top of page
klangpanyath

ความสำคัญของยูเรเซียในศตวรรษที่ 21




ยูเรเซีย (Eurasia) คือชื่อเรียกผืนแผ่นดินใหญ่ที่รวมเอาทวีปยุโรปและเอเชียทั้งมวลเข้าด้วยกัน เพราะอันที่จริงยุโรปกับเอเชียคือแผ่นดินผืนเดียวกันที่ไม่ได้มีพรมแดนทางธรรมชาติกั้นชัดเจน แต่แบ่งกันในความหมายเชิงรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม หลายครั้งคำว่ายูเรเซียยังใช้เรียกเฉพาะดินแดนของรัสเซีย เอเชียกลาง คอเคซัส หรือบางครั้งก็รวมไปถึงตุรกี มองโกเลีย รวมกัน หรือบางครั้งยูเรเซียก็หมายถึงเอเชียกลางเท่านั้น


ยูเรเซียเคยเป็นดินแดนที่มีความสำคัญมากของโลกในอดีต โดยเฉพาะในยุคที่เส้นทางสายไหมโบราณที่เชื่อมจากจีนไปยังยุโรปเฟื่องฟู แต่ความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ของยูเรเซียลดลงไป หลังจากเทคโนโลยีการเดินเรือข้ามทวีปพัฒนาขึ้น ทำให้การเดินทางทางไกล การขยายการค้า การขยายอำนาจทางทหาร รวมทั้งการเผยแผ่ศาสนาความเชื่อย้ายจากเส้นทางบกมาทำผ่านทางการเดินทะเลเป็นหลัก มหาอำนาจของโลกก็กลายเป็นมหาอำนาจทางทะเล ดังเช่น โปรตุเกส สเปน จนถึงอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในยุคต่อๆ มา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ยูเรเซียกลับมาสู่ความสนใจของโลกอีกครั้ง ปัจจัยสำคัญมาจากการที่เอเชียเจริญรุ่งเรืองขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง ปลุกให้ขั้วด้านตะวันออกของยูเรเซียกลับมาคึกคักอีกครั้ง พร้อมกันนั้น จีนซึ่งเป็นหัวขบวนของเอเชียยังผลักดันโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ ผลักดันการพัฒนาการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน การค้า และการคมนาคมทางบกข้ามยูเรเซียอีกครั้ง ทำให้แผ่นดินที่ถูกมองเป็นดินแดนตอนในที่โลกลืมมาหลายร้อยปีกลับมาสู่จุดสนใจของโลกอีกครั้ง


ในบทความเรื่อง Eurasia, the supercontinent that will define our century ของ World Economic Forum เขียนโดย Bruno Maçães ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Dawn of Eurasia ชี้ว่าศตวรรษที่ 21 นี้จะเป็นศตวรรษแห่งยูเรเซีย โดยได้ชี้ถึงความสำคัญของ “ยูเรเซีย” ไว้ดังนี้


ยูเรเซีย : พื้นที่ใหม่ทางภูมิรัฐศาสตร์


ภายหลังสิ้นสุดสงครามเย็นและสหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อต้นทศวรรษ 1990 ชาวยุโรปมองกันว่าในที่สุดยุโรปจะได้รวมเป็นหนึ่งเสียที (หลังถูกแบ่งแยกเป็นยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออกมาในช่วงสงครามเย็น) หลังจากนั้น จีนก็ได้เข้าสู่ระบบทุนนิยมโลกมากขึ้น การเชื่อมต่อทางกายภาพและโครงสร้างต่างๆ จากยุโรปไปสู่รัสเซียและจีนเพื่อเปิดตลาดก็ได้ดำเนินการขึ้น ในระยะแรกโดยสถาบันข้ามชาติและสถาบันการเงินของตะวันตกก่อน และต่อมาภารกิจการเชื่อมโยงยุโรปและเอเชียนี้ก็ถูกรับไม้ต่อโดยโครงการ Belt and Road ของจีน


เมื่อการต่อสู้และเส้นแบ่งเขตแดนทางชุดอุดมการณ์เลือนหายไป พร้อมกับการสร้างเส้นทางและการเชื่อมทางการค้าใหม่ๆ ขึ้นมาระหว่างเอเชียและยุโรป Bruno ชี้ว่านั่นทำให้เห็นพื้นที่ใหม่ทางภูมิรัฐศาสตร์ขึ้น คือ “ยูเรเซีย” มหาทวีปที่กินพื้นที่จากขอบตะวันตกสุดของยุโรปถึงขอบตะวันออกสุดของเอเชีย จากโปรตุเกสถึงจีน หรือจากโปรตุเกสลงไปถึงอินโดนีเซีย Bruno ชี้ว่านี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มหาทวีปยูเรเซียเชื่อมโยงกันได้อย่างแท้จริง เป็นครั้งแรกที่ผู้คน “จำนวนมาก” เดินทาง ทำการค้า ขนส่ง จากระหว่างยุโรปกับเอเชียได้อย่างแท้จริง เป็นครั้งแรกที่การค้าขายระหว่างดินแดนต่างๆ บนยูเรเซียเกิดขึ้นได้ทั่วถึง ยิ่งกว่าเมื่อครั้งเส้นทางสายไหมในอดีต


ศตวรรษแห่งยูเรเซีย : ยุคที่โลกเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ได้หลายแบบ


นอกจากจะชี้ว่ายูเรเซียหมายถึงการกำเนิดของพื้นที่ใหม่ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ดินแดนจากยุโรปกับเอเชียเชื่อมถึงกันข้ามเส้นขวางกั้นทางกายภาพและอุดมการณ์แล้ว Bruno ยังพยายามชี้ว่า ศตวรรษแห่งยูเรเซียยังมีความหมายสื่อถึงช่วงเวลาที่โลกจะไม่ได้เข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernity) แบบยุโรปหรือแบบตะวันตกไปหมด แต่จะเข้าสู่สมัยใหม่แบบที่มีได้หลากหลาย สมัยใหม่แบบที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างยุโรปกับเอเชีย


เดิมมีความเชื่อที่แพร่หลายในตะวันตกว่าหลังสิ้นสุดสงครามเย็น หลังโซเวียตล่มสลาย โลกจะรวมกันภายใต้ความเชื่อหนึ่งเดียวคือความเป็นสมัยใหม่แบบตะวันตก และเมื่อส่วนนั้นๆ ของโลกรับเอาความสมัยใหม่ไปก็แปลว่าจะต้องรับเอาคุณค่า ค่านิยม สถาบันทางการเมืองและสถาบันทางเศรษฐกิจแบบตะวันตก หรือรับเอาวัฒนธรรมทางการเมืองแบบยุโรปไปใช้โดยอัตโนมัติ กล่าวให้ชัดคือ ประเทศต่างๆ จะต้องเดินไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมทางการเมืองและทุนนิยมเสรีทางเศรษฐกิจแบบตะวันตกในไม่ช้าก็เร็ว แต่ Bruno ชี้ว่าโลกในศตวรรษแห่งยูเรเซียนั้น ความเป็นไปในปัจจุบันจากประเทศเอเชียต่างๆ เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าความเชื่อเช่นนั้นของตะวันตกจะไม่กลายเป็นความจริง จีนประกาศอย่างมั่นใจทั้งด้วยการประกาศของรัฐและคำพูดส่วนตัวของคนจีนว่าจีนมั่นใจที่จะพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีและสร้างสังคมสมัยใหม่โดยที่ไม่ลอกเลียนตะวันตกมาทั้งดุ้น ความเป็นจริงที่คลี่คลายออกมากลายเป็นว่าประเทศในตะวันออกนั้นรับเอาความเป็นสมัยใหม่ไปใช้ แต่เอาไปพัฒนาและตีความความเป็นสมัยใหม่ในแบบของแต่ละสังคม กลายเป็นว่าความเป็นสมัยใหม่มีได้หลายแบบ ดังนั้น มรดกความทันสมัยของยุโรปและโลกตะวันตกด้านเทคโนโลยี ความเป็นสมัยใหม่ สังคมและวิถีชีวิตแบบสมัยใหม่นั้นถูกรับเอาไปพัฒนาต่อโดยสังคมตะวันออก มรดกทางการเมืองแบบตะวันตกก็ยังคงมีอิทธิพลและบทบาท แต่เมื่อมาอยู่ในโลกตะวันออก ความเป็นสมัยใหม่ ความคิดความเชื่อ วัฒนธรรมและสถาบันการเมืองและเศรษฐกิจของตะวันตกจะถูกนำมาปรับหลอมรวมเข้ากับของตะวันออก แตกแขนงออกเป็นหลายแบบ ในแง่นี้ Bruno จึงชี้ว่าคำว่า Eurasia เหมาะสมแล้วที่จะใช้เรียกศตวรรษนี้ เพราะสะท้อนความจริงที่โลกในยุคนี้จะเป็นโลกที่ผสานเอาของของยุโรปและเอเชียไว้ด้วยกัน


นอกจากนี้ Bruno ยังชี้ว่าควรเรียกศตวรรษนี้ว่าเป็นศตวรรษแห่งยูเรเซีย ไม่ใช่ศตวรรษแห่งเอเชียอย่างที่หลายคนพูด เพราะโลกจะไม่ได้เปลี่ยนศูนย์กลางย้ายจากตะวันตกมายังตะวันออกโดยสิ้นเชิง แต่จะออกมาในรูปของโลกที่อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจกระจายอย่างสมดุลขึ้นระหว่างขั้วตะวันตกและขั้วตะวันออก Bruno กล่าวว่าหลายอย่างตะวันตกก็ยังคงรักษาความเป็นผู้นำในบางด้านไว้ได้ บางด้านตะวันออกก็ยังล้าหลังตะวันตกอยู่ อนึ่ง Bruno ชี้ว่าสภาพที่โลกแบ่งเป็นสองขั้วนี้ต่างจากยุคสงครามเย็น เพราะขณะที่ในยุคสงครามเย็น สองขั้วไม่ติดต่อกัน จะทำลาย ปิดกั้นกัน ในยุคนี้สองขั้วจะเชื่อมโยงประสานกันอย่างยากที่จะแยกจากกันได้


สรุป


หลังโซเวียตล่มสลายและสงครามเย็นสิ้นสุดลง ชาวตะวันตกหวังว่าจะได้เห็นศตวรรษแห่งยุโรป ที่อุดมการณ์ ความเชื่อ สถาบันการเมืองและเศรษฐกิจแบบยุโรปหรือแบบตะวันตกแผ่ขยายไปทั่วโลก ต่อมาเมื่อเอเชียเจริญทางเศรษฐกิจมากขึ้น บางคนก็กล่าวว่านี่จะเป็นศตวรรษแห่งเอเชีย ศูนย์กลางอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกจะย้ายจากด้านตะวันตกของแผ่นดินยูเรเซียไปยังด้านตะวันออก แต่มาถึงจุดนี้ Bruno เชื่อว่าถ้าจะเรียกให้ถูกต้องตามสภาพอำนาจจริง ศตวรรษนี้ไม่ได้เป็นทั้งศตวรรษแห่งยุโรปหรือศตวรรษแห่งเอเชีย แต่เป็น “ศตวรรษแห่งยูเรเซีย” ที่มีขั้วอำนาจอยู่สองฝ่ายบนแผ่นดินยูเรเซียทั้งยุโรปและจีน รวมทั้งในระหว่างกลางก็ยังมีรัสเซีย อินเดีย รวมทั้งประเทศอื่นๆ ที่จะหาบทบาทหาจุดยืนในแบบของตน สร้างความเป็นสมัยใหม่ในแบบของตนเพิ่มขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น รัสเซียจะเปลี่ยนทิศทางการต่างประเทศ จากแต่เดิม ชนชั้นนำรัสเซียพยายามทำรัสเซียให้กลายเป็นยุโรปมาตลอด เพราะมองว่ายุโรปเป็นดินแดนที่ก้าวหน้า แต่ในตอนนี้ด้วยการกำเนิดขึ้นของภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของยูเรเซียที่มีน้ำหนักในโลกมากขึ้น รัสเซียอาจจะวางตำแหน่งของตนใหม่เป็นศูนย์กลางของยูเรเซีย ที่สามารถเชื่อมโยงไปได้ทุกทิศ และวางตัวเป็นสะพานเชื่อมยุโรปกับเอเชีย พร้อมกันนั้น ก็เป็นครั้งแรกที่รัสเซียหันมาสู่เอเชียด้วยความสนใจ หลังจากที่เคยมองเอเชียในฐานะดินแดนล้าหลังมาตลอด


ปาณัท ทองพ่วง แปลและเรียบเรียง พฤศจิกายน 2561


แปลและเรียบเรียงจาก: Bruno Maçães. Eurasia, the supercontinent that will define our century. World Economic Forum. ออนไลน์. https://www.weforum.org/agenda/2018/02/how-countries-can-find-their-place-in-the-new-eurasian-century/.


ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page