top of page

อินเดีย: ดาวรุ่งใหม่แห่งอินโดแปซิฟิก




ปัจจุบันระเบียบโลกกำลังขยับปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคแห่งความหลากหลายมากมายด้วยขั้วอำนาจต่างๆ และการปรับเปลี่ยนนี้ก็กำลังดำเนินไป บริเวณหนึ่งที่เป็นเวทีสำคัญของการปรับเปลี่ยนขั้วอำนาจในโลกเห็นจะเป็นภูมิภาคเก่าในชื่อใหม่ที่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรบางประเทศเรียกว่า “อินโดแปซิฟิก”

อันได้แก่ บริเวณตั้งแต่มหาสมุทรอินเดียไปทางตะวันออกจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิก


ในบทความเรื่อง India’s future as a world power depends on 4 key relationships โดย Samir Saran ประธาน Observer Research Foundation ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในเว็บไซต์ของ World Economic Forum ชี้ว่าภูมิภาคอินโดแปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคสำคัญในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก และอินเดียเป็นชาติสำคัญที่มีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้และผู้นำโลกได้ พร้อมทั้งชี้ว่าอินเดียควรต้องปฏิบัติตัวอย่างไร


ก่อนอื่น บทความดังกล่าวยกคำกล่าวของนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียที่การประชุมสุดยอดความมั่นคงแห่งเอเชียหรือ Shangri-La Dialogue 2018 ที่ว่า “ชะตากรรมของโลกจะถูกกำหนดโดยความเป็นไปในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก” บทความนี้ชี้ว่าปัจจุบันภูมิภาคอินโดแปซิฟิกนี้เป็นที่อยู่ของประชากรโลกกว่าร้อยละ 65 ซึ่งมีพลังทางเศรษฐกิจร่วมกันเป็นร้อยละ 60 ของจีดีพีโลก กว่าครึ่งของการขนส่งสินค้าในโลกต้องผ่านมายังภูมิภาคนี้ และภูมิภาคนี้ยังมีกองเรือรบที่ทันสมัยที่สุดในโลกและเป็นที่อยู่ของมหาอำนาจนิวเคลียร์ถึง 7 ชาติ โดยสรุป อินโดแปซิฟิกจะเป็นแหล่งของความเจริญรุ่งเรืองและโอกาสทางเศรษฐกิจหลักของโลกนับจากนี้ และจะเป็นภูมิภาคที่จะเป็นผู้เขียนกฎเกณฑ์ จัดโครงสร้าง ระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ไปจนถึงความมั่นคง และสันติภาพโลกทีเดียว อินโดแปซิฟิกจะกลับไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและอำนาจดังที่เคยเป็นมาจนถึงศตวรรษที่ 15


ในขณะที่ภูมิภาคนี้มีพลวัตทางเศรษฐกิจอย่างสูง ก็มีพลวัตทางอำนาจอย่างสูงด้วยเช่นกัน ถึงปัจจุบัน ไม่มีใครครองความเป็นใหญ่ได้ราบคาบบนแผ่นดินและท้องทะเลแห่งอินโดแปซิฟิก ภูมิภาคนี้เต็มไปด้วยผู้เล่นใหญ่น้อยมากมาย ทั้งประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเองและมหาอำนาจนอกภูมิภาค การขับเคี่ยว แข่งขัน ทัดทาน คานกันระหว่างขั้วอำนาจต่างๆ นี้เองอาจนำมาซึ่งความผันผวนที่คาดเดายากในอินโดแปซิฟิก แม้ในระยะปัจจุบันนี้ ประเทศจีนเป็นมหาอำนาจที่เริ่มเดินหน้าจัดสรรระเบียบในภูมิภาคนี้ก่อนใคร (ด้วยมหายุทธศาสตร์ Belt and Road) แต่วิสัยทัศน์การพัฒนาฉบับจีนก็ต้องเผชิญหน้ากับแรงเสียดทานจากหลายๆ ฝ่าย และในเวลาต่อมา ฝ่ายอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น พันธมิตรสี่ฝ่าย หรือ Quad อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ก็ได้เสนอยุทธศาสตร์ของตนในการกำหนดอนาคตของภูมิภาคนี้บ้าง นั่นคือ ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก


ในสภาวะนี้ อินเดียเป็นหนึ่งในมหาอำนาจดาวรุ่งใหม่ของโลก และดาวรุ่งหลักแห่งเอเชียที่กำลังทะยานขึ้น มีการคาดกันว่า ภายในปี 2040 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า อินเดียจะมีขนาดเศรษฐกิจโตแซงหน้าสหรัฐอเมริกา เป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก รองจากจีน และอาจจะกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ทรงอิทธิพลสูงสุดของโลก อีกหนึ่งข้อได้เปรียบสำคัญของอินเดียคือมีประชากรวัยหนุ่มสาวเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศมาก ในขณะที่ประเทศอื่นๆ พากันสูงอายุ โดยในปี 2020 อายุเฉลี่ยของประชากรอินเดียจะอยู่ที่ 29 ปี ในขณะที่จีนจะอยู่ที่ 37 ปี


ในบรรยากาศที่ดูมีแนวโน้มของการขับเคี่ยวแข่งขันกันระหว่างอย่างน้อยสองขั้วใหญ่ๆ ในภูมิภาคนี้ คือฝ่ายที่นำโดยจีน และฝ่ายที่นำโดยกลุ่มพันธมิตร 4 ฝ่าย แต่บทความชิ้นดังกล่าวชี้ว่าวิสัยทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของอินเดียนั้นมีเอกลักษณ์ อินเดียจะไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่งชัดเจนและห้ำหั่นกับอีกฝ่าย โลกทัศน์ทางการต่างประเทศของอินเดียมิได้เป็นแบบสองขั้วตรงข้าม อินเดียยินดีพูดคุยเจรจาสัมพันธ์กับทุกประเทศ ไม่ว่าเล็กใหญ่ พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา และไม่ว่ามีระบอบการเมืองเศรษฐกิจอย่างไร ดังคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีโมดีที่ว่า “ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกไม่ใช่ชมรมที่จำกัดสมาชิก”


บทความดังกล่าวเสนอว่า หากอินเดียต้องการจะเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ก็ควรจัดการความสัมพันธ์ที่มีต่อประเทศอื่นๆ ทั้งมหาอำนาจอย่างสหรัฐและจีน ประเทศรอบข้างตน และสถาบันระหว่างประเทศทั้งหลายเสียใหม่ให้ชัดเจนและเข้มแข็งขึ้น เช่น ต่อจีนนั้น อินเดียควรมีท่าทีกับจีนที่ชัดเจนเข้มแข็งมากขึ้น อินเดียต้องกำหนดว่าต้องการอะไรจากจีน และเรื่องใดที่จะไม่ยอมประนีประนอมเจรจา นายกรัฐมนตรีโมดีได้กล่าวอย่างชัดเจนในการประชุมแชงกรีลาที่สิงคโปร์ว่า ไม่มีชาติใดสามารถกำหนดทิศทางและสร้างระเบียบขึ้นมาในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกได้โดยลำพัง บทความดังกล่าวแสดงความเห็นว่าจีนประเทศเดียวไม่สามารถมากำหนดเอเชียทั้งมวลได้ ไม่ว่าในเรื่องการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานหรือการจัดการข้อพิพาทด้านความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคควรมาจากการผสานพลังกันระหว่างจีนและอินเดีย

ต่อสหรัฐนั้น บทความนั้นเสนอว่าหากอินเดียต้องการขึ้นมาเป็นผู้นำที่มีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดทิศทางความเป็นไปทั้งในและนอกภูมิภาค อินเดียต้องมีจุดยืนที่เข้มแข็งในการเป็นอิสระทางนโยบายจากสหรัฐมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำสำเร็จในระดับหนึ่ง


กับเพื่อนบ้านของอินเดียเอง อินเดียก็ต้องลุกขึ้นมากระชับความเข้มแข็งในบทบาทนำกับประเทศในเอเชียใต้และข้างเคียงให้เข้มแข็งกว่านี้ โดยเฉพาะในสองกลไกระดับภูมิภาคที่อินเดียร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ คือ หนึ่ง สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation) หรือ SAARC ที่อ่อนแอ และ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ที่กลายสภาพเป็นการประชุมที่พูดกันมากกว่าลงมือทำ โดยสรุป อินเดียต้องมีบทบาทนำในภูมิภาคของตนเองให้เข้มแข็งโดดเด่นชัดเจนกว่านี้


ประการสุดท้าย บทความดังกล่าวแนะให้อินเดียมีบทบาทที่โดดเด่นในสถาบันระหว่างประเทศต่าง ๆ มากขึ้น และควรเป็นผู้นำในการเชื่อมความร่วมมือและการสอดประสานกันระหว่างสถาบันระหว่างประเทศเดิมของประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ รวมทั้งอินเดียเองรู้สึกว่าไม่สนองความต้องการของตนนัก กับสถาบันระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นใหม่โดยประเทศกำลังพัฒนา เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank) และธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB)


ถามว่าเราควรรู้เรื่องอินโดแปซิฟิกและยุทธศาสตร์ของอินเดียไปเพื่ออะไร เหตุผลก็คือ ประเทศไทยและอาเซียนอยู่ตรงกลางของภูมิภาคที่เรียกว่าอินโดแปซิฟิก ในระยะหลายปีมานี้ จีนได้เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้อย่างโดดเด่น โดยเฉพาะผ่านยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ แต่ในขณะนี้เริ่มมีวิสัยทัศน์การพัฒนาอีกฝ่ายภายใต้ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกเข้ามา ซึ่งอาจจะมาแข่ง มาแทรก มาคาน หรือหาทางร่วมมือ จึงน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรเรียนรู้และเข้าใจสาระทิศทางการดำเนินของยุทธศาสตร์นี้ เพื่อให้เรามีความรู้รอบด้าน และกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศของเราได้อย่างเหมาะสม


ฐิติรัตน์ รู้เสงี่ยม แปลและเรียบเรียง กรกฎาคม 2561


แปลและเรียบเรียงจาก: Samir Saran, India’s future as a world power depends on 4 key relationships. ออนไลน์ https://www.weforum.org/agenda/2018/07/india-power-democratic-geostrategic-relationships/

ดู 5 ครั้ง0 ความคิดเห็น

コメント


bottom of page