ์ความร่วมมือไทยจีนของสถาบันคลังปัญญาคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์และสถาบันและหน่วยงานต่างๆ ของจีนที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาสาระดังนี้

 




หนึ่ง ความร่วมมือไทยและจีนผลิตหนังสือองค์ความรู้เกี่ยวกับตะวันออกและประเทศจีน ที่ผ่านมาสถาบันคลังปัญญาฯ ได้ผลิตหนังสือเกี่ยวกับความรู้เรื่องตะวันออกและจีนหลายเล่มในมิติต่างๆ หนังสือที่ผลิตแล้วเป็นความร่วมมือระหว่างไทยและจีน คือ หนังสือที่ชื่อว่า “ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน” หนังสือเล่มนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติและสำนักพิมพ์สภาสังคมศาสตร์จีน หนังสือเล่มนี้ต้นฉบับภาษาจีนเขียนโดย ศาสตราจารย์ ฝางหนิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำสถาบันรัฐศาสตร์แห่งสภาวิจัยสังคมศาสตร์จีน (CASS)  สาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือ  การอธิบายประวัติศาสตร์การเมืองระบอบประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมที่ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นจนมีเอกลักษณ์และมีลักษณะเฉพาะของจีน เป็นหนังสือที่ท้าทายความคิดที่ว่าคนมักจะเข้าใจว่าระบบคอมมิวนิสต์ต้องตรงข้ามกับประชาธิปไตย แต่ระบบของจีนได้ผสมผสานประชาธิปไตยตามขั้นตอน ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศตน จนเป็นระบบการเมืองแบบจีนที่มีประสิทธิภาพ หนังสือเล่มนี้ สะท้อนประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของตะวันตกและตะวันออก รวมทั้งย่อประวัติศาสตร์การเมืองจีนในช่วงกว่าร้อยปี มานำเสนอได้อย่างครอบคลุมและลึกซึ้ง  ทางสถาบันทั้งสองจีนและไทยต่างหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเผยแพร่ประวัติศาสตร์และพัฒนาการการปกครองของจีนอันมีลักษณะเฉพาะแก่สังคมไทยได้เรียนรู้

 

นอกจากหนังสือเรื่อง ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน แล้ว ทางสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ ยังผลิตหนังสือเกี่ยวกับสังคมตะวันออกและจีนอีกหลายเล่ม เช่น “จีนมหาอำนาจโลก จากศตวรรษแห่งความอัปยศสู่ยุคการเมืองแห่งความรุ่งโรจน์” “บูรพาภิวัตน์” “ตะวันออกตะวันตกใครสร้างโลกสมัยใหม่” “สงครามการค้าและสงครามเย็นสมัยใหม่ในยุคเปลี่ยนผ่านอำนาจโลก” และ “เศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อมจีน สู่สมดุลใหม่แห่งการพัฒนา?”


หนังสือทั้งหมดนี้มีนัยและความคาดหวังต่อสังคมว่า องค์ความรู้เหล่านี้จะสามารถเปลี่ยนมุมมองและสร้างความเข้าใจการพัฒนาของจีนและโลกตะวันออก ให้มองว่าการพัฒนาในหลากหลายรูปแบบ สูตรแห่งความสำเร็จสำหรับแต่ละสังคมในโลกนี้ไม่ได้มีอยู่เพียงสูตรเดียวแบบตะวันตก จีนก็อีกสูตรหนึ่ง สำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อศึกษาประเทศอื่นแล้ว เราเรียนรู้และค้นหาระบบที่เหมาะสมกับบริบทของไทยให้ได้



สอง ความร่วมมือในเวทีวิชาการไทย-จีน (Thai-china Forum) เป็นเวทีวิชาการที่สนับสนุนสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รูปแบบเวทีวิชาการไทย-จีน ครั้งนี้ สถาบันคลังปัญญาฯ จัดให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในประเด็นต่างๆ อย่างต่อเนื่องระหว่างผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานทั้งไทยและจีนที่มีชื่อเสียงของทั้งสองประเทศผ่านการประชุมออนไลน์และเปิดสาธารณะให้คนเข้าฟัง โดยวิทยากรจะต้องมีทั้งวิทยากรจากจีนและไทยในเวทีเดียวกัน ทั้งนี้ประเด็นในการแลกเปลี่ยนนั้นเน้นเรื่องกระบวนทัศน์ใหม่และประเด็นแนวโน้มใหม่ของการพัฒนาที่ทำให้ทั้งสองประเทศที่ทำให้เกิดความร่วมมือในทิศทางบวกและทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น  เวทีวิชาการไทยจีนได้จัดไปแล้ว 5 ครั้ง ในประเด็นต่างๆ เช่น ทิศทางนโยบายการต่างประเทศไทยและจีน , การพัฒนาชนบทไทยและจีน , ทุเรียนไทยในจีน และวิถีชีวิตคนจีนรุ่นใหม่กับข้อเสนอแนะพัฒนา soft power ไทย





สาม ข้อเสนอทิศทางความร่วมมือทางวิชาการไทยจีนในอนาคต  จากประสบการณ์ความร่วมมือทางด้านวิชาการของไทยและจีน ในวันนี้ต้องบอกได้ว่าหลายสถาบันการศึกษามีความร่วมมือกับสถาบันในจีนมากยิ่งขึ้น มีหลากหลายประเด็น ทั้งนี้ ยังมีข้อสังเกตว่า ความร่วมมือนั้นมักเป็นระหว่างหน่วยงานและยังเห็นรูปธรรมในการปฏิบัติน้อย  จึงมีข้อเสนอแนะว่าอนาคตความร่วมมือระหว่างไทยและจีนนั้น ควรเกิดการปฏิบัติจริงในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยสร้างความร่วมมือที่นอกเหนือมหาวิทยาลัยและภาครัฐในกระทรวง คือ สร้างความร่วมมือกับท้องถิ่น ภาคประชาสังคมและชุมชนให้มากขึ้นโดยมีสถาบันวิชาการ, มหาวิทยาลัยเป็นตัวกลางเชื่อมทุกภาคส่วน ซึ่งสามารถเลือกพื้นที่ในไทยที่ต้องการพัฒนาและองค์ความรู้จากจีน มาร่วมมือกันให้เกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบได้ เช่น การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การพัฒนาสิ่งแวดล้อมของเมือง การพัฒนาอาหารปลอดภัย การแก้ไขปัญหาความยากจน เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ประเทศจีนเป็นต้นแบบของโลกแล้ว มีองค์ความรู้มากมายสามารถแบ่งปันให้กับไทยได้อย่างแน่นอน


นอกจากนี้ ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทยและจีน ไม่ควรเป็นในลักษณะที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง “ให้” และอีกฝ่าย “รับ” วันนี้ทั้งสองประเทศสามารถเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ เรียนรู้ระหว่างกันและกันได้อย่างเคารพซึ่งกันและกัน แน่นอนว่าไทยต้องเรียนรู้จากจีนอีกมากเนื่องจากเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีการพัฒนาในทุกมิติจนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก แต่ประเทศไทยเองในวันนี้มีการพัฒนาที่ก้าวหน้าในหลายเรื่อง เช่น การพัฒนาสาธารณสุข, การพัฒนาการบริการท่องเที่ยว , แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น ถึงเวลาแล้วเช่นกันที่ไทยก็สามารถที่จะส่งออกความรู้ของไทยให้จีนได้เรียนรู้รวมถึงประเทศอื่นๆ ด้วย  ทิศทางนี้จะเป็นอนาคตของความร่วมมือทางวิชาการที่ไทยและจีนควรมีร่วมกัน




ดู 20 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Commentaires


bottom of page