top of page
klangpanyath

เส้นทางสายไหมดิจิทัล : การขับเคี่ยวระหว่างอินเดีย-จีน




“ขณะที่อินเดียพยายามสร้างความร่วมมือต่างๆ โครงการความริเริ่ม BRI ของจีนก็รุกคืบเข้ามาใกล้อินเดียในทุกขณะ ที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อไม่นานมานี้ นายโอลี (Khadga Prasad Sharma Oli) นายกรัฐมนตรีของเนปาลได้เดินทางมาเยือนจีน และเข้าร่วมกับโครงการริเริ่ม BRI ของจีน ไม่เพียงแค่เนปาลเท่านั้นที่เข้าร่วม ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ของอินเดีย เช่น ปากีสถาน ศรีลังกา และมัลดีฟส์ ก็พร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการริเริ่ม BRI ของจีนอย่างเต็มตัวด้วย”


C. Raja Mohan นักวิชาการชาวอินเดีย สถาบัน Carnegie ได้เผยแพร่งานเขียนเรื่อง Raja Mandala: Falling Behind on Digital Silk Road ซึ่งมีเนื้อหาพูดถึงการแข่งขันระหว่างอินเดียกับจีน โดย Mohan เห็นว่า ความท้าทายในการดำเนินการเมืองของอินเดีย คือ การแข่งขันระหว่างการทำเส้นทางเชื่อมโยงของตนกับโครงการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ของจีน ยกตัวอย่างเช่น ในการประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation) ที่เมืองชิงเต่า ประเทศจีน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อินเดียเข้าร่วมในฐานะสมาชิกอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกนั้น อินเดียต้องพยายามตีตัวออกจากวงประชุมที่พร้อมใจกันสนับสนุน BRI ของจีน และเมื่อครั้งโมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดียเยือนกรุงจาการ์ต้า ได้แสดงเจตนาอย่างแรงกล้าที่จะเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างอินเดียกับอินโดนีเซียให้เข้มแข็งขึ้น รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือในเกาะสุมาตราด้วย แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่าอินเดียจะสามารถทำได้จริงตามที่กล่าวไว้ได้หรือไม่


ขณะที่อินเดียพยายามสร้างความร่วมมือต่างๆ โครงการความริเริ่ม BRI ของจีนก็รุกคืบเข้ามาใกล้อินเดียในทุกขณะ ที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อไม่นานมานี้ นายโอลี (Khadga Prasad Sharma Oli) นายกรัฐมนตรีของเนปาลได้เดินทางมาเยือนจีน และเข้าร่วมกับโครงการริเริ่ม BRI ของจีน ไม่เพียงแค่เนปาลเท่านั้นที่เข้าร่วม ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ของอินเดีย เช่น ปากีสถาน ศรีลังกา และมัลดีฟส์ ก็พร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการริเริ่ม BRI ของจีนอย่างเต็มตัวด้วย ความร่วมมือต่างๆ ของประเทศในแถบนี้ที่อยู่ภายใต้ BRI จะถูกเรียกว่า ความริเริ่ม Trans-Himalayan Connectivity ซึ่งจะรวมถึงสถานีจัดเก็บน้ำมัน การเชื่อมต่อทางถนนและรางรถไฟ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ และสายส่งพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย


แม้ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกจะตั้งคำถามเกี่ยวกับความคุ้มทุนต่อโครงการต่างๆ ของจีน รวมทั้งกรณีล่าสุดของมาเลเซียที่ยกเลิกการเข้าร่วมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสิงคโปร์ของจีน แต่ก็ไม่ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านของอินเดียลดความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมโครงการ BRI เพราะสำหรับประเทศเหล่านี้ ผลทางเศรษฐกิจนั้นสำคัญแต่ประเด็นทางการเมืองก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน


สำหรับปากีสถาน การเข้าร่วมโครงการริเริ่ม BRI ถือเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มความลึกซึ้งในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับจีน เพื่อคานอำนาจให้สมดุลกับอินเดีย สำหรับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ข้อเสนอ BRI สามารถพูดได้ว่าเป็นสิ่งที่อาจทำให้เกิดอิสรภาพทางยุทธศาสตร์จากอินเดียสำหรับพวกเขาได้ เพราะในอดีต เพื่อนบ้านของอินเดียจำเป็นต้องพึ่งพาอินเดียในหลายๆ ด้าน ส่วนหนึ่งอาจเพราะภูมิศาสตร์ที่ติดกันและไม่มีตัวเลือก แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว พวกเขามีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งก็คือความริเริ่ม BRI ของจีน เมื่อจีนเข้ามาประเทศเหล่านี้ก็หันไปซบจีนทันทีโดยไม่ลังเล


ความคิดที่ต้องการอิสรภาพจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีขนาดใหญ่และอิทธิพลมากกว่าตนในการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศตนนั้นไม่ได้มีเพียงในภูมิภาคเอเชียใต้ ประเทศเพื่อนบ้านของจีนหลายประเทศในเอเชียตะวันออกก็ต้องการเช่นเดียวกัน ประเทศเหล่านั้นหาความมั่นคงโดยการกระจายความร่วมมือกับหลายๆ ประเทศรวมไปถึงอินเดียด้วย แต่อินเดียก็ไม่สามารถที่จะทำตามสัญญาที่ให้กับประเทศคู่ความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้เหมือนกับที่จีนทำ


ดังนั้น เมื่ออินเดียพบว่าเป็นไปได้ยากที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั้งในและนอกประเทศแข่งกับจีน ก็หันไปให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงในด้านดิจิทัล (Digital Connectivity) เห็นได้จากการเยือนสิงคโปร์ของนายกรัฐมนตรีโมดิ ได้ลงนามในข้อตกลงที่จะเชื่อมตลาดการเงินของทั้งสองประเทศ เปิดตัวบัตร RuPay ของอินเดีย และแอพพลิเคชั่นอีกมากมาย รวมถึงเมื่อปี 2017 อินเดียได้เปิดตัวดาวเทียม South Asia Satellite ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Neighbourhood ของตน

แม้อินเดียจะหันมาให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงด้านดิจิทัล จีนก็อยู่ในสนามแข่งนี้เช่นกัน จีนเปิดตัวโครงการต่างๆ ซึ่งขณะนี้รวมตัวกันเป็น “เส้นทางสายไหมดิจิทัล (Digital Silk Road)” จุดมุ่งหมายเพื่อเสริมความเข้มแข็งทางโครงสร้างพื้นฐานของอินเตอร์เน็ต ความร่วมมือที่ลึกซึ้งมากขึ้นในด้านอวกาศ ลดอุปสรรคต่ออีคอมเมิร์ช (E-commerce) พัฒนามาตรฐานเทคโนโลยีทั่วไป รักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ และปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบรักษาความปลอดภัยในกลุ่มประเทศที่อยู่ในโครงการ BRI จีนต้องการที่จะปรับใช้แพลตฟอร์มการพัฒนาของชาติที่ทำขึ้นโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ Big Data การจัดเก็บข้อมูลแบบคลาวด์ และคอมพิวเตอร์ควอนตั้มเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย


ตัวอย่างเช่น เมื่อต้นปีนี้ จีนกับเนปาลได้ดำเนินการเชื่อมโยงเส้นใยแก้วนำแสง (Optic Fibre Link) ระหว่างสองประเทศ การเชื่อมโยงดังกล่าวจะลดการพึ่งพาการเชื่อมต่อทางอินเตอร์เน็ตของเนปาลต่ออินเดีย และเมื่อปี 2017 หัวเหว่ย (Huawei) ของจีนได้ลงนามในข้อตกลงในการสร้างสายเคเบิลส่งสัญญาณใต้ทะเล (Pakistan East Africa Cable Express : PEACE) ซึ่งจะเชื่อมปากีสถานกับเคนยาผ่านทางจิบูติ หัวเหว่ยอาจขยายสายเคเบิ้ลนี้ไปยังภาคเหนือของอียิปต์และแอฟริกาใต้ เมื่อเสร็จสมบูรณ์ เคเบิลนี้จะมีความยาวรวมทั้งสิ้น 13,000 กิโลเมตร


เส้นทางสายไหมดิจิทัลของจีน ยังหมายรวมไปถึงความร่วมมือในอวกาศด้วย นอกจากความร่วมมือด้านอวกาศกับประเทศปากีสถานแล้ว จีนกำลังวางแผนที่จะเปิดตัวดาวเทียมแห่งชาติของเนปาล และเมื่อปี 2017 ศรีลังกาเข้าร่วมระบบนำทางกับ Beidou ของจีน จีนต้องการใช้ประโยชน์จากความสามารถในการสังเกตการณ์แผ่นดินโลกเพื่อเพิ่มความร่วมมือในหลายด้าน ตั้งแต่การตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมจนไปจนถึงการจัดการภัยพิบัติ การที่นายกรัฐมนตรีเนปาลไปเยือนจีนนั้นคาดหวังจะเห็นการลงนามในข้อตกลงทวิภาคีเพื่อจัดตั้งศูนย์จัดการภัยพิบัติในเนปาล ซึ่งจะเชื่อมต่อกับระบบ National Remote Sensing ของจีน

สิ่งที่เป็นข้อด้อยของอินเดียคือ อินเดียล้มเหลวการบูรณาการสมรรถนะของตนในด้านดิจิทัลและอวกาศที่ตนได้พัฒนามาเป็นเวลานานเข้ากับเศรษฐกิจมหภาคและยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งฝ่ายราชการยังมีอคติจำนวนมาก มีข้อบังคับจำนวนมากที่จำกัดอิสรภาพของภาคเอกชนในประเทศ มีข้อจำกัดด้านนวัตกรรม และมีความไม่ไว้ใจในการร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ทำให้อินเดียมีข้อจำกัดขีดความสามารถในการพัฒนาระบบดิจิทัลและการทูต ในช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษที่ 20 เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อินเดียไม่ค่อยใส่ใจในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของจีน ทั้งโครงการภายในประเทศ ระหว่างพรมแดน และโครงการระหว่างประเทศ ซึ่งท้ายที่สุดโครงการเหล่านี้ก็รวมตัวกันและออกมาในรูปแบบของมหายุทธศาสตร์ BRI ผลลัพธ์คืออินเดียต้องเผชิญกับผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ในอนุทวีปและมหาสมุทรอินเดียเป็นอย่างมาก หากอินเดียยังไม่รีบสร้างเกราะป้องกันทางดิจิทัลของตนเอง ก็อาจจะเสียทีให้กับการรุกเข้ามาของเส้นทางสายไหมดิจิทัลของจีน เช่นเดียวกับที่เคยเสียท่าให้กับเส้นทางสายไหมทางกายภาพทั้งทางบกและทะเลของจีนมาแล้ว


สิ่งที่เป็นข้อด้อยของอินเดียคือ อินเดียล้มเหลวการบูรณาการสมรรถนะของตนในด้านดิจิทัลและอวกาศที่ตนได้พัฒนามาเป็นเวลานานเข้ากับเศรษฐกิจมหภาคและยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งฝ่ายราชการยังมีอคติจำนวนมาก มีข้อบังคับจำนวนมากที่จำกัดอิสรภาพของภาคเอกชนในประเทศ มีข้อจำกัดด้านนวัตกรรม และมีความไม่ไว้ใจในการร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ทำให้อินเดียมีข้อจำกัดขีดความสามารถในการพัฒนาระบบดิจิทัลและการทูต ในช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษที่ 20 เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อินเดียไม่ค่อยใส่ใจในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของจีน ทั้งโครงการภายในประเทศ ระหว่างพรมแดน และโครงการระหว่างประเทศ ซึ่งท้ายที่สุดโครงการเหล่านี้ก็รวมตัวกันและออกมาในรูปแบบของมหายุทธศาสตร์ BRI ผลลัพธ์คืออินเดียต้องเผชิญกับผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ในอนุทวีปและมหาสมุทรอินเดียเป็นอย่างมาก หากอินเดียยังไม่รีบสร้างเกราะป้องกันทางดิจิทัลของตนเอง ก็อาจจะเสียทีให้กับการรุกเข้ามาของเส้นทางสายไหมดิจิทัลของจีน เช่นเดียวกับที่เคยเสียท่าให้กับเส้นทางสายไหมทางกายภาพทั้งทางบกและทะเลของจีนมาแล้ว


ปลายฟ้า บุนนาค แปลและเรียบเรียง กรกฎาคม 2561


แปลและเรียบเรียงจาก : C. RAJA MOHAN, Raja Mandala: Falling Behind on Digital Silk Road.

Comments


bottom of page