เมื่อวันที่ 3-4 กันยายน ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา จีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดว่าด้วยความร่วมมือจีน-แอฟริกา (The 2018 Beijing Summit of Forum for China-Africa Cooperation – FOCAC) ครั้งที่ 7 ณ กรุงปักกิ่ง การประชุม FOCAC ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 2000 มีการประชุมกันอย่างต่อเนื่องทุก 3 ปี การประชุมครั้งนี้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวเปิดการประชุมต่อผู้นำกลุ่มประเทศแอฟริกาด้วยการเสนอความช่วยเหลือทางการเงินกว่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และประกาศว่าบริษัทเอกชนจีนจะเข้าไปลงทุนในแอฟริกาไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใน 3 ปี เป็นที่ทราบกันดีว่าหลายประเทศในแอฟริกาอยู่ในโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน ดังนั้น การที่จีนขยายบทบาทในภูมิภาคแอฟริกาจึงสร้างความกังวลให้กับสหรัฐฯ และนานาประเทศ บทวิเคราะห์เรื่อง The Real Threats and Misplaces Fears at the Seventh Forum for China-Africa Cooperation ของ Judd Devermont ผู้อำนวยการ African Program จาก Center for Strategic and International Studies (CSIS) ได้ชี้ให้เห็นถึงการขับเคี่ยวระหว่างมหาอำนาจจีนกับสหรัฐฯ ณ สนามประลองใหม่ในภูมิภาคแอฟริกา
บทบาทของจีนในการพัฒนาแอฟริกา
การประชุมครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของแอฟริกาในโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ประเทศที่ร่วมในโครงการแล้ว ได้แก่ สาธารณรัฐจิบูตี เอธิโอเปีย และเคนยา ขณะที่อีกหลายประเทศก็แสดงท่าทีสนับสนุน BRI เช่นกัน โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศอย่างภาคภูมิว่าสินเชื่อใหม่ที่เสนอให้แก่ประเทศในแอฟริกานั้นปราศจากเงื่อนไขผูกมัดทางการเมือง ขณะที่บริษัทเอกชนจีนที่เข้าไปลงทุนจะมุ่งไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน ทางรถไฟ และท่าเรือ
อย่างไรก็ดี ความช่วยเหลือที่จีนมอบให้แอฟริกาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายว่าจีนกำลังดำเนินยุทธศาสตร์การทูตกับดักหนี้ (Debt Trap Diplomacy) ในภูมิภาคแอฟริกา กล่าวคือ การที่จีนปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศด้อยพัฒนาในด้านโครงสร้างพื้นฐาน หากประเทศใดไม่สามารถชำระหนี้ให้จีนได้ตามกำหนดโครงสร้างพื้นฐานนั้นอาจตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจีน ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ได้ออกมาเตือนถึงอัตราหนี้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในแอฟริกาที่พุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ความสัมพันธ์จีน-แอฟริกาเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ จริงหรือ?
ความสัมพันธ์จีน-แอฟริกาในบางด้านได้สร้างภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในแอฟริกา เนื่องจากจีนมีฐานทัพอยู่ในประเทศจิบูติ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากฐานทัพสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจในพื้นที่ แต่หากพิจารณาในแง่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจีนก็มีความสำคัญต่อภูมิภาคแอฟริกาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากแอฟริกายังจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากต่างประเทศในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จากรายงานของธนาคารโลกในปี ค.ศ. 2017 ระบุว่าการคมนาคมขนส่งในแอฟริกาอยู่ในระดับต่ำที่สุดในโลกตามหลังประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ หากแอฟริกาสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ดีขึ้นได้ในระดับกลางๆ ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาแล้ว จะสามารถยกระดับผลิตภัณฑ์มวลประชาชาติต่อหัว (Gross Domestic Product per capita) ได้ถึงร้อยละ 1.7 ดังนั้น โครงการสร้างถนน ทางรถไฟ และท่าเรือของจีนจึงไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในแอฟริกาโดยตรง แต่เป็นที่กังวลว่าหากโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ประสบความสำเร็จ ประเทศเจ้าบ้านจะมอบอำนาจการบริหารจัดการให้กับจีนหรือไม่ ดังเช่นกรณีท่าเรือ Hambantota ซึ่งศรีลังกามอบอำนาจให้จีนเป็นผู้บริหาร
สหรัฐฯ จะรับมืออย่างไร?
บทวิเคราะห์นี้เสนอแนวทางการรับมือของสหรัฐฯ ต่อบทบาทของจีนที่กำลังขยายตัวในแอฟริกา ว่า สหรัฐฯ ควรหลีกเลี่ยงการตำหนิผู้นำประเทศแอฟริกาที่รับความช่วยเหลือจากจีน แต่สหรัฐฯ ควรเสนอโครงการพัฒนาเพื่อสร้างทางเลือกให้กับรัฐบาลต่างๆ ในแอฟริกา และแข่งขันกับจีนด้วยโครงการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อแอฟริกา โดยสหรัฐฯ มีจุดแข็งในบางด้านที่ได้เปรียบกว่าจีน อาทิ ธุรกิจการเกษตร พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลและภาคเอกชนในแอฟริกาได้
อย่างไรก็ดี จากรายงานของ Afrobarmeter ค.ศ. 2016 ระบุว่า ร้อยละ 63 จาก 36 ประเทศในแอฟริกามองว่าบทบาทของจีนทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีต่อกลุ่มประเทศในแอฟริกานั้นเป็นไปในทางบวก ยิ่งไปกว่านั้น 3 ใน 5 ของประเทศในภูมิภาคแอฟริกามีความชื่นชอบรูปแบบการพัฒนาของจีนมากกว่าสหรัฐฯ และจีนยังมอบทุนการศึกษาแก่แอฟริกามากกว่าสหรัฐฯ และอังกฤษ เมื่อเป็นเช่นนี้ ในระยะยาวสหรัฐฯ อาจสูญเสียบทบาทและความร่วมมือกับกลุ่มประเทศแอฟริกาได้ ดังนั้นสหรัฐฯ จำเป็นต้องกระชับความร่วมมือกับผู้นำประเทศแอฟริกา ตลอดจนปรับปรุงภาพลักษณ์ให้ดีขึ้นหากต้องการปกป้องผลประโยชน์และบทบาทในภูมิภาคต่อไป
จากบทวิเคราะห์ข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าความร่วมมือจีน-แอฟริกากำลังก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง หากจีนสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในแอฟริกาได้สำเร็จย่อมสร้างผลประโยชน์มหาศาลให้แก่แอฟริกาและโครงการ BRI ของจีน ซึ่งบทบาทด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการใช้อำนาจอ่อน (Soft Power) ของจีนที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากกลุ่มประเทศแอฟริกาเป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี ภาระหนี้ความเสี่ยงสูงซึ่งกลุ่มประเทศแอฟริกาต้องแบกรับก็เป็นข้อท้าทายสำคัญของรัฐบาลในแอฟริกา นอกจากนี้ การขับเคี่ยวระหว่างมหาอำนาจจีนและสหรัฐฯ เป็นโจทย์สำคัญว่ากลุ่มประเทศแอฟริกาจะรักษาสัมพันธ์กับสองมหาอำนาจอย่างไรเพื่อพัฒนาแอฟริกาบนพื้นฐานการมีผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย และป้องกันไม่ให้แอฟริกากลายเป็นแหล่งกอบโกยผลประโยชน์ของมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขณะที่จีนและสหรัฐฯ จะต้องขยายบทบาทและรักษาผลประโยชน์ของตนด้วยการแข่งขันที่สร้างสรรค์และสร้างประโยชน์ให้แก่แอฟริกาด้วยเช่นกัน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร แปลและเรียบเรียง ตุลาคม 2561
แปลและเรียบเรียงจาก: Devermont, Judd. “The Real Threats and Misplaces Fears at the Seventh Forum for China-Africa Cooperation.” Center for Strategic and International Studies (CSIS), September 5, 2018. https://www.csis.org/analysis/real-threats-and-misplaced-fears-seventh-forum-china-africa-cooperation (accessed September 21, 2018)
Kommentare