top of page
klangpanyath

โครงการสร้างนักปราชญ์จากวิชาการ

อัปเดตเมื่อ 22 พ.ย. 2564




พัฒนาปัญญา สู่วิถีแห่งปราชญ์



โครงการสร้างนักปราชญ์จากวิชาการ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อส่งเสริมนักวิชาการ นักวิจัย และนักศึกษาให้ตระหนักรู้ มีมุมมองและความรู้แบบองค์รวม เกิดปัญญาที่สามารถหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ และมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม ด้วยการเติมเต็มโลกทัศน์ ตลอดจนพัฒนาความเข้มแข็งแห่งจิตวิญญาณสู่ความผาสุกในการงานและการดำเนินชีวิต



หลักคิด

สุขภาวะทางปัญญาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพ แต่ในสังคมทุกวันนี้ที่มุ่งเน้นการสร้างความรู้และมักจะละเลยการสร้างปัญญา มีหลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตว่า นักวิชาการในประเทศไทยได้รับการฝึกฝนให้มีความสนใจและเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Expertise) โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับความรู้ทั่วไป ทำให้การศึกษาด้านความรู้ทั่วไป (General Education) เป็นสิ่งที่มีน้อยคนจะยึดถือเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านปรัชญา จะพบปัญหาที่บุคคลตั้งแต่ระดับนักศึกษาไปจนถึงระดับศาสตราจารย์ยังขาดความเข้าใจในส่วนนี้ นำไปสู่การใช้ความเชี่ยวชาญที่มีอย่างขาด “ปัญญา” ทำให้เกิดผลเสียทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว สังคมและประเทศชาติ ดังนั้น โจทย์ใหญ่ประการหนึ่งคือ จะทำอย่างไรเพื่อให้นักวิชาการในระบบอุดมศึกษา ไม่ว่าผู้สอน ผู้เรียน หรือผู้วิจัย ได้มีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ และเรียนเพื่อมุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง[1]


ด้วยเหตุที่วิธีเรียนรู้ในปัจจุบันเป็นแบบตะวันตก แยกเรื่องความรู้ออกจากเรื่องการปฏิบัติ และเรียนเพื่อให้สามารถได้ตำแหน่งการงานเป็นความสำเร็จส่วนบุคคลเท่านั้น นอกจากนี้ การศึกษาเน้นเรื่องการแข่งขันใครรู้ก่อน รู้เร็ว รู้มากได้รับการยกย่องว่าเป็นคนเก่ง ในความเป็นจริง ความรู้ควรจะต้องประกอบไปด้วยเรื่องกาลเทศะและชีวิต ซึ่งปัจจุบันมีน้อยคนที่รณรงค์เรื่องดังกล่าว และเนื่องจากการศึกษาปัจจุบันให้ความสนใจเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยน มองเพียงว่าการศึกษาจะต้องมีความทันสมัยในแง่เทคโนโลยี ทำให้ความสำคัญของผู้สอนน้อยลง และกลับมองว่าคนรุ่นใหม่เป็นผู้สร้างความรู้และผู้ใหญ่เป็นรุ่นที่ล้าหลังมีความคิดที่ไม่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน เป็นต้น

ภายใต้ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านทางสังคมอย่างรวดเร็วในเวลานี้ การสร้างปัญญาให้เกิดในหมู่นักวิชาการยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เราควรที่จะส่งเสริมให้นักวิชาการในทุกระดับมีความเป็นปัญญาชน มีความเป็นปราชญ์ซึ่งจะเป็นทั้ง Idea Maker/ Idea Worker/ Idea Professional และมีความตระหนักถึงการสร้างงานวิชาการและงานวิจัยที่เป็นของตนเอง โดยไม่เลียนแบบความทันสมัยทางการวิจัยแบบตะวันตก และพึงมีสติรู้ว่าไม่ให้ตกเป็นพียงผู้ที่คอยแต่ติดตามความคิดตะวันตกเท่านั้น [2]


แนวคิดของการดำเนินโครงการนี้ไม่ได้เน้นสร้างความรู้เพราะทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ทั่วไปในสังคม แต่จะเน้นกระตุ้นให้เกิดการคิดและการตระหนักรู้เพื่อนำไปสู่การสร้างปัญญา แนวความคิดในการสร้างนักปราชญ์จากนักวิชาการนั้นมีความเก่าและความใหม่อยู่ในตัว ความใหม่ในกรณีนี้หมายถึง โลกยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ยิ่งต้องการบุคคลที่มีภูมิปัญญาเพราะเป็นสิ่งเดียวที่จะสามารถชี้นำปัญญาประดิษฐ์หุ่นยนต์ และอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่งมิใช่ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ชี้นำเรา ซึ่งหากเรามีภูมิปัญญาแล้ว ก็ย่อมที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ โดยที่ไม่ถูกเอาเปรียบได้ความใหม่อีกอย่างก็คือ โครงการนี้มีส่วนหนุนเสริมที่จะมอบให้กับโลกอุดมศึกษา ให้แก่นักวิจัยและนักนวัตกรรมได้ นั่นคือจะทำอย่างไรให้คนในแวดวงการศึกษาและการวิจัยมีความสุข เกิดสุขภาวะทางกาย จิต สังคมและปัญญา ในแง่ของความเก่านั้น ประเทศไทยมีทั้งภูมิปัญญาดั้งเดิมและมีมหาวิทยาลัยศาสนา ไม่ว่าศาสนาใดก็ตามต่างมีหน้าที่นำเอาธรรมะและสติปัญญามาใช้เพื่อชี้นำทางโลกและชี้นำทางวิชาการ


เพราะปัญญาจะนำมาซึ่งทางออกของการงานและความสุขของชีวิต ด้วยเหตุนี้ โครงการนี้จะดำเนินการเสริมสร้างปัญญาและรู้กว้าง เพื่อต่อยอดความรู้ลึกที่นักวิชาการส่วนมากมีอยู่แล้ว โดยปัญญาและการรู้กว้างนี้จะมีขอบเขตเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับ

  1. การสร้างอารยธรรมทางจิตวิญญาณ ที่นำเอาหลักธรรมะของศาสนาต่างๆ และปรัชญาตะวันออกและตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น ขงจื่อ เต๋า พุทธ คริสต์ อิสลาม สิกข์ ให้รู้จักนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและการงาน

  2. การสร้างความเข้าใจของกระบวนการทางจิต วิทยาศาสตร์เชิงปัญญา จิตวิทยาเชิงบวก และจิตเวชเชิงบวก ซึ่งมุ่งเน้นเกี่ยวกับเรื่องของจิตใจ ตลอดจนพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ

  3. การศึกษาเรียนรู้หลักคิดในศาสตร์และศิลป์แขนงต่างๆ ตลอดจนประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาของสังคมไทยและสังคมโลก ที่เชื่อมโยงอดีต ปัจจุบันและอนาคต

  4. การส่งเสริมแนวทางในการฝึกฝนเรียนรู้จากผู้มีวิถีคิดแห่งปราชญ์และวิถีปฏิบัติที่เป็นแบบอย่าง และอื่นๆ ทั้งหมดนี้ จะดำเนินด้วยการรับฟัง ศึกษา ค้นคว้า แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้วยหลักคิด หลักปฏิบัติ และมีต้นแบบ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการคิดและตระหนักรู้ด้วยตนเอง เกิดการสร้างปัญญา นำไปสู่วิถีคิดและวิถีปฏิบัติแบบนักปราชญ์ต่อไป


สนับสนุนโดย

สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สน.11)

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

[1] ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวในการประชุมคณะทำงานชุดเล็ก ในเรื่องโครงการสร้างนักปราชญ์จากนักวิชาการ ณ ห้องประชุมรัฐมนตรี ชั้น 2 อาคารพระจุลจอมเกล้า กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถนนโยธี กทม. วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2564 [2] รายงานสรุปการประชุมแลกเปลี่ยน เรื่องการสร้างปัญญาชนและปราชญ์จากนักวิชาการ ณ ห้องประชุมรัฐมนตรี ชั้น 2 อาคารพระจุลจอมเกล้า กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถนนโยธี กทม. วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เวลา 14.00 – 16.30 น.

ดู 75 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page