เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติและ ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา
อาทิตย์ที่แล้วผมได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยชิงฮว๋าไปร่วมสัมนาใหญ่เกี่ยวกับภูมิภาคต่างๆ ของโลก ( world area studies) มหาวิทยาลัยแห่งนี้อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประธานาธิบดีหูจิ่นเทาคนก่อน และประธานาธิบดีสีจิ้นผิงคนปัจจุบัน ล้วนเรียนมาจากชิงฮว๋า สถาบันอุดมศึกษาระดับนำของจีนไม่ว่าปักกิ่ง ชิงฮว๋า ซึ่งอยู่เมืองหลวง และมหาวิทยาลัยฟูต้าน ซึ่งอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ในขณะนี้ทุ่มเทสร้างตนให้เป็นผู้นำระดับโลกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจการเมืองของโลก และการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคต่างๆทุกทวีป จีนนั้นไม่ได้เน้นแต่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หากยังสนใจยิ่งด้านสังคมศาสตร์ สนใจโลก และความเป็นไปของประเทศอื่นๆ
เสร็จงานสัมนามีเวลาสองวัน ผมและคณะจากไทย จึงขึ้นเหนือกรุงปักกิ่งไปอีก พ้นเขตกำแพงเมืองจีนไม่นาน ก็ถึงเมืองเฉิงเต๋อ นั่งรถ 80 กม ต่อ ชั่วโมง สามชั่วโมงก็ถึง เฉิงเต๋อเป็นเมืองเล็กๆในอดีต ปัจจุบันอยู่ในระดับกลางๆ เป็นที่ตั้งพระราชวังเขตภูเขาที่ใกล้ปักกิ่ง สวยงาม อยู่บนเขา และเรียงล้อมด้วยภูเขาเป็นทิวเป็นเทือก มีต้นไม้ใหญ่รวมทั้งต้นสนสูงเท่าตึกสี่ห้าชั้นมากมาย
เทียบกับ”วังต้องห้าม” หรือพระราชวังหลวงในกรุงปักกิ่งแล้ว วังนี้ เรียกชื่อในภาษาจีนว่า “ปี้สู่ซานจวง” นั้นใหญ่กว่าอีก ครับ หกเจ็ดเท่า เห็นจะได้ เต็มไปด้วยสีเขียว ร่มรื่น น่าพักน่าอยู่ และน่าหย่อนใจ หากเทียบกับพระราชวังฤดูร้อน “อี้เหอหยวน” แม้จะไม่อลังการและวิจิตรพิศดารเท่า แต่ก็ถูกจัดวางอยู่ในธรรมชาติ ใกล้ชิดธรรมชาติ ร่มรื่นกว่า อาคารล้วนบังแดดหลบแดดอย่างดี ทั้งยังไม่ไกลจากทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ที่จักรพรรดิจะทรงออกไปล่าสัตว์หรือทรงม้า สำราญพระวรกายได้
ผมเคยไปทั้งสามพระราชวังดังกล่าวแล้ว เห็นพ้องว่า วังที่เฉิงเต๋อ นั้น น่าอยู่ที่สุด จักรพรรดิ์คังซี ผู้ครองราชย์ถึงหกสิบปี เป็นผู้สร้างพระราชวังที่นี่ และทรงให้สร้างวัดพุทธนิกายลามะที่อลังการถึงแปดวัดอยู่รอบๆ พระราชวัง รวมถึงจำลอง “โปตาลา” ของทิเบตมาไว้ที่นี่ด้วย ยิ่งใหญ่จริงๆครับ และสวยแบบเรียบง่าย ได้เป็นมรดกโลกของยูเนสโกด้วย เที่ยวเล่นเที่ยวชมแล้วรู้สึกเย็นใจจริงๆ
ราชวงศ์ชิงปกครองจีนตั้งแต่กลางคริสตศตวรรษที่ 17 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ร่วม 300 ปี ตรงกับปลายอยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 6 ของเรา ส่วนราชวงศ์จีนที่ตรงกับเรายุคสุโขทัยก็คือราชวงศ์หยวนของชนเผ่ามองโกล ที่ปกครองจีนราว 100 ปี ส่วนที่อยู่ตรงกับอยุธยาในช่วงต้นถึงช่วงกลาง คือ ราชวงศ์หมิง ซึ่งปกครองจีนอยู่ 300 ปี โดยประมาณนั้น ราชวงศ์นี้เป็นคนของชนกลุ่มใหญ่ คือ จีนฮั่น แต่แล้วราชวงศ์หมิงนั้นก็กลับมาเสียเมืองให้กับราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นชนเผ่าแมนจู อยู่นอกกำแพงเมืองจีนอีก
ดูเอาเถิด จีน ที่ยิ่งใหญ่กว่าเราโข ยังตกเป็นของต่างชาติ คือมองโกลและแมนจู รวมแล้วสี่ร้อยปี จะไม่ให้เราภาคภูมิใจเลยหรือว่าสยาม-ไทยนั้น จะดีชั่ว ก็รักษาเอกราชได้เกือบตลอดเจ็ดศตวรรษที่มีมา แน่นอน ครับ เราตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าสองครั้ง แต่รวมแล้วก็ราว 15 ปี เท่านั้น และ พม่านั้นก็ไม่ได้มาปกครองเราโดยตรง
ราชวงศ์หยวนซึ่งเป็นชนนอกกำแพงเมืองจีนมาก่อน ได้สร้างทางสายไหมทางบกให้กลับขึ้นมาและรุ่งเรืองกว่าในอดีตเสียอีก แผ่ปกไปถึงซินเกียง และลงใต้มายึดยูนนานไปเป็นของจีนได้ ตั้งแต่นั้นมายูนนานก็ตกเป็นแผ่นดินจีนอย่างเหนียวแน่น แต่ในยุคที่บรรพชนไท-ไต-ลาว ยังอยู่ในแถบนั้นและเริ่มอพยพจากที่นั่นลงใต้ หรือ ลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ เข้ามาสู่แดนสุวรรณภูมินั้น ในตอนนั้นยูนนานยังไม่เป็นดินแดนของจีนครับ เวลาเราพูดกันสั้นๆรวบๆ มักพูดว่าคนไทยอพยพมาจากตอนใต้ของจีน อันที่จริงแล้วคลาดเคลื่อนครับที่พูดเช่นนั้น เพราะในตอนเราเคลื่อนลงมา อพยพลงมา ทะยอยมานั้น ดินแดนแถบนั้น ถิ่นเก่าของเรายังเป็นอิสระจากจีน
ราชวงศ์ชิงนั้น ย้ำอีกที เดิมมาจากนอกกำแพงจีนเช่นกัน แต่ก็สร้างประโยชน์ให้จีนมหาศาล ไม่น้อยไปกว่าราชวงศ์หยวน ที่สำคัญ ในสมัยนี้เองที่แผ่นดินจีนแผ่ไพศาลที่สุดในประวัติศาสตร์ คือได้มองโกเลียใน ได้มองโกเลียนอก ได้ทิเบต ได้ซินเกียง และยังนำเอาดินแดนแมนจูเดิมนั้นผนวกเข้ามากับจีน กลายเป็นสามมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ
เป็นที่น่าทึ่ง ที่แผ่นดินจีนนั้น แม้จะแพ้แต่ก็สามารถกลืนจักรพรรดิมองโกลและแมนจู และชนชั้นนำกับประชากรสองชนเผ่านั้นให้กลายเป็นจีนไปได้ในที่สุด นี่คืออภินิหารของความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมกระมัง ผมคิดเช่นนั้น และ ดูสิครับ ราชวงศ์ที่มาจากชนชาติที่ไม่ใช่จีนฮั่นนั้น กลับสร้างประโยชน์ให้จีนได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ เป็นอันว่าพลังอำนาจ ความแข็งแกร่ง และ ความทะเยอทะยานที่จะสร้างความยิ่งใหญ่ของทั้งสองราชวงศ์ต่างชาตินี้เอง ที่ฉุดจีนทั้งชาติให้พุ่งไปข้างหน้าได้อย่างไม่น่าเชื่อ
จักรพรรดิราชวงศ์ชิงนั้น ส่วนใหญ่ทรงเชี่ยวชาญในภาษาอักษรจีน ทั้งชื่นชม และช่ำชองในศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีของจีน เป็นอย่างยิ่ง และได้สร้างมรดกโลกทางวัฒนธรรมทิ้งไว้ให้ชาวจีนในปัจจุบันมากมายครับ
เล่ามาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะบอกว่า จีนนั้นไม่ได้เป็นของจีนฮั่นพวกเดียว ไม่ได้เป็นผลงานของจีนฮั่นเท่านั้น จีนเป็นสังคมพหุนิยมไม่น้อย และถ้ากล่าวถึงรากฐานการเมืองแล้ว ชาวมองโกลและชาวแมนจูได้ร่วมก่อรูปจีนในอดีตไว้ไม่น้อยเลย ขอคารวะชาวมองโกล และชาวแมนจู ครับ
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกทางเฟซบุ๊ก เอนก เหล่าธรรมทัศน์ – Anek Laothamatas
Comments