โศภนิศ อังศุสิงห์ แปลและเรียบเรียง เมษายน 2562
การรุกเข้าโจมตีกรุงตริโปลีเมืองหลวงของลิเบียโดยกองกำลังติดอาวุธ “กองทัพแห่งชาติลิเบีย” (Libyan National Army – LNA) ของจอมพลคาลิฟา ฮาฟตาร์ (Khalifa Haftar) เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ทำให้ทั่วโลกต่างกำลังจับตาว่า “ลิเบีย” ประเทศร่ำรวยน้ำมันในแอฟริกาแต่กำลังแตกเป็นเสี่ยงๆ จะถลำเข้าสู่สงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบอีกครั้งหรือไม่
ในช่วงเหตุการณ์อาหรับสปริง (Arab Spring) ค.ศ. 2011 รัฐบาลของผู้นำลิเบีย นายมูอัมมาร์ กัดดาฟี (Muammar Gaddafi) ถูกโค่นล้มโดยกองกำลัง “นาโต” (NATO) ส่งผลให้เกิดภาวะไร้ขื่อแป เกิดการสู้รบชิงอำนาจครั้งใหญ่ระหว่างกองกำลังติดอาวุธนับร้อยกลุ่มทั่วประเทศ รวมทั้งส่งผลให้มีรัฐบาลลิเบีย 2 ชุด ชุดหนึ่งเรียกว่า รัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ (the Government of National Accord – GNA) อยู่ในกรุงตริโปลีทางภาคตะวันตก และได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติ อีกชุดไปตั้งอยู่ที่เมืองโตบรุก (Tobruk) ทางภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพันธมิตรกับกองกำลัง LNA ของจอมพลฮาฟตาร์
บทวิเคราะห์เรื่อง “General Hifter’s march on Tripoli” โดยนาย Giorgio Cafiero และ Theodore Karasik จาก The Middle East Institie สถาบัน think tank ในสหรัฐอเมริกาที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางได้ศึกษาปัจจัยด้านการเมืองระหว่างประเทศที่ส่งผลให้จอมพลฮัฟตาร์ตัดสินใจบุกโจมตีกรุงตริโปลีในครั้งนี้
Cafiero และ Karasik มองว่าฮัฟตาร์ตัดสินใจเริ่มปฏิบัติการสู้รบทางตะวันตกของตริโปลีด้วยสาเหตุหลายปัจจัย โดยเหตุจูงใจที่เด่นชัดที่สุดคือ แรงสนับสนุนจากพันธมิตรต่างประเทศ อันได้แก่ อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฝรั่งเศส ซึ่งต่างสนับสนุนฮัฟตาร์ทั้งด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และทุนทรัพย์ในปฏิบัติการ “ปลดแอก” กรุงตริโปลี จะเห็นได้ว่า ปฏิบัติการทางทหารของฮัฟตาร์มีส่วนเชื่อมโยงกับพัฒนาการทางการเมืองระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค ซึ่งล้วนกระตุ้นให้ฮัฟตาร์เชื่อมั่นว่าเวลานี้เป็นโอกาสทองในการดำเนินการตามแผนเพื่อทำลายกระบวนการสันติภาพของสหประชาชาติในการคลี่คลายวิกฤติลิเบีย
ปัจจัยแรกที่เป็นแรงจูงใจให้ฮัฟตาร์ยกทัพตีกรุงตริโปลีคือความอ่อนแอของแอลจีเรีย ตั้งแต่ที่สงครามกลางเมืองในลิเบียเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2014 และยืดเยื้อมาจนกระทั่งต้นปีนี้ แอลจีเรียได้เป็นผู้สนับสนุนหลักของกระบวนการเจรจาทางการทูตระหว่างรัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ (GNA) ในกรุงตริโปลี และคณะผู้แทนรัฐสภา (the House of Representatives – HOR) รัฐบาลอีกชุดที่เมืองโตบรุก ซึ่งเป็นพันธมิตรกับจอมพลฮัฟตาร์มาโดยตลอด แต่เนื่องจากรัฐบาลแอลจีเรียกำลังเผชิญปัญหาการประท้วงขับไล่นายอับเดลาซิส บูเตฟลิกา (Abdelaziz Bouteflika) ประธานาธิบดีแอลจีเรีย Cafiero และ Karasik วิเคราะห์ว่าฮัฟตาร์อาจเห็นว่ารัฐบาลแอลจีเรียกำลังยุ่งวุ่นวายกับการเมืองภายในและไม่แข็งแกร่งพอที่จะยับยั้งปฏิบัติการทางทหารของฮัฟตาร์ได้
ปัจจัยที่สอง การบุกโจมตีกรุงตริโปลีถือเป็นการท้าทายโดยตรงต่อผลประโยชน์แห่งชาติตุรกีและกาตาร์ในลิเบีย ทั้งรัฐบาลตุรกีและกาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มภราดรภาพมุสลิมแห่งลิเบีย (The Libyan Muslim Brotherhood) และกลุ่มอิสลามิสต์ (Islamists) กลุ่มอื่นๆ ซึ่งล้วนต่อต้านฮัฟตาร์ ซึ่งกลุ่มอิสลามิสต์ที่ว่านี้หมายถึงกลุ่มที่อ้างหลักการคำสอนของอิสลามเพื่อปฏิบัติการทางการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่บังคับให้คนอื่นเชื่อตามหลักคำสอนอิสลามในรูปการใช้ความรุนแรงและการก่อการร้าย แต่ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่จัดขึ้นที่ตุรกีเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา พรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (Justice and Development Party) ของนายเรเจพ เทยิบ แอร์โดอาน (Recep Tayyip Erdoğan) ประธานาธิบดีตุรกีพ่ายเลือกตั้ง เสียที่นั่งในเมืองหลวงกรุงอังการาและอิสตันบูลเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ในวันเดียวกันนั้น ผู้นำกาตาร์ เชค ตะมีม บิน ฮะหมัด อัล ษานี (H.H. Sheikh Tamin bin Hamad Al Thani) ถอนตัวออกจากการประชุมสุดยอดสันนิบาตอาหรับที่จัดขึ้นในตูนิเซียกะทันหัน Cafiero และ Karasik จึงมองว่า ฮัฟตาร์อาจอ่านความพ่ายแพ้การเลือกตั้งของพรรครัฐบาลตุรกี รวมทั้งการกระทำของผู้นำกาตาร์ว่าทั้งสองประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาท้าทายใหม่หลายประเด็น จนไม่มีเวลามาสนใจวิกฤติในลิเบีย
ปัจจัยที่สาม นายพลฮัฟตาร์ได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ซัลมาน (Salman bin Abdulaziz Al Saud) และมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammad bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) ในระหว่างการเดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียของฮัฟตาร์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากกษัตริย์ซัลมานยึดมั่นที่จะรักษาเสถียรภาพในลิเบีย นักวิเคราะห์หลายคนต่างตีความว่า การที่ฮัฟตาร์ได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ซัลมานอาจสื่อว่าซาอุดีอาระเบียให้การสนับสนุนปฏิบัติการบุกโจมตีตริโปลี โดยซาอุดีอาระเบียมองว่ากองทัพลิเบียแห่งชาติของฮัฟตาร์เป็นป้อมปราการเดียวที่สามารถต่อต้านกลุ่มอิสลามิสต์ไม่ให้เรืองอำนาจในลิเบีย
ปัจจัยที่สี่ แม้สหประชาชาติจะมีแผนจัดการประชุมระหว่างรัฐบาลกรุงตริโปลีและรัฐบาลเมืองโตบรุกที่เมืองกาดาเมส (Ghadames) ในวันที่ 14 -16 เมษายน เพื่อหารือเรื่องการจัดการเลือกตั้งใหม่ในลิเบีย แต่ล่าสุด นายอกิลาห์ ซาเลห์ อิซซา (Aguila Saleh Issa) ประธานของคณะผู้แทนรัฐสภาได้ประกาศว่าการประชุมดังกล่าวจะต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้น แน่นอนว่า การยกกองทัพแห่งชาติลิเบียเข้าประชิดกรุงตริโปลีอาจเป็นการส่งสัญญาณแก่สหประชาชาติว่าฮัฟตาร์ไม่พอใจที่สหประชาชาติพยายามเข้ามาคลี่คลายความขัดแย้งในลิเบีย
ในอนาคต ปฏิบัติการทางทหารของฮัฟตาร์ที่จะแย่งชิงกรุงตริโปลีสร้างข้อห่วงกังวลว่าวงจรแห่งการล้างแค้น และความรุนแรงจะปะทุขึ้นอีกครั้ง และยกระดับความรุนแรงของสงครามกลางเมืองจนไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป ล่าสุด มีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศแล้ว 227 ราย บาดเจ็บอีก 1,128 ราย และมีประชากรกว่า 30,000 คนต้องอพยพลี้ภัยออกจากกรุงตริโปลี
อย่างไรก็ตาม มหาอำนาจหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่อบูดาห์บี ไคโร และปารีส รวมไปถึงประชาชนลิเบียหลายกลุ่มมองว่าฮัฟตาร์เป็นผู้นำลิเบียที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างความสงบสุขให้แก่ลิเบียได้ หลังจากที่ประเทศต้องเผชิญกับความวุ่นวายและการก่อการร้ายนับตั้งแต่ระบอบการปกครองของมูอัมมาร์ กัดดาฟีถูกโค่นลงใน ค.ศ. 2011 ความสำเร็จของกองทัพลิเบียแห่งชาติในการยึดครองดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศและบ่อเก็บน้ำมันเกือบทั้งหมด ทำให้หลายๆ ประเทศมองว่าฮัฟตาร์เป็นความหวังเดียวของลิเบีย แม้ว่าจะมีรายงานจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับประเด็นเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิตและการทารุณกรรมของกองทหารของเขาก็ตาม
ที่น่าแปลกใจไปกว่านั้นคือทั้งสหรัฐอเมริกาและรัสเซียต่างให้การสนับสนุนนายพลฮัฟตาร์เนื่องจากทั้งคู่มองว่าการปกครองระบอบเผด็จการของฮัฟตาร์จะนำมาซึ่งเสถียรภาพและสันติภาพแก่ลิเบียที่กำลังแตกเป็นเสี่ยงๆ ได้ ในวันที่ 8 เมษายน ทั้งรัสเซียและสหรัฐอเมริกาได้โหวตคัดค้านมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่จะหยุดยั้งการบุกโจมตีกรุงตริโปลีของฮัฟตาร์ โดยรัสเซียสนับสนุนฮัฟตาร์เนื่องจากกองทัพแห่งชาติลิเบีย LNA ครอบครองบ่อน้ำมันที่รัสเซียต้องการแสวงประโยชน์ นอกจากนี้ รัสเซียยังมองว่ากองทัพดังกล่าวสามารถเป็นกำแพงป้องกันการแพร่กระจายของลัทธิอิสลามสุดโต่งในลิเบียได้ เช่นเดียวกัน นายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ประกาศยอมรับว่านายพลฮัฟตาร์มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายและ การรักษาความมั่นคงของลิเบีย
ผู้อ่านอาจสงสัยว่าเหตุใดสหรัฐอเมริกาถึงสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลสามัคคีแห่งชาติที่สหประชาชาติให้การสนับสนุน อันที่จริงแล้ว นายไมค์ ปอมเปโอ (Mike Pompeo) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวเรียกร้องให้กองกำลังของจอมพลคาลิฟา ฮัฟตาร์ หยุดปฏิบัติการทางทหารเพื่อยึดกรุงตริโปลี เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา แต่ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้โทรศัพท์ไปพูดคุยกับจอมพลฮัฟตาร์ และยกย่องว่าเขาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการก่อการร้าย จะเห็นได้ว่า แม้ทรัมป์และปอมเปโอจะอยู่รัฐบาลเดียวกัน แต่ก็มีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องลิเบีย และถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเป็นสมาชิกสำคัญของสภาความมั่นคงของสหประชาชาติ แต่เขาก็ไม่ได้แสดงความร่วมมือกับหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในระดับพหุภาคี นโยบายต่างประเทศของทรัมป์ในลิเบียจึงเป็นภาพสะท้อนโลกทัศน์แบบสภาพจริงนิยม ที่มุ่งเน้นผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ การที่มหาอำนาจระดับภูมิภาคและมหาอำนาจระดับโลกฝ่ายต่างๆ สนับสนุนขั้วการเมืองที่ต่างกันในสงครามลิเบียก็สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างระบบระหว่างประเทศ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจในปัจจุบัน
แต่ประชาชนชาวลิเบียจำนวนมาก รวมทั้ง นักรบอิสลามิสต์ที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ (GNA) มองว่าการยึดครองกรุงตริโปลีและมิสราตาของฮัฟตาร์จะเป็นภัยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา รวมทั้งทำลายความหวังที่ลิเบียจะก้าวสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยตามแบบอย่างของตูนิเซียหลังการโค่นล้มอำนาจเผด็จการของกัดดาฟี กล่าวคือ การก้าวขึ้นสู่อำนาจของจอมพลฮัฟตาร์จะทำให้ลิเบียถอยหลังสู่การปกครองภายใต้เผด็จการทหารอีกครั้ง
แม้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าการบุกโจมตีกรุงตริโปลีของ LNA จะสำเร็จหรือไม่ และปฏิบัติการของฮัฟตาร์จะยุติบทบาทของสหประชาชาติในการคลี่คลายความขัดแย้งได้หรือเปล่า แต่สิ่งที่แน่ชัดคือ ปฏิบัติการทางทหารของฮัฟตาร์ได้เริ่มศักราชใหม่ของสงครามกลางเมืองลิเบียที่ยืดเยื้อขึ้นแล้ว ชัยชนะของฮัฟตาร์ในกรุงเฟซซาน (Fezzan) และแรงสนับสนุนจากพันธมิตรต่างชาติอย่างเต็มที่ล้วนทำให้เป้าหมายของฮัฟตาร์ที่จะจัดระเบียบการเมืองลิเบียที่กีดกันกลุ่มอิสลามิสต์ออกไปไม่ไกลเกินเอื้อม
สิ่งที่ต้องรอดูกันต่อไปก็คือ คู่อริทั้งหมดของฮัฟตาร์จะสามารถรวมตัวกันต่อต้านอำนาจอิทธิพลของฮัฟตาร์ได้หรือไม่ และมหาอำนาจระดับภูมิภาคอย่างตุรกีกับกาตาร์ที่ต่อต้านฮัฟตาร์จะแสดงท่าทีอย่างไรเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลลิเบียที่ตริโปลี
แต่สงครามครั้งนี้ดูจะส่งผลกระทบร้ายแรงที่สุดต่อประชาชนชาวลิเบียเอง ซึ่งยังไม่เห็นแนวโน้มว่าวิกฤตการณ์บ้านเมืองจะคลี่คลายในเร็ววัน การไร้ซึ่งกองทัพแห่งชาติทำให้ประชาชนกังวลว่ากองทหารตามพื้นที่ต่างๆ อาจกดขี่ประชาชน ปราบปรามการเลือกตั้ง หรือครอบงำกระบวนการเลือกตั้งจนเปิดโอกาสให้ผู้นำเผด็จการกลับมาปกครองประเทศอีกครั้ง แต่ความเสี่ยงจากสงครามกลางเมืองที่น่ากลัวที่สุดของลิเบียก็คือการกลับขึ้นมาของขบวนการรัฐอิสลาม (The Islamic State – IS) ซึ่งมักแสวงประโยชน์จากความสับสนวุ่นวาย ความขัดแย้งและสุญญากาศทางการเมือง
แหล่งข้อมูล:
Giorgio Cafiero and Theodore Karasik, “General Hifter’s march on Tripoli,” Middle East Institute, April 9, 2019, https://www.mei.edu/publications/general-hifters-march-tripoli (Accessed
April 20, 2019).
James Dorsey, War In Libya: A Rare Instance Of U.S.-Russian Cooperation, Lobe Log, April 21, 2019, https://lobelog.com/war-in-libya-a-rare-instance-of-us-russian
cooperation/?wpisrc=nl_todayworld&wpmm=1 (Accessed April 25, 2019).
Jeffrey Feltman, “Trumpian storm clouds over Tripoli,” Brookings, April 19, 2019, https://www.brookings.edu/blog/order-from-chaos/2019/04/19/trumpian-storm-clouds
over-tripoli/ (Accessed April 25, 2019).
Samuel Ramani, “Russia’s Mediation Goals in Libya,” Carnegie Endowment, April 18, 2019, https://carnegieendowment.org/sada/78940 (Accessed April 25, 2019).
ที่มาภาพ:บวร โทศรีแก้ว, “ศึกชิงอำนาจที่ไม่จบสิ้น!” ไทยรัฐ, 15 เมษายน 2562, https://www.thairath.co.th/content/1543808 (สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2562)
Comments