PM 2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่ปกคลุมกรุงเทพฯ และหลายจังหวัดอยู่ขณะนี้อาจเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับสังคมไทย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปจึงขาดประสบการณ์และแนวทางรับมือได้อย่างทันท่วงที แต่อันที่จริงปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เนื่องจากการเคลื่อนตัวของหมอกควันในแต่ละครั้งกินวงกว้างครอบคลุมหลายประเทศ ปัญหามลพิษทางอากาศจึงกลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศทั้งในแง่การเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาวะ เป็นเหตุให้อาเซียนถูกตั้งคำถามถึงศักยภาพในการจัดการปัญหาร่วมกันอย่างบูรณาการ
World Think Tank Monitor ฉบับนี้จึงทำการสำรวจสถานการณ์หมอกควันในภูมิภาคกับบทบาทของอาเซียนโดยหยิบยกบทวิเคราะห์ เรื่อง “ASEAN’s Haze Shroud: Grave Threat to Human Security” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. Mely Caballero-Anthony และ Goh Tian และ “Haze and Air Pollution: The Potential Health Crisis” โดย Gianna Gayle Amul ซึ่งทั้งสามท่านเป็นนักวิชาการด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่จาก Centre for Non-Traditional Security Studies (NTS) S. Rajaratnam School of International Studies (RSIS), Nanyang Technological University เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนบทบาทของอาเซียนในฐานะองค์การความร่วมมือส่วนภูมิภาค
ผลกระทบต่อสุขภาวะชาวอาเซียน
วิกฤตมลพิษทางอากาศในอาเซียนส่วนใหญ่มีสาเหตุจากไฟป่า การเผาฝางเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ไอเสียจากรถยนต์ และผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) เป็นต้น วิกฤตหมอกควันในอาเซียนครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 1997, 2013 และ 2015 แต่ละครั้งส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนกว่า 100 ล้านคน
ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ลอยอยู่ในอากาศนั้นมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมหลายเท่าและประกอบไปด้วยสารซัลเฟต (Sulfates) ไนเตรต (Nitrate) แอมโมเนีย (Ammonia) ฯลฯ อนุภาคฝุ่นเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะแทรกซึมเข้าสู่ปอดเท่านั้น แต่สามารถจับตัวเป็นกลุ่มก้อนในร่างกายอันเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ อาทิ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ เกิดอาการแพ้ ดวงตาอักเสบ และโรคผิวหนัง เป็นต้น องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยออกมาเตือนในปี 2013 ว่าอันตรายจากฝุ่นละออง PM 2.5 ในระยะยาวอาจก่อให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง ซึ่งประชากรโลกกว่าร้อยละ 22 เสียชีวิตด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Ischemic Heart Disease) นอกจากนี้ WHO ยังประเมินว่าในแต่ละปีประชากรโลกนับหมื่นคนเจ็บป่วยเพราะมลพิษทางอากาศ ในระยะยาวฝุ่นละอองเหล่านี้จะส่งผลให้ประชากรโลกมีอัตราการเจ็บป่วยและการตายสูงขึ้น รวมถึงมีอายุคาดเฉลี่ยที่สั้นลง
ในปี 1997 ชาวอินโดนีเซียกว่า 20 ล้านคนป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ และอีกหลายพันคนต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ส่วนชาวมาเลเซียอีกกว่า 18 ล้านคนตกเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ขณะที่ในปี 2015 รายงานจากหนังสือพิมพ์ The Jakarta Post สรุปยอดชาวอินโดนีเซียที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจในจังหวัดกาลิมันตันใต้มีจำนวน 53,428 ราย เปกันบารู 34,846 ราย สุมาตราใต้ 22,855 ราย กาลิมันตันตะวันตก 21,130 ราย และกาลิมันตันกลาง 4,121 ราย ปัญหามลพิษทางอากาศจึงมิใช่เรื่องสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงประเด็นความมั่นคงมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่เข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพอีกด้วย
เศรษฐกิจ-สังคมเปื้อนฝุ่น
นอกจากด้านสุขภาพแล้วปัญหามลพิษทางอากาศยังกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม ในช่วงวิกฤตหมอกควันในอาเซียน สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียต้องสั่งปิดโรงเรียนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ บริษัท ห้างร้านต่างๆ ต้องปิดกิจการชั่วคราว สนามบินหลายสิบแห่งในอินโดนีเซียและมาเลเซียต้องปิดทำการชั่วคราว สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร กีฬา และกิจกรรมที่อยู่กลางแจ้งต้องยุติลงทั้งหมด มีการประเมินว่าเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงที่เกิดวิกฤตหมอกควันปี 1997 เสียหายถึง 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าวิกฤตหมอกควันในปีต่อๆ มาจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ
อาเซียนกับการแก้ไขปัญหาหมอกควัน
เมื่อหมอกควันเป็นปัญหาข้ามพรมแดนก่อให้เกิดความเสียหายทางสุขภาวะ เศรษฐกิจ และสังคมในหลายประเทศดังกล่าวข้างต้น จึงไม่ใช่เรื่องภายในประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป จำเป็นต้องจัดการปัญหาร่วมกันอย่างบูรณาการและเป็นระบบ หลายครั้งที่เกิดวิกฤตหมอกควันอาเซียนจะถูกวิจารณ์อยู่เสมอว่าขาดกลไกการจัดการ แม้ว่าอาเซียนจะมีความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution – ATHP) ตั้งแต่ปี 2002 แต่อาเซียนยังขาดระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า ขาดมาตรการรับมือเมื่อมลพิษในอากาศสูงเกินค่ามาตรฐาน ขาดการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบ ไม่มีแนวทางดูแลเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า รวมถึงขาดมาตรการ เฝ้าระวัง ป้องกัน และปราบปรามการเผาพื้นที่เกษตรกรรมภายระดับท้องถิ่นในประเทศต่างๆ ด้วย
ย่างก้าวของอาเซียนกับการฝ่าวิกฤตหมอกควัน
จากบทวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงอันตรายของฝุ่นละอองในอากาศซึ่งเป็นวิฤตครอบคลุมหลายประเทศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอาเซียนนับร้อยล้านคน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล และบางครั้งนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างประเทศ ปัญหาหมอกควันจึงเป็นหนึ่งในข้อท้าทายของอาเซียนมาตลอดระยะกว่าสิบปีที่ผ่านมา แม้ว่าอาเซียนจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงศักยภาพในการรับมือกับปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน แต่จนถึงวันนี้ต้องยอมรับว่าอาเซียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในการสร้างกลไกและความร่วมมือด้านมลพิษทางอากาศ แต่ก็ยังมีอุปสรรคอยู่มาก โดยสังเขป ดังนี้
อาเซียนเริ่มให้ความสนใจกับมลพิษทางอากาศตั้งแต่การประชุม ASEAN Ministerial Meeting on the Environment (AMME) ครั้งที่ 4 ใน 1992 ต่อมามีการประชุมอาเซียนว่าด้วยการจัดการมลพิษข้ามพรมแดน (ASEAN Meeting on the Management of Transboundary Pollution) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในการประชุมครั้งนี้ประเทศสมาชิกมีเจตจำนงที่จะพัฒนาระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนมลพิษทางอากาศ หลังเกิดวิกฤตหมอกควันใน 1997 ซึ่งครอบคลุมสิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และภาคใต้ของไทย จึงจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านหมอกควันขึ้นเป็นครั้งแรก (the 1st ASEAN Ministerial Meeting on Haze – AMMH) เพื่อหาแนวทางรับมือจากวิกฤตหมอกควันในปีดังกล่าว หลังจากนั้นที่ประชุมอาเซียนทั้งระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสได้ร่วมกันร่างแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันหลายฉบับ อาทิ ASEAN Regional Haze Action Plan (RHAP) มีสาระเกี่ยวกับการป้องกันการเผาป่าและพื้นที่เกษตรกรรม ตลอดจนการเสริมสร้างสมรรถภาพของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า และการลงนามความตกลงในอนุภูมิภาคด้านการดับไฟ (Sub-Regional Fire-fighting Agreements -SRFA) ระหว่างมาเลเซียและอินโดนีเซียตามแผนปฏิบัติการฮานอย (Hanoi Plan of Action) เป็นต้น
กระทั่งปี 2002 อาเซียนมี “ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน” (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution – AATHP) โดยมีสาระสำคัญคือ การลดมลพิษทางอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระชับความร่วมมือทั้งภายในประเทศและระดับภูมิภาคในการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน การพัฒนาบุคลากรและเครื่องมือให้มีความพร้อม รวมถึงริเริ่มความร่วมมือในการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างไรก็ดี กว่าที่ประเทศสมาชิก 10 ประเทศจะให้สัตยาบันในความตกลงดังกล่าวครบก็ใช้เวลาหลายปี เช่น อินโดนีเซียให้สัตยาบันเป็นชาติสุดท้ายในปี 2014 เนื่องจากความตกลงดังกล่าวมีพันธกรณีเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการจัดการพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งปัญหาที่ผ่านมาในอดีตคือรัฐบาลอินโดนีเซียส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นมีนโยบายที่ไม่สอดคล้องกัน ยิ่งกว่านั้นธุรกิจเกษตรกรรมในอินโดนีเซียที่ใช้วิธีการเผาฝางเพื่อเตรียมเพาะปลูกบางแห่งยังมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับภาครัฐและนักลงทุนจากต่างชาติด้วย
ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ประเทศสมาชิกยังตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาหมอกควันไม่เท่ากัน บางประเทศอาจรู้สึกว่าตนไม่ได้รับผลกระทบจากหมอกควันจึงไม่ได้มองว่าปัญหานี้กระทบต่อความมั่นคงมนุษย์ในอาเซียน นอกจากนี้ การที่อาเซียนยึดถือ วิถีอาเซียน (ASEAN Ways) ยึดมั่นในหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ฉันทามติ และไม่มีมาตรการบังคับ ฯลฯ ก็เป็นอีกอุปสรรคที่ส่งผลให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
อย่างไรก็ดี จากปรากฏการณ์ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ขณะนี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหามลพิษทางอากาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือเรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาบางประเทศอาจรู้สึกว่าปัญหานี้ไม่เกี่ยวกับตนจึงไม่จำเป็นต้องลงทุนลงแรงด้วย แต่ ณ วันนี้เป็นที่ประจักษ์ว่าปัญหาหมอกควันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกประเทศในอาเซียน
คงถึงเวลาแล้วที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อสร้างกลไกการป้องกันและแก้ปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร แปลและเรียบเรียง มกราคม 2562
1. Anthony, Mely Caballero-. and Tian, Goh “ASEAN’s Haze Shroud: Grave Threat to Human Security.” Centre for Non-Traditional Security Studies (NTS), October 5, 2015. https://www.rsis.edu.sg/wp-content/uploads/2015/10/CO15207.pdf (accessed January 15, 2019).
2. Amul, Gianna Gayle. “Haze and Air Pollution: The Potential Health Crisis.” Centre for Non-Traditional Security Studies (NTS), July 9, 2013. https://www.rsis.edu.sg/wp-content/uploads/2014/07/CO13122.pdf (accessed January 15, 2019).
Comments