เอเชียกลาง ดินแดนที่คั่นระหว่างจีนและยุโรป และรัสเซียกับตะวันออกกลาง ในอดีตเคยเป็นดินแดนแหล่งอารยธรรมรุ่งโรจน์ในยุคเส้นทางสายไหมเฟื่องฟู แต่ซบเซาและเลือนหายไปจากประวัติศาสตร์โลก ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ เอเชียกลาง อันประกอบด้วย 5 ประเทศที่ลงท้ายชื่อด้วยคำว่า “สถาน” ได้แก่ คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน เคอร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน นี้เป็น “หลังบ้าน” ของจักรวรรดิรัสเซีย และต่อมาสหภาพโซเวียต แต่มาบัดนี้ ดุลอำนาจในเอเชียกลางกำลังเปลี่ยนมืออีกครั้งจากที่เป็นเขตอิทธิพลรัสเซียมาพึ่งพาจีนมากขึ้นเรื่อยๆ
ในบทความเรื่อง Central Asia’s Economic Evolution From Russia To China ของเว็บไซต์และสำนักพิมพ์ Stratfor ซึ่งเป็นบริษัทคลังสมองเอกชนของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ สรุปได้ดังนี้
รัสเซีย : เจ้าของเขตอิทธิพลดั้งเดิมในเอเชียกลาง
รัสเซียเป็นมหาอำนาจภายนอกที่เข้ามาครอบงำเอเชียกลางตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 นับแต่ที่จักรวรรดิรัสเซียในขณะนั้นเข้ามายึดครองดินแดนนี้เพื่อเอาเป็นพื้นที่กันชนขวางจักรวรรดิตนจากการรุกรานของอำนาจภายนอก ภายหลังการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 เอเชียกลางก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต รัฐบาลโซเวียตได้ขีดเส้นแดนขึ้นใหม่ให้เกิดรัฐเอกราชขึ้นมา 5 แห่งในเอเชียกลาง บรรดาสาธารณรัฐทั้ง 5 แห่งเอเชียกลางนี้รับเอาการปกครองแบบรวมศูนย์ ปกครองจากบนลงล่าง (Top-Down) แบบโซเวียตมาใช้ รวมทั้งรับเอาภาษารัสเซียมาเป็นภาษากลางด้วย ภายใต้ยุคที่อยู่กับจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียตนี้ เอเชียกลาง อดีตดินแดนอันคึกคักแห่งยุคเส้นทางสายใหม่ ได้ถูกปิดลงจากโลกภายนอก
ในยุคดังกล่าว เอเชียกลางเข้าสู่กระบวนการทำให้กลายเป็นอุตสาหกรรม (Industrialization) และการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ (collectivization) เช่นเดียวกับบริเวณอื่นของสหภาพโซเวียต ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมและการทำการเกษตรขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้ และเชื่อมโยงเศรษฐกิจเอเชียกลางเข้ากับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการทหารของโซเวียต เอเชียกลางเป็นแหล่งป้อนทรัพยากรที่มีอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุต่างๆ และฝ้าย สู่เศรษฐกิจโซเวียต โดยเชื่อมโยงกับโซเวียตผ่านถนน ทางรถไฟ และท่อส่งก๊าซ และน้ำมันต่างๆ
แม้ภายหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อปี 1991 และประเทศในเครือแตกออกเป็นประเทศเอกราช รวมทั้ง 5 ประเทศของเอเชียกลาง แต่ประเทศเหล่านี้ก็ยังมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับรัสเซียอยู่ในหลายๆ ด้าน รัสเซียยังเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของแต่ละประเทศเอเชียกลางอยู่ในช่วง 20 ปีแรกหลังได้รับเอกราช นำเข้าน้ำมันและสินค้าอื่นๆ จากเอเชียกลาง และส่งออกสินค้าเช่น เชื้อเพลิงกลั่น มายังเอเชียกลาง จนกระทั่งเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา การค้าและการลงทุนระหว่างรัสเซียกับเอเชียกลางลดลงอย่างมาก สัดส่วนเหล่านี้ตกไปอยู่กับจีนแทน
จีน : ผู้มาใหม่ที่ทรงอิทธิพล
ในช่วงทศวรรษที่ 1990 ที่ประเทศเอกราชต่างๆ ในเอเชียกลางได้รับเอกราชนั้น เป็นช่วงเดียวกับที่เศรษฐกิจจีนเริ่มเฟื่องฟูขึ้น เมื่อเศรษฐกิจเติบโต จีนจึงเริ่มเข้าไปเอาทรัพยากรต่างๆ ในเอเชียกลางมาป้อนภาคการผลิตของตน โดยเฉพาะในทศวรรษที่ 2000 ที่จีนเริ่มลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อดึงพลังงานและทรัพยากรจากเอเชียกลางมาสู่จีน โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่สำคัญคือ ท่อส่งน้ำมันคาซัคสถาน-จีน ซึ่งเปิดใช้การเฟสแรกในปี 2003 และท่อส่งก๊าซธรรมชาติเอเชียกลาง-จีน ซึ่งเริ่มใช้งานในปี 2009 ท่อน้ำมันและก๊าซนี้ได้เปิดส่วนต่อขยายอีกหลายส่วนในเวลาต่อมา ในปี 2017 ท่อส่งน้ำมันคาซัคสถาน-จีนขนน้ำมัน 12.3 ล้านตัน และก๊าซธรรมชาติ 44 พันล้านคิวบิกเมตรจากเอเชียกลางสู่จีน ขณะที่ท่อส่งก๊าซเอเชียกลาง-จีนส่งก๊าซธรรมชาติจากเอเชียกลางสู่จีนเป็นจำนวน 34 พันล้านคิวบิกเมตรในปี 2016
ขณะที่จีนนำเข้าพลังงานจากเอเชียกลางมากขึ้นเรื่อยๆ รัสเซียก็ลดการนำเข้าพลังงานจากเอเชียกลางลง รัสเซียเองเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลกอยู่แล้วจึงไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากเอเชียกลางมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตนเอง ในอดีตรัสเซียเคยซื้อพลังงานของเอเชียกลางเพื่อไปขายต่อยังยุโรปเพื่อทำกำไร แต่ช่วงท้ายของทศวรรษที่ 2000 พลังงานล้นเกินความต้องการในตลาดยุโรป รัสเซียจึงไม่ต้องการนำเข้าพลังงานจากเอเชียกลางอีกต่อไป
เติร์กเมนิสถานเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก่อนปี 2009 เติร์กเมนิสถานส่งออกก๊าซธรรมชาติร้อยละ 90 ไปยังรัสเซีย แต่ภายหลังเกิดพิพาทกับรัสเซียจากกรณีท่อก๊าซระเบิดในปี 2009 เติร์กเมนิสถานจึงลดการส่งออกก๊าซไปยังรัสเซียอย่างกะทันหัน จากกว่า 40 พันล้านคิวบิกเมตร ในปี 2008 เหลือศูนย์ในปี 2017 และเริ่มหันไปเพิ่มการส่งออกก๊าซของตนไปยังจีนแทน จาก 4 พันล้านในปี 2010 เป็นเกือบ 30 พันล้านในปี 2017 ทำให้เติร์กเมนิสถานกลายมาพึ่งพาจีนอย่างมากในทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการส่งออกก๊าซธรรมชาติคิดเป็นกว่าร้อยละ 80 ของรายได้รัฐบาล และคิดเป็นร้อยละ 35 ของจีดีพีประเทศ
ไม่เฉพาะเพียงการค้าพลังงาน แต่การค้าในภาพรวมระหว่างเอเชียกลางกับจีน ซึ่งเคยมีมูลค่าอยู่ที่ราวปีละ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในทศวรรษ 1990 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 30 พันล้านเหรียญในปี 2017 แซงหน้าการค้าระหว่างเอเชียกลางกับรัสเซียในปีเดียวกันที่มีมูลค่าอยู่ที่ 18.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ จีนกลายเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของประเทศเอเชียกลางทุกประเทศ แซงหน้ารัสเซีย (ยกเว้นคาซัคสถาน)
ในมิติอื่นๆ ทางด้านเศรษฐกิจ จีนลงทุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมภายใต้ยุทธศาสตร์ Belt and Road ในเอเชียกลาง เช่น เส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อมจากท่าเหลียนหยุนกังของจีนมายังเมืองอัลมาตีของคาซัคสถาน และวางแผนจะสร้างทางรถไฟอีกสองเส้นทางเชื่อมจากตอนใต้ของจีนมายังเอเชียกลาง จีนเข้าไปสร้างนิคมอุตสาหกรรมถลุงเหล็กในทาจิกิสถานซึ่งเปิดในเดือนพฤศจิกายน 2017 นอกจากนี้บริษัทโทรคมนาคมของจีนอย่าง Huawei และ ZTE ก็ไปสร้างโรงงานประกอบชิ้นส่วนในอุซเบกิสถาน นอกจากนี้ จีนกำลังพัฒนาเมือง Khorgos ของคาซัคสถานให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตและโลจิสติกส์
อิทธิพลที่ยังหลงเหลือของรัสเซีย
แม้สำหรับเอเชียกลาง จีนจะเข้ามาแทนที่รัสเซียในหลายๆ มิติทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี รัสเซียยังถือแต้มต่อสำคัญทางเศรษฐกิจกับเอเชียกลางไว้ในมือ นั่นคือ เงินส่งกลับบ้าน (remittance) ของแรงงานชาวเอเชียกลางจำนวนกว่า 3 ล้านคนที่ไปทำงานในรัสเซีย ในปัจจุบัน รัสเซียเป็นที่ที่ชาวเอเชียกลางไปใช้แรงงานทำมาหากินอยู่มากที่สุด ซึ่งเงินส่งกลับบ้านนี้สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียกลางอย่างมาก โดยเฉพาะกับประเทศที่ไม่ได้มีพลังงานมากสำหรับส่งออกอย่างเคอร์กีซสถานและทาจิกิสถาน ทั้งสองประเทศมีรายไดจากเงินส่งกลับบ้านจากรัสเซียราว 2 พันล้านเหรียญในปี 2017 ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าที่สองประเทศนี้ค้าขายกับจีน
จีนและรัสเซียยังไม่น่าขัดแย้งกันทางเศรษฐกิจในเอเชียกลาง
บทความชิ้นนี้ชี้ว่า การที่จีนมีบทบาทด้านการค้าการลงทุนในเอเชียกลางทะยานขึ้นแซงหน้ารัสเซียนี้ยังไม่ขัดแย้งกับผลประโยชน์และยุทธศาสตร์ของรัสเซียในเอเชียกลาง เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีนและรัสเซียแตกต่างกัน ส่งผลให้ทั้งสองมีสิ่งที่ต้องการจากเอเชียกลางต่างกัน จึงไม่ทับซ้อนกัน เช่น ด้านการลงทุน รัสเซียก็ไม่ได้เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในเอเชียกลางนับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายแล้ว และปัจจุบัน รัสเซียเองก็มีเงินทุนสู้จีนไม่ได้ในการเข้าไปพัฒนาโครงการต่างๆ นอกจากนี้ รัสเซียก็ไม่ได้ต้องการวัตถุดิบ ทรัพยากร และพลังงานจากเอเชียกลางอย่างที่จีนต้องการ ส่วนจีนเองก็ไม่ได้ต้องพึ่งแรงงานราคาถูกจากเอเชียกลางอย่างที่รัสเซียต้องการ โดยสรุป ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของรัสเซียกับจีนจึงยังไม่ขัดกัน
นอกจากนี้ บทความดังกล่าวยังชี้อีกว่า จีนกับรัสเซียยังไม่น่าจะขัดแย้งกันจากเรื่องเอเชียกลาง เพราะถึงที่สุด การที่จีนเข้าไปขยายบทบาททางเศรษฐกิจในเอเชียกลางได้เข้าไปอุดช่องว่าง ลดผลกระทบที่เศรษฐกิจเอเชียกลางจะต้องประสบจากปัจจัยเช่น ราคาพลังงานโลกที่ตกต่ำ การค้าที่ลดลงกับรัสเซีย และการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรในเอเชียกลาง บทบาททางเศรษฐกิจของจีนที่เข้าไปในเอเชียกลาง โดยเฉพาะภายใต้ยุทธศาสตร์ Belt and Road จึงช่วยสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งนำมาสู่เสถียรภาพทางการเมืองและสังคมในภูมิภาคเอเชียกลาง เป็นผลดีต่อความมั่นคงของรัสเซียและจีนเอง และจนถึงปัจจุบัน จีนก็ปรึกษาและประสานกับรัสเซียอยู่ตลอดในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเอเชียกลาง นอกจากนี้ การที่ทั้งรัสเซียและจีนมีผลประโยชน์อยู่ในเอเชียกลางทำให้ทั้งสองต้องเข้าไปปกป้องผลประโยชน์ในภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งก็เป็นการช่วยส่งเสริมเสถียรภาพและความมั่นคงในเอเชียกลางไปในตัว ให้ภูมิภาคดังกล่าวปลอดจากกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี บทความชิ้นนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่า จีนกับรัสเซียต้องพยายามถ่วงดุลอำนาจและบริหารความสัมพันธ์ในเอเชียกลางให้ดี ในยามที่จีนขยายบทบาททางเศรษฐกิจและอาจจะรวมถึงการทหารในภูมิภาคดังกล่าวในอนาคต รวมทั้งขยายบทบาทของ Belt and Road และองค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ในภูมิภาคเอเชียกลาง เพื่อมิให้ทับซ้อนหรือเบียดขับกับองค์กรระดับภูมิภาคของรัสเซียอย่าง Eurasian Economic Union และ CSTO เป็นต้น
ปาณัท ทองพ่วง แปลและเรียบเรียง ตุลาคม 2561
แปลและเรียบเรียงจาก: “Central Asia’s Economic Evolution From Russia To China.” Stratfor Worldview, April 5, 2018. https://worldview.stratfor.com/article/central-asia-china-russia-trade-kyrgyzstan-kazakhstan-turkmenistan-tajikistan-uzbekistan (accessed October 29, 2018)
ที่มาภาพ : https://penzanews.ru/analysis/55715-2012
コメント