ค.ศ. 2019 ถือเป็นปีที่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับชาวเกาหลีโดยทั่วไป เนื่องจากเป็นปีที่ครบรอบ 100 ปีของขบวนการเรียกร้องเอกราชเกาหลี ผลลัพธ์จากการเรียกร้องดังกล่าวคือ คำประกาศอิสรภาพของชาวเกาหลี ซึ่งกำหนดฐานคิดสำคัญว่า อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนเป็นของประชาชนเกาหลี หาใช่เจ้าอาณานิคมอย่างญี่ปุ่นไม่ วิธีคิดเช่นนี้เป็นรากฐานสำคัญของการต่อต้านญี่ปุ่นในหมู่ประชาชนเกาหลี การเฉลิมฉลองวาระดังกล่าวจึงเป็นการเฉลิมฉลองการต่อต้านญี่ปุ่นไปด้วยในเวลาเดียวกัน
สถาบันอาซันเพื่อนโยบายศึกษา (Asan Institute for Policy Studies: AIPS) ซึ่งเป็นคลังปัญญาด้านการต่างประเทศและการทูตที่สำคัญของเกาหลีใต้ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ของ Kan Kimura นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และอาณาบริเวณศึกษา สังกัดบัณฑิตวิทยาลัยความร่วมมือระหว่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เรื่อง “อธิบายการเปลี่ยนแปลงจุดยืนอย่างแหลมคมของเกาหลีต่อญี่ปุ่นในค.ศ. 2018” บทความนี้มีความสำคัญต่อความเข้าใจสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี
บริบทและเงื่อนไขฝ่ายญี่ปุ่น
Kan เสนอว่า มีเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงระหว่างสองประเทศในค.ศ. 2018 เงื่อนไขแรกคือ เสถียรภาพทางการเมืองของญี่ปุ่น หลังจากนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สองตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 2012 ในช่วงแรกหลังจากนายอาเบะดำรงตำแหน่ง ได้ให้คำมั่นในการทบทวน “ถ้อยแถลงโคโนะ (Kono Declaration)” (ซึ่งมีใจความสำคัญคือ ยอมรับว่ากองทัพญี่ปุ่นมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการจัดตั้งและบริหารจัดการกิจการนางบำเรอ (comfort stations) และมีหลายกรณีที่ผู้หญิงเหล่านั้นถูกบังคับ) นอกจากนี้ นายอาเบะยังปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับประเด็นทางประวัติศาสตร์ทั้งภายนอกและภายในประเทศ และเดินทางไปเคารพศาลเจ้ายะสุกุนิ ซื่งเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณอาชญากรสงครามชั้นเอในช่วงสงครามโลก
Kan ชี้ว่า อาเบะได้เปลี่ยนทิศทางของนโยบายนี้ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2015 โดยประกาศว่า จะไม่ทบทวนสาระสำคัญที่ปรากฏในถ้อยแถลงโคโนะ จากนั้น นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ออกถ้อยแถลงของเขาโดยระบุว่า ญี่ปุ่น “เสียใจอย่างสุดซึ้ง” ต่อพฤติกรรมของตนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะเดียวกัน ก็ตระหนักว่า “ท่ามกลางความมืดมิดของสงคราม เกียรติภูมิของสุภาพสตรีจำนวนมากได้ถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิง” ข้อความนี้สื่อนัยถึงประเด็นนางบำเรอ (comfort women) ซึ่งเป็นประเด็นขัดแย้งสำคัญในความสัมพันธ์เกาหลี-ญี่ปุ่น ในทรรศนะของ Kan ท่าทีเช่นนี้ทำให้การรณรงค์ประเด็นดังกล่าวของรัฐบาลนางสาวปัก คึน-ฮเยในเวทีนานาชาติอ่อนกำลังลง ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาได้กดดันเกาหลีใต้ให้หาข้อสรุปต่อประเด็นดังกล่าวโดยเร็ว รัฐบาลนางสาวปักจึงได้ลงนามข้อตกลงว่าด้วยประเด็นนางบำเรอในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2015 ซึ่งกำหนดให้ประเด็นดังกล่าว “เป็นที่สิ้นสุดและไม่อาจทบทวนได้อีก”
บริบทและเงื่อนไขฝ่ายเกาหลี
สำหรับเงื่อนไขที่สองนั้นเป็นเงื่อนไขของฝ่ายเกาหลี Kan เห็นว่า ปฏิกิริยาของฝ่ายเกาหลีต่อประเด็นนางบำเรอนั้นมีลักษณะ “ไม่เสถียร” กล่าวคือ หลังจากเปลี่ยนรัฐบาลจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมของนางสาวปักมาเป็นรัฐบาลฝ่ายก้าวหน้าของท่านประธานาธิบดีมุน แช-อิน ท่าทีของรัฐบาลเกาหลีใต้ได้เปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งกันเอง หลังจากศาลฎีกาของเกาหลีใต้มีคำพิพากษาให้บริษัทญี่ปุ่นแพ้คดีและต้องจ่ายค่าชดเชยแรงงานที่ “ถูกเกณฑ์” ไปทำงานในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ตั้งคณะกรรมการโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาเพื่อประนีประนอมกรณีพิพาทดังกล่าวกับฝ่ายญี่ปุ่น ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้ประกาศยุบองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อการปรองดองและเยียวยาตามข้อตกลงที่ทำเมื่อค.ศ. 2015 ญี่ปุ่นเห็นว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการปฏิเสธฐานทางกฎหมายและแสดงถึงความไม่จริงใจในการแก้ปัญหา
มีอีกสองกรณีที่สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว กรณีแรกคือ เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2018 เรือพิฆาตเกาหลีได้ตั้งเป้าเรดาร์ตรวจการณ์ไปที่เรือต่อสู้อากาศยานของญี่ปุ่น ซึ่งฝ่ายความมั่นคงของเกาหลีมีแผนจะแก้ปัญหานี้ด้วยการตกลงกันเงียบๆ อย่างไรก็ดี เมื่อข่าวนี้เปิดเผยในสื่อญี่ปุ่น ฝ่ายเกาหลีได้ออกมายอมรับข้อเท็จจริงและเรียกร้องให้ฝ่ายญี่ปุ่นขอโทษในอีกกรณีที่เครื่องบินของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นบินวนเหนือเรือรบของฝ่ายเกาหลี อีกกรณีหนึ่งคือ กรณีที่นายมุน ฮี-ซัง ประธานรัฐสภาเกาหลีเรียกร้องให้สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นทรงขอโทษกรณีนางบำเรอเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2019 นายมุนย้ำว่า เขาเพียงต้องการยืนยันจุดยืนทางการเมืองของเขาที่เป็นมาโดยตลอด ประเด็นเหล่านี้ทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นเกิดความเคลือบแคลงใจต่อท่าทีและจุดยืนของฝ่ายเกาหลีต่อการแก้ปัญหาต่าง ๆ
แนวโน้มของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
สำหรับแนวโน้มของความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศในระยะยาวนั้น Kan ชี้ว่า เกาหลีเห็นความสำคัญของญี่ปุ่นในยุทธศาสตร์และวาระของตนน้อยลง โดยปกติสื่อญี่ปุ่นมักเสนอข่าวว่า ท่าทีของเกาหลีที่เปลี่ยนไปมักมาจากความต้องการใช้ประเด็นปัญหาในการปลุกระดมเพื่อฟื้นฟูเสียงสนับสนุนจากประชาชน อย่างไรก็ดี Kan ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว โดยระบุว่า ประเด็นญี่ปุ่นอาจเคยมีอิทธิพลต่อประชาชนเกาหลีในสมัยอดีตประธานาธิบดีโน มู-ฮย็อน และอี มย็อง-บัก แต่แนวโน้มเช่นนี้หายไปตั้งแต่สมัยนางสาวปักเป็นต้นมา และยิ่งหายไปอย่างชัดเจนในสมัยท่านประธานาธิบดีมุน เนื่องจากท่านพยายามหลีกเลี่ยงการตอบคำถามสื่อมวลชนในประเด็นเกี่ยวกับญี่ปุ่นมาโดยตลอดตั้งแต่รับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2017 เช่นเดียวกับโฆษกกระทรวงกลาโหม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐสภา และข้ารัฐการอื่นๆ ซึ่งที่มาของแนวโน้มเช่นนี้อาจพิจารณาได้ว่าญี่ปุ่นมีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีใต้น้อยลง
อย่างไรก็ดี คำอธิบายที่ให้น้ำหนักทางเศรษฐกิจอย่างเดียวก็อาจไม่เพียงพอ Kan เสนอให้พิจารณาการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นต่างๆ ในด้านความมั่นคงแห่งชาติด้วย โดยชี้ให้เห็นว่า กำลังอำนาจของชาติเกาหลีนั้นเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ญี่ปุ่นเองก็มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาสนับสนุนจุดยืนของญี่ปุ่นในประเด็นดังกล่าวมาโดยตลอด ทั้งนี้ สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในต้นค.ศ. 2018 ที่เกาหลีเหนือเปลี่ยนท่าทีกลับมาเจรจากับเกาหลีใต้ก็ทำให้ความสำคัญของญี่ปุ่นลดลงไป เกาหลีใต้มีความมั่นใจในนโยบายการทูตกับสหรัฐอเมริกาและนโยบายความมั่นคงมากขึ้นหลังจากการประชุมสุดยอดผู้นำเหนือ-ใต้ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2018 ประกอบกับเห็นว่า ญี่ปุ่นไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในประเด็นเกาหลีเหนือ และญี่ปุ่นก็ได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือมาโดยตลอด
ความเกี่ยวข้องของประเทศไทย
ในภาพรวม ผู้เรียบเรียงเห็นว่า แม้จะเป็นนักวิชาการชาวญี่ปุ่น Kan ได้นำเสนอข้อมูลที่ค่อนข้างเป็นธรรมต่อฝ่ายเกาหลีใต้พอสมควร โดยชี้ให้เห็นจุดเปลี่ยนของนโยบายฝ่ายเกาหลี ซึ่งผันแปรไปตามบริบทและเงื่อนไขทางการเมือง แนวทางของ Kan ที่อธิบายว่าท่าทีของเกาหลีที่ไม่เสถียรนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ทั้งในทางทฤษฎีและทางนโยบาย ในทฤษฎีสภาพจริงนิยม (Realism) ที่ให้น้ำหนักที่รัฐในฐานะตัวแสดงและหน่วยวิเคราะห์หลัก การตัดสินใจของรัฐเป็นผลจากเงื่อนไขโครงสร้างของระบบระหว่างประเทศ โดยมีผลประโยชน์แห่งชาติเป็นปัจจัยสำคัญ สำหรับรัฐบาลปัจจุบันของเกาหลีใต้ ผลประโยชน์แห่งชาตินั้นอยู่ที่การฟื้นฟูสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีและการปรับความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ
ในด้านนโยบาย ท่านประธานาธิบดีมุนได้หันมาเน้นความสำคัญของอาเซียนตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy) ซึ่งเน้นความสัมพันธ์รอบด้านทั้งด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคง รัฐบาลเกาหลีใต้เห็นว่า อาเซียนสามารถมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพระหว่างสองเกาหลีได้ เนื่องจากอาเซียนเป็นมิตรกับทุกฝ่าย ในด้านเศรษฐกิจ อาเซียนเป็นคู่ค้าที่ไว้วางใจได้มากกว่าจีนและญี่ปุ่น เนื่องจากอาเซียนไม่มีประเด็นอ่อนไหวทางประวัติศาสตร์และความมั่นคงกับเกาหลีเหมือนที่จีนกับญี่ปุ่นมี และที่มักจะทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างกันสะดุดลงเป็นระยะ ดังนั้น ข้อเสนอของ Kan ที่ว่า ความสำคัญของญี่ปุ่นสำหรับเกาหลีในระยะยาวจะลดลงไปนั้นถือว่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง
สำหรับประเทศไทย ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างเป็นมิตรที่สำคัญทั้งคู่ ในระดับพหุภาคี ญี่ปุ่นและเกาหลีมีแนวโน้มแข่งขันกันมากขึ้น แต่การแข่งขันนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อแนวนโยบายในกรอบพหุภาคีของทั้งสองประเทศมากนัก สำหรับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เกาหลีอาจเป็นตัวแปรที่สำคัญมากขึ้น และอาจมองเข้ามาที่อาเซียนเพื่อหาจุดยืนร่วมในฐานะอำนาจขนาดกลางด้วยกัน ในระดับทวิภาคี ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับทั้งสองประเทศคงดำเนินต่อไปตามปกติ หากจำเป็นต้องแสดงจุดยืนอย่างหนึ่งอย่างใด ไทยก็ควรยืนยันเจตนาที่ดีที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน
เสกสรร อานันทศิริเกียรติ แปลและเรียบเรียง มิถุนายน 2019
แปลและเรียบเรียงจาก Kan Kimura. Explaining South Korea’s Sharp Shift in 2018 toward Japan. The Asan Forum, April 15, 2019. เข้าถึงได้จาก http://www.theasanforum.org/explaining-south-koreas-sharp-shift-in-2018-toward-japan/ (สืบค้นวันที่ 11 มิถุนายน 2562).
ที่มาภาพ: Abe and Moon agree to more frequent visits. Nikkei Asian Review, May 10, 2018. เข้าถึงได้จาก https://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/Abe-and-Moon-agree-to-more-frequent-visits (สืบค้นวันที่ 11 มิถุนายน 2562).
Comments