top of page

สถาบันคลังปัญญาฯ นำคณะวิจัยจาก CAU จากเมืองปักกิ่ง ลงพื้นที่ทำวิจัยการเปลี่ยนแปลงชนบทไทย ที่จังหวัดสุพรรณบุรี





สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ นำคณะวิจัยจาก College of International Development and Global Agriculture , China Agricultural University (CAU)  สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่นำโดย Prof. Tang Lixia, รองคณบดี และ Ms. Ji Lanlan, นักศึกษาปริญญาเอกของคณะ ทั้งสองท่าน มีความสนใจศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของชนบทเปรียบเทียบในประเทศจีนและประเทศไทย (Comparative Study on Socio-Economic Transformations in Rural China and Thailand During Industrialization) จึงมีความประสงค์ที่จะมาศึกษาชนบทไทย สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ในฐานะหน่วยงานประสานงานทางวิชาการ โดยคุณณัฐธิดา เย็นบำรุง นักวิจัยของสถาบันฯ และคุณ Reng Gong นักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยยูนนาน ได้พาคณะวิจัยจากจีนลงพื้นที่ศึกษาชนบทไทยในจังหวัดสุพรรณบุรี ในวันที่ 18-19 เมษายน พ.ศ. 2567


ทางสถาบันคลังปัญญาฯ ได้พาคณะวิจัยจาก CAU เก็บข้อมูลการพัฒนาชนบทไทยโดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงของชาวนาไทยหลากหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่การพาไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติชาวนาไทย ที่จัดแสดงเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการทำนา ความเป็นมาของการทำนาเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนา ประเพณีวิถีชีวิตของชาวนาเรื่องราวของข้าวในอดีต  และจัดแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์ไทยกับชาวนาไทย




จากนั้น ได้พาคณะวิจัยลงพื้นที่สัมภาษณ์เกษตรกรไทยในอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นอำเภอที่มีการทำเกษตรกรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งของสุพรรณบุรี จำนวน 3 ท่าน จากการแนะนำของมูลนิธิข้าวขวัญ เกษตรกรคนที่ 1 เป็นเกษตรกรที่มีที่ดินของตนเองหลายสิบไร่ ทำนาข้าวแบบอินทรีย์ 3 ไร่ และปลูกพืชอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น กระจับ มะม่วง เป็นต้น ตามแนวทางทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียง (sufficiency economy theory) ของรัชกาลที่ 9 เกษตรกรคนที่ 2 เป็นเกษตรกรชาวสวน เน้นปลูกผักและผลไม้ด้วยแนวทางเกษตรอินทรีย์ เช่น มะพร้าว มะม่วง และพืชผักสวนครัว บนเนื้อที่ 2 ไร่ นำไปขายที่ศาลากลางจังหวัดทุกสัปดาห์ และเกษตรคนที่ 3 เป็นเกษตรกรที่ทำนาเคมี จำนวน 50 กว่าไร่ มีที่ดินของตนเอง 7-8 ไร่ ที่เหลือเป็นการเช่าที่ดินทำนาอีก 40 กว่าไร่ โดยเฉลี่ยจะมีต้นทุนปลูกข้าวต่อ 1 รอบ 4000 – 5000 บาท และในปีนี้สามารถขายข้าวได้ราคาประมาณ 9000 – 10000 บาท ต่อ 1 ไร่ ซึ่งถือว่าราคาข้าว พ.ศ. 2567 นี้ ราคาข้าวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรไทยในจังหวัดสุพรรณบุรียังพอมีกำไรอยู่บ้าง 









ต่อมาทางสถาบันคลังปัญญาฯ ยังได้นำคณะวิจัยเยี่ยมชมมูลนิธิข้าวขวัญ และสัมภาษณ์อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เกี่ยวกับบทบาทของมูลนิธิข้าวขวัญในการพัฒนาเกษตรกรให้ทำเกษตรกรรมแบบอินทรีย์ในจังหวัดสุพรรณบุรี อาจารย์เดชาแลกเปลี่ยนว่า สถานการณ์การทำเกษตรกรรมในจังหวัดสุพรรณบุรี รวมไปถึงในจังหวัดอื่นๆ ของไทย ค่อนข้างเผชิญกับความท้าทายหลายเรื่อง ทั้งเรื่องราคาข้าวที่ผันผวนบ่อยตามตลาดโลก คู่แข่งจากประเทศต่างๆ ส่งข้าวมากขึ้น การลดลงของเกษตรกรไทยที่มักขายที่ดินให้กับคนรวยหรือบริษัทใหญ่ๆ และย้ายไปทำงานเมืองใหญ่ การติดกับดักการทำเกษตรกรรมแบบเคมี พึ่งพาการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีจากบริษัทใหญ่ ภารกิจที่มูลนิธิข้าวขวัญได้ดำเนินการตลอดมา คือ การพยายามเปลี่ยนความคิดและให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อการทำเกษตรอินทรีย์ การทำเกษตรกรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ดีให้แก่เกษตรกร ทำให้มีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จำนวนหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี อีกทั้งมีการแปรรูปสินค้าเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์ยาและอาหารสุขภาพ และที่สำคัญในวันนี้ มูลนิธิข้าวขวัญได้ผลิตน้ำมันสกัดกัญชา ที่ช่วยให้นอนหลับสนิท แจกจ่ายฟรีแก่ชาวบ้านในทุกเดือน นี่เป็นอีกหนึ่งบทบาทจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เข้ามาช่วยรัฐในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย





จากการได้สัมผัส เรียนรู้ ศึกษาชนบทไทย ทางคณะวิจัยจากจีนได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ชาวนาจีนในชนบทเมื่อเปรียบเทียบกับไทยแก่นักวิจัยของสถาบันคลังปัญญาฯ พบประเด็นที่เหมือนและแตกต่างกัน ประเด็นที่คล้ายกัน คือ ทั้งไทยและจีนมีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในชนบทค่อนข้างมาก ทั้งสองประเทศเผชิญกับการเปลี่ยนอาชีพของเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาในชนบทจีนเหลือน้อยลงมาก เพราะผู้คนอพยพมาทำงานในเมืองใหญ่ และคนรุ่นใหม่ไม่สนใจที่จะทำนาและหันมาทำนาแล้วซึ่งคล้ายกับสถานการณ์ในประเทศไทย ในส่วนประเด็นที่แตกต่างกันนั้น มีหลายประเด็น เรื่องแรก ระบบที่ดินของสองประเทศแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ที่ดินในไทยกรรมสิทธิ์เป็นของเอกชน แต่สำหรับประเทศจีนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐหรือเป็นของหมู่บ้าน ไม่มีกรรมสิทธิ์เอกชน การเปลี่ยนแปลงหรือขายที่ดินทำได้ยากกว่าในประเทศไทย


ประเด็นต่อมา คณะวิจัยจีนได้สังเกตเห็นถึง ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชนบทไทยและจีนแตกต่างกัน ชนบทไทย โดยเฉพาะในจังหวัดสุพรรณบุรี บ้าน 1 หลังจะล้อมรอบด้วยที่นารอบบ้าน ทำให้บ้านแต่ละหลังอยู่ห่างกัน ผู้คนสามารถซื้อที่ดินและปลูกเป็นที่อยู่อาศัยได้เกือบทุกพื้นที่ ประเทศไทยค่อนข้างยืดหยุ่นในเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่ในขณะที่ลักษณะชนบทของจีน ที่อยู่อาศัยและที่นานั้นอยู่ห่างกัน ที่อยู่อาศัยถูกกำหนดให้อยู่รวมกัน และหากต้องไปทำนาต้องเดินทางไปยังที่ดินอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ดินสำหรับทำเกษตรกรรมโดยเฉพาะ หากที่ดินถูกกำหนดเพื่อทำเกษตรกรรมแล้วไม่สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ ได้ ในประเทศจีนค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน


ประเด็นสุดท้าย การอพยพคนจากชนบทไปสู่เมืองของจีน รัฐบาลจีนมีการสนับสนุนหลายอย่าง เช่น ค่าเดินทาง การหาอาชีพ การจัดสรรที่พัก เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากไทยที่ผู้คนจากชนบทต้องดิ้นรนต่อสู้ในเมืองใหญ่เอง ในส่วนของชาวนานั้น ทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนต่างสนับสนุนชาวนา แตกต่างในประเด็นการสนับสนุน คือ รัฐบาลจีนได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือ การประกันราคาผลผลิต สนับสนุนพันธุ์ข้าว เครื่องมือ เครื่องจักรเกือบทุกขั้นตอน เพื่อให้ชาวนาจีนยังคงสามารถปลูกข้าวได้อีกต่อไป แง่หนึ่งก็เป็นการอนุรักษ์อาชีพเกษตรกรให้ยังคงมีอยู่ในจีน ในอีกด้านหนึ่งจีนเองก็มีการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาไร่นา ไร่สวนขนาดใหญ่ เพื่อผลิตผลผลิต ผลิตอาหารให้คนกับคนในประเทศ เพื่อที่ว่าหากเกษตรกรเหลือน้อยลงพวกเขาก็จะยังมีอาหารเพียงพอสำหรับคนในประเทศ ส่วนประเทศไทยนั้นรัฐบาลไทยเองมีหลายนโยบายที่สนับสนุนเกษตรกร แต่เป็นในลักษณะการประกันราคา การให้กู้เงิน สินเชื่อต่างๆ ที่เกษตรกรจะมีตัวเลือกในการเข้าถึงเรื่องการเงินกว่าคนกลุ่มอื่นๆ  








ดู 18 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page