ระเบียบโลก หรือภาษาอังกฤษใช้ว่า World Order นั้นคล้ายเป็นแบบแผนที่ก่อตัวขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างชาติต่างๆ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ระเบียบโลกคือภาพใหญ่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คนให้ความสำคัญกับการมองระเบียบโลกให้ออก เพราะยุทธศาสตร์และนโยบายการต่างประเทศนั้นต้องกำหนดภายใต้กรอบของระเบียบโลก
ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตะวันตกจัดให้มีระเบียบโลกอยู่ 3 ประเภท คือ แบบที่มีอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวที่สามารถนำโลกได้ โลกแบบนั้น ทางการต่างประเทศเรียกว่าโลกขั้วอำนาจเดียว (Unipolar) มีเช่นสมัยอังกฤษเป็นเจ้าโลกช่วงต้นศตวรรษที่ 19-ต้นศตวรรษที่ 20 และสหรัฐอเมริกาตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามเย็นในปี 1991-เมื่อเร็วๆ นี้ โลกแบบที่สองคือ โลกสองขั้วอำนาจ (Bipolar) ที่โลกมีสองขั้วที่อำนาจใกล้เคียงกันขับเคี่ยวกัน เช่น สมัยสงครามเย็น ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งสหภาพโซเวียตล่มสลาย สองขั้วอำนาจในเวลานั้นได้แก่ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต และแบบที่สามคือ โลกหลายขั้วอำนาจ (Multipolar) ที่อำนาจในโลกกระจายไปหลายขั้ว ไม่มีขั้วใดหรือสองขั้วใดกุมอำนาจโลกไว้ได้เด็ดขาด เช่น ยุคปัจจุบัน ที่ขั้วอำนาจโลกมีทั้งสหรัฐ จีน อินเดีย รัสเซีย ยุโรป ตะวันออกกลาง อาเซียน ฯลฯ (การแบ่งยุคเหล่านี้ไม่ได้มีข้อยุติตรงกันในหมู่นักวิชาการทั้งหมด)
โลกเราในเวลานี้อยู่ในระเบียบโลกแบบใด ภายหลังเหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2001 บางคนกล่าวว่ายุคที่สหรัฐเป็นเจ้าโลกแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งมีอายุมา 10 ปีนั้นจบลงแล้ว เพราะมีคนโจมตีสหรัฐได้สำเร็จ และต่อมาอเมริกาก็ไม่สามารถปราบศัตรูได้ราบคาบในสงครามที่อัฟกานิสถานหรืออิรัก หลังจากนั้น ด้วยทิศทางที่สหรัฐเสื่อมอำนาจลงในหลายๆ ด้าน และมีประเทศหรือกลุ่มประเทศดาวรุ่งอื่นๆ ทยอยเติบโตขึ้นมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศหรือกลุ่มประเทศในตะวันออก เช่น จีน อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันมหาอำนาจเดิมชาติอื่นๆ อย่าง ญี่ปุ่น ยุโรป หรือรัสเซีย ก็ยังคงมีบทบาทอยู่ในเวทีการเมืองหรือเศรษฐกิจโลก หลายคนจึงมองว่าโลกตั้งแต่ปี 2001 มากลายเป็นโลกหลายขั้วอำนาจ (Multipolar)
อย่างไรก็ตาม โลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน ในบรรดาดาวรุ่งเหล่านั้น จีนซึ่งเป็นหัวขบวนได้เติบใหญ่เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐ และน่าจะแซงสหรัฐในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ระบอบการเมืองการปกครองของจีนก็เข้มแข็ง มั่นใจในตัวเองยิ่ง เทคโนโลยีก็ก้าวล้ำเกินใคร งบประมาณทางทหารของจีนอยู่ที่ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขณะที่สหรัฐอยู่ที่ 800 ล้านเหรียญสหรัฐ) ทิ้งห่างชาติที่ลงทุนด้านการทหารมากที่สุดในโลกลำดับรองๆ ลงไป ซึ่งไม่มีใครเกิน 80 ล้านเหรียญ จึงมีหลายคนมองมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าระเบียบโลกกำลังเปลี่ยนเข้าสู่ยุคสองขั้วอำนาจอีกครั้ง คือขั้วสหรัฐอเมริกากับจีน และจากข่าวสารความเป็นไปในปัจจุบัน “ขั้วทั้งสอง” ก็ดูจะมีเรื่องให้ขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดก็สงครามการค้าและสงครามทางเทคโนโลยี จนคำถามยอดนิยมในทุกวงสนทนาเรื่องจีน สหรัฐ และระเบียบโลกกลายเป็นคำถามที่ว่า จีนและสหรัฐจะรบกันไหม จะรบเมื่อไหร่ บ้างก็มองว่า ด้วยความขัดแย้งขนาดนี้ ทุกวันนี้โลกอยู่ในยุคสงครามเย็นใหม่ระหว่างจีน-สหรัฐแล้ว
ศาสตราจารย์ Yan Xuetong ผู้อำนวยการสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย Tsinghua นักวิชาการใหญ่ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีน แสดงความเห็นในเรื่องนี้ผ่านบทความเรื่อง The Age of Uneasy Peace : Chinese Power in a Divided World ในนิตยสาร Foreign Affairs ฉบับเดือน ม.ค.-ก.พ. 2019 ฟันธงว่าระเบียบโลกในเวลานี้เป็นแบบสองขั้วอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน โดยจีนเป็นมหาอำนาจที่เล็กกว่า อย่างไรก็ดี ระเบียบโลกนี้ไม่น่าจะนำไปสู่สงครามโดยตรงระหว่างสหรัฐและจีนในเวลาอันใกล้ อันจะนำโลกทั้งใบไปสู่หายนะดังที่หลายฝ่ายกลัว เนื่องจากเหตุผลหลักสองประการ
ประการแรกคือเหตุผลทางเศรษฐกิจ ศ. Yan กล่าวว่าลำดับความสำคัญของผู้นำจีนในปัจจุบันยังอยู่ที่การพัฒนาภายในประเทศจีนเป็นหลัก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และผู้นำจีนตระหนักดีว่าการส่งออกและค้าขายกับต่างชาติ เป็น “เส้นเลือดหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ” ที่พาจีนมาไกลใน 40 ปีที่ผ่านมา และยังสำคัญอยู่ในวันนี้ (การที่จีนให้ความสำคัญกับการค้ากับต่างชาติในปัจจุบันมากเพียงใดดูได้จากการผลักดันยุทธศาสตร์ Belt and Road ขนานใหญ่ถึงขนาดบรรจุไว้ในธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์จีน หัวใจของยุทธศาสตร์ BRI ก็คือการส่งเสริมการค้าขายกับต่างชาติด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน) จีนได้ประโยชน์มหาศาลจากระเบียบโลกที่เป็นอยู่ (status quo) โดยเฉพาะระเบียบทางเศรษฐกิจของโลกที่เป็นแบบเสรีนิยมและการค้าเสรี ผู้นำจีนรู้ดีว่านี่คือหัวใจของความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีน จีนพึ่งพาโครงข่ายการค้าโลกที่เป็นอยู่ และจะไม่ทำสงครามกับสหรัฐ เพราะกลัวจะเสียตลาดสหรัฐและกลัวถูกคว่ำบาตรจากบรรดาพันธมิตรสหรัฐ ซึ่งจะทำให้จีนเสียหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและสายสัมพันธ์ทางการทูตอันมีค่าไป
ประการที่สองคือเหตุผลเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งสหรัฐและจีนต่างครอบครองอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธพิสัยไกลที่ยิงถึงกันได้ แม้ทั้งคู่จะพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธมาเป็นเกราะป้องกันการถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์จากประเทศอื่น แต่ก็ไม่มีชาติใดที่พัฒนาระบบดังกล่าวได้สมบูรณ์จนมั่นใจได้ว่าจะปลอดภัยจากการถูกอีกฝ่ายยิงนิวเคลียร์กลับมา การค้ำยันกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์นี้จะป้องกันมิให้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนลุกลามไปถึงขั้นเป็นสงครามที่เผชิญหน้ากันโดยตรง และก็จะป้องกันมิให้ความตึงเครียดระหว่างจีนกับชาติอื่นๆ ที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ เช่น อินเดีย ลุกลามเป็นสงครามเช่นกัน
ระเบียบโลกสองขั้วอำนาจของสหรัฐ-จีนจะมีหน้าตาอย่างไร
ถามว่าระเบียบโลกในยุคสองขั้วอำนาจของสหรัฐ-จีนจะมีหน้าตาอย่างไร ลองนึกภาพระเบียบโลกยุคสองขั้วอำนาจระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียตเมื่อหลายสิบปีก่อน ถ้าในยุคสงครามเย็นครั้งนั้น โลกเข้าสู่ภาวะอกสั่นขวัญแขวน เฉียดใกล้สงครามนิวเคลียร์ล้างโลกหลายต่อหลายครั้ง สำหรับยุคนี้ ศ. Yan ชี้ว่าจะเหตุการณ์จะไม่เดินไปสู่วันสิ้นโลกอย่างที่หลายฝ่ายกลัว เหตุผลสำคัญก็คือ เพราะจีนทะเยอทะยานน้อยกว่าที่คนในวงการการต่างประเทศของตะวันตกคาดเอาไว้มาก อย่างน้อยในทศวรรษต่อจากนี้ นโยบายการต่างประเทศของจีนจะไม่ได้มุ่งชิงความเป็น “จ้าวโลก” จากสหรัฐ ไม่ได้จะเป็นจีนที่มารื้อทำลายระเบียบโลกเดิม (revisionist) อย่างที่ตะวันตกมักกล่าว แต่จะมุ่งที่การรักษาสภาพเดิมของโลก โดยเฉพาะระเบียบทางเศรษฐกิจเดิมที่เป็นอยู่ (การค้าเสรี) ที่จะช่วยให้จีนยังคงเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปได้ จุดนี้เองจะกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์การต่างประเทศทั้งมวลของจีน รวมทั้งสันติภาพของโลกด้วย
ในระเบียบโลกยุคใหม่นี้ ผู้นำจีนจะพยายามอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสหรัฐโดยตรง และหลีกเลี่ยงการทำให้ตะวันตก ซึ่งหวาดระแวงจีนอยู่แล้ว ตื่นตระหนกกับจีนมากขึ้นไปอีก ความระมัดระวังไม่เผชิญหน้าจะเป็นหลักการสำคัญของนโยบายการต่างประเทศจีนในทศวรรษหน้า มากกว่าจะเป็นการยั่วยุหรือความก้าวร้าว จีนจะพยายามหลีกเลี่ยงหรือระวังเป็นพิเศษในประเด็นอ่อนไหวที่อาจนำไปสู่สงครามกับสหรัฐ เช่น กรณีทะเลจีนใต้ และความมั่นคงทางไซเบอร์ ดังนั้น แม้จีนกำลังกลายเป็นอภิมหาอำนาจ แต่นโยบายการต่างประเทศของจีนจะโลดโผนน้อยกว่านโยบายการต่างประเทศของสหรัฐในยุคที่เรืองอำนาจถึงขีดสุดอย่างแน่นอน
ทั้งสหรัฐและจีนจะยังคงเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารของตนต่อไป แต่จะพยายามจัดการความตึงเครียดระหว่างกันอย่างระมัดระวังเพื่อมิให้ลุกลามไปสู่การเผชิญหน้าโดยตรง การแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐน่าจะเน้นไปที่สมรภูมิเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเป็นหลัก
โดยสรุป สหรัฐอเมริกาและจีนไม่อาจนำโลกร่วมกันได้เพราะมีอุดมการณ์ที่แตกต่างและผลประโยชน์ที่ขัดกันหลายเรื่อง แต่ก็ไม่มีชาติใดที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ทางแสนยานุภาพหรือวิสัยทัศน์ระดับโลกที่มากและเป็นที่ยอมรับมากพอที่จะนำโลกแต่เพียงผู้เดียวได้ ทั้งสหรัฐและจีนมีอะไรที่ขัดกันหลายอย่าง แต่มีกำลังพอๆ กัน ไม่อาจเอาชนะกันลงให้เด็ดขาดได้ จึงไม่อาจเสี่ยงสู้กันซึ่งหน้าได้ ความร่วมมือแบบพหุภาคีจากนี้ไปคงจะเป็นไปได้ในลักษณะที่จำกัดอยู่ในเขตอิทธิพลของแต่ละฝ่าย ระเบียบโลกสองขั้วในยุคสหรัฐ-จีนจะมิใช่ความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกันถึงขั้นมูลฐานว่าระเบียบโลกควรเป็นเช่นใดแบบสมัยสงครามเย็น แต่จะเป็นไปในรูปของการแข่งขันแย่งชิงตลาดผู้บริโภค ชิงความได้เปรียบทางเทคโนโลยี ความขัดแย้งกันด้านค่านิยมและกฎกติกาทางการค้า การลงทุน การจ้างงาน อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน และลิขสิทธิ์ทางปัญญา และภายใต้ระเบียบโลกนี้ ชาติต่างๆ จะไม่แบ่งกลุ่มเป็นสองค่ายตายตัวชัดเจน แต่จะดำเนินนโยบายแบบเหยียบเรือสองแคม เป็นพันธมิตรที่ลื่นไหล เป็นพันธมิตรเฉพาะเรื่อง บางเรื่องก็อยู่กับสหรัฐ บางเรื่องก็อยู่กับจีน เช่น พันธมิตรตะวันตกจะยังคงเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐในด้านความมั่นคงแบบเดิมภายใน NATO ส่วนญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลียก็จะสนับสนุนสหรัฐเรื่องยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก แต่ชาติต่างๆ ที่กล่าวมาก็ยังรักษาสายสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนที่แนบแน่นกับจีน และบางชาติก็สนับสนุนจีนเรื่องปฏิรูป WTO ด้วย นอกจากนี้ ทั้งสหรัฐและจีนก็ยังดูไม่มีใครเต็มใจที่จะสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่กว้างขวาง ซึ่งราคาแพงมาก เพราะโอกาสที่จะเกิดสงครามสหรัฐและจีนในเร็วๆ นี้มีน้อยมาก
ศ. Yan ทิ้งท้ายว่า ในระเบียบโลกใหม่นี้ แน่นอนว่าเราจะได้เห็นความตึงเครียดและการแข่งขันที่รุนแรงปะทุขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่ใช่แบบที่จะนำไปสู่ความโกลาหลและหายนะของโลก
ปาณัท ทองพ่วง แปลและเรียบเรียง มกราคม 2562
แปลและเรียบเรียงจาก Xuetong, YAN. “The Age of Uneasy Peace: Chinese Power in a Divided World.” Foreign Affairs, January/Febuary, 2019 Issue. https://www.foreignaffairs.com/articles/china/2018-12-11/age-uneasy-peace.
Comments