เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 นางสาวชญานิษฐ์ เชิดธรรมธร นักวิจัย สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการหารือ ISC Young Scholar Roundtable ครั้งที่ 3 เรื่อง “US Election 2020: Implications for the Region” ณ ห้องประชุม 3 กระทรวงการต่างประเทศ จัดโดยศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ (International Studies Center) กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีคุณวิชชุ เวชชาชีวะ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ร่วมแบ่งปันทรรศนะและประเมินเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผลต่อประเทศไทยและภูมิภาค เนื้อหาสำคัญโดยสรุปมีดังนี้
1. นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ สมัยไบเดน จะกลับไปเป็นแบบ Multilateralism มากขึ้น และฟื้นคืนความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ ภายใต้กรอบพหุภาคี หรือ “America must lead again” และจะนำโดยการเป็นแบบอย่าง (lead by example) และจะมีลักษณะดังเช่นนโยบายที่มาจากพรรคเดโมแครต คือ เน้นให้คุณค่าเรื่องประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน และจะกระชับความสัมพันธ์กับชาติประชาธิปไตยที่เป็นพันธมิตรดั้งเดิมของสหรัฐฯ เช่น NATO ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และชาติประชาธิปไตยอื่น ๆ ให้มากขึ้น
2. ในประเด็น CPTPP สหรัฐฯ อาจจะเผชิญกับความยากลำบากหากอยากกลับไปเข้าร่วม เนื่องจากการถอนตัวในสมัย Trump ทำให้ประเทศภาคีไม่ค่อยพอใจสหรัฐฯ เท่าใดนัก
3. แม้ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นพรรคเดโมแครต แต่ประเด็นเรื่องจีนยังเป็นสิ่งที่ทั้งเดโมแครตและรีพลับลิกันเห็นตรงกันว่า จีนเป็นความท้าทายใหญ่ของสหรัฐฯ เพราะฉะนั้น สงครามการค้าจะยังคงอยู่ แต่อาจจะเปลี่ยนวิธีการ และสิ่งที่สหรัฐฯ จะใช้กดดันจีนก็จะต่างออกไป เช่น อาจจะเน้นพูดเรื่องชนกลุ่มน้อย สิทธิมนุษยชน แต่ก็น่าจะพยายามหาความร่วมมือกับจีนให้ได้ในอนาคต เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การเจรจากับเกาหลีเหนือ
4. ด้านนโยบายภายใน ไบเดนจะลบล้าง “American first” และจะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19เป็นสิ่งแรกและต้องลงมือทำทันที และจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ การวิจัยและการพัฒนา เทคโนโลยี AI การส่งเสริมการบริการสุขภาพและการศึกษา ฯลฯ
5. แนวทางการดำเนินนโยบายของไทย: อเมริกาจะให้คุณค่ากับไทยมากขึ้นหากไทยทำให้เห็นว่า ไทยมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ คือ ไทยจะทำให้สหรัฐฯ เข้าถึงภูมิภาคนี้ได้อย่างไร จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมสหรัฐฯ กับประเทศที่ไทยมีสายสัมพันธ์แต่สหรัฐฯ ไม่มีอย่างไร เพื่อให้สหรัฐฯ กลับมามีที่ยืนในภูมิภาคมากขึ้น แต่ในด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องดีที่สหรัฐฯ จะให้ความสนใจกับข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative – LMI) ด้วยการนำทรัพยากรมาลงทุนภายใต้กรอบความร่วมมือนี้มากขึ้น
Commentaires