top of page

4 MEGATRENDS เขย่าโลกยุค 2030




โลกที่เราอาศัยอยู่นี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนวิถีการผลิตและการบริโภคของประชากรโลก ขณะเดียวกันอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกกับปริมาณทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างจำกัดเริ่มสวนทางกัน ความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ของโลกมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และจะส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลกในทุกภาคส่วน ดังนั้นการประเมินสถานการณ์ในอนาคตจึงจำเป็นอย่างยิ่ง โดยสภาข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Intelligence Council – NIC) ได้ออกรายงานเรื่อง “Global Trend 2030 Alternative Worlds” คาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกใน ค.ศ. 2030 ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันอย่างสุดขั้ว และวิเคราะห์ถึง Megatrends ที่จะเปลี่ยนแปลงโลก 4 ประการ เพื่อให้องค์กรภาคส่วนต่างๆ ตระหนักถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและเตรียมตัวรับมือกับสภาพแวดล้อมใหม่ได้อย่างทันท่วงที


4 Megatrends


สภาข่าวกรองสหรัฐฯ จำแนกแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของโลกภายใน ค.ศ. 2030 ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงใน 4 ด้าน ได้แก่ การมีพลังมากขึ้นของปัจเจกบุคคล (Individual Empowerment) การกระจายอำนาจโลก (Diffusion of Power) การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ (Demographic Patterns) และความเชื่อมโยงระหว่างอาหาร น้ำ และพลังงาน (Food, Water and Energy Nexus)


1. พลังที่เพิ่มขึ้นของปัจเจกบุคคล


ในช่วง 10 ปีข้างหน้าสภาข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ ประเมินว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกจะไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะทวีปใดเหมือนในอดีต ประกอบกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการผลิตและการสื่อสารที่สะดวกมากขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาเติบโตอย่างรวดเร็ว อัตราความยากจนลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ ตะวันออกลาง แอฟริกาเหนือ และแอฟริกาใต้สะฮารา และจะส่งผลให้สัดส่วนชนชั้นกลางในโลกขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 3 พันล้านคนภายในปี 2030 และจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดในทวีปเอเชียโดยเฉพาะในจีนและอินเดีย ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางมีนัยสำคัญต่อความต้องการบริโภคสินค้าที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การที่ประชากรโลกมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นนั้นจะตามมาด้วยความต้องการที่มีต่อสังคมการเมืองเพิ่มขึ้นเช่นกัน กล่าวคือ ชนชั้นกลางจะเป็นกลุ่มทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายประชานิยม และกดดันให้รัฐบาลอำนาจนิยมกลายเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นต้น


ปัจจัยสำคัญที่เพิ่มพลังให้กับปัจเจกบุคคลคือ การศึกษาและช่องว่างระหว่างเพศที่ลดลง ภายในปี 2030 ระยะเวลาการศึกษาขั้นพื้นฐานของประชากรในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือจะเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยคนละ 7.1 ปี เป็น 8.7 ปี ขณะที่ผู้หญิงจะมีระยะเวลาการศึกษาขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยคนละ 5 ปี เป็น 7 ปี การลดช่องว่างทางการศึกษาและการเข้าถึงการศึกษาที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงนั้นส่งผลโดยตรงต่อการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเสริมพลังทางการเมืองของปัจเจกบุคคล


2. อำนาจโลกที่กระจัดกระจาย


ขั้วอำนาจโลกในยุค 2030 จะเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อเอเชียจะมีบทบาทเหนือกว่าอเมริกาและยุโรป ทั้งในแง่ของ GDP จำนวนประชากร งบประมาณกลาโหม และการลงทุนด้านเทคโนโลยี จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกนำหน้าสหรัฐก่อนถึงปี 2030 ขณะที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นและรัสเซียจะถดถอยลงอย่างช้าๆ นอกจากจีนแล้วกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกอย่างโคลัมเบีย อียิปต์ อินโดนีเซีย อิหร่าน แอฟริกาใต้ เม็กซิโก ตุรกี และอีกหลายๆ ประเทศจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน และในปี 2030 อำนาจทางเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนมาอยู่ที่จีนและอินเดีย

ขั้วอำนาจโลกจากเดิมที่สหรัฐฯ เป็นจ้าวแต่เพียงผู้เดียวจะหมดไป ไม่ว่าสหรัฐฯ จีน หรือประเทศใดๆ ก็ไม่สามารถครองความเป็นจ้าวโลกแต่เพียงลำพังได้ เนื่องจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้า และบทบาทของตัวแสดงจะมีความหลายหลายมากขึ้นทั้งที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐมากขึ้น ขณะที่ประเทศมหาอำนาจระดับกลาง (Middle power) ในปัจจุบันจะยกระดับขึ้นทั้งด้าน Hard Power และ Soft Power และระบบอำนาจโลกจะเปลี่ยนไปสู่ระบบหลายขั้ว (Multipolar) ในที่สุด


3. การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์


ปี 2030 จำนวนประชากรโลกจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึงประมาณ 8,300 ล้านคน โดยความเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์มีแนวโน้มหลักคือ สัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น เกิดความเป็นเมือง และจำนวนผู้อพยพที่เพิ่มขึ้น ในด้านอายุนั้นค่าเฉลี่ยมัธยฐานของประชากรโลกจากปี 2010 อยู่ที่ 37.9 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 42.8 ปีภายในปี 2030 ประเทศในยุโรปและเอเชียตะวันออกจะมีสัดส่วนประชากรที่อายุเกิน 45 ปีมากที่สุด โดยกลุ่มประเทศที่มีประชากรสูงวัยจำนวนมากย่อมส่งผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตของ GDP หรือเกิดภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐมีต้นทุนด้านงบประมาณหลังเกษียณอายุและสวัสดิการสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น


นอกจากนี้ ยังมีการอพยพย้ายถิ่นของประชากรโลกในอัตราที่สูงขึ้นทั้งภายในประเทศและข้ามประเทศ การอพยพย้ายถิ่นภายในประเทศส่วนใหญ่สืบเนื่องมาจากการเจริญเติบโตของเมือง ผู้คนย้ายจากสังคมเกษตรกรรมเข้ามาทำงานในเมืองมากขึ้น ในทวีปแอฟริกาและเอเชียจะเกิดการย้ายถิ่นมากที่สุดเนื่องจากเกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากกว่าที่อื่นๆ เช่น การย้ายหนีน้ำท่วม ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นต้น และสาเหตุสำคัญของการย้ายถิ่นภายในประเทศอีกประการคือการแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจและชีวิตที่ดีขึ้น เช่น จีนมีสถิติผู้อพยพย้ายถิ่นภายในประเทศสูงถึงราว 250 ล้านคน


ขณะที่การอพยพย้ายถิ่นข้ามประเทศนั้นส่วนหนึ่งเป็นแรงงานทั้งที่มีฝีมือและไร้ฝีมือ เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาหลายประเทศประสบปัญหาประชากรวัยแรงงานลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2030 ประชากรวัยรุ่นของบราซิลจะลดลง 5 ล้านคน จีนลดลง 75 ล้านคน เป็นต้น และประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะพิจารณารับผู้อพยพในฐานะที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยิ่งไปกว่านั้น คาดว่าประชากรโลกจะอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 จากประชากรโลกทั้งหมด 8,300 ล้านคนภายในปี 2030


4. ความต้องการอาหาร น้ำ และพลังงาน


ความเปลี่ยนแปลงในเชิงประชากรศาสตร์ดังกล่าวข้างต้นว่าจะเกิดการขยายตัวของชนชั้นกลางและความเป็นเมืองย่อมส่งผลกระทบต่อความต้องการทรัพยากรเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอาหาร น้ำ และพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาคเกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลก ขณะที่ราคาอาหารและน้ำดื่มมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกในที่สุด ดังที่หลายประเทศเริ่มเตรียมการโดยกว้านซื้อนา ไร่ สวน หรือพื้นที่ทำการเกษตรในต่างประเทศไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันการขาดแคลนอาหารที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น จีน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น ขณะที่ด้านพลังงานมีการคาดการณ์ว่าปี 2030 ความต้องการจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปัจจุบัน


จากรายงานของสภาข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ เป็นการประเมินสถานการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2030 ทั้งนี้องค์กรทุกภาคส่วนจำเป็นต้องตระหนักถึงแนวโน้มเหล่านี้เพราะ Megatrends ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจำเป็นต้องศึกษาแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อหาแนวทางรับมือได้ล่วงหน้า อาทิ การประเมินตลาดผู้บริโภคซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้าเมื่อสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาก อาจต้องมุ่งพัฒนานวัตกรรม สินค้า หรือการบริการที่จะตอบโจทย์กลุ่มสูงวัยได้ การหันมาให้ความสำคัญกับโลกตะวันออกอย่างจีนและอินเดียที่กำลังจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกเพื่อเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าในประเทศเหล่านี้ได้ หรือการให้หันมาพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมเกี่ยวกับอาหาร น้ำ และพลังงานซึ่งจะเป็นที่ต้องการของประชากรโลกมากขึ้นในปี 2030 ฯลฯ


ไม่ว่าโลกในยุค 2030 จะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด หากสามารถปรับตัวและเตรียมแผนรับมือได้ล่วงหน้าได้ เราก็สามารถยืนหยัดท่ามกลางความผกผันของโลกได้อย่างภาคภูมิ


กอปร์ธรรม นีละไพจิตร แปลและเรียบเรียง ธันวาคม 2561


แปลและเรียบเรียงจาก: The National Intelligence Council. Global Trends 2030: Alternative Worlds, https://globaltrends2030.files.wordpress.com/2012/11/global-trends-2030-november2012.pdf (accessed December 13, 2018)




ดู 21 ครั้ง0 ความคิดเห็น

คลังปัญญา

สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ

STAY CONNECTED

GET IN TOUCH

220/104 เลควิวคอนโด อาคารสุพีเรียร์ เมืองทองธานี ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120

101/104 หมู่ที่ 8 ถนนติวานนท์ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ. นนทบุรี 11120


Tel:  084-112-0632

klangpanya.th@gmail.com

© 2023 by Ridgeview Middle School. Proudly created with Wix.com

bottom of page