เสกสรร อานันทศิริเกียรติ กันยายน 2562
ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของนครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 23-25 สิงหาคม บทความนี้เป็นการนำเสนอเรื่องราวของสิ่งที่พบเห็นและได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ ข้อเสนอหลักของผู้เขียนคือ เวียงจันทน์มีศักยภาพดึงดูดทุนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุนจีน ให้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่การที่ทุนจีนเข้ามานั้นก็มีความท้าทายในแง่ของการประสานประโยชน์และความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยด้วย ประเด็นหลักของบทความประกอบด้วย ลาวท่ามกลางกระแสบูรพาภิวัตน์ ทุนจีนและการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียงจันทน์ และความท้าทายของลาวกับโอกาสของไทย
ลาวท่ามกลางกระแสบูรพาภิวัตน์
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ เสนอไว้เมื่อ ค.ศ. 2011 ว่า โลกกำลังจะเคลื่อนเข้าสู่ยุคบูรพาภิวัตน์ที่ภูมิภาคเอเชียมีความสำคัญมากขึ้นทั้งในทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ในด้านการเมือง ภูมิภาคเอเชียเป็นจุดสนใจของมหาอำนาจหลักของโลกทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน ดังจะเห็นได้จากการประกาศยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Strategy) และความริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ซึ่งแม้จะยังไม่มีแผนปฏิบัติการในรายโครงการอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็แสดงถึงความสนใจของทั้งสองมหาอำนาจได้เป็นอย่างดี ในด้านเศรษฐกิจ ภูมิภาคเอเชียนั้นมี “มหาเศรษฐี” และ “ว่าที่มหาเศรษฐี” อยู่หลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อาเซียน เศรษฐกิจของเอเชียใหญ่มากทั้งขนาดเศรษฐกิจ จำนวนประชากรที่มีกำลังซื้อ กำลังแรงงานที่มีทักษะและไม่มีทักษะ ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเชิงบวกที่ทำให้อาเซียนมีความสำคัญมากขึ้นในเวทีโลก
แน่นอนว่า กระแสบูรพาภิวัตน์นี้ก็เป็นโอกาสของลาวด้วยเช่นกัน ลาวมีความฝันจะเป็น “หม้อไฟแห่งเอเชีย (Battery of Asia)” เนื่องจากลาวมีศักยภาพสูงมากในการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ลาวมีแม่น้ำโขงที่เป็นแม่น้ำหลักของประเทศ และมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำประมาณ 40 แห่ง และตั้งเป้าหมายจะสร้างอีก 50 แห่ง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ถึง 20,000 เมกะวัตต์ภายในค.ศ. 2020 นอกจากนี้ ลาวหวังจะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ปลดตัวเองจากการเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (landlocked) ให้กลายเป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงทางบก (land-linked) ลาวมีศักยภาพที่จะเชื่อมโยงการขนส่งและคมนาคมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นประเทศเดียวที่มีพรมแดนติดต่อกับทั้งไทย กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา และจีนตอนใต้ ทำให้ลาวสามารถเป็นหน้าด่านและเป็นทางผ่านของสินค้าและผู้คนมากมาย
นอกจากนี้ ความสำคัญและเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์และพลังงานนั้นทำให้ลาวเป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับเพื่อนบ้านและหลายประเทศในเอเชีย การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) เป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญของการพัฒนาประเทศลาวตั้งแต่ค.ศ. 1986 รายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ระบุว่า โครงการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติตั้งแต่ ค.ศ. 1989-2015 นั้นส่วนใหญ่มาจาก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน (30%) ไทย (25%) และเวียดนาม (20%) ตามมาด้วยประเทศอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากเงินลงทุนจากต่างประเทศแล้ว ลาวยังเปิดรับความช่วยเหลือทางการ (Official Development Assistance: ODA) ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งงบประมาณและเทคนิคด้วย ประเทศที่ให้เงินช่วยเหลือแก่ลาวมากที่สุดสี่อันดับแรกในค.ศ. 2016 คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป และไทย
อย่างไรก็ดี การลงพื้นที่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า เวียงจันทน์มีทุนต่างชาติใหม่ ๆ เข้ามามากมาย แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตลอดระยะเวลาสามวันในเวียงจันทน์ ผู้เขียนเห็นตัวอักษรจีนปรากฏเคียงคู่กับตัวอักษรลาวในป้ายชื่อของหลายบริษัท ส่วนญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้นั้นมักปรากฏตัวในรูปของป้ายขอบคุณหรือป้ายแสดงความร่วมมือการพัฒนาพื้นที่และสิ่งก่อสร้างระหว่างลาวกับประเทศนั้น ๆ เช่น การพัฒนาพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจริมแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นโครงการที่เกาหลีใต้มาร่วมลงทุน ขณะที่ร้านอาหารจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีเริ่มมีอยู่ทั่วไป นอกจากทุนจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ยังพบเห็นทุนจากโลกตะวันตกด้วย เช่น โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ (Holiday Inn) ซึ่งเป็นโรงแรมในเครืออินเตอร์คอนติเนนตัล (InterContinental Hotels Group) กำลังก่อสร้างอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับโรงแรมคราวน์พลาซ่า (Crowne Plaza) ที่อยู่ในเครือเดียวกัน
ป้ายโครงการที่เกาหลีให้เงินช่วยเหลือเพื่อพัฒนาพื้นที่
ทุนจีนและการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียงจันทน์
สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดจากการเดินทางศึกษาพื้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ในครั้งนี้คือ ทุนจีนเริ่มขยายตัวมากขึ้นในเวียงจันทน์ ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมพื้นที่ศูนย์การค้าสากลซานเจียง (SanJiang Shopping Mall) ซึ่งเป็นศูนย์ค้าปลีกและค้าส่ง และยังเป็นเสมือนชุมชนชาวจีนในเวียงจันทน์ เนื่องจากชาวจีนเป็นผู้ดูแลพื้นที่ทั้งหมด ทางเข้าและทางออกจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่แต่งกายคล้ายกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของจีน มีโรงแรมและกาสิโนภายในบริเวณดังกล่าว ในศูนย์การค้ามีร้านขายและซ่อมโทรศัพท์ยี่ห้อต่าง ๆ ทั้งหัวเหวย ซัมซุง และแอปเปิ้ล พนักงานที่อยู่ประจำร้านโดยมากจะเป็นผู้หญิงชาวลาว ส่วนคนทำหน้าที่ซ่อมโทรศัพท์หรือทำงานเชิงเทคนิคจะเป็นชาวจีนอพยพ ซึ่งสื่อสารภาษาลาวได้ สินค้าที่ขายในร้านมีหลากหลายมากทั้งของเล่น ของใช้ ซึ่งส่วนใหญ่นำมาจากจีนและหนองคายของไทย
บรรยากาศของศูนย์การค้าสากลซานเจียง
นอกจากศูนย์ค้าปลีกและค้าส่งแล้ว จีนยังมีบทบาทในการร่วมทุนกับลาวเพื่อสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจด้วย ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางสำรวจสองเขตหลัก ได้แก่ เขตเศรษฐกิจไซยะเซดถา และเขตเศรษฐกิจบึงธาตุหลวง เขตเศรษฐกิจไซยะเซดถาสร้างขึ้นเมื่อค.ศ. 2010 เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเบา จีนร่วมลงทุนในหลายโครงการ อาทิ การติดตั้งระบบไฟฟ้าและประปา การวางระบบระบายน้ำ การติดตั้งเครือข่ายคมนาคม จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ร่วมเดินทางไปกับคณะ ทราบว่า เขตเศรษฐกิจดังกล่าวสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้มาก จีนและลาวยังมีแผนพัฒนาโรงกลั่นน้ำมันอีกด้วย ส่วนเขตเศรษฐกิจบึงธาตุหลวงนั้น ลาวมุ่งสร้างให้เป็นเมืองใหม่ใจกลางนครหลวงที่เป็นทั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเพื่อส่งออก เขตศูนย์การค้าปลอดภาษี เขตที่อยู่อาศัยครบวงจรที่มีทั้งคอนโดมิเนียม ศูนย์การประชุม ศูนย์วัฒนธรรม โรงพยาบาล และโรงเรียน ในช่วงเวลาที่ผู้เขียนเดินทางไปสำรวจนั้น ได้เห็นวัยรุ่นชาวลาวมารวมตัวกันเพื่อ “แว้น” มอเตอร์ไซค์บริเวณถนนหลักที่ตัดผ่านโครงการดังกล่าวด้วย
บรรยากาศบริเวณเขตเศรษฐกิจบึงธาตุหลวง
ผู้เขียนยังได้มีโอกาสไปสำรวจเส้นทางรถไฟที่เป็นความร่วมมือระหว่างลาวกับจีนในนครหลวงเวียงจันทน์ด้วย โครงการก่อสร้างทางรถไฟถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สื่อต่างประเทศสนใจ และรัฐบาลทั้งลาวและจีนเห็นความสำคัญอย่างยิ่ง จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ติดตามคณะเดินทางทำให้ทราบว่า โครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการไปแล้วประมาณ 60% โครงการก่อสร้างดังกล่าวใช้แรงงานจีนเป็นหลัก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น นอกจากการใช้แรงงานจีนเป็นหลักแล้ว คนในพื้นที่ยังมีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินไม่ครบถ้วนด้วย
บริเวณที่มีการก่อสร้างทางรถไฟในนครหลวงเวียงจันทน์
ความท้าทายของลาวกับโอกาสของไทย
ในด้านหนึ่ง กระแสบูรพาภิวัตน์ได้สร้างโอกาสที่สำคัญให้แก่เศรษฐกิจลาว อีกด้านหนึ่งก็มีข้อกังวลจากพื้นที่เกี่ยวกับการขยายตัวของทุนจีนในประเทศ เจ้าหน้าที่ที่เดินทางร่วมกับคณะเองก็แสดงความกังวลลักษณะเดียวกันนี้ว่า ไม่แน่ใจนักว่า ภาครัฐของลาวจะสามารถประสานประโยชน์ระหว่างตัวแสดงต่าง ๆ ได้มากน้อยเพียงใด เพราะขณะนี้ ลาวมีอัตราของการพึ่งพิงจีนอยู่พอสมควร ในความเห็นของผู้เขียน ลาวมีโอกาสที่จะสร้างสมดุลทางยุทธศาสตร์กับจีนและประเทศต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ด้านหนึ่งลาวรับเงินลงทุนจากจีนมากที่สุด แต่อีกด้านหนึ่งลาวรับเงินช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกามากที่สุด ทั้งเงินลงทุนและเงินช่วยเหลือนี้ก็คือฐานทรัพยากรสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจลาว อย่างไรก็ดี การอยู่ระหว่างสองฝ่ายย่อมมีความเสี่ยง สิ่งที่ไทยพอจะช่วยเหลือลาวได้คือ การเป็นทางเลือกให้แก่ลาวท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนนี้
นอกจากประเด็นการประสานประโยชน์แล้ว การพึ่งพิงประเทศใดประเทศหนึ่งมากไปนั้นย่อมส่งผลต่อความยั่งยืนของการดำเนินนโยบาย ซึ่งความยั่งยืนนี้เป็นวาระที่ประเทศไทยและอาเซียนเห็นความสำคัญอย่างยิ่ง ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนได้ผลักดันเจ็ดโครงการนำร่องเพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างวิสัยทัศน์การพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติกับวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนให้สอดคล้องกัน โครงการนำร่องที่จะเป็นประโยชน์สำหรับลาว ได้แก่ การจัดตั้งคณะมนตรีอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน และการจัดตั้งวงสัมมนาเรื่องการจัดสรรทรัพยากรของอาเซียนที่ประกอบด้วยภาคส่วนต่าง ๆ กลไกเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเป็นช่องทางให้ประเทศสมาชิกสามารถดึงกลไกระดับภูมิภาคให้เข้ามามีส่วนช่วยแก้ปัญหาระดับชาติ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้อาเซียนและไทยได้แสดงบทบาทในฐานะประชาคมที่มีประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกและประชาชนอาเซียนได้
Comentários