top of page
klangpanyath

ชนวนขัดแย้งอุยกูร์ในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับตุรกี




ประเด็นเรื่องชาวอุยกูร์ได้กลายเป็นประเด็นร้อนที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด หลังจากที่รัฐบาลตุรกีแถลงเรียกร้องให้จีนปิดค่ายกักกันชาวมุสลิมอุยกูร์ที่เชื่อว่ามีนับล้านคน ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xinjiang Uygur Autonomous Region) ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในขณะที่โลกมุสลิมส่วนใหญ่ปิดปากเงียบเรื่องประเด็นอุยกูร์เพื่อหลีกเลี่ยงการตอบโต้ทางการทูตและเศรษฐกิจจากจีน แต่ตุรกีกลับประณามรัฐบาลจีนว่าการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ของจีนนั้นเป็น “การย่ำยีความเป็นมนุษย์” ตุรกีติดตามสภาพเลวร้ายของชาวอุยกูร์ในจีนอย่างใกล้ชิดเนื่องจากชาวตุรกีถือว่าชาวอุยกูร์ ซึ่งพูดภาษาเติร์ก เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวใหญ่ของชนชาติพันธุ์เติร์กที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วยูเรเซีย ประเด็นเรื่องการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ในจีน ขบวนการแบ่งแยกดินแดนสาธารณรัฐเตอร์กิสถาน (Turkestan) จากซินเจียง และการที่ตุรกีโอบอุ้มช่วยเหลือชาวอุยกูร์ที่หนีภัยมาจากซินเจียงจึงเป็นมูลเหตุของปัญหาที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับจีนร้าวฉานเป็นระยะๆ


บทวิเคราะห์เรื่อง “Ethno-Diplomacy: The Uyghur Hitch in Sino-Turkish Relations” โดย Yitzhak Shichor จาก The East-West Center สถาบัน think tank ในสหรัฐอเมริกาที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาประเด็นปัญหาของอุยกูร์ในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับตุรกีที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย โดยนาย Yitzhak ได้ใช้แนวคิด “การทูตเชิงชาติพันธุ์” (ethno-diplomacy) อันหมายถึงการที่รัฐอ้างกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในประเทศอื่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง มาใช้วิเคราะห์บทบาทของชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับตุรกี และนำเสนอบทเรียนและข้อจำกัดต่างๆ จากการที่จีนอ้างอิงประเด็นชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศและการเมืองภายใน


Yitzhak มองว่า จีนอาจประสบความสำเร็จในการใช้นโยบายการทูตเชิงชาติพันธุ์เพื่อกดดันตุรกีให้เลิกสนับสนุนขบวนการชาตินิยมอุยกูร์ เนื่องจากตุรกีเริ่มมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและทางทหารกับจีนเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ที่สำคัญไปกว่านั้น ตุรกียังเป็นห่วงกังวลเรื่องปัญหาเคิร์ด ซึ่งเป็นขบวนการความเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดเพื่อเรียกร้องเอกราชจากตุรกี รวมทั้งปัญหาการรวมประเทศไซปรัสอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ระหว่างพลเมืองชาวเติร์กและชาวกรีก หลายครั้งที่จีนพยายามพาดพิงประเด็นเหล่านี้เพื่อบีบให้ผู้นำตุรกีหยุดสนับสนุนขบวนการชาตินิยมอุยกูร์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น จีนขู่ว่าจะสนับสนุนขบวนการของชาวเคิร์ด ถ้าตุรกียังให้การสนับสนุนชาวอุยกูร์อยู่ นอกจากนี้ ช่วงที่ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินเยือนตุรกีในปี ค.ศ. 2000 เขาได้พาดพิงถึงกรณีชาวเคิร์ดโดยกล่าวว่าทั้งจีนและตุรกีต้องร่วมกันปกปักรักษาความเป็นหนึ่งเดียวของชาติและบูรณภาพของดินแดน รวมทั้งต้องต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ การแบ่งแยกดินแดน และแนวคิดสุดโต่งทางศาสนาร่วมกัน


แม้กระนั้นก็ตาม ตุรกีก็ยังยึดมั่นในการรักษาอัตลักษณ์ของอุยกูร์ที่ถือว่าเป็นผู้สรรสร้างแนวคิดเติร์กนิยม (Turkism) และเป็นชนชาติที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันกับชาวเติร์ก ยิ่งไปกว่านั้น การที่จีนบีบบังคับตุรกีให้เลิกสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนเตอร์กิสถานตะวันออก (East Turkistan Independence Movement) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรักษาวัฒนธรรมเติร์กและประกาศอิสรภาพจากมณฑลซินเจียง ได้ส่งผลให้กลุ่มชาตินิยมอุยกูร์นี้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศอื่น ซึ่งเป็นการช่วยให้ขบวนการชาตินิยมอุยกูร์แผ่ขยายไปยังแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ

ผลที่ตามมาคือ ประเด็นชาวอุยกูร์ที่จีนเคยถือว่าเป็นปัญหาภายในประเทศที่ห้ามไม่ให้ประเทศอื่นเข้าแทรกแซงได้กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและภาพลักษณ์ของจีนในเวทีการเมืองโลกมากยิ่งขึ้น นาย Yitzhak มองว่านโยบายเชิงชาติพันธุ์ของจีนสะท้อนให้เห็นว่าจีนอาจไม่ได้กังวลเรื่องภัยคุกคามโดยตรงจากอุยกูร์มากนัก แต่อาจห่วงว่าปัญหาอุยกูร์จะส่งผลเสียต่อภาพพจน์ของจีนในทางระหว่างประเทศมากกว่า


สำหรับประเทศต่างๆ ที่ใช้กรณีอุยกูร์มาต่อรองกับจีน เช่น ตุรกีและประเทศในแถบเอเชียกลาง จีนจะใช้วิธีเข้าไปขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทหารกับประเทศต่างๆ เหล่านั้น โดยจีนมองว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงที่แน่นแฟ้นจะส่งผลให้จีนมีน้ำหนักมากขึ้นในการเข้าไปมีอิทธิพลต่อนโยบายภายในของประเทศเหล่านั้นในประเด็นอุยกูร์ กล่าวง่ายๆ คือ จะทำให้ประเทศเหล่านั้นเกรงใจจีนมากขึ้นนั่นเอง


ปัญหาอุยกูร์จึงสะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความเคลื่อนไหวของขบวนการชาตินิยมของชนกลุ่มน้อย ยิ่งจีนกับตุรกีสานสัมพันธ์ทางการทูต ทางเศรษฐกิจ และทางทหาร รวมทั้งมีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ร่วมกันมากเท่าไร โอกาสของขบวนการชาตินิยมอุยกูร์ในการประกาศอิสรภาพเพื่อตั้งรัฐของตนเองยิ่งลดลงมากขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ อุดมการณ์และอัตลักษณ์ของชนชาวอุยกูร์จึงต้องปรับเปลี่ยนตามบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิสัมพันธ์กับรัฐชาติจีนและตุรกีที่เป็นตัวแปรสำคัญ

จะเห็นได้ว่า เมื่อความแตกต่างทางศาสนา วัฒนธรรม รวมไปถึงชาติพันธุ์ต่างๆ เหล่านี้ ได้ถูกนำไปโยงเข้ากับความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ที่ทุกรัฐให้ความสำคัญในเรื่องของอำนาจ ขอบเขตดินแดนที่ชัดเจนและการจัดการภายในรัฐของตน ผลที่ตามมาคือ กลุ่มชาติพันธุ์อย่างชาวอุยกูร์จึงกลายเป็นประเด็นเรื่องภัยความมั่นคงแห่งรัฐ ความขัดแย้งเรื่องอุยกูร์ที่โยงใยกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับตุรกีนี้จึงหนีไม่พ้นเรื่องของความต่างในอัตลักษณ์เรื่องชาติพันธุ์ในภาวะรัฐชาติสมัยใหม่นั่นเอง


โศภนิศ อังศุสิงห์ แปลและเรียบเรียง มีนาคม 2562


แหล่งข้อมูล: Shichor, Yitzhak. “Ethno-Diplomacy: The Uyghur Hitch in Sino-Turkish Relations.” The East-West Center. 2009. https://www.eastwestcenter.org/publications/ethno-diplomacy-uyghur-hitch-sino-turkish-relations. (accessed March 7, 2019).


ที่มาภาพ:



ดู 7 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page