top of page

จีนแคะ ผู้อพยพนามกระเดื่อง


เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติและ ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา

คนไทยจำนวนมากเป็นลูกผสม ผมก็เป็นเช่นนั้น บรรพชนทางปู่ทางพ่อนั้นเป็นจีนครับ : “จีนแคะ” ส่วนทางยายทางแม่นี้เป็น “ไทลื้อ-ไท ยอง” จากสิบสองพันนา วันนี้ขอเล่าเรื่องจีนแคะ และวันหน้าจะเล่าเรื่องไทลื้อไทยองต่อไป


จีนแคะอยู่เมืองไทยนั้นจัดเป็นส่วนข้างน้อยเอามากๆ เพราะลูกหลานเหลน”มังกร” ส่วนข้างมากในไทยนั้นคือ “แต้จิ๋ว” ครั้นไปถึงเมืองจีนถึงได้ทราบว่าแต้จิ๋วนั้นมีอยู่ 25 ล้านเท่านั้นเอง อยู่นอกประเทศ ราว 20 ล้าน คน ส่วน แคะ หรือ ”เค่อเจีย” กลับมีประชากรในจีนหลายมณฑลรวมแล้ว 80 ล้านคน และอยู่นอกจีน ทั่วโลก อีกราว 20 ล้าน คนเชื้อสายแต้จิ๋วนอกประเทศจีนนั้นอยู่ในไทยมากที่สุด และอยู่ในเอเชียอาคเนย์ที่เหลือ ส่วนแคะนั้นกระจายอยู่กันทุกทวีปรวมหลายสิบประเทศ


ทั้งแคะและแต้จิ๋วนั้น อพยพมาจากเหอหนาน และ ส่านซี เมื่อประมาณ 1,700 ปี ที่แล้ว หนีศึกสงครามและความปั่นป่วนอันเกิดจากชนเผ่าทุ่งหญ้านอกกำแพงเมืองจีน ครั้งแรกนี้ลงมา 1.5-2 ล้านคนเชียว ขณะนั้นทั้งประเทศมีประชากร 30 ล้าน เดินบ้าง ขี่ม้า ขี่ลาบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วล่องยาวมาตามแม่น้ำ จาก แม่น้ำเหลือง ลงมาสู่น้ำแยงซี และอื่นๆ จนมาปักหลักอยู่ตอนเหนือของมณฑลเจียงซี

ครั้งที่สอง ที่ต้องอพยพลงใต้กว่านั้นอีก มีสาเหตุหลักจากความปั่นป่วนจลาจลวุ่นวายในปลายสมัยราชวงศ์ถัง บ้านเมืองแตกแยกระส่ำระสายอีกเมื่อประมาณ 1,100 ปี มาแล้ว ลงมาอีกร่วมล้านคน พำนักถาวรกันที่ “ก้านโจว” ซึ่งอยู่ตอนใต้ของมณฑลเจียงซี

ครั้งที่สาม เมื่อ 800-900 ปีที่แล้ว ก็ต้องอพยพอีกในยุคสมัยราชวงศ์ซ่ง เมื่อจีนเสียอาณาจักรให้แก่มองโกล ชาวทุ่งหญ้าอีกเผ่าหนึ่ง ครั้งนี้ลงมาจนถึงเหมยโจวของมณฑลกวางตุ้ง


ครั้งที่สี่ อพยพใหญ่อีกคราวเมื่อราว 300 ปีที่แล้ว ในสมัยของราชวงศ์ชิง การอพยพใหญ่ครั้งนึ้ไม่ใช่เกิดจากสงคราม หากแต่จักรพรรดิ์คังซีทรงมีราชโองการย้ายคนจีนแคะจำนวนมากมายไปอยู่ไกลถึงเสฉวน กวางสี


ครั้งที่ห้า หลังขบถไท่ผิงหรือ”ไต้เพ้ง” เมื่อกว่า 150 ปีที่แล้ว ขบถนี้เป็นชาวนาที่เคลื่อนตัวจากกวางสีขึ้นไปยึดนานกิงและคุกคามจนถึงปักกิ่งเมืองหลวงได้ ประเด็นคือขบถนี้มีชาวแคะเป็นสัดส่วนใหญ่ รัฐบาลจึงมุ่งกวาดล้างคนเหล่านี้ ผลคือคนเหล่านี้ต้องหนีไปอยู่ไกลถึงไต้หวัน ไหหลำ เสิ่นเจิ้น ฮ่องกง และออกไปจนทั่วเอเชียอาคเนย์และตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก และอินเดีย และที่สุดก็ไปอยู่เกือบทุกทวีปทั่วโลก


คนแคะในจีนไม่มีมณฑลของตนเองหากกระจายอยู่ในสิบกว่ามณฑล ที่สำคัญที่สุดอยู่มากในสามมณฑลคือเจียงซี ฮกเกี้ยน และกวางตุ้ง และมีสามเมืองสำคัญ คือ หนึ่ง ก้านโจว ในมณฑลเจียงซี เป็นที่ที่เอกลักษณ์และภาษาถิ่นของบรรดาผู้อพยพได้ตกผลึกเป็น “แคะ” ชัดเจน เรียกได้ว่าเป็น “อู่อารยธรรมชาวแคะ” ก็ว่าได้ และก็ยังมีเมือง “สือปี้ชุน”ในมณฑลฮกเกี้ยนอีก ที่นับได้ว่าเป็น “ดินแดนกำเนิด” พวกแคะ ก็เพราะเมื่อพวกนึ้อพยพจากก้านโจวมาต่อถึงที่นี่ รัฐจีนก็ได้ยอมรับเป็นครั้งแรกว่าที่นี่มีคนที่เรียกว่า “แคะ” อาศัยอยู่ สุดท้าย อีกเมืองหนึ่ง คือ “เหมยโจว” ในกวางตุ้ง ซึ่งถือกันว่าสำคัญจนเสมือนเป็น “เมืองหลวงชาวแคะ”

ชาวแคะนั้นไม่ได้สำคัญเพียงเพราะมีจำนวนมาก 80 ล้านคน ซึ่งเท่ากับจำนวนคนในมณฑลใหญ่ๆ ทีเดียวชาวแคะไม่ได้น่าสนใจเพียงเพราะพวกเขาเป็นสุดยอดแห่งนักอพยพมาครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ขาดสาย สู้กับความลำบาก ปากกัดตีนถีบ อยู่กับอันตราย ล้มตายเรือนแสนเรือนล้าน เกือบสองพันปีที่ผ่านมา ที่น่าชื่นชมยิ่ง พวกเขายังยืนหยัดรักษาภาษาและจริยธรรมแบบจีนดั้งเดิมที่มาจากส่วนกลางอย่างเหนียวแน่น รักษาสืบต่อสังคมแบบ “เครือข่าย” ตาม “สายแซ่” เอาไว้ได้อย่างน่าพิศวง


นับเป็นพันปีที่ผู้คนแคะในแซ่ๆหนึ่งจะอยู่ด้วยกันอย่างสมัครสมานเป็นร้อยเป็นพันคน ในบ้านมโหฬารคล้ายคอนโด แต่มีประตูทางเข้า-ออกจำกัดจำนวน และดูเสมือนมีกำแพงล้อมรอบ เป็นกึ่งบ้าน กึ่งคอนโดก็ว่าได้ หรือ เป็นกึ่งคอนโด กึ่งป้อมปราการ ก็ไม่ผิด คล้ายทั้งบ้านชุด แต่ก็คล้ายหมู่บ้านที่อยู่รวมกันเป็นบ้านชุดก็พอมองได้ หรือ จะว่าเป็น “คอนโด” ก็พอรับได้ แต่ที่จริงไม่ใช่คอนโดแบบสมัยใหม่เลย ด้วยเหตุว่าบ้านย่อยทุกหลังที่มีเรือนสิบเรือนร้อยหลังนั้น ล้วนแต่ถือแซ่เดียวกันหมด ล้วนรู้จักกันหมด ล้วนเป็นเครือญาติใกล้ชิดกันหมด


คนจีนดั้งเดิมในลุ่มแม่น้ำเหลืองนั้น ก็อยู่กันแบบนั้น แต่ทั้งประเทศจีนมีเพียงชาวจีนแคะเท่านั้นที่รักษาบ้านใหญ่ กึ่งคอนโด กึ่งป้อมปราการ ไว้ได้ ยืนหยัดอยู่กันต่อ แบบ “รวมแซ่” มานานมาก นานนับพันปี มาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังหลงเหลืออยู่ จนได้รับเกียรติยกให้เป็น “มรดกโลก”


ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ชาวแคะในจีน มีคนเก่ง คนดี คนกล้าที่ผุดขึ้นมาเป็นผู้นำ ผู้บุกเบิก ผู้เสียสละ คนแล้วคนเล่า ไม่ขาดสาย นับเฉพาะราว 150 ปีมานี้ หงซิ่วฉวน นามกระเดื่อง ผู้นำสูงสุดของขบถไท่ผิงที่เขย่าบัลลังก์ราชวงศ์ชิงจนเกือบสำเร็จ นั่นก็เป็นชาวแคะ แห่งกวางสี ถัดต่อมา วีรบุรษอมตะ ซุนยัตเซ็น ผู้ก่อตั้งพรรคก๊กมิ่นตั๋ง และถือกันว่าเป็น “บิดา” ของระบอบสาธารณรัฐ นี่ก็ชาวแคะ แห่งมณฑลกวางตุ้ง ถัดไป จอมพล จูเต๋อ แม่ทัพสูงสุดของฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์ผู้รบจนรวมประเทศสำเร็จเมื่อปี 2492 นั่นก็ชาวแคะ แห่งมณฑลเสฉวน


เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้เหมาเจ๋อตง ผู้คัดท้ายรัฐนาวาที่ชาญฉลาดและคิด-ทำ นอกกรอบ จนจีนเปลี่ยนจากที่ยากจนมาก พลิกเป็นมหาอำนาจอันดับสองของโลกได้ บางคนเชื่อว่าท่านคือผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกแห่งศตวรรษที่ 20 นั่นก็คือชาวแคะจากเสฉวนเช่นเดียวกับจูเต๋อ


ยังมีอีกท่านหนึ่งที่น่าศรัทธายิ่ง เย่เจี้ยนอิง จอมพลคนสำคัญ และมิตรร่วมรบของจูเต๋อ ท่านเป็นชาวแคะแห่งเมืองเหมยโจว ผู้กล้าหาญ เข้าจับกุม “แก๊งสี่คน” ที่กำลังจะทะยานขึ้นสู่อำนาจหลังจากประธานเหมาถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี 1976 หลังจากขจัดพวกซ้ายจัดเหล่านี้ลงแล้ว ท่านจะขึ้นสู่อำนาจสูงสุดเองก็ย่อมได้ แต่กลับไปเชิญเติ้งเสี่ยวผิงที่ถูกถอดจากอำนาจไปแล้ว ให้มานำพาประเทศจีนสืบต่อไป เย่เจี้ยนอิงเป็นวีรบุรุษผู้เสียสละ และมีสายตาที่ยาวไกล และแหลมคมนัก ท่านเลือกผู้นำสูงสุดได้ถูกคน เมืองจีนจะไม่มีวันเดินมาถึงวันนี้ได้อย่างแน่นอน ถ้าไม่มีชาวแคะนามกระเดื่องสองท่านนี้ : เย่เจี่ยนอิง และ เติ้งเสี่ยวผิง !!


พูดให้ลึกกว่านั้น ภูเขาจิ่งกังซานที่เหมาขึ้นไปสร้างเขตที่มั่นในชนบทแห่งแรกเมื่อปี 1928 นั้น ก็อยู่ในเขตชาวแคะในเจียงซีครับ บริเวณที่เหมาเจ๋อตงและพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งรัฐบาลปลดปล่อยแห่งแรกขึ้นมาและถูกล้อมปราบถึง 5 ครั้ง ในเวลาต่อมาจนถึงปี 1934 นั้น ก็คือก้านโจว จังหวัดที่มีประชากรชาวแคะถึง 95 เปอร์เซนต์เป็นอย่างน้อย และรุ่ยจินเมืองเล็กในก้านโจวที่เหมาเจ๋อตุงเริ่มเดินทัพทางไกล 25,000 ลี้นั้น ก็คือเมืองชาวแคะในก้านโจวนั่นเอง


สรุปได้ไหมครับว่าการปฏิวัติของจีนคอมมิวนิสต์นั้น ถือกำเนิดที่บริเวณชาวแคะ ได้รับการสนับสนุน หนุนช่วย และปกป้องจากชาวแคะ และชาวแคะก็เป็นกำลังหลักที่แท้จริงในตอนต้นของการเดินทัพ นี่เป็นอะไรที่น้อยคนจะทราบ แม้แต่ในเมืองจีนเอง ก็ตาม


ผมภูมิใจนักที่เกิดเป็นคนไทย พูดมานานแล้ว หลายครั้ง หลายที่ แต่ในวันนี้ขอบอกเพิ่ม ภูมิใจเหลือเกินที่มีบรรพชนเป็นจีนแคะกับเขาด้วย มีอะไรดีๆที่ต้องสืบต่อจากบรรพชนในสายปู่-พ่อ: ชาวแคะ ผู้อพยพนามกระเดื่อง!


บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกทางเฟซบุ๊ก เอนก เหล่าธรรมทัศน์ – Anek Laothamatas

Comments


bottom of page