top of page
klangpanyath

นโยบายควบคุมโรคระบาด COVID-19 ในโลกตะวันตกส่งผลกระทบต่อสังคมในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร

อัปเดตเมื่อ 10 ธ.ค. 2565



ยุวดี คาดการณ์ไกล รองประธานสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ

อุสมาน วาจิ นักวิจัยสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ

6 ธันวาคม พ.ศ. 2565



โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 เป็นโรคระบาดที่ส่งผลกระทบอย่างมากไปทั่วทั้งโลก สร้างความสะพรึงกลัวให้กับประชาชนในหลายประเทศ จนต้องมีการ lockdown หรือการปิดเมือง อันหมายถึงการจำกัดการเดินทางของประชาชน การปิดพรมแดน การปิดสนามบิน การปิดสำนักงาน และทำการตรวจหาโรคจในกลุ่มประชาชน เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากผู้มีภาวะสุขภาพปกติ จะสังเกตได้ว่า กลุ่มประเทศตะวันออก โดยเฉพาะในเอเชีย รัฐบาลมีมาตรการค่อนข้างเข้มงวดและมองว่าเป็นบทบาทของภาครัฐที่ต้องเข้ามาควบคุมป้องกันโรคและเป็นสวัสดิการที่รัฐจะต้องจัดหาทรัพยากรทางสุขภาพเพื่อบริการให้ทั่วถึง ทั้งนี้เพื่อจำกัดการระบาดของโรคจนกว่าจะมียอดผู้ติดเชื้อเหลือน้อยที่สุดจึงจะอนุญาตให้มีการปลด lockdown ส่วนมาตรการของโลกตะวันตกนั้นดูจะต่างออกไป เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางของโลกตะวันตกนั้นมักไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเท่าในประเทศตะวันออก ยังมีประชาชนกลุ่มใหญ่ที่ไม่เชื่อมั่นในมาตรการของรัฐบาล โดยให้คุณค่ากับเสรีภาพส่วนบุคคลมากกว่า และภาครัฐเองก็ไม่ได้ใช้มาตรการที่เข้มงวดมากเท่าใดนักเนื่องจากเกรงว่าจะละเมิดสิทธิของประชาชน


มาตรการในทางปฏิบัติที่ต่างกันนั้นได้ทำให้ผลที่เกิดขึ้นต่างกัน โดยจะเห็นว่า ประเทศตะวันออกอย่างจีนมีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าสหรัฐฯ ทั้งที่สำหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีความรู้ด้านการแพทย์สมัยใหม่มากกว่าเสียอีก และยังส่งผลให้ GDP ของจีนเติบโตได้ดีในระดับ 6%[i] ในปี 2019 สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตนั้น นับถึงเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 สหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิตจำนวนกว่า 1 ล้านคน ในขณะที่จีนมีผู้เสียชีวิตราว 3 หมื่นคนเท่านั้น[ii]


ต่อมาในปี 2021 จากคำชื่นชมได้กลายเป็นคำถามที่เกิดขึ้นกลับไปยังรัฐบาลจีน เนื่องจากในปี 2022 ประเทศต่าง ๆ เริ่มผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคแล้ว เนื่องจากวัคซีนที่มีประสิทธิภาพระดับหนึ่ง และปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าอย่างต่อเนื่อง แล้วมุ่งเน้นไปที่การใช้ชีวิตในวิถี new normal ที่อยู่ร่วมกับโรคที่ยังระบาดได้ แต่ประเทศจีนยังคงใช้มาตรการ lockdown อยู่ แม้ได้ลดพื้นที่ของการ lockdown ลงให้เหลือเฉพาะพื้นที่ที่ยังมีผู้ติดเชื้อ (partial lockdown) และยังคงไม่ให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศด้วยวิธีปกติ สร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตทั้งแก่ประชาชนจีนและชาวต่างชาติจนถึงปัจจุบัน ส่วนสหรัฐฯ นั้น แม้ ในปัจจุบันผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงชีวิตก่อนเกิดการระบาดแล้ว แต่หากมองเข้าไปอย่างละเอียด จะพบว่ามีร่องรอยของความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นมากพอสมควรจนถึงปัจจุบันเช่นกัน อันสะท้อนให้เห็นถึง ความเปราะบางทางเศรษฐกิจและสังคมแต่เดิม ซึ่งถูกซ้ำเติมโดยภาวะการระบาดอย่างยาวนาน ดังประเด็นต่อไปนี้


º ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ


ปัญหาสำคัญของสังคมสหรัฐฯ ที่หยั่งรากลึกมาก่อนเกิดการระบาดของโรคและยิ่งส่งผลกระทบอย่างมากเมื่อเกิดการระบาดนั่นคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำอันเนื่องมาจากการเป็นสังคมทุนนิยมเต็มขั้น ในขณะที่นวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ คุณภาพชีวิตของผู้ที่มีฐานะไม่ร่ำรวยในสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบอย่างมากและมากขึ้น กลายเป็นกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากมาตรการ lockdown เป็นระยะเวลานานทำให้การหาเลี้ยงชีพเป็นไปอย่างยากลำบาก ในขณะที่สวัสดิการโดยรัฐมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องออกมาทำงานนอกที่พักเป็นกลุ่มแรก ๆ เนื่องจากลักษณะงานไม่สามารถทำผ่านออนไลน์ได้ ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อและมีการเจ็บป่วย[i] นอกจากนี้กลุ่มคนที่มีสถานะทางทะเบียนไม่ถูกต้องยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้นไปอีก แม้คนกลุ่มนี้จำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจที่ช่วยให้สามารถคงอยู่และดำเนินต่อไปได้ ในทางกลับกัน มาตรการช่วยเหลือของรัฐในทางภาษีซึ่งเน้นไปที่กิจการบางประเภท เช่น กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยว กลับไม่ครอบคลุมประชาชนกลุ่มเปราะบางมากนัก ซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจอื่นที่ผ่านมากลุ่มชนชั้นนำมักได้รับความช่วยเหลือมากที่สุดมาโดยตลอด เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายจะเชื่อในหลักคิด “too big to fail” ซึ่งหมายถึงว่ากลุ่มทุนขนาดใหญ่จะล่มสลายไม่ได้เด็ดขาด เพราะหากกลุ่มนี้ล่มสลายแล้วจะทำให้เศรษฐกิจของคนทุกระดับเสียหายไปด้วย แต่ในความเป็นจริงภายหลังจากวิกฤติจบลงจะกลายเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคมให้เลวร้ายขึ้นอีก เนื่องจากกลุ่มชนชั้นนำได้รับการช่วยเหลือมากกว่า[ii] อีกทั้งในภาวะวิกฤติที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจขนาดเล็กล่มสลาย ในขณะที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่มีนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในช่วงของการระบาดมากกว่า เช่น กลุ่มบริษัท Big Tech ที่ช่วยในการใช้ชีวิตผ่านระบบออนไลน์ และกลุ่มทุนธนาคารที่มีบริการทางการเงินตอบสนองคนกลุ่มชั้นกลางและกลุ่มรากหญ้า


º หลักประกันสุขภาพ


ด้วยการที่สหรัฐฯ เป็นประเทศทุนนิยมเต็มขั้นทำให้กิจการต่าง ๆ อยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันเสรีแม้จะเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงพื้นฐานของประชาชนอย่างบริการทางสุขภาพก็ตาม เป็นที่รู้กันว่าค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในสหรัฐฯ นั้นแพงมากจนอาจทำให้ผู้เข้ารับการรักษาล้มละลายได้ทีเดียวหากไม่มีประกันสุขภาพที่ครอบคลุม แม้จะมีประกันแต่ก็มีราคาสูงมาก แต่โชคดีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีมาตรการช่วยเหลือในรูปประกันสุขภาพราคาถูกอย่างครอบคลุมที่รัฐเป็นผู้อุดหนุนงบประมาณ และมาตรการช่วยเหลืออื่นภายใต้การประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (public health emergency) แต่เป็นที่กังวลว่า ภายหลังที่ภาวะฉุกเฉินนี้จะสิ้นสุดลงในปีหน้าจะทำให้ประชากรหลายล้านคนหลุดจากระบบประกันสุขภาพหรือไม่


ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Think Tank ในสหรัฐอเมริกาชื่อ Center for American Progress ได้เผยแพร่บทความเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2022 ระบุว่ารัฐบาลสหรัฐฯ วางแผนที่จะหยุดจ่ายเงินสำหรับค่าทดสอบเชื้อ coronavirus พันธุ์ใหม่ ค่ารักษา และค่าวัคซีน สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาไม่ได้จัดสรรเงินเพื่อปรับปรุงการสืบย้อนหลังที่มาของเชื้อและติดตามการแพร่ระบาด เป็นการปล่อยให้สหรัฐฯ ไม่ได้มีการเตรียมพร้อมสำหรับผู้ป่วยที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวนี้ สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกายังไม่ได้เห็นชอบที่จะจัดหาเงินเพื่อใช้บรรเทาทุกข์ที่เกิดจาก COVID-19 "America Relief Plan" เพิ่มเติมตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 และในเดือนมีนาคม 2022 ทำเนียบขาวขอเงินเพิ่มอีก 22.5 พันล้านดอลลาร์เพื่อให้ความสำคัญกับโรค coronavirus ก็ล้มเหลวไม่ผ่านสภาคองเกรส [iii]


หากสถานการณ์นี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ย่อมจะก่อผลเสียต่อสังคมอเมริกันอย่างยิ่ง โดยมีการประเมินจาก NHS ว่าจะมีผู้หลุดออกจากประกันโดยรัฐ (Medicaid and CHIP) กว่า 15 ล้านคน เนื่องจากในภาวะปกติจะมีเกณฑ์รายได้ที่เข้มงวดกว่าในการรับสมัครผู้ประกันตนในระบบ นอกจากเรื่องประกันสุขภาพแล้ว การให้ร้านยาทั่วทั้งประเทศเป็นแหล่งกระจายวัคซีนฟรี ก็ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้ทั่วถึงมาก ยังมีความเป็นไปได้ว่าเชื้อ COVID จะยังกลายพันธุ์ได้อีกในปีต่อไปซึ่งจะทำให้การฉีดวัคซีนกลับมาจำเป็นอีกครั้ง แต่ในภาวะปกติร้านยาจะไม่สามารถให้บริการเช่นนี้ได้ ภายหลังสิ้นสุดภาวะฉุกเฉินลงแล้วหากรัฐบาลไม่คงมาตรการนี้ไว้ย่อมกลายเป็นความเสี่ยงต่อการระบาดอีกครั้ง นอกจากนั้น ยังมีอีกหนึ่งบริการที่ไม่มีความชัดเจนเช่นกันว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลต่อเนื่องหรือไม่ คือบริการ Tele med ที่เป็นการบริการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านโทรศัพท์ ที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงแพทย์ได้ง่าย หากบริการทางการแพทย์ต่าง ๆ ข้างต้นกลับมาสู่ระบบปกติเมื่อใด ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหากับเศรษฐกิจระดับครัวเรือนของกลุ่มเปราะบาง[iv] แน่นอน


º ความมั่นคงทางอาหาร


ปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้ครัวเรือนที่เปราะบางไม่มีเงินพอซื้ออาหารอย่างเพียงพอ รัฐบาลจึงให้เงินสนับสนุนกับคนกลุ่มนี้ผ่านโครงการ Supplemental Nutrition Assistance Program หรือ SNAP จากรายงานของ U.S. Department of Agriculture พบว่าปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนในโครงการนี้แล้วกว่า 41 ล้านคนซึ่งมากกว่าก่อนเกิดการระบาดของโรค COVID-19 พอควร โดยปัจจุบันเฉลี่ยแต่ละหลังคาเรือนจะได้รับเงินช่วยเหลือราว 416 เหรียญ เพิ่มขึ้นจาก 276 เหรียญในเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งโครงการนี้ทำให้ความยากจนในเด็กลดลงราว 14% และลดลงมากกว่านั้นเล็กน้อยในครอบครัวคนผิวสี ซึ่งแน่นอนเมื่อภาวะฉุกเฉินสิ้นสุดลงอาจมีครอบครัวที่เข้าสู่ความยากจนมากขึ้น เนื่องจากโดยเฉลี่ยแล้วแต่ละครอบครัวจะได้รับเงินสนับสนุนน้อยลงราว 82 เหรียญต่อเดือน และสำหรับบางครอบครัวอาจจะลดลงราว 200 เหรียญเลยทีเดียว[v] แผนภาพที่ 1 เส้นกราฟแสดงภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารระหว่างปี 1988 – 2020 ซึ่งนับแต่ปี 2010 มีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม นับแต่การระบาดของโรค COVID-19 ในปี 2019-2020 ภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารในครัวเรือนที่มีเด็กนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากการไม่ได้ทานอาหารเที่ยงที่โรงเรียนและธุรกิจอาหารที่ปิดตัวลง


แผนภาพที่ 1 แสดงสัดส่วนของครัวเรือนในสหรัฐอเมริกาจำแนกตามความั่นคงทางอาหาร (1998-2020)




º ปัญหาสุขภาพจิต


ปัญหาที่ตามมาจากการระบาดของโรค COVID -19 ไม่ใช่เพียงปัญหาที่มองเห็นได้ชัดอย่างเช่นปัญหาทางสุขภาพกายหรือปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีปัญหาสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน จากการเก็บข้อจากเดือนสิงหาคม 2020 ถึงเดือนสิงหาคม ปี 2022 จากกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกัน 3 ล้านคน เพื่อวิเคราะห์ความเครียดในช่วงของการระบาด พบว่าความวิตกกังวลและความซึมเศร้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2020 และมีแนวโน้มลดลงในปี 2021 และปี 2022 เนื่องจากวัคซีนที่มีประสิทธิภาพทำให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงภาวะปกติมากขึ้น[i] อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาสุขภาพจิตจากภาวะการระบาดจะเริ่มลดลง แต่โดยรวมแล้วชาวอเมริกันยังมีปัญหาทางสุขภาพจิตสูงกว่าประเทศอื่น ๆ มาโดยตลอด แม้ชีวิตของประชากรโดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยในประเทศพัฒนาแล้วจะสะดวกขึ้นกว่าอดีตมาก แต่กลับพบผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามรายงานขององค์การอนามัยโลกที่เผยแพร่ในปี 2017 ประเทศที่พัฒนามากที่สุดอย่างสหรัฐฯ กลับมีผู้ป่วยอาการซึมเศร้ามากเป็นอันดับสองของโลก[ii] โดยสาเหตุประการหนึ่งคือสังคมทุนนิยมของสหรัฐฯ ทำให้ผู้คนมุ่งแข่งขันกันที่จะยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจอย่างมาก

เมื่อมีแรงขับดันมากอาจทำให้ผู้แพ้ในระบบเศรษฐกิจเกิดความรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง ในทางกลับกัน ผู้มีฐานะดีก็ประสบกับความผิดหวังเช่นเดียวกันในช่วงของการระบาด เนื่องจากในช่วงของการระบาดนั้น ผู้มีฐานะร่ำรวยไม่สามารถใช้ชีวิตตามปรารถนาได้มากเท่าเดิมแม้จะมีทรัพย์สินมาก ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างความคาดหวังกับความเป็นจริงที่มากกว่าผู้ที่มีฐานะต่ำกว่าเสียอีก[iii] ประการต่อมาคือความเหงา มีรายงานทางวิชาการมากมายที่ระบุว่าความเหงาอย่างรุนแรงคือสาเหตุของการเกิดปัญหาสุขภาพจิตหลากหลายประเภท ซึ่งจากรายงานของMaking Caring Common ซึ่งเป็นโครงการของ Harvard Graduate School of Education กล่าวว่า 36% ของชาวอเมริกันมีภาวะเหงาอย่างรุนแรง รวมถึง 61% ของผู้ใหญ่ในช่วงต้น และ 51% ของแม่ที่มีลูกอายุน้อย[iv] โดยข้อสังเกตที่น่าสนใจจากรายงานคือ ความเหงานี้เป็นผลจากโครงสร้างสังคมอเมริกันที่มีปัญหา คนอเมริกันมักมีชีวิตที่เป็นปัจเจกมากเกินไป (hyper-individualism) สถาบันสำคัญในสังคมเช่น โรงเรียน สถาบันทางศาสนา ภาครัฐ มีบทบาทในการสร้างจุดเชื่อมสัมพันธ์ของคนน้อยเกินไป จำเป็นอย่างยิ่งที่สถาบันต่าง ๆ ต้องเร่งสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้เกิดขึ้น ในรายงานยังระบุด้วยว่าสังคมอเมริกันต้องย้อนกลับไปพิจารณาความคิดพื้นฐานแบบวัฒนธรรมศาสนา ที่สอนให้เรากระทำภารกิจเพื่อตัวเรา และเราก็ยังจำเป็นต้องกระทำภารกิจเพื่อผู้อื่นโดยเฉพาะผู้เปราะบาง รวมถึงการมีแนวทางที่เหมาะสมในการดำรงตนในครอบครัว โรงเรียน และสถาบันอื่น ๆ เพื่อฟื้นฟูความรู้สึก [v]


บทสรุป


เราจะเห็นว่า สหรัฐอเมริกาเวลานี้มีลักษณะการประนีประนอมระหว่างชีวิตผู้คนที่ถูกควบคุมด้วยไวรัสสายพันธุ์ใหม่กับแนวทางดำเนินนโยบายของรัฐต่อการระบาดของโรคตามใจชอบโดยจะไม่มีการใช้มาตรการควบคุมเป็นพิเศษเรียกอีกอย่างว่า นโยบายแบบนอนราบ ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องความรับผิดชอบทางจริยธรรม (sense of moral responsibility) ผลกระทบที่ตามมาสร้างความเสียหายต่อสังคมดังที่กล่าวแล้วข้างต้น

สังคมตะวันตกโดยเฉพาะสังคมอเมริกันนั้นที่แม้จะดูเป็นสังคมที่เจริญแล้วด้วยการพัฒนาบนฐานทุนนิยม แต่ความเป็นจริงมีความเปราะบางที่แฝงอยู่ในหลายด้าน เมื่อเจอกับวิกฤติครั้งใหญ่เช่นการระบาดของ COVID-19 ทำให้ความเปราะบางที่เคยถูกกลบไว้ถูกตีแผ่ขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างยั่งยืนได้เลยหากยังปล่อยให้สังคมเป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยทุนนิยมและปัจเจกนิยมจนเกินไปเช่นที่เป็นมา


 

อ้างอิง

[i] David G. Blanchflower and Alex Bryson, “Covid and Mental Health in America,” PLOS ONE (Public Library of Science), accessed November 21, 2022, https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371%2Fjournal.pone.0269855. [ii] “Depression and Other Common Mental Disorders,” World Health Organization (World Health Organization), accessed November 20, 2022, https://www.who.int/publications/i/item/depression-global-health-estimates. [iii] Mark Travers, “The Pandemic Is Affecting the Mental Health of the Rich More than the Poor,” Forbes (Forbes Magazine, October 26, 2020), https://www.forbes.com/sites/traversmark/2020/10/26/the-pandemic-is-affecting-the-mental-health-of-the-rich-more-than-the-poor/?sh=5fa9cf697923. [iv] Ali Cashin, “Loneliness in America: How the Pandemic Has Deepened an Epidemic of Loneliness,” Making Caring Common (Making Caring Common, October 20, 2022), https://mcc.gse.harvard.edu/reports/loneliness-in-america. [v] ibid [i] “US: Address Impact of Covid-19 on Poor,” Human Rights Watch, October 19, 2021, https://www.hrw.org/news/2020/03/19/us-address-impact-covid-19-poor?gclid=Cj0KCQiA1NebBhDDARIsAANiDD3gnMHD4pLzPjzMXhVJ5lilOGtnaw2X9IZsN2NFMJLABOEpicXsaL4aAhXuEALw_wcB. [ii] ibid [iii] 杨佳。 美国未能改进新冠疫情应对措施 美智库批国会目光短浅. 海外网。November 11,2022. http://news.china.com.cn/2022-11/11/content_78514848.htm [iv] Spencekimball, “Millions at Risk of Losing Health Insurance If U.S. Ends Covid Public Health Emergency in January,” CNBC (CNBC, October 19, 2022), https://www.cnbc.com/2022/10/19/us-could-end-covid-public-health-emergency-in-january-what-it-means.html. [v] ibid [i] World Bank national accounts data, https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.KD.ZG?end=2021&locations=CN&start=2003 [ii] WHO Health Emergency Dashboard, https://covid19.who.int/region/wpro/country/cn


ดู 27 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page