โดย ยุวดี คาดการณ์ไกล
ปัญญากับความรู้นั้นไม่เหมือนกัน ปัญญาเป็นสิ่งที่ตระหนักรู้ได้ด้วยตนเอง ความรู้คือสิ่งที่เรียนรู้มาจากคนอื่น หรือ ปัญญาคือ ผลของการรู้แจ้ง (ตรัสรู้) ความรู้คือ ผลที่ได้รับจากการเรียนรู้ เราค้นหาความรู้ไม่หยุดตลอดทั้งวันและเราไม่หยุดที่จะแสวงหาความจริง เมื่อมองย้อนกลับไป ปัญญาและความรู้อยู่เคียงข้างเรา ก็คืออยู่ในใจของเราเอง เราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ค้นพบด้วยตัวเอง และตระหนักด้วยตัวเอง ค่อยๆรู้สึกและเข้าใจด้วยหัวใจของเราเอง ในขณะเดียวกัน ก็ยอมรับข้อดีของผู้อื่น กำจัดข้อบกพร่องของตัวเราเอง รับเอาความรู้ที่มีคุณค่าต่อตัวเอง ด้วยเหตุนี้ การรู้แจ้งจึงสามารถพัฒนาปัญญาของตนเองได้ ในความเป็นจริงของชีวิตหนึ่ง มีสิ่งที่จะเรียนรู้อยู่มากมาย แต่เราจะได้รับประโยชน์ก็ต่อเมื่อเรารู้จักเสียสละ การที่รู้จัก “เสียสละ” นั้นเป็นปัญญาอันยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง [1]
ที่กล่าวมานี้ ดูจะสอดคล้องกับวิถีคิดของปัญญาชนจีนท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นนักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ชั้นนำที่มีชื่อเสียงแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ศาสตราจารย์จัสติน หลิน ได้กล่าวเมื่อเร็วๆนี้ในหัวข้อเรื่อง “ห้องเรียนที่แท้จริงอยู่ในจิตวิญญาณของคุณ” นำเสนอแง่คิดที่น่าสนใจว่า วัตถุประสงค์ของการศึกษานั้นมีเพื่อเข้าใจความจริง และความมุ่งหวังในการทำเช่นนี้ก็เพื่อช่วยในการพัฒนาสังคม สำหรับคนที่เรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศนั้น (ในที่นี้คือมหาวิทยาลัยปักกิ่ง) ล้วนเป็นผู้ที่มีความสามารถระดับนำในประเทศอยู่แล้ว ดังนั้น นักศึกษาในระดับนำเหล่านี้ต้องมีความเชื่อมั่นว่าเป้าหมายของตนคืออะไร สำหรับศาสตราจารย์จัสติน หลิน แล้ว สิ่งนี้ย่อมหมายถึงการมีส่วนช่วยเหลือประเทศ สังคม และเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ
ท่านยังมองว่า “ทฤษฎีส่วนใหญ่ที่เราเรียนในมหาวิทยาลัยในปัจจุบันมาจากประสบการณ์และการแก้ไขปัญหาบางอย่างของประเทศพัฒนาแล้ว แต่โลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และโดยธรรมชาติก็มีความแตกต่างระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น เราจะมองหาคำตอบสำหรับปัญหาของวันนี้ในหนังสือเรียนเมื่อวานนี้จึงไม่เพียงพอ ในความเป็นจริง ท่านก็ยังมีข้อสงสัยอีกว่า เราจะสามารถใช้สิ่งที่เราเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเพื่อทำความเข้าใจและปรับใช้กับยุคสมัยของเราให้ดีขึ้นและเข้าใจทฤษฎีเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมของเรา ได้จริงหรือไม่?” ก็ยังเป็นคำถามอยู่ นอกจากนี้ ท่านยังให้มุมมองเพิ่มเติมว่า แน่นอนการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ แต่กุญแจสำคัญที่เปิดไปสู่ปัญญาคือการที่จะต้องรู้ว่าการทำเช่นนั้นทำได้อย่างไร ประสบการณ์ที่ผ่านมาหลายปี ทำให้ท่านเชื่อว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการศึกษาก็เหมือนกับการดูงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ เมื่อดูงานศิลปะชิ้นหนึ่งจะรู้สึกถึงความพึงพอใจอย่างมาก เมื่อแรงจูงใจของเราคือการสร้างงานศิลปะ ความคิดของเราจะแตกต่างกันอย่างแน่นอนเมื่อทำสิ่งเดียวกัน ศิลปินหลายคนเดินทางไปที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ไม่ใช่เพียงเพื่อดูงานศิลปะ แต่เพื่อทำความเข้าใจความหมายที่อยู่เบื้องหลัง ในทำนองเดียวกัน การศึกษาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการชื่นชมถ้อยคำของผู้เขียน ยิ่งไปกว่านั้น ก็เพื่อต้องการจะเข้าใจปัญญาที่อยู่เบื้องหลังถ้อยคำนั้นของผู้เขียนด้วย [2]
Comments