top of page

ระบบการปกครองของสหรัฐอเมริกากับจีน : ใครคือประชาธิปไตย ธนาธิปไตย หรือสังคมนิยม ?

อัปเดตเมื่อ 21 ธ.ค. 2564



ยุวดี คาดการณ์ไกล



การแข่งขันระหว่างอเมริกากับจีนในเวทีโลกทุกวันนี้ เป็นที่จับตามองของประชาคมโลกในทุกย่างก้าว ล่าสุดมีแถลงการณ์ของอเมริการะบุว่า อเมริกาโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทางออนไลน์วันที่ 9-10 ธันวาคม 2021 โดยจะเชิญผู้นำโลกประชาธิปไตย มาร่วมหารือ รับฟังข้อแนะนำ และหารือแนวทางความร่วมมือในระดับนานาชาติ ในประเด็นการป้องกันระบอบเผด็จการอำนาจนิยม การต่อสู้คอรัปชั่น และการเคารพสิทธิมนุษยชน กำหนดวันประชุมดังกล่าวตรงกับวันที่มีความหมายของไทยพอดี นั่นคือวันรัฐธรรมนูญ (10 ธันวาคม 2021) การประชุมยังไม่เริ่มก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ว่าอเมริกาจะกำหนดเงื่อนไขให้ประเทศไหนได้รับเชิญบ้าง ประเทศที่ไม่ได้รับเชิญก็อาจตั้งคำถาม ทำไมไม่เปิดกว้าง แล้วอเมริกามีวัตถุประสงค์อะไรในการจัดประชุมครั้งนี้ขึ้นมา การกระทำเช่นนี้ทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกแล้วปกครอง


เมื่อนึกย้อนกลับไป 6 กรกฎาคม 2564 จีนเองก็เคยมีการจัดงานทำนองนี้ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคการเมืองโลกผ่านทางออนไลน์ มีผู้นำพรรคการเมืองและองค์กรการเมืองเข้าร่วมการประชุมนี้กว่า 500 คน จากกว่า 160 ประเทศ ทั้งมีตัวแทนจากพรรคต่าง ๆ อีกกว่า 10,000 คน โดยเน้นประเด็น "ไม่มีประเทศใดยืนหยัดต่อสู้กับปัญหาท้าทายระดับโลกได้โดยลำพัง ความร่วมมือคือตัวเลือกเดียว" การที่จีนจัดการประชุมสุดยอดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคการเมืองโลกนั้น แสดงเจตจำนงชัดเจน เนื่องในวาระที่ครบรอบ 100 ปี ของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิตส์จีน ในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.2021 โดยจัดงานฉลองยิ่งใหญ่ ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน มีคำประกาศของสีจิ้นผิง ให้ชาวจีนได้ตระหนักถึงความก้าวหน้าและความสำเร็จของการพัฒนาประเทศจีน ที่มีพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นผู้นำตลอด 100 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ก็เป็นการประกาศให้ชาวโลกรู้ว่า จีนได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศ พัฒนาก้าวหน้าและเข้มแข็งขึ้นมาแล้ว จะไม่มีวันให้ใครมากดขี่ข่มเหงอีกต่อไป


ในขณะที่อเมริกากำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำโลกประชาธิปไตยแล้ว เมื่อนึกถึงกำลังทางเศรษฐกิจของอเมริกาก็เริ่มถดถอย มีความขัดแย้งภายในประเทศ มีความคิดเห็นแตกต่างและตรงข้ามกันใน หลากหลายประเด็น ตั้งแต่การแก้ปัญหาโควิด การกระตุ้นเศรษฐกิจ ความรุนแรงของตำรวจ การเหยียดคนเอเชีย ฯลฯ จึงทำให้ผู้เขียนยังมองไม่เห็นถึงบทบาทการนำที่ชัดเจนของอเมริกาในการจัดประชุมครั้งนี้ แม้ว่าอเมริกานั้นเคยเป็นต้นแบบประชาธิปไตยให้กับหลายๆประเทศมาก่อนก็ตาม


บทความนี้จะชี้ให้เห็นว่า มีข้อมูลที่ก่อให้เกิดข้อสงสัยว่าอเมริกามิอาจแสดงบทบาทการเป็นผู้นำการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้เหมือนอดีต เพราะสภาพเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในอเมริกาได้เปลี่ยนไปแล้ว นับวันยิ่งมีความแตกต่างกันมากขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งแสดงให้เห็นในประเด็นสำคัญสรุปพอสังเขป ดังนี้


1. การพัฒนาของสภาพทางสังคมในอเมริกากับจีน สังคมของทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกัน ข้อถกเถียงหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือคนอเมริกันรู้สึกดีกว่าคนจีน เป็นความจริงในแง่ของการมีเสรีภาพมากกว่า และเป็นความจริงที่คนอเมริกันมีเสรีภาพทางการเมืองด้วย แต่ก็เป็นจริงอีกเช่นกัน สำหรับคน 50 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ระดับล่างสุดของสังคมอเมริกามีแนวโน้มจะสูญเสียอิสรภาพส่วนตัวและจบลงด้วยการติดคุก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มประชากรผิวดำที่เกิดใน 10 เปอร์เซ็นต์ระดับล่างสุดนั้นมีโอกาสที่จะถูกกักขังในอเมริกาสูงกว่าจีนอย่างน้อยถึง 5 เท่า อเมริกาส่งคน 0.655 เปอร์เซ็นต์ของประชากร (หรือ 2.12 ล้านคน) เข้าคุก ในทางกลับกัน จีนส่งคน 0.118 เปอร์เซ็นต์ของประชากร (หรือ 1.65 ล้านคน) เข้าคุก[i]

เรายังสามารถพิจารณาสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของอเมริกาที่เสื่อมโทรมลงนั้น โดยดูได้จากดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม (Social Progress Index) ล่าสุดซึ่งเผยแพร่ในเดือนกันยายน 2020[ii] ค่อนข้างน่าประหลาดใจทีเดียว จากการประเมินทั่วโลก 163 ประเทศ พบว่าอเมริกา บราซิล และฮังการี เป็นเพียงสามประเทศที่ผู้คนมีคุณภาพชีวิตทางสังคมตกต่ำลง ซึ่งดัชนีนี้ได้รวมตัวชี้วัดความเป็นอยู่ที่ดีอันประกอบด้วย โภชนาการ ความปลอดภัย เสรีภาพ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา และอื่นๆ เพื่อวัดคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ และอเมริกานั้นได้หล่นจากอันดับ 19 มาเป็นอันดับ 28 ของโลก

สำหรับสภาพสังคมของจีน Jean Fan แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด [iii] ได้วิจัยด้านจิตวิทยาชาวจีน–อเมริกัน Jean Fan ได้ไปเยือนจีนเมื่อปี 2019 เธอสังเกตว่า “จีนกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง เป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน และกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในแบบที่ยากจะเข้าใจถ้าไม่ได้มาเห็นด้วยตัวเอง ซึ่งตรงข้ามกับสหรัฐที่กำลังเกิดภาวะชงักงัน การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม แนวคิดของตนเองและขวัญกำลังใจของคนจีนกำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็วในทางที่ดีขึ้น”


2.สภาพแวดล้อมของการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในอเมริกา คนอเมริกันมองว่าระบบเศรษฐกิจและการเมืองของพวกเขาทำให้คนจนและผู้ด้อยโอกาสมีพื้นที่ที่แข่งขันได้ สามารถขึ้นสู่จุดสูงสุดในชีวิตได้ คนอเมริกันส่วนใหญ่จึงเชื่อว่า พวกเขามีโอกาสเท่าเทียมกันในการเป็นมหาเศรษฐี แต่ในความเป็นจริงก็เกิดคำถามว่า สภาพแวดล้อมของการแข่งขันมีความเป็นธรรมสำหรับคนรวยและคนจนหรือไม่ คำตอบคือไม่มี Edward Luce ได้เขียนบทความใน Financial Times เดือนมิถุนายน 2019 ให้ข้อมูลเสริมต่อประเด็นนี้ว่า จากข้อมูลด้านการศึกษาแสดงให้เห็นว่า เด็กเกรดแปดที่มาจากกลุ่มรายได้ที่ต่ำกว่าที่มีผลการเรียนทางคณิตศาสตร์สูงโดยมีคะแนนอยู่ในหนึ่งในสี่อันดับต้นนั้น มีโอกาสที่จะจบการศึกษาน้อยกว่าเด็กในกลุ่มรายได้สูงที่ทำคะแนนได้หนึ่งในสี่ของระดับล่างสุด ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าระบบการทำงานที่เป็นอยู่ ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตยแบบคุณธรรม (meritocracy) ซึ่งหมายถึงระบบหรือสังคมที่คนได้รับเลือกไปสู่ตำแหน่งแห่งความสำเร็จที่สูงขึ้นนั้น อำนาจและอิทธิพลของตนที่ได้รับ ได้มาจากความสามารถและคุณธรรมที่บุคคลนั้นแสดงออกมาให้เห็น


3. ความไม่เท่าเทียมกันในอเมริกา นักวิชาการอเมริกันที่มีชื่อเสียง Joseph Stiglitz ผู้ได้รับรางวัลโนเบล และ Robert Reich ได้เขียนบทความเกี่ยวกับ ความเหลื่อมล้ำที่มีเพิ่มมากขึ้นในอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2011 ว่าด้วยเรื่อง "ของ 1เปอร์เซ็นต์ โดย 1เปอร์เซ็นต์ เพื่อ 1เปอร์เซ็นต์" Stiglitz เห็นว่าชาวอเมริกันระดับบน 1 เปอร์เซ็นต์ มีรายได้เกือบหนึ่งในสี่ของรายได้ของทั้งประเทศทุกปี [iv]

เมื่อเปรียบเทียบอเมริกากับจีนในประเด็นความไม่เท่าเทียมกันนี้ จากการประมาณการล่าสุดของค่าสัมประสิทธิ์จินี (Gini coefficient) ในอเมริกา [v] อยู่ที่ 0.41 ในประเทศจีนอยู่ที่ 0.39 ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ แต่พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มคนระดับล่าง 50 เปอร์เซ็นต์ของอเมริกาและจีน อเมริกาเป็นสังคมพัฒนาเพียงแห่งเดียวที่รายได้เฉลี่ยของกลุ่มคนระดับล่างสุด 50 เปอร์เซ็นต์ลดลงในช่วง 30 ปีระหว่างปี 1980 ถึง 2010 ในทางตรงกันข้าม ศาสตราจารย์ Danny Quah แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์[vi] ได้เขียนไว้ว่า ประชากรจีนระดับล่าง 50 เปอร์เซ็นต์ มีการปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งแท้จริงแล้ว 40 ปีที่ผ่านมาของการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจที่ชาวจีนได้รับนั้น เป็น 40 ปีที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์จีนสี่พันปี

แม้ว่าอเมริกาได้ชื่อว่ามีระบบประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก แต่ความไม่เท่าเทียมกันในอเมริกากลับเพิ่มมากขึ้น คนอเมริกันจะเลือกตั้งทุกสองหรือสี่ปี (ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ได้รับการเลือกตั้ง) เพื่อเลือกผู้นำของตน แต่ผลลัพธ์ก็คือ ชาวอเมริกันเลือกผู้นำที่ดูแลคน 1เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ 99 เปอร์เซ็นต์ ถ้าดูอเมริกาแบบผิวเผิน ก็จะเห็นการเมืองยังคงทำหน้าที่เป็นรูปแบบ ประชาธิปไตย (Democracy) แต่เวลานี้ได้กลายเป็นรูปแบบ ธนาธิปไตย (Plutocracy) ซึ่งดูแลผลประโยชน์ของคนรวย 1 เปอร์เซ็นต์ ไปแล้ว


4. ความเสื่อมของสถาบันการเมืองของอเมริกาจาก Democracy สู่ Plutocracy ชนชั้นสูงทางเศรษฐกิจและกลุ่มที่เป็นตัวแทนของผลประโยชน์ทางธุรกิจมีอิทธิพลอย่างมากต่อนโยบายของรัฐบาลอเมริกาในขณะที่พลเมืองทั่วไปและกลุ่มผลประโยชน์ที่มีมวลชนเป็นฐานแทบไม่มีอิทธิพลเลย หากการกำหนดนโยบายถูกครอบงำโดยองค์กรธุรกิจที่มีอำนาจและชาวอเมริกันที่ร่ำรวย ที่มีจำนวนเล็กน้อยเช่นนี้แล้ว ก็กล่าวได้ว่า สังคมประชาธิปไตยของอเมริกาเหมือนถูกทำลายลงอย่างรุนแรง

วันนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ได้เป็นผู้กำหนดการตัดสินใจของรัฐสภาคองเกรสของอเมริกา แต่ผู้ให้เงินทุนสนับสนุนเป็นผู้กำหนดแทนพวกเขา ด้วยเหตุนี้ การเมืองอเมริกาจึงกลายเป็นการทำหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตยน้อยลง แต่ดูเหมือนจะทำหน้าที่ในระบอบ Plutocracy มากขึ้นเรื่อยๆ ที่ซึ่งคนรวยเพียงไม่กี่คนมีอำนาจอย่างไม่สมสัดส่วน

Marvin Zonis นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโกได้เขียนบทความที่อธิบายถึง “ระบบของอเมริกากำลังเผชิญกับวิกฤตของความชอบธรรม” ระดับความเชื่อมั่นที่ชาวอเมริกันมีต่อสถาบันหลักของพวกเขากลับลดลง ความเชื่อมั่นต่อการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกาลดลงจาก 52 เปอร์เซ็นต์ในปี 1975 เป็น 37 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018 ความเชื่อมั่นในรัฐสภาคองเกรสของอเมริกาลดลงอย่างมากจาก 42 เปอร์เซ็นต์ในปี 1973 เป็น 11 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018 สาเหตุอันเนื่องมาจากปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขาดความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในสถาบันทางการเมืองของอเมริกาเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ได้ตระหนักว่าประชาธิปไตยในอเมริกานั้น ไม่ได้ทำงานอย่างสมน้ำสมเนื้อเหมือนกับอุดมการณ์ของผู้ก่อตั้งแล้ว หัวใจสำคัญของการเข้าสู่ชีวิตทางการเมืองของชาวอเมริกันกลับกลายเป็นเรื่องเงิน ซึ่งมีการบันทึกว่าจำนวนเงินที่ใช้ไปในปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2010 เป็น 6.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2016 เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมแสดงว่าสังคมอเมริกากลายเป็น "ระบอบ Plutocracy" แล้ว [vii]


เมื่อพิจารณาผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐบาลกลางของจีนพบว่า มีความพอใจสูงมาก การสำรวจในปี 2016 พบว่า 95.5% ของผู้ตอบแบบสอบถาม "พอใจค่อนข้างมาก" หรือ "พอใจมาก" กับรัฐบาลกลางที่ปักกิ่ง [viii] “The Times” หนังสือพิมพ์ของสวิตเซอร์แลนด์ ได้ออกบทความ “Why don’t Chinese people hate their government?” ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2020 พูดถึงผลสำรวจความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อรัฐบาลจีน และพบว่า ชาวจีน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนรัฐบาลมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีเหตุผล 4 ประการ คือ 1). คนรุ่นใหม่เติบโตในช่วงเศรษฐกิจจีนกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด และอยู่ในยุคที่รัฐบาลจีนออกนโยบายกำจัดความยากจน ทำให้คนรุ่นใหม่ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ 2). โมเดลการตัดสินใจของรัฐบาลจีนได้รับความไว้วางใจจากประชาชน เนื่องจากรัฐบาลประสบความสำเร็จในการจัดการเศรษฐกิจภายในประเทศ ตลอดจนสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น รถไฟ ถนนหนทาง ได้อย่างรวดเร็ว และยกระดับคุณภาพชีวิตชาวจีนได้ 3). ชาวจีนยังเจ็บปวดกับสิ่งเลวร้ายในศตวรรษแห่งความอัปยศที่เกิดขึ้นจากนักล่าอาณานิคมชาวตะวันตก และทำให้ชาวจีนยังคงระแวงอิทธิพลของตะวันตกที่เข้ามาในประเทศ และ 4). ค่านิยมที่เกิดจากลัทธิขงจื่อ ซึ่งมีอิทธิพลต่อสังคมจีนมากว่า 2,000 ปี ที่เสนอว่า ปัจเจกควรเชื่อฟังรัฐเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์สุขร่วมกัน

ยังมีเหตุผลอีกมากมายที่ทำให้รัฐบาลจีนได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แต่เหตุผลสำคัญที่สุดคือ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และความแข็งแกร่งของจีนที่กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คนจีนรู้สึกถึงความมั่นคงปลอดภัยและความภาคภูมิใจต่อชาติตน ซึ่งอาจแปลความได้ว่า ชาวจีนยังคงไว้ใจและให้การสนับสนุนรัฐบาลจีน[ix]


กล่าวโดยสรุป

ถ้ามองระบอบการปกครองสำหรับประเทศขนาดใหญ่อย่างจีนนั้น ในหนังสือประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน[x] ได้ชี้ให้เห็นถึง ประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่มีการเลือกตั้งว่า “เงินเป็นแม่นมผู้เลี้ยงดูการเมือง” และเป็นความจริงที่มิอาจแก้ต่างได้เลยว่า การเลือกตั้งแบบตะวันตกถูกควบคุมและจัดการโดยเงิน นักการเมืองอเมริกันจึงถูกเรียกว่าเป็นสโมสรของคนรวย ใน ค.ศ. 2012 รัฐสภาของสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐสภาที่ร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

สำหรับจีนแล้ว จีนบอกยังไม่พร้อมที่จะมีประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ปัจจุบันจีนได้เลือกประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือเป็นรูปแบบหลักของการเมืองประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมของจีน ซึ่งจีนเชื่อว่าเหมาะสมสำหรับสังคมจีนเวลานี้ และได้พิสูจน์แล้วว่าตลอด 100 ปีของการปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ แม้ล้มลุกคลุกคลานในช่วงต้น แต่หนทางประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมที่จีนได้เลือกไว้ในท้ายที่สุด กลับยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี หลุดพ้นจากความยากจนได้ถ้วนหน้า

ส่วนระบบการเมืองของอเมริกานั้น จากข้อมูลข้างต้นเราคงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ปัจจุบันได้เปลี่ยนจากการทำหน้าที่แบบ Democracy (คือรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน) ไปสู่การทำหน้าที่เป็นแบบ Plutocracy (คือรัฐบาลของ 1 เปอร์เซ็นต์ โดย 1 เปอร์เซ็นต์ สำหรับ 1 เปอร์เซ็นต์) แล้ว



อ้างอิง [i] Jean Fan.2019. The American Dream Is Alive in China. PALLADIUM : Governance Futurism. OCTOBER 11, 2019 https://palladiummag.com/2019/10/11/the-american-dream-is-alive-in-china/ [ii] 2020 Social Progress Index. Social Progress Imperative. https://www.socialprogress.org/static/37348b3ecb088518a945fa4c83d9b9f4/2020-social-progress-index-executive-summary.pdf [iii] Jean Fan.2019. อ้างแล้ว [iv] Joseph E. Stiglitz 2011. OF THE 1%, BY THE 1%, FOR THE 1%. Vanity Fair. May 2011. https://www.vanityfair.com/news/2011/05/top-one-percent-201105 [v] Statista Research Department, 2021 U.S. household income distribution, by Gini-coefficient 1990-2020. Sep 21, 2021 [vi] Kishore Mahbumani. 2021. Democracy or Plutocracy? America’s Existential Question. CIRSD. November 16. [vii] Marvin Zonis อ้างใน Kishore Mahbumani. 2021 [viii] Dan Harsha. 2020. National & World Affair: Taking China’s pulse. The Harvard Gazette. July 9. https://news.harvard.edu/gazette/story/2020/07/long-term-survey-reveals-chinese-government-satisfaction/ [ix] Ma Shikun. 2021. Why Chinese People Support Their Government. https://www.chinausfocus.com/society-culture/why-chinese-people-support-their-government. May, 28. [x] ฝางหนิง 2021 (ยุวดี คาดการณ์ไกล บรรณาธิการแปลไทย) ประสบการณ์ประชาธิปไตยจีน สำนักพิมพ์สถาบันสังคมศาสตร์จีนร่วมกับมูลนิธิสถาบันสร้างสรรค์ปัญญาสาธารณะ

ดู 76 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentarios


bottom of page