โดยปกติเวลาแบ่งประเทศต่างๆ ในโลกออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อการวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจ ในอดีตมีการจำแนกเป็นประเทศฝ่ายเหนือ (the North) กับประเทศฝ่ายใต้ (the South) ต่อมาก็พัฒนาเป็นการจำแนกเป็นประเทศพัฒนาแล้ว (developed countries) ซึ่งก็คือประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวย กับประเทศกำลังพัฒนา (developing countries) ที่ในระยะต้นโดยมากเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ยากจน ภายหลังเมื่อโลกพัฒนาต่อมาอีกก็มีกลุ่มใหม่เพิ่มขึ้นมาคือ กลุ่มประเทศเศรษฐกิจดาวรุ่ง (Emerging economies) เช่น จีน อินเดีย กลุ่ม BRICS เป็นต้น หรือไม่ก็นิยมแบ่งกันตามระดับรายได้ เป็นประเทศรายได้สูง ปานกลางระดับสูง ปานกลางระดับล่าง หรือรายได้ต่ำ เป็นต้น ซึ่งการแบ่งประเภทเหล่านี้ หลายครั้งก็กว้างเกินไป หรือเป็นการจำแนกตามแต่เพียงตัวเลขรายได้ต่อหัวประชากร ซึ่งทำให้ไม่เห็นแง่มุมอื่นๆ ของประเทศต่างๆ
เมื่อปลายปีที่แล้ว ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปเข้าอบรมเรื่องเศรษฐกิจจีนเป็นระยะเวลา 1 เดือน ณ สถาบัน Think Tank ด้านสังคมศาสตร์ที่ใหญ่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจีน คือ สถาบันวิจัยสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Social Sciences: CASS) ที่กรุงปักกิ่ง และได้รับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจจากนักวิชาการชั้นนำของจีนในสาขาต่างๆ อันเป็นประโยชน์อย่างมาก
ผู้ที่บรรยายประเดิมเป็นท่านแรกคือ ศ.PAN Jiahua ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเมืองและสิ่งแวดล้อมของ CASS สมาชิกคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญแห่งชาติของจีนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รองประธานสมาคมเศรษฐศาสตร์ด้านเมืองของจีน และรองประธานสมาคมเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมของจีน ซึ่งนอกจากเป็นนักวิชาการชั้นนำของจีน ยังมีชื่อเสียงในระดับโลกด้วย เดินทางบรรยายตามเวทีสำคัญมากมาย เช่น World Economic Forum
ในการบรรยายเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นภารกิจที่ประเทศต่างๆ ต้องรับมาช่วยกันปฏิบัติให้บรรลุผลนั้น ศ. PAN ได้เสนอรูปแบบการจำแนกประเทศต่างๆ ในโลกแบบใหม่ ที่เขาเป็นผู้คิดขึ้นเองราวสามปีก่อน
โดยเป็นการแบ่งตามรูปแบบเศรษฐกิจ เป็น 5 ประเภท ดังนี้
ประเภทที่ 1 : ประเทศที่พัฒนาแล้ว และยังพัฒนาได้อีก
กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ร่ำรวย แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก ได้แก่ ประเทศพัฒนาแล้วที่ร่ำรวย มีเทคโนโลยีสูง แต่ประชากรยังคงเติบโตอยู่ และยังมีพื้นที่ให้เศรษฐกิจขยายตัวในทางกายภาพได้อีกมาก ประเทศที่เป็นตัวแทนของกลุ่มนี้ที่ชัดเจนคือ สหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน สหรัฐมีประชากรราว 300 ล้านคน ภายในสิ้นศตวรรษนี้ คาดว่าประชากรอเมริกันจะเพิ่มขึ้นเป็น 450 ล้านคน สหรัฐจึงยังมีการเติบโตของประชากร แม้ไม่เร็ว แต่ก็ยังเติบโต เมื่อมีคนมากขึ้น ก็มีความต้องการในด้านต่างๆ และการบริโภคเพิ่มขึ้นตามมา เช่น ที่อยู่อาศัย พลังงาน การปล่อยก๊าซของเสียสู่ชั้นบรรยากาศ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นเหตุให้เศรษฐกิจขยายตัว และประเทศสหรัฐก็ยังเหลือพื้นที่มหาศาลให้เศรษฐกิจขยายตัวทางกายภาพได้อีกมาก สหรัฐมีดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาล อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมายไม่ว่าป่าไม้ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เชลแก๊ส สหรัฐยังขยายโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น โครงสร้างพื้นฐานของเมือง ถนนหนทางได้อีกมาก โดยสรุป ประเทศในกลุ่มแรก ซึ่งสหรัฐเป็นตัวแทนนี้ พวกเขามีทุนมาก มีเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้า (matured economy) แต่ยังขยายตัวเติบโตต่อไปได้อีกมาก อย่างไรก็ดี แม้สหรัฐจะยังขยายเศรษฐกิจได้อีกมาก แต่ความต้องการพลังงานจากภายนอกต่ำกว่าที่น่าจะเป็น เพราะประเทศนี้มีพลังงานเลี้ยงตัวเองได้เหลือเฟือ ซึ่งเป็นอีกข้อได้เปรียบของสหรัฐ
เมื่อพิจารณาดังนี้ จึงเข้าใจได้ว่าเหตุใดทรัมป์หรือจอร์จ บุชจึงไม่ยอมหรือลังเลมาตลอดที่จะยอมลดการปล่อยก๊าซสู่ชั้นบรรยากาศในส่วนของสหรัฐ เพราะพวกเขาเข้าใจว่าเศรษฐกิจของประเทศของตนยังมีศักยภาพจะโตต่อไปได้อีกเรื่อยๆ
ประเภทที่ 2 : ประเทศที่พัฒนาแล้ว และอิ่มตัวแล้ว
ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วอีกกลุ่มได้แก่ ประเทศเช่นประเทศในยุโรปและญี่ปุ่น เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้เจริญก้าวหน้าไม่แพ้กลุ่มแรก แต่จำนวนประชากรของพวกเขาแทบจะไม่ขยายตัวแล้วในกรณียุโรป หรือลดลงด้วยซ้ำในกรณีของญี่ปุ่น 3-4 ปีที่ผ่านมาติดต่อกัน ประชากรญี่ปุ่นลดลงราวปีละ 450,000 คน สามปีรวมกันก็ลดลงไปกว่าหนึ่งล้านคน ส่วนในยุโรปจำนวนประชากรก็ไม่ขยายตัว และกำลังขาดแคลนแรงงาน นี่เองเป็นเหตุผลว่าเหตุใดช่วงหลังหลายประเทศในยุโรปจึงรับผู้อพยพต่างชาติเข้าไปมาก เมื่อจำนวนประชากรไม่เพิ่มขึ้น ความต้องการภายในประเทศก็ไม่เพิ่ม ไม่ว่าในด้านที่อยู่อาศัย การบริโภคพลังงาน ความต้องการซื้อรถยนต์ ที่ญี่ปุ่น มีรถยนต์ 550 คันต่อคนญี่ปุ่น 1,000 คน จึงไม่มีความจำเป็นในการขยายตัวของสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคอีกแล้ว กล่าวได้ว่า สังคมเหล่านี้เข้าสู่ยุคหลังการบริโภควัตถุ (post-material consumption) แล้ว คือมีวัตถุมากพอแล้ว วัตถุทางกายภาพที่มีอยู่ในประเทศเหล่านี้ต้องการเพียงการทดแทนเมื่อชำรุด แต่ความต้องการไม่ได้เติบโตอีกแล้ว โครงสร้างทางกายภาพต่างๆ ในประเทศเหล่านี้มีครบถ้วนสมบูรณ์จน “อิ่มตัว” แล้ว ไม่ว่า ทางด่วน ถนน ไฟฟ้า ประปา ที่อยู่อาศัย ถ้าเราอยู่ในยุโรปหรือญี่ปุ่น อยากจะสร้างทางด่วนขึ้นมาสักแห่งนั้น ยากมากที่จะหาที่สร้าง เพราะไม่มีที่ให้สร้างแล้ว และไม่มีความต้องการที่จะสร้างแล้ว พวกเขามีเงิน มีเทคโนโลยี แต่ความจำเป็นหรือความต้องการที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ภายในประเทศไม่เหลืออยู่แล้ว ในสภาพอย่างนี้ จึงเดาได้ไม่ยากว่าในอนาคตประเทศเหล่านี้จะไม่ต้องการบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้นหรือจะต้องปล่อยก๊าซและของเสียเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีความจำเป็น ดังนั้น ในยุโรปและญี่ปุ่น อัตราการเติบโตของจีดีพีแต่ละปีจึงมากที่สุดแค่ร้อยละ 2 ต่อปี ส่วนใหญ่อยู่ที่ราวร้อยละ 1 บางปีก็โตร้อยละ 0 หรือติดลบ ซึ่งเหตุผลก็ตรงไปตรงมา เพราะเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้มีโครงสร้างทางกายภาพครบจนอิ่มตัวแล้ว
ประเภทที่ 3 : กลุ่มประเทศดาวรุ่ง เศรษฐกิจใกล้เจริญเต็มที่
ในกลุ่มประเทศดาวรุ่ง (emerging economies) ก็จำแนกได้เป็นสองกลุ่ม หนึ่งคือ กลุ่มประเทศดาวรุ่งที่เศรษฐกิจใกล้จะก้าวหน้าเทียบชั้นประเทศพัฒนาแล้ว ความเจริญทางวัตถุในประเทศยังไม่อิ่มตัว แต่ก็จะไปถึงจุดนั้นในไม่ช้า การเติบโตของประชากรเริ่มชะลอตัวและจะเริ่มลดลงในอีกไม่นาน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศเหล่านี้ยังมีประชากรยากจนอยู่เป็นจำนวนมาก ยังมีความต้องการพื้นฐานของผู้คนที่ยังไม่เพียงพอ เช่น ที่อยู่อาศัย อีกเป็นจำนวนมาก นี่คือกรณีของประเทศจีน ประชากรจีนปัจจุบันมีจำนวน 1,400 ล้านคน แต่อัตราการเติบโตประชากรอยู่ที่เพียงร้อยละ 1.3 เหตุผลหลักเพราะการบังคับใช้นโยบายวางแผนครอบครัวและค่าครองชีพที่สูงมากในจีน โดยเฉพาะในเมือง คาดกันว่าถ้าอัตราการเติบโตยังอยู่ในระดับนี้ต่อไป ประชากรจีนจะลดลงเหลือ 1 พันล้านคนภายในสิ้นศตวรรษนี้ ปัจจุบันจีนเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์มากอันดับหนึ่งของโลก และยังเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในเมืองใหญ่ของจีนอย่างปักกิ่ง การจราจรติดขัดมาก แต่ถ้าไปที่ชนบท โดยเฉพาะทางตะวันตกของจีน จะพบว่าประชากรที่นั่นยังยากจนกว่าหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือหรือแม้แต่ในเอเชียกลางด้วยซ้ำ ถ้าดูทั้งประเทศ ปัจจุบัน ในคนจีนหนึ่งพันคน มีรถยนต์เพียง 150 คัน ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวในยุโรปและญี่ปุ่นอยู่ที่ 550 และอยู่ที่ 870 ในสหรัฐ จีนจึงมีเศรษฐกิจสองภาค ภาคหนึ่งร่ำรวย ส่วนใหญ่คือมณฑลชายฝั่งตะวันออกของประเทศ ส่วนที่เหลือคือภาคที่ยากจน เศรษฐีจีนหลายคนในเวลานี้มีเครื่องบินส่วนตัวเป็นปกติ แต่จีนยังมีคนยากจนมากอยู่ถึง 14 ล้านคน และมีช่องว่างการพัฒนาระหว่างเมืองกับชนบทอยู่มาก ปัจจุบันอัตราความเป็นเมืองของจีนใกล้ร้อยละ 60 แล้ว แต่ภายในเมืองเหล่านั้นยังมีประชากรที่เป็นแรงงานอพยพมาจากชนบทกว่า 260 ล้านคน ซึ่งไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการใดๆ จากเมือง เศรษฐกิจในส่วนที่ร่ำรวยในภาคตะวันออกของจีนนั้นพัฒนาจนมีทุกอย่างเกือบพร้อมสมบูรณ์แล้ว มีรถไฟความเร็วสูง ทางด่วน รถไฟรางเบาในเมือง สะดวกสบายมาก จนเกือบอิ่มตัวแล้ว แต่ในภาคอื่นๆ ที่ยังยากจนยังมีความต้องการการพัฒนาทางวัตถุในด้านต่างๆ อีกมหาศาล
ประเภทที่ 4 : กลุ่มประเทศดาวรุ่ง เศรษฐกิจยังโตได้อีกมาก
ประเทศดาวรุ่งอีกประเภทเป็นอย่างอินเดีย คือ เป็นประเทศดาวรุ่งที่ประชากรยังเติบโตอีกมากและเร็ว มีอัตราการเติบโตจีดีพีสูง และยังเหลือช่องว่างให้พัฒนาทางวัตถุได้อีกมาก ปัจจุบัน ประชากรอินเดียเพิ่มขึ้นเร็วมาก อีก 2-3 ปี คาดว่าอินเดียจะมีจำนวนประชากรมากกว่าจีนแล้ว (คาดว่าจำนวนประชากรอินเดียจะเพิ่มถึงขีดสุดราวกลางศตวรรษนี้ที่ประมาณ 1,700 ล้านคน และจะเริ่มลดลงอย่างช้าๆ) เมื่อมีคนเพิ่มขึ้น ความต้องการทางวัตถุในทุกด้านก็ต้องเพิ่มขึ้น ทั้งอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ยานพาหนะ การศึกษา ฯลฯ ในอินเดียมีทางด่วน รถไฟความเร็วสูง เครื่องปรับอากาศอยู่บ้าง แต่ไม่มากเท่าจีน จึงยังมีช่องว่างในการพัฒนาอยู่มากเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และก็เดาไม่ยากว่าในอนาคตอินเดียจะต้องการบริโภคพลังงานและต้องปล่อยก๊าซสู่ชั้นบรรยากาศอีกมหาศาล
ประเภทที่ 5 : กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
ประเทศในกลุ่มสุดท้ายคือ ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ยังมีความเจริญทางวัตถุในประเทศค่อนข้างต่ำ มีอัตราการเติบโตของประชากรสูง บางประเทศอาจจะมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำ เนื่องด้วยปัญหาต่างๆ เช่น ประสิทธิภาพของรัฐบาล ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์หรือระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในประเทศ หรือประสบภัยธรรมชาติ ทำให้ก้าวออกจากกับดักการพัฒนาได้ยากเต็มที
การจัดประเภทประเทศต่างๆ ในโลกตามรูปแบบนี้จะเป็นอีกกรอบที่ช่วยให้เราทำความเข้าใจความเป็นไปในอนาคตของโลกในด้านต่างๆ ได้ดีขึ้น และเข้าใจว่าเหตุใดประเทศแต่ละกลุ่มจึงมีจุดยืนหรือมีพฤติกรรมอย่างที่เป็น ไม่เฉพาะแต่ในด้านการทำลายชั้นบรรยากาศโลก แต่ในทุกด้าน
ปาณัท ทองพ่วง แปลและเรียบเรียง มีนาคม 2562
ที่มาภาพ: ศ.ดร.PAN Jiahua, 21 สิงหาคม 2018
Comments