top of page
klangpanyath

ความคลุมเครือของอินโด-แปซิฟิก กับบทบาทของอินเดียและอาเซียน




แนวคิดเรื่อง Indo-Pacific ที่นำเสนอโดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ นำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วโลกว่าเป็นการผนึกกำลังของสหรัฐฯ และพันธมิตรเพื่อต้านทานการขยายอิทธิพลของจีน หลังจากที่จีนประกาศ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งจีนจะวางโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางคมนาคมเชื่อมสู่ 70 ประเทศทั่วโลก จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่สหรัฐฯ ต้องหวนกลับสู่ภูมิภาคเอเชียอีกครั้ง อย่างไรก็ดี แนวคิดอินโด-แปซิฟิกนี้กลับไม่มีความชัดเจนทั้งในแง่กรอบความร่วมมือ แผนปฏิบัติการ หรือข้อตกลงอย่างเป็นทางการใดๆ ทั้งสิ้น นำมาซึ่งการตั้งคำถามถึงความชัดเจนของแนวคิดดังกล่าว บทวิเคราะห์เรื่อง “Indo-Pacific Concept: Juggling for Clearity” โดย Nazia Hussain นักวิเคราะห์วิจัยจากสถาบัน S. Rajaratnam School of International Studies, Nanyang Technological University (NTU) ได้อธิบายถึงบทบาทของอินเดียในฐานะผู้เล่นสำคัญ ตลอดจนประเมินท่าทีของ ASEAN ในแนวคิดอินโด-แปซิฟิกไว้อย่างน่าสนใจ


ความชัดเจนและการนำไปปฏิบัติจริง


หลังการประกาศแนวคิดอินโด-แปซิฟิกระหว่างการเยือนภูมิภาคเอเชียช่วง พฤศจิกายน 2017 ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งผ่านมาแล้วกว่าหนึ่งปี ทั้งสหรัฐฯ และพันธมิตรอย่างญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลียกลับยังไม่มีความชัดเจนต่อแนวคิดดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม กระทั่งการประชุม G-20 ณ กรุงบูเอโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2018 ที่ผ่านมา เป็นโอกาสให้สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดียจัดประชุมสามฝ่ายคู่ขนานกับการประชุม G-20 โดยผู้นำทั้งสามประเทศได้ข้อตกลงร่วมกันว่าการสร้างอินโด-แปซิฟิกที่มีสันติภาพและความมั่งคั่งนั้นจะต้องตั้งมีหลักการที่ประกอบไปด้วย “เสรีภาพ เปิดกว้าง ครอบคุลม และตั้งอยู่บนหลักกฎหมายระหว่างประเทศ” นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เรียกการประชุมครั้งนี้ว่า “JAI” (Japan, America, India) ซึ่งการออกเสียงคำว่า JAI เป็นภาษาฮินดีจะแปลว่า “ความสำเร็จ” การประชุมนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญของอินเดียที่จะแสดงบทบาทด้านการต่างประเทศ


อินเดีย: ม้ามืดแห่งอินโด-แปซิฟิก


รัฐบาลอินเดียประกาศว่าทั้งสามประเทศควรร่วมมือกันวางโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ขณะนี้อินเดียและญี่ปุ่นบรรลุข้อตกลงด้านความมั่นคงทางทะเล และการลงทุนวางโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่สาม ได้แก่ เมียนมาร์ บังคลาเทศ และศรีลังกา โดยมีเป้าหมายกระชับความเชื่อมโยงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก นายกรัฐมนตรี โมดี ประกาศชัดเจนว่า “อินโด-แปซิฟิก” จะต้องสร้างสันติภาพ ความมั่งคั่ง และตอบสนองผลประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศในกลุ่มภายใต้หลัก 5 ประการ ประกอบด้วย ความเชื่อมโยงในภูมิภาค (Connectivity) การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ความมั่นคงทางทะเล (Maritime Security) การบรรเทาภัยพิบัติ (Disaster relief) และเสรีภาพในการเดินเรือ (Freedom of Navigation) ซึ่งนายกรัฐมนตรี โมดี เน้นย้ำว่าความร่วมมือนี้ต้องตั้งอยู่บนหลักฉันทามติ เคารพในอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดน


แม้อินโด-แปซิฟิกดูเหมือนจะมีความชัดเจนมากขึ้นจากการที่อินเดียก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นสำคัญ แต่การนำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติจริงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคก็ยังคงคลุมเครือและเป็นปัญหาอยู่เช่นเคย เนื่องจากไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะสร้างความร่วมมือในรายประเทศอย่างไร ขณะที่อาเซียนยังคงลังเลว่าจะเข้าร่วมกับอินโด-แปซิฟิกหรือไม่ เพราะสมาชิกทั้ง 10 ประเทศยังมีท่าทีที่ต่างกัน กล่าวคือ ฟิลิปปินส์และกัมพูชาไม่เห็นด้วยกับการที่อาเซียนจะร่วมมือกับอินโด-แปซิฟิก เนื่องจากกังวลว่าบทบาทของมหาอำนาจจะส่งผลกระทบต่อความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) ขณะที่ลาว บรูไน และเมียนมาร์ไม่ออกความเห็นในประเด็นดังกล่าว ส่วนอินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซียมีท่าทีสนับสนุนให้อาเซียน เข้าร่วมกับอินโด-แปซิฟิกเพราะมองว่าประเทศของตนจะได้ประโยชน์


อาเซียนจะมีบทบาทอย่างไร?


อันที่จริงแนวคิดอินโด-แปซิฟิกควรให้ความสำคัญกับอาเซียนมากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งอาเซียนตั้งอยู่ใจกลางระหว่างสองมหาสมุทรแล้ว อาเซียนยังเป็นองค์กรความร่วมมือส่วนภูมิภาคที่มีกลไกความร่วมมือกับประเทศมหาอำนาจอยู่แล้ว ได้แก่ East Asia Summit (EAS), ASEAN Defence Ministers Meeting (ADMM) Plus และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ASEAN Regional Forum (ARF) ซึ่งสามารถรวบรวมประเทศมหาอำนาจหลักของโลกมาอยู่รวมกันได้ อาทิ สหรัฐฯ รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีเหนือ หรือ อินโด-แปซิฟิกอาจร่วมมือกับ ASEAN Maritime Forum และ India Ocean RIM Association (IORA) เป็นต้น สหรัฐฯ อินเดีย และญี่ปุ่นควรให้ความสำคัญกับกลไกที่มีอยู่แล้วเหล่านี้เพื่อทำให้การบูรณาการระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกสมบูรณ์ยิ่งขึ้นแทนที่จะสร้างกลไกใหม่มาแข่งขัน


นอกจากนี้ การที่ไทยและเมียนมาร์เป็นสมาชิกความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation – BIMSTEC) จะเพิ่มการมีส่วนร่วมและความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับกลุ่มประเทศบริเวณมหาสมุทรอินเดียได้เป็นอย่างดี


อาเซียนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีส่วนร่วมในอินโด-แปซิฟิก เพื่อรักษาสถานภาพและบทบาทในการกำหนดประเด็นความมั่นคงในภูมิภาค อินโดนีเซียมีความกระตือรือร้นเรื่องอินโด-แปซิฟิกมากเป็นพิเศษจากการเสนอเอกสารเชิงหลักการ (Concept Paper) ว่าด้วยแนวคิด “อินโด-แปซิฟิก” ในแบบฉบับของอินโดนีเซียต่อที่ประชุมอาเซียน ซึ่งไม่ใช่แนวคิดของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น หรืออินเดีย ร่างที่เสนอโดยอินโดนีเซียนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอาเซียน บรรดานักการทูตประเทศสมาชิกอาเซียนเริ่มส่งสัญญาณเตือนไปยังกลุ่มประเทศคู่เจรจาของอาเซียน (Dialogue partner) ว่าร่างแนวคิดฉบับนี้แม้จะมีหลักการที่คล้ายคลึงกันแต่จะไม่เป็นไปตามที่สหรัฐฯ ปรารถนาอย่างแน่นอน เพราะอินโด-แปซิฟิกในความหมายของอาเซียนจะเป็นกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมโดยไม่มุ่งเป้ากีดกันมหาอำนาจฝ่ายใด (ต่างจากแนวคิดของสหรัฐฯ ที่มีวาระซ่อนเร้นเพื่อยับยั้งการขยายอำนาจของจีน)


ร่างแนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่เสนอโดยอาเซียนนี้จะตามมาด้วยแผนการทำงานและมาตรการบังคับใช้ โดยอาเซียนจะรวบรวมแนวคิดของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดียมาเป็นหลักการพื้นฐาน แต่อาเซียนจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการ และความร่วมมือทางทะเล ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในเดือน มกราคม 2019 ที่จังหวัดเชียงใหม่ได้บรรจุร่างแนวคิดอินโด-แปซิฟิกนี้ไว้ในวาระการประชุมด้วย


หนทางอันยาวไกล


ปัญหาของแนวคิดอินโด-แปซิฟิก คือ ประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสียมีนิยามและมุมมองแตกต่างกัน ในด้านภูมิศาสตร์ สหรัฐฯ นิยามว่าอินโด-แปซิฟิกครอบคลุมจากทะเลด้านตะวันตกของสหรัฐฯ (West Coast) ไปถึงทะเลด้านตะวันตกของอินเดีย ขณะที่ญี่ปุ่นและอินเดียตีความว่าครอบคลุมตั้งแต่ทะเลด้านตะวันตกของสหรัฐฯ ไปจรดทะเลด้านตะวันออกของแอฟริกา แต่ในด้านเจตจำนงทางการเมืองสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างระเบียบในภูมิภาค ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนสหรัฐฯ สร้างตลาดที่แข่งขันอย่างเป็นธรรม และปราศจากการครอบงำโดยมหาอำนาจใดๆ ขณะที่ญี่ปุ่นเน้นไปที่การเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจมากกว่า


เห็นได้ชัดว่าทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดียขาดความเข้าใจร่วมกันในเรื่องนิยาม หลักการ และผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ในระยะยาวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศผู้มีส่วนได้เสียรอบมหาสมุทรอินเดียและอาเซียนจะต้องมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้อินโด-แปซิฟิกเป็นกรอบความร่วมมือที่สร้างประโยชน์ให้กับภูมิภาคอย่างแท้จริง


กอปร์ธรรม นีละไพจิตร แปลและเรียบเรียง กุมภาพันธ์ 2562


แปลและเรียบเรียงจาก: Hussain, Nazia. “Indo-Pacific Concept: Juggling for Clarity.” Centre for Non-Traditional Security Studies (NTS), December 27, 2018. https://www.rsis.edu.sg/wp-content/uploads/2018/12/CO18216.pdf (accessed February 11, 2019).





Comments


bottom of page