สถาบัน Center for Strategic and International Studies ได้ปล่อยบทความเรื่อง Southeast Asia in 2019: Four Issues to Watch โดยมีความน่าสนใจคือ วิเคราะห์สถานการณ์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2019 นี้ว่าน่าจะเป็นปีที่มีพลวัตมากปีหนึ่งสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าสหรัฐอเมริกาจะเข้ามามีสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกว่าเดิมในภูมิภาค โดยประเด็นที่ให้ความสำคัญ ได้แก่ ความท้าทายในการบริหารประเทศของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การรับตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยในขณะที่กำลังเตรียมการจัดการเลือกตั้งและพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 10 และโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภูมิภาคโดยมีภาพของสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ เป็นพื้นหลัง
การเลือกตั้งและการบริหาร
ในประเด็นนี้ ได้ให้ความสนใจไปที่อินโดนีเซียและไทย สองประเทศซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียนและมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งและสองตามลำดับ ซึ่งกำลังจะมีการเลือกตั้งในต้นปี 2019 นี้ สำหรับประเทศไทย การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากที่มีการรัฐประหารไปเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งนั้นล่าช้าออกไปและถูกเลื่อนมาหลายครั้งแล้ว ล่าสุดที่รัฐบาลประกาศจะมีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ก็มีเหตุต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากจะมีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม แต่รัฐบาลทหารก็ให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่าจะไม่เลื่อนการเลือกตั้งออกไปเกินเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะนำพาประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยแบบเต็มที่ เนื่องจากทหารจะยังมีอำนาจและบทบาทอยู่มากในการกำหนดรัฐบาลที่กำลังจะเลือกตั้งเข้ามา ที่จริงแล้ว ในการเลือกตั้งครั้งนี้ สส. น่าจะได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ในขณะที่ สว. และนายกรัฐมนตรียังจะมาจากฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลทหารอยู่ดี ซึ่งอาจนำไปสู่สถานการณ์ความไม่สงบในสังคม และอาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยและการเป็นผู้นำในภูมิภาคได้
การเลือกตั้งประธานาธิบดีของอินโดนีเซียจะมีขึ้นในวันที่ 17 เมษายน เป็นการชิงดีกันระหว่างประธานาธิบดีโจโควิ กับคู่ปรับเก่าอย่างนายพลพราโบโว (Prabowo) แม้โจโควิจะมีโอกาสชนะมากกว่า แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้ผลไม่เป็นไปดังที่คาด เช่น ค่าเงินรูเปียตกจากเหตุการณ์ค่าเงินอ่อนตัวเมื่อปี 2018 ที่กระทบทั้งอินโดนีเซียและตลาดเกิดใหม่ ซึ่งส่งผลให้สินค้าใช้ในครัวเรือนมีราคาเพิ่มสูงขึ้นและเกิดเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งไปลบล้างจุดแข็งของโจโควิที่โดดเด่นในเรื่องการทำให้เศรษฐกิจเติบโต
สำหรับฟิลิปปินส์ การเลือกตั้งกลางภาคในเดือนพฤษภาคมนี้จะเป็นตัววัดผลการทำงานของรัฐบาลดูเตอร์เตในประเด็นต่างๆ เช่น สงครามยาเสพติด ความอดกลั้นต่อฝ่ายตรงข้ามที่ต่อต้านดูเตอร์เต และการเลือกตั้งครั้งนี้ยังจะเป็นตัววัดด้วยว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไรต่อนโยบายต่างประเทศของดูเตอร์เตต่อจีน รวมถึงการระงับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ด้วย
มาเลเซียในยุครัฐบาลของมหาเธร์และพันธมิตร ทุกคนจับจ้องไปที่มหาเธร์ว่าจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ได้หรือไม่ ที่ว่าจะไม่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานเกิน 2 ปี
ขณะที่ในพม่า ความอดทนของประเทศต่างๆ ต่อการกระทำของอองซานซูจีกำลังจะหมด ทั้งในวิกฤตโรฮิงญาและความต้องการที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ทางเลือกที่อองซานซูจีเลือกในการจัดการประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของพม่า รวมถึงความสัมพันธ์ต่อโลก ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกคว่ำบาตรจากประชาคมโลกได้ โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ และยุโรป
อาเซียน
ในปี 2019 นี้ ตำแหน่งประธานอาเซียนเวียนมาถึงรอบของประเทศไทย พอดีกับที่ไทยกำลังง่วงอยู่กับการจัดการเลือกตั้งและเตรียมจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ความกระตือรือร้นต่อการเป็นประธานอาเซียนของไทยนั้นค่อนข้างต่ำ ดังนั้น ผู้สังเกตการณ์ไม่ควรคาดหวังจะเห็นความคืบหน้าในโครงการสสำคัญๆ เช่น ASEAN-China Code of Conduct รวมถึงการหาข้อสรุปในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นงานหนักมากเนื่องจากอินเดียยังไม่เต็มใจที่จะเปิดเสรีตลาดอย่างเต็มที่ ไทยยังไม่กระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหาที่ก่อให้เกิดความแบ่งพรรคแบ่งพวกในอาเซียนด้วย เช่น ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ หรือการเผชิญหน้ากับพม่าในประเด็นวิกฤตโรฮิงญา ในท้ายที่สุด การเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี 2019 อาจจะกลายเป็นเพียงช่องว่างระหว่างปี 2018 ที่สิงคโปร์เป็นประธาน กับปี 2020 ที่เวียดนามเป็นประธานก็ได้
ประเด็นทางเศรษฐกิจและการค้า
ปีนี้ คาดว่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตขึ้นมากเนื่องจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership (CPTPP) สิงคโปร์และเวียดนามเป็นสมาชิก CPTPP อย่างเต็มรูปแบบแล้ว ขณะที่บรูไนและมาเลเซียก็มีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าวในต้นปี 2019 นี้ ไทยและอินโดนีเซียก็มีท่าทีสนใจในการเข้าร่วมดังกล่าว แม้ว่าโคลัมเบีย เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักรหลัง Brexit มีแนวโน้มว่าจะไปตั้งกลุ่มใหม่ ส่วนอีกเรื่องที่น่าจับตามองคือ นโยบายการค้าของฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์เร่งจัดการเรื่องสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เกิดการเจรจาข้อตกลงทวิภาคี FTA กับสหรัฐฯ ได้ และฟิลิปปินส์เองก็เริ่มหันมาพิจารณาการเข้าร่วม CPTPP ด้วย
ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ อาจจะเริ่มคลี่คลายลงในปี 2019 เนื่องด้วยบรรษัทข้ามชาติต่างๆ ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เศรษฐกิจที่กำลังคึกคักของภูมิภาคนี้จะได้รับผลประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตนี้ แม้ว่าภูมิภาคนี้จะได้รับผลประโยชน์แต่ก็ยังถูกครอบงำจากเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกอยู่ดี เวียดนามนั้นพร้อมสำหรับการดึงดูดการย้ายฐานการลงทุนใหม่ขนาดใหญ่ แต่ไม่แน่ว่าอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์จะสามารถแข่งขันในตลาดนี้ได้หรือไม่ ในขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าและชิ้นส่วนประกอบไปยังจีนจำนวนมาก
ความสัมพันธ์สหรัฐฯ กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในปี 2017 ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นค่อนข้างดี แต่ในปี 2018 หลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับภูมิภาคนี้ลดลงอย่างมาก ทรัมป์ไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียน อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความคืบหน้าของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก รวมถึงการประกาศโครงการความริเริ่มบางอย่างซึ่งชัดเจนว่านโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคนี้ยังยึดอาเซียนเป็นสำคัญ
สำหรับ 2019 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยิ่งเนื้อหอมยิ่งขึ้น หนึ่งสิ่งที่ช่วยตอกย้ำความจริงข้อนี้คือ สหรัฐฯ เพิ่งผ่านกฎหมาย Better Utilization of Investments Leading to Development Act (BUILD) ซึ่งเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการเงินของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีเป้าหมายที่บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สุดท้าย การบริหารของทรัมป์จะเป็นตัวแปรสำคัญในความแน่นแฟ้นของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ยังมีอีกหลายตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกและความสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้ว่างอยู่หลายตำแหน่ง เช่น ยังไม่มีใครถูกเสนอชื่อเป็นทูตสหรัฐฯ ประจำอาเซียน สิงคโปร์ หรือไทย และการพ้นตำแหน่งของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ Mattis ก็สร้างความกังวลขึ้นเช่นกัน เนื่องจาก Mattis ซึ่งเป็นหนึ่งในคนสำคัญของทรัมป์ที่มีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเดินทางมายังพื้นที่นี้บ่อยครั้ง ศูนย์นโยบายด้านเอเชียของ Mattis ก็อาจสั่นคลอนได้เนื่องจากการโยกย้ายตำแหน่งในเพนตากอน ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับภูมิภาคนี้
ปลายฟ้า บุนนาค แปลและเรียบเรียง มกราคม 2562
แปลและเรียบเรียงจาก: Searight, Amy. and Harding, Brian. “Southeast Asia in 2019: Four Issues to Watch.” Center for Strategic and International Studies (CSIS), January 15, 2019. https://www.csis.org/analysis/southeast-asia-2019-four-issues-watch (accessed January 18, 2019).
Comments