ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าอันดับต้นๆ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออก เป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือ
เพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance : ODA) มาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ยังเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอาเซียน โดยเริ่มตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา หลังจากนั้นไม่กี่ปี จีนก็เป็นอีกประเทศที่ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุน แต่เมื่อเวลาผ่านไป จีนผันตัวมาเป็นผู้เข้าไปลงทุนในต่างประเทศเสียเอง ซึ่งมีอำนาจและต้องการที่จะต่อกรกับญี่ปุ่นที่เคยเป็นปรปักษ์กับประเทศตัวเอง
ในบทความเรื่อง Catching Up or Staying Ahead: Japanese Investment in the Mekong Region and the China Factor โดย Françoise Nicolas ผู้วิจัยและผู้อำนวยการศูนย์เอเชียศึกษาของ Institut Français des Relations Internationales (Ifri) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บนเว็บไซต์ของ Ifri ชี้ว่าการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตั้งแต่ปี 2015 และการเติบโตของเศรษฐกิจในเขต CLMV ซึ่งประกอบไปด้วยกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามนั้น ถือเป็นการเปิดโอกาสสำหรับนักลงทุนต่างชาติ
ญี่ปุ่นในขณะนี้ได้เข้ามาลงทุนในเขต CLMV ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมดของญี่ปุ่น โดยมีปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นเห็นผลประโยชน์ในเขตนี้อยู่หลายประการด้วยกัน อาทิ การหดตัวของตลาดญี่ปุ่น การแข่งขันกับจีนและเกาหลีใต้ การเพิ่มขึ้นของค่าแรงในประเทศไทยและจีน และการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศ เช่น พม่า เป็นต้น
ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็อยู่ในกลุ่ม ASEAN+6 ซึ่งมีความสำคัญในฐานะผู้ลงทุนต่างชาติโดยตรงแต่กลับมีความสำคัญน้อยกว่าในกลุ่ม CLMV เพราะส่วนใหญ่จีนนั้นได้เข้ามาลงทุนในเขตนี้ก่อนแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเวียดนาม แต่ดูเหมือนว่าอิทธิพลจากญี่ปุ่นนั้นจะเพิ่มมากขึ้นในประเทศพม่า
แนวทางการลงทุนของญี่ปุ่น
กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงนั้นได้กลายเป็นพื้นที่แข่งขันในทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นและจีน สองประเทศยักษ์ใหญ่ที่ต้องการเพิ่มและรักษาอิทธิพลทางเศรษฐกิจของตนในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นและจีนก็มีแนวโน้มที่จะลงทุนในพื้นที่ ธุรกิจ และวิธีการที่ต่างกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากัน โดยการลงทุนของญี่ปุ่นใน CLMV จะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากการลงทุนของจีน 3 ประการดังนี้
ประการแรก ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะที่กัมพูชาและพม่า บริษัทเอกชนของญี่ปุ่น (เช่น Sumitomo, Sojitz, Mitsui และ Itochu) มีบทบาททั้งการเป็นนักพัฒนาและนักธุรกิจในเวลาเดียวกัน การเข้ามาพัฒนาในเขตเศรษฐกิจดังกล่าวนั้น มีเป้าหมายเพื่อต้องการที่จะดึงดูดความสนใจจากทั้งภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเองรวมถึงจากต่างประเทศให้มาลงทุน โดยที่ในทุกเขตนั้นถูกพัฒนาโดยบริษัทญี่ปุ่นที่มีผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่นด้วย
ประการที่สอง ต้องการแรงงานราคาถูก บริษัทญี่ปุ่นบางแห่งกำลังมองหาประโยชน์จากกัมพูชาและลาวที่มีอาณาเขตติดต่อกับไทย ตามยุทธศาสตร์ Thailand+1 ที่ต้องการจะเคลื่อนย้ายภาคการผลิตที่ต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมากไปยังประเทศที่มีค่าแรงที่ถูกกว่าประเทศไทย ซึ่งความจริงแล้ว ก่อนหน้านี้ประเทศไทยถือเป็นใจกลางฐานการผลิตของญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้
ประการสุดท้าย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ยังไม่ถือว่าเป็นแหล่งแรงงานราคาถูกในสายตานักลงทุนญี่ปุ่น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของ GDP ต่อหัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมากขึ้น ภาคธุรกิจญี่ปุ่นจึงกำลังเผชิญกับการหดตัวของตลาดท้องถิ่น รวมถึงการลดลงของเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น บริษัทญี่ปุ่นจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนทิศทางของตลาดให้เติบโตมากกว่านี้
การแข่งขันระหว่างญี่ปุ่นกับจีน
การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในเขตแม่โขงนั้นถือว่าเป็นพื้นที่แข่งขันกันโดยตรงระหว่างญี่ปุ่นและจีน บริษัทเอกชนและหน่วยงานรัฐของญี่ปุ่นได้มองการณ์ไกลในการเริ่มลงทุนเกี่ยวกับระบบโครงสร้างพื้นฐานในเขตภูมิภาคนี้ โดยปกติแล้ว ญี่ปุ่นมีแนวโน้มว่าจะมุ่งไปที่ความช่วยเหลือผ่าน ODA ในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency-JICA) ได้จัดสรรเงินกู้เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและยังจัดหากองทุนทั้งเงินสนับสนุนและเงินกู้เพื่อการสร้างถนนและสะพานที่จะเชื่อมต่อเขตต่าง ๆ ให้ถึงกัน
การที่รัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานใน CLMV ส่งผลให้ภาคเอกชนของญี่ปุ่นเข้ามาดำเนินธุรกิจในบริเวณดังกล่าวได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ญี่ปุ่นก็ยังได้ประโยชน์จากการเข้ามาจำหน่ายระบบโครงสร้างพื้นฐานและขยายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ นอกเหนือจาก CLMV
ความพยายามของญี่ปุ่นที่จะเชื่อมโยงกลุ่มประเทศในตอนใต้ของลุ่มน้ำโขง ซึ่งมีทั้งจีนและญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน จีนได้ริเริ่มโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) เขตแม่โขงจึงถือเป็นสนามประลองในการช่วงชิงอำนาจกันระหว่างจีนและญี่ปุ่นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในการแข่งขันกันนี้มีการขับเคี่ยวอย่างมากในแง่ของการลงทุน ญี่ปุ่นเสนอโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ (Partnership for Quality Infrastructure, PQI) เพื่อตอบโต้โครงการธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชียของจีน (Asian Infrastructure Investment Bank, AIIB)
อย่างไรก็ตาม สองประเทศนี้ยังแข่งขันกันในเรื่องของอิทธิพลทางการเมืองและสัญญาที่จะเข้ามาพัฒนา โดยเฉพาะในเรื่องของระบบโครงสร้างพื้นฐานด้วย ขณะที่ผลประโยชน์ที่ญี่ปุ่นจะได้รับจากการลงทุนในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงก็ยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งญี่ปุ่นยังต้องปรับนโยบายตามแรงกดดันจากจีนที่ขยายอิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคนี้ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ
จากที่กล่าวไปข้างต้น เห็นได้ว่ากลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงกำลังมีความสำคัญมากขึ้นต่อจีนและญี่ปุ่นในการเป็นฐานการผลิตและการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับไทยที่ต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจของไทยสามารถเชื่อมโยงเข้ากับเส้นทางการค้าต่างๆ ของภูมิภาคที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
ฐิติรัตน์ รู้เสงี่ยม แปลและเรียบเรียง สิงหาคม 2561
แปลและเรียบเรียงจาก: 1. NICOLAS, Françoise. Catching Up or Staying Ahead. Japanese Investment in the Mekong Region and the China Factor [Online]. 2018. Available from: https://www.ifri.org/en/publications/notes-de-lifri/asie-visions/catching-or-staying-ahead-japanese-investment-mekong-region [2018, August 14]
Comentários